Skip to main content
sharethis

'เรืองไกร' ร้อง กกต. ตรวจสอบ MOU รัฐบาลก้าวไกล ส่อผิด พ.ร.ป.พรรคการเมือง ยุบ 8 พรรค พร้อมส่งหลักฐานเพิ่ม 'พิธา' ถือหุ้นสื่อ จี้เร่งส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ด้าน 'ชลน่าน' ชี้คำร้องไม่เข้าองค์ประกอบ

24 พ.ค.2566 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า วันนี้ (24 พ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบพรรคก้าวไกลรวมถึงพรรคการเมืองอีก 7 พรรค ที่ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองโดยแต่ละข้อที่มีการลงนามบันทึกข้อตกลง มีประเด็นที่น่าสงสัยตรงคำว่า “บันทึกข้อตกลงร่วม” ไม่ตรงกับคำว่า “บันทึกความเข้าใจร่วมกัน” ในการจัดตั้งรัฐบาล และคำว่าผู้แทนราษฎรที่ถูกควรเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญมีการบัญญัติว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ย่อมเป็นแทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัด หรือการครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

สำหรับพรรคการเมืองที่มีคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองตามข้อบังคับซึ่งต้องกระทำด้วยความรอบคอบ และต้องรับผิดชอบร่วมกันในเรื่องของมติต่างๆ และที่สำคัญคือห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอม หรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคครอบงำ หรือชี้นำ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

และจากการตรวจสอบเบื้องต้น โดยเฉพาะข้อบังคับพรรคก้าวไกล เมื่อปี 2563 ไม่พบการกำหนดที่เกี่ยวกับการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล อีกทั้งในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าพรรคได้มีข้อกำหนดไว้ชัดเจน จึงเห็นได้ว่าพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรค ที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลอาจขัดต่อข้อบังคับของพรรคก้าวไกล เนื่องจากไม่พบรายละเอียดการกำหนดที่เกี่ยวกับการลงนามดังกล่าว และยังอาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจได้ว่าแต่ละพรรคการเมืองต่างฝ่ายต่างยินยอมให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นบุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้ขาดความอิสระไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จึงมีเหตุอันควรให้ กกต.ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

ส่วนกรณีที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตพรรคก้าวไกล ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ในขณะที่รับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. และยินยอมให้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากข้อมูลตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทไอทีวี ปี 2549 มีชื่อ พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นจำนวน 12,000 หุ้น จากนั้นปี 2550 ถือหุ้นจำนวน 42,000 หุ้น และนับแต่ปี 2551 ถึง 2566 มีชื่อพิธาถือหุ้นจำนวนดังกล่าวมาโดยตลอด และมีการแจ้งที่อยู่ในการถือหุ้นแตกต่างกัน 3 ครั้ง ซึ่งการแจ้งเปลี่ยนที่อยู่ทำให้น่าเชื่อได้ว่าพิธารู้หรือควรรู้ ถึงการถือหุ้นจำนวน 42,000 หุ้นมาโดยตลอด แต่ไม่เคยมีการระบุเงื่อนไขเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดการมรดกตามที่กล่าวอ้าง โดยบริษัทไอทีวีมีรายได้รวมตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2565 และจากข้อเท็จจริงในข้างต้น จะเห็นได้ว่าพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวีจำนวน 42,000 หุ้นมานับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงวันที่ 26 เม.ย. 2566 ซึ่งบริษัทไอทีวีมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับสื่อมวลชนตามความในรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และมีรายได้ตามงบกำไรขาดทุนมาทุกปียกเว้นปี 2555

โดยตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด มาตรา 59 บัญญัติว่า ในกรณีผู้ถือหุ้นของบริษัทตาย หรือล้มละลายอันเป็นเหตุให้บุคคลใดมีสิทธิ์ในหุ้นนั้น ถ้าบุคคลนั้น ได้นำหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมายมาแสดงครบถ้วนแล้ว ให้บริษัทลงทะเบียนและออกใบหุ้นใหม่นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำร้อง และกรณีที่พิธายังคงมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวีอยู่นั้นจึงควรมาจากที่พิธา ในฐานะผู้มีสิทธิ์ในหุ้นบริษัทไอทีวี ได้นำหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมายไปแสดงโดยครบถ้วน จึงทำให้ทะเบียนผู้ถือหุ้นปรากฏชื่อพิธามาตลอดนับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน และพิธายังคงมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในขณะที่ลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. พร้อมกับยินยอมให้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จึงอาจเข้าข่ายที่ต้องส่งให้ศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัย ว่าพิธามีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) หรือไม่ จึงขอให้ กกต. ตรวจสอบเพิ่มเติมว่านายพิธาจะเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ กกต.ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไปว่าพิธามีลักษณะต้องห้ามในการเป็น ส.ส หรือรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ประกอบกับมาตรา 160 หรือไม่

ต่อคำถามที่ว่า เมื่อถามว่าการยื่นเรื่องร้องเรียนในครั้งนี้จะนำไปสู่การพิจารณายุบพรรคก้าวไกลหรือไม่นั้น เรืองไกร กล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะพรรคก้าวไกล แต่ยุบทั้ง 8 พรรค เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับเงื่อนไข ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคซึ่งกันและกันเข้ามาครอบงำ โดยเอกสารที่เซ็นต์ทั้ง 8 รายชื่อลงนามโดยหัวหน้าพรรคทั้งหมด เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องการขาดคุณสมบัติเฉพาะตัว แต่เป็นเรื่องพรรคการเมืองฝ่าฝืนมาตรา 28 หรือไม่ แล้วจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 92 (3) ใน พ.ร.ป. ที่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งตนมีข้อเท็จจริง และกฎหมายอ้างอิงให้มาตรวจสอบ ส่วนรายละเอียดในข้อตกลงเอ็มโอยูบางประเด็นที่บางพรรคการเมืองไม่ได้ปฏิบัติตาม จะร้องแค่พรรคก้าวไกลอย่างเดียวไม่ได้ เพราะทั้ง 8 พรรคร่วมกระทำ

'ชลน่าน' ชี้คำร้องไม่เข้าองค์ประกอบ 

ขณะที่ ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีเรืองไกรยื่นยุบ 8 พรรคการเมืองที่ร่วมเซ็น MOU จัดตั้งรัฐบาล ถือเป็นการครอบงำ ว่า ไม่กังวล เพราะที่เขาร้องเรียนว่าเป็นการครอบงำ ชี้นำพรรคการเมืองโดยทำให้กรรมการบริหารและสมาชิกพรรค ขาดความเป็นอิสระในการดำเนินการการเมือง ซึ่งองค์ประกอบที่เขาร้องเรียนนั้น ไม่เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 28 พ.ร.ป.

“แต่ละพรรคได้รับมอบมาจากคณะกรรมการบริหารพรรคตัวเอง ถึงจะได้มานั่งหารือกันได้ ผมจึงไม่กังวลอะไร แต่นายเรืองไกรเขาร้องมาทุกพรรค เราจึงอาจจะต้องพบปะพูดคุยกันว่าพวกเราจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งเรืองไกรเขาพยายามหาช่องกฎหมาย เขาบอกเขาไม่ใช่ผู้ฟ้องร้อง แต่เขาร้องให้ตรวจสอบ ซึ่งลักษณะคำร้องจะบิดเบือนไม่ได้ ต้องไปดูพฤติการณ์ พฤติกรรม ยืนยันว่าตนไม่กังวล” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์และสำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net