Skip to main content
sharethis

จเด็จ สมาชิกวุฒิสภา เสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ สร้างความปรองดอง มองก้าวไกล ไม่มีความคืบหน้าเรื่องตั้งรัฐบาล พร้อมย้อนดูข้อคัดค้านของพรรคการเมืองเมื่อปี 2562 ที่มองว่า รัฐบาลแห่งชาติเป็นการบั่นทอนระบอบประชาธิปไตย


1 มิ.ย. 2566 รายการ Live "กรรมกรข่าว คุยนอกจอ" ประจำวันที่ 1 มิ.ย. 2566 เผยแพร่ทางแพลตฟอร์มยูทูบ 'สรยุทธ กรรมกรข่าว' และเฟซบุ๊กเพจ 'เรื่องเล่าเช้านี้' ดำเนินรายการโดย สรยุทธ สุทัศนะจินดา และ พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ สัมภาษณ์ จเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา ข้อเสนอการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

จเด็จ: ชงตั้งรัฐบาลแห่งชาติ สร้างความปรองดอง

จเด็จ ระบุว่า ข้อเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติเป็นความคิดส่วนตัวในฐานะประชาชน ไม่ได้มาจากสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ ส.ว.จเด็จ มองด้วยว่าที่เสนอความคิดนี้ เนื่องจากดูความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย 15 วันที่ผ่านมา ‘เป็นความคืบหน้าที่ไม่จริง’ ไม่จริงที่ว่านี้คือไม่ราบรื่น แม้ว่าจะมีการโอบกอดออกสื่อก็ตาม แต่ประเด็นเรื่องการตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังตกลงกันไม่ได้เลย

จเด็จ เลยเสนอว่า งั้น 60 วันที่เหลือก่อนมีการประชุมสภา และโหวตเลือกนายกฯ ลองดูวิธีการตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่ โดยเขาก็เลยเสนอเรื่องแนวคิดการตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา ซึ่งเป็นตัวเลือกหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะยากก็ตาม 

จเด็จ ระบุว่า สมาชิกในรัฐบาลแห่งชาติคือรวมคนที่เป็นหัวกะทิของแต่ละพรรคการเมือง หรือเป็นข้อดีของแต่ละพรรคฯ มารวมกัน เพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดอง และเป็นรัฐบาลที่สร้างสรรค์ เป็นการเมืองที่มีศักดิ์ศรี ไม่ต้องแบ่งฝ่ายแบ่งพวก 

"เส้นทางเดินใน 60 วัน เราลองคิดในมุมอื่นๆ บ้างไหม มันเป็นไปได้ และบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันมีอะไรบ้างที่เป็นไปไม่ได้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แต่ขอให้สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่ดีๆ ก่อให้เกิดความสมานฉันท์ และความเข้าใจกันระหว่างคน" จเด็จ กล่าว และระบุว่า เขาไม่ได้ต่อต้านเรื่องการเลือกตั้งถ้าในสถานการณ์ปกติดีที่สุด

ข้อมูลจาก iLaw ระบุว่า ระหว่างปี 2556-2562 มีการเสนอแนวคิดการตั้งรัฐบาลแห่งชาติอย่างน้อย 4 ครั้ง โดยข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติแทบทุกครั้งมีแนวคิดที่คล้ายกัน คือ รูปแบบที่มีพรรคการเมืองทุกพรรคมาทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติร่วมกัน และไม่มีฝ่ายค้านถ่วงดุลตรวจสอบ โดยมีหานายกรัฐมนตรีคนกลาง ที่ไ้ดรับการยอมรับจากทุกฝ่ายเข้ามาบริหารประเทศชั่วคราว 1-2 ปี เพื่อสร้างความปรองดองสามัคคี และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นธรรม ก่อนคืนอำนาจให้กับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง

'พิธา': เราต้องการรัฐบาลแห่งประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลแห่งชาติ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีฯ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงกรณีถึงข้อกังวลของ ส.ว.จเด็จ อินสว่าง เสนอให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ คำถามสำคัญในตอนนี้คือการที่เราจะออกจากความขัดแย้ง คือเราต้องการ "รัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลแห่งประชาชน" 8 พรรคที่ตั้งร่วมในขณะนี้ก็มาจากเสียงของประชาชนจำนวนมากเกินครึ่งอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ถ้าเราเคารพในเสียงประชาชน และช่วยกันเตือนว่า ทุกครั้งที่มีการไม่เคารพ มติของประชาชน และเลือกระบบที่ไม่ตรงกับเจตจำนงของพวกเขามาโดยตลอด อันนั้นคือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ส่วนตัวเข้าใจ ส.ว.จเด็จ ที่แสดงความกังวลในเรื่องดังกล่าว เพราะไม่มีใครอยากจะมีความขัดแย้งต่อไป พร้อมย่ำว่า

"แต่เรารักษาระบบมิใช่หรือเรารักษามติของประชาชนไม่ใช่หรือ พี่จะออกจากความขัดแย้งได้ เพราะหากเราทำตรงกันข้ามเมื่อไหร่ นั่นคือ สิ่งที่ประวัติศาสตร์สอนเรามา 20 ปีเป็นอย่างน้อย เรื่องดังกล่าวคือต้นเหตุคือความขัดแย้ง จึงอยากยืนยันว่า

"ผมพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของคนทุกคน พร้อมที่จะเป็นรัฐบาลแห่งประชาชน ไม่ได้เป็นแค่รัฐบาลแห่งชาติเพียงอย่างเดียว"

ส่วนกรณีที่ ส.ว.จเด็ด ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม โดยมีชื่อของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามาในเงื่อนไขรัฐบาลแห่งชาติด้วย มองว่า ความคิดเห็นดังกล่าวเป็นการเปิดทางให้ ทั้งสองท่านกลับมา มีอำนาจอีกหรือไม่

พิธา มองว่า ถ้าหากสวนมติของประชาชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ไม่เพียงแต่ชื่อของพลเอกประยุทธ์ หรือพลเอกประวิตร และไม่ใช่ชื่อที่ประชาชนจำนวนมากแสดงเจตจำนง น่าจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง

ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเสนอ

ข้อมูลจากสำนักข่าวทูเดย์ (Today) ระบุว่า ย้อนไปก่อนรัฐประหารปี 2549 มีการเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ก่อนถูกคัดค้านเนื่องจากเหตุผล 2 ประการ ได้แก่ เป็นการบั่นทอนระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากไม่มีฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติ และนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องสูญเสียตำแหน่ง และอำนาจให้ผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้กลับมาพูดถึงอีกครั้งในสมัยหลังรัฐประหารคณะรักษาความแห่งชาติ หรือ คสช. โดยระหว่างยกร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2558 ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ส่งคำถาม “ตั้งรัฐบาลเพื่อการปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ” ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. พิจารณาเป็น “คำถามพ่วงประชามติ” แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวตกไปก่อน โมเดลรัฐบาลแห่งชาติจึงยังไม่เกิด

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

ต่อมา พิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวไว้เมื่อ 10 ก.ย. 2560 ช่วงคดีจำนำข้าว ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยตอนนั้นมีเสนอว่า ความหวังของบ้านเมืองยังมีทางเลือกที่อีกทางที่ยากหน่อย คือการมีรัฐบาลต่อไปที่สวยงาม โดยพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทย รวมกับทหารตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ไม่แน่ใจว่าทหารหรือพรรคการเมืองจะเอาไหม ที่พูดมานี่เพื่อให้เกิดความปรองดอง ไม่ใช่การซูเอี๊ย แต่ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นศัตรูกับทหาร และมานั่งทำงานปรองดองแห่งชาติ ส่วนใครจะเป็นนายกฯ ก็ว่ากัน ซึ่งคนที่ริเริ่มได้คือ พล.อ.ประยุทธ์ 

ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ เป็นอีกคนที่เสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ วนไปวนมาหลายสิบปี และเช่นเดียวกับก่อนการเลือกตั้งปี 2562 เปิดบ้านย้ำข้อเสนอตนเองว่าต้องมีรัฐบาลแห่งชาติชั่วคราว ทุกพรรคจับมือกันหาคนกลางแก้รัฐธรรมนูญแล้วเลือกตั้งใหม่…แต่การเลือกตั้ง 24 มีนาคม ก็ดำเนินต่อไป

ถัดจากนั้น เมื่อ 15 เม.ย. 2562 เทพไท เสนพงศ์ ว่าที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติชั่วคราว 2 ปี เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และแก้รัฐธรรมนูญ และจากนั้นให้คืนอำนาจแก่ประชาชน และจัดการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากมองว่าการเมืองปัจจุบันเสี่ยงจะติดทางตัน เนื่องจากแต่ละฝ่ายที่อยากจะจัดตั้งรัฐบาลมีเสียงแบบ 'ปริ่มน้ำ' แม้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ไม่มีความมั่นคง

เทพไท เสนพงศ์ (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก เทพไท เสนพงศ์)

นอกจากนี้ เทพไท ยังเปิดเผยรายชื่อ บุคคลที่เหมาะสมจะเป็น 'นายกฯ คนกลาง' จำนวน 4 รายชื่อ ได้แก่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี และอดีตผู้บัญชาการทหารบก, พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี, ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 

แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ก็ถูกคัดค้านอย่างหนักจากหลายพรรคการเมือง อาทิ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ และสุดท้ายแล้วก็ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาแต่อย่างใด 

บั่นทอนระบอบประชาธิปไตย

ข้อมูลจาก iLaw ประมวลไว้ว่า หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 มีนักการเมืองหลายคนเลยออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแห่งชาติว่าเป็นไปได้ยาก และเป็นการบั่นทอนระบอบประชาธิปไตย

พรรณิการ์ วานิช ขณะนั้นดำรงตำแหน่งโฆษกพรรคอนาคตใหม่ เคยแสดงความเห็นคัดค้านด้วยเหตุผล 3 ข้อ ได้แก่ ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดหลักการประชาธิปไตย และขัดอุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่
 
"ตามประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีหลายครั้งที่มักจะมีข้อเสนอถึงการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ก็เพราะพรรคการเมืองบางพรรคอยากเป็นรัฐบาล แต่เสียงไม่พอที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงอ้างเดธล็อกทางการเมืองแล้วเสนอให้ใช้ถ้อยคำที่สวยหรูอย่างคำว่ารัฐบาลแห่งชาติมาใช้ แต่หากปล่อยให้พรรคที่มี ส.ส.เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล ก็จะเห็นได้ว่าเดธล็อกทางการเมืองก็ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน" พรรณิการ์ กล่าว

รยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ เคยเสนอความเห็นว่า รัฐบาลแห่งชาติจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเจือจาง เนื่องจากนายกฯ ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง  

"ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เนื่องจากผิดหลักการประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ต้องมาจากประชาชน และจากการเลือกตั้งเท่านั้น การที่มีผู้เสนอนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้นตนไม่แน่ใจว่าท่านเหล่านั้นใช้หลักคิดหรือตรรกะอะไร เพราะนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น คงจะไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชนทั้งในและต่างประเทศ แล้วเช่นนี้จะเข้ามาแก้ปัญหาและบริหารประเทศได้อย่างไร และที่สำคัญประเด็นที่ตนมีความกังวลคือ กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้น ใครจะเป็นเจ้าภาพ ใครจะเป็นผู้ริเริ่ม และการได้มาซึ่ง นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี จะมีหลักเกณฑ์ในการสรรหาอย่างไร เพราะไม่ได้มีตัวบทกฎหมายรองรับในเรื่องนี้เอาไว้ ส่วนรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่มีบางฝ่ายเสนอมาก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ไม่ได้มาจากยินยอมพร้อมใจของประชาชนทั้งประเทศ จึงมองว่าแม้การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติจะสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองในระยะสั้นได้ 

"แต่กระบวนการได้มาซึ่งรัฐบาลแห่งชาตินั้นยังเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญของฝ่ายที่เสนอแนวคิดนี้ต้องออกมาอธิบายให้สังคมเข้าใจว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะไม่เพียงขัดหลักการประชาธิปไตย ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐาน และประเพณีการปกครองที่ทำให้ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศเจือจางถดถอยไปอีก" รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าว 

ขณะที่ ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่มีความพยายามจะทำให้เกิดทางตันทั้งปวง และพยายามจะเสนอทางออกเรื่อง รัฐบาลแห่งชาติ โดยคิดว่าจะให้สังคมยอมรับเป็นทางเลือกที่จำเป็นของสังคมไทย ทั้งที่ยังไม่ได้เห็นความพยายามใดๆ ที่จะทำให้ทางออกเกิดขึ้นตามเงื่อนไขและกลไกประชาธิปไตย 

ภูมิธรรม ระบุอีกว่า กกต.และผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งปวงต้องทำงานอย่างโปร่งใส ยึดถือความถูกต้องและผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวมเป็นที่ตั้ง แล้วประเทศจะมีทางออก รีบประกาศผลการเลือกตั้ง อย่างตรงไปตรงมา และเที่ยงธรรม โดยเร็วประเทศไทยยังมีทางออก และระบอบประชาธิปไตย ยังเป็นความหวังที่สร้างทางออกร่วมกันอย่างเป็นจริงฃ

ภูมิธรรม เวชยชัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net