Skip to main content
sharethis

สภาญี่ปุ่นผ่านร่างกฎหมายคุ้มครอง LGBTQ+ มีเสียงวิจารณ์ถึงการลดทอนเนื้อหาจนเกิดช่องโหว่ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของ LGBTQ+ ได้จริง นักวิชาการด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่นชวนอ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้เรื่องความหลากหลายทางเพศของญี่ปุ่นที่สะท้อนว่าในขณะที่สังคมญี่ปุ่นสนับสนุน LGBTQ+ แล้ว มีแต่รัฐบาลอนุรักษ์นิยมยังไม่ก้าวหน้า

 

29 มิ.ย. 2566 เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ผ่านร่างกฎหมายใหม่ที่มีเป้าหมายต้องการ "ส่งเสริมความเข้าใจ" เกี่ยวกับประชาคมผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQIAN+ แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นกฎหมายที่ถูกลดทอนเนื้อหาลงมาก ทำให้ญี่ปุ่นตามหลังประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตยประเทศอื่นๆ ในเรื่องความหลากหลายทางเพศ

ในกลุ่มประเทศ G7 ญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวที่ยังคงมีความก้าวหน้าน้อยที่สุดในเรื่องความหลากหลายทางเพศ เช่นการที่ยังไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมายต่อการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการลดทอนเนื้อหาทางกฎหมายในเรื่องการต่อต้านการกีดกันเลือกปฏิบัติทางเพศสภาพและเพศวิถีด้วย

สื่อ CNN ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ในฉบับดั้งเดิมมีเนื้อหาที่แน่นกว่า ร่างแรกที่ว่านี้มีการผ่านร่างโดยสภาล่างเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าในตอนนั้นจะมี ส.ส. จากพรรคแอลดีพีที่เป็นผู้นำรัฐบาลแสดงการต่อต้านแนวทางของพรรคและมี ส.ส. บางส่วนที่ไม่เข้าร่วมประชุมหรือเดินออกจากห้องประชุมในช่วงที่มีการลงมติก็ตาม

นอกจากนี้ในการผ่านร่างสภาบนมีการเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายจากเดิมในเรื่องการต่อต้านการกีดกันเลือกปฏิบัติบนฐานของเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ โดยในร่างกฎหมายดั้งเดิมนั้นมีการเขียนระบุไว้ว่าจะต้องมีการคุ้มครองในเรื่องนี้ โดยการกีดกันบนฐานของอัตลักษณ์เหล่านี้นั้นถือเป็นเรื่องที่ "ไม่อาจยอมรับได้" แต่ในการพิจารณาของสภาบนก็มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาให้กลายเป็น "จะต้องไม่มีการกีดกันเลือกปฏิบัติในแบบที่ไม่เป็นธรรม" ซึ่งนักวิจารณ์มองว่าเป็นภาษาที่กว้างเกินไป จะส่งผลปล่อยให้พวกใจแคบเหยียดเพศหาช่องโหว่ของกฎหมายทำให้เกิดการกีดกันเลือกปฏิบัติต่อไปได้

ซาบีน ฟรูชตัก ศาสตราจารย์ด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่นร่วมสมัยจากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า การที่กฎหมายเรื่อง LGBTQ+ ฉบับใหม่ของญี่ปุ่นมีข้อจำกัดในหลายเรื่องและการที่กฎหมายนี้ต้องผ่านการต่อสู้มาเป็นเวลายาวนานกว่าจะผ่านร่างได้นั้น แสดงให้เห็นว่านักการเมืองระดับชาติของญี่ปุ่นล้าหลังตามไม่ทันสังคมของญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่

ฟรูชตักระบุว่า ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีภาพลักษณ์ว่าเป็นประเทศอนุรักษ์นิยม ซึ่งหลักๆ แล้วเป็นเพราะรัฐบาลแห่งชาติของญี่ปุ่นทำตัวแบบนี้ แต่ในทางตรงกันข้ามบรรษัทของญี่ปุ่นและรัฐบาลท้องถิ่นของญี่ปุ่นกลับเป็นฝ่ายที่ก้าวหน้ามากกว่ารัฐบาลกลางในประเด็นเรื่องสิทธิ LGBTQ+ ไม่เพียงเท่านั้นประวัติศาสตร์เรื่องความหลากหลายทางเพศในญี่ปุ่นยังแสดงให้เห็นมุมมองของสังคมญี่ปุ่นต่อความหลากหลายทางเพศในหลายรูปแบบด้วย

 

การเปลี่ยนแปลงในสังคม ศาล และบรรษัทญี่ปุ่น

กฎหมายของญี่ปุ่นที่ออกมาไม่ได้ทำให้เรื่องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศกระเตื้องขึ้นมากนัก ไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างจริงจัง มีแต่การใช้คำกว้างๆ อย่างกำกวมเช่นคำว่า "พลเมืองทุกคนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยสันติในจิตใจ" ซึ่งถูกวิจารณ์จากนักกิจกรรม LGBTQ+ ว่าเป็นการลดทอนความสำคัญเรื่องสิทธิของชนกลุ่มน้อยทางเพศ

ถึงแม้ว่าตัวกฎหมายจะถูกแก้ให้ลดทอนลงจากเดิมอยู่แล้ว แต่ก็ยังผ่านร่างมาได้อย่างยากลำบาก เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความดื้อด้านของรัฐสภาญี่ปุ่นในการรับรองสิทธิของ LGBTQ+ อย่างจริงจัง

ในทางตรงกันข้าม การต่อสู้นอกรัฐสภาของ LGBTQ+ ในญี่ปุ่นกลับมีความก้าวหน้ามากกว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในระดับภูมิภาคและในระดับเทศบาล

เช่นในเดือนมีนาคม 2562 มีการออกกฎหมายในระดับท้องถิ่นที่จังหวัดอิบารากิให้มีการห้ามกีดกันเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ หนึ่งเดือนหลังจากนั้นกรุงโตเกียวก็มีการออกกฎหมายแบบเดียวกัน นอกจากนี้ในกฎหมายยังระบุให้หน่วยงานบริหารโตเกียวต้องสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ รวมถึงมีการห้ามการแสดงออกในเชิงเกลียดชังหรือการใช้โวหารในเชิงเกลียดชังต่ออัตลักษณ์ LGBTQ+ ต่อหน้าธารกำนัล ซึ่งจะถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ผลโพลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 64.3 สนับสนุนกฎหมายที่ส่งเสริมความเข้าใจต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น นอกจากนี้เสียงส่วนใหญ่ยังสนับสนุนการรับรองการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันด้วย

ในเรื่องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันก็มีความก้าวหน้าในระดับท้องถิ่น จากการที่ศาลแขวงในหลายพื้นที่ตัดสินว่าการที่ญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้มีการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกันนั้นถือเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 14 ซึ่งการันตีว่าผู้คนทุกคนล้วนเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย

 

รัฐบาลกลางญี่ปุ่นเตะตัดขาความก้าวหน้า

นายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ จากพรรคอนุรักษ์นิยมแอลดีพีอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 24 ในการปฏิเสธสิทธิการสมรสระหว่างคนรักเพศเดียวกัน โดยที่รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวระบุว่าการแต่งงานนั้นตั้งอยู่บนฐานของ "การยินยอมพร้อมใจของทั้งสองเพศและมันจะต้องดำรงไว้ซึ่งความร่วมมือกันทั้งสองฝ่ายพร้อมทั้งสิทธิความเท่าเทียมของสามีและภรรยา"

เนื่องจากในญี่ปุ่นยังไม่มีกฎหมายในระดับประเทศที่จะมายกเลิกการแบนการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกันได้ หน่วยงานรัฐบาลส่วนท้องถิ่นถึงหันไปหาการจดทะเบียนคู่ชีวิต (civil partnership) แทน ซึ่งไม่ได้ให้การคุ้มครองทางกฎหมายต่อการกีดกันเลือกปฏิบัติในระดับที่กว้างมากเท่าการแต่งงานแต่ก็มีการให้สวัสดิการบางอย่าง เช่น สิทธิทางเลือกในการลงทะเบียน เพื่อเข้าถึงการเคหะของรัฐ

มีเทศบาลท้องถิ่นอยู่มากกว่า 300 แห่งในญี่ปุ่น คิดเป็นประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ที่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนคู่ชีวิตยังนับว่าเป็นการรองรับในระดับท้องถิ่นไม่ใช่ในระดับชาติ ทั้งนี้ยังมีวัดบางแห่งที่เริ่มอนุญาตให้ประกอบพิธีกรรมการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันได้แล้ว ส่วนศาสนาชินโตที่มีอยู่ในญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานและมีภาพลักษณ์แบบอนุรักษ์นิยมจัดนั้น ก็ยังมีนิกายของชินโตอย่างน้อยนิกายหนึ่งที่แสดงการสนับสนุนชุมชน LGBTQ+

ในขณะเดียวกัน บรรษัทเอกชนในญี่ปุ่นก็ทำตามกระแสสังคมและเดินตามนโยบายระดับท้องถิ่นในเรื่องการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ มีบรรษัทในญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้นที่เริ่มเล็งเห็นให้ความสำคัญต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งในฐานะของคนทำงานของพวกเขาและในฐานะลูกค้า

ในปี 2562 มีบรรษัทในญี่ปุ่นรวมแล้ว 200 แห่งที่ออกแนวทางนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามการกีดกันเลือกปฏิบัติบนฐานของเพศวิถีและเพศสภาพ รวมถึงเพิ่มสวัสดิการให้กับคนรักเพศเดียวกันในเรื่องการครองคู่, การมีลูก และการเปลี่ยนแปลงในชีวิตอื่นๆ

 

ในญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมความหลากหลายทางเพศมานานแล้ว

การที่รัฐบาลญี่ปุ่นลดทอนเรื่องสิทธิ LGBTQ+ นับเป็นการละเลยประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศในญี่ปุ่นเองด้วย ในญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับการรักเพศเดียวกันปรากฏในยุคกลางมาจนถึงยุคปลายศตวรรษที่ 19 ทั้งในชนชั้นซามูไรที่บางครั้งก็มีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างซามูไรชายกับข้ารับใช้ที่เป็นชาย ในหมู่สงฆ์ชาวพุทธก็มีเรื่องความสัมพันธ์ชายรักชายที่มีมิติทางจิตวิญญาณเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงในโลกของการละครและโลกของความบันเทิงอื่นๆ ก็เคยมีเรื่องความหลากหลายทางเพศเช่นนี้

ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 เคยมีรวมเรื่องสั้น 40 เรื่องเกี่ยวกับชายรักชายโดย อิฮาระ ไซกาคุ ชื่อเรื่องว่า "คันฉ่องโอฬารแห่งความรักชาย" ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่พูดถึงและศึกษาถึงต่อมาในอีกหลายยุคหลายสมั

นอกจากนี้ขบวนการผลักดันเรื่องการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกันในญี่ปุ่นยังมีมาตั้งแต่ก่อนหน้าระบอบการเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตยในญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ในปี 2468 นักเขียนชาวญี่ปุ่น โยชิยะ โนบุโกะ พยายามเรียกร้องให้เธอแต่งงานกับผู้หญิงอีกคนหนึ่งได้และเรียกร้องให้การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันถูกกฎหมาย ซึ่งโยชิยะเรียกร้องไม่สำเร็จแต่ก็ใช้วิธีการรับอุปการะคนรักของเธอแทน เพื่อให้ได้สถานะว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน

ในช่วงเวลาที่โยชิยะเรียกร้องในเรื่องดังกล่าวเป็นช่วงยุคสมัยที่ญี่ปุ่นกำลังมองว่าเพศวิถีแบบคนรักเพศเดียวกันนั้นถือเป็นสิ่งที่ต้องตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์และต้อง "รักษา" แต่ก่อนหน้านี้ในญี่ปุ่นเคยมีการห้ามการรักเพศเดียวกันแค่ในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้นคือช่วงระหว่างปี 2415-2423

ขบวนการต่อสู้เรื่อง LGBTQ+  ในญี่ปุ่นก็ดำเนินต่อมาเรื่อยๆ และได้รับแรงส่งจนเกิดความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 (1950-2000) มีการเน้นย้ำเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศในฐานะสิทธิมนุษยชนได้สำเร็จในช่วงทศวรรษที่ 1980s ต่อมาก็มีกลุ่มที่ชื่อ OCCUR ที่ชนะคดีทำให้มีการยกเลิกการห้ามชาวเกย์ในโฮสเทล และทำให้สมาคมจิตเวชและประสาทวิทยาญี่ปุ่นยกเลิกการระบุว่า "การรักเพศเดียวกัน" เป็นโรค แล้วยอมรับว่าการรักเพศเดียวกันไม่ใช่ความผิดปรกติทางเพศ แต่เป็นเพศวิถีหรือรสนิยมทางเพศ

นอกจากนี้ OCCUR ยังกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเดินขบวนไพรด์ในโตเกียวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2537 ด้วย มีการใช้คำขวัญที่ว่า "ญี่ปุ่นที่ใจใหญ่" เพื่อเป็นการรณรงค์ให้เกิดการยอมรับความหลากหลายทางเพศ

ในปี 2566 นี้เองไพรด์ในญี่ปุ่นก็กลับมาอีกครั้งหลังจากที่หยุดไปเพราะการระบาดของ COVID-19 โดยที่ธีมในปีนี้คือ "ผลักดันต่อไปจนกว่าญี่ปุ่นจะเปลี่ยนแปลง" มีการจัดเทศกาลนี้ขึ้นที่สวนสาธารณะโยโยงิระหว่างวันที่ 22-23 มิ.ย. ที่ผ่านมา

 

 

เรียบเรียงจาก

Watered-down LGBTQ ‘understanding’ bill shows how far Japan’s parliament is out of step with its society – and history, Sabine Frühstück, The Conversation, 17-06-2023

https://theconversation.com/watered-down-lgbtq-understanding-bill-shows-how-far-japans-parliament-is-out-of-step-with-its-society-and-history-206908

Japan passes watered-down LGBT understanding bill, CNN, 16-06-2023

https://edition.cnn.com/2023/06/16/asia/japan-lgbt-bill-passed-intl-hnk/index.html

Tokyo Rainbow Pride 2023: Press on till Japan changes, Zenbird, 27-02-2023

https://zenbird.media/tokyo-rainbow-pride-2023-press-on-till-japan-changes/

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net