Skip to main content
sharethis

เครือข่าย #RespectMyVote ยื่นหนังสือเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. และ ส.ว. โหวตนายกฯ ตามมติเสียงข้างมากมหาชนจากการเลือกตั้ง’66 'ยิ่งชีพ' มองตามข้อกฎหมาย เสนอนายกฯ และเสนอญัติ เป็นคนละเรื่องกัน

 

18 ก.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก The Reporters ถ่ายทอดสดออนไลน์ ที่รัฐสภา แยกเกียกกาย ฝั่งวุฒิสภา เมื่อเวลาประมาณ 10.49 น. เครือข่ายภาคประชาชนในนาม "Respect My Vote" ซึ่งประกอบด้วย องค์กรไม่ว่าจะเป็นสมัชชาคนจน กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือ DRG คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. เครือข่ายเพื่อรัฐสวัสดิการประชาชน We Watch iLaw เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ ศิลปะปลดแอก และอื่นๆ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา 249 คน เรียกร้องให้วุฒิสภาปฏิบัติตามมติของมหาชน ในการโหวตเห็นชอบ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมติเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งปี 66

หลังการยื่นหนังสือ ได้มีตัวแทนเครือข่าย Respect My Vote ขึ้นมาพูดถึงข้อเรียกร้อง ดังนี้ต่อไปนี้

1. ให้สมาชิกรัฐสภา ซึ่งหมายถึง ส.ว. และ ส.ส. ดำเนินการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีให้กับผู้ที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยืนยันหลักการเสียงข้างมากตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

2. การเลือกตั้งสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่เมื่อ 14 พ.ค. 2566 มีพรรคที่ชนะการเลือกตั้งแล้ว มีพรรคที่รวบรวมเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว เพราะฉะนั้น ส.ว.ก่อนจะหมดวาระไม่ถึง 1 ปี สิ่งหนึ่งที่ ส.ว. ควรจะทิ้งไว้ให้เป็นประโยชน์กับประชาชน คือ การเคารพเสียงประชาชน เคารพเสียงพรรคการเมืองที่รวบรวมจัดตั้งรัฐบาลได้ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป เพราะฉะนั้นการลงมติในวันพรุ่งนี้คาดหวังว่า สมาชิกวุฒิสภาจะตระหนักในประเด็นเหล่านี้ วันพรุ่งนี้จะลงมติยึดมั่นยึดหลักการตามเสียงของประชาชน 

"การงดออกเสียงไม่ใช่การปิดสวิตช์ตัวเอง แต่การปิดสวิตช์ตัวเอง คือการทำให้รัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามา สามารถตั้งได้ และก็บริหารประเทศต่อไปได้" หนึ่งในตัวแทนเครือข่าย Respect My Vote กล่าว

3. อยากให้เสียงของสมาชิกวุฒิสภาจะต้องไม่ถูกนำไปใช้เป็นข้อต่อรองทางการเมืองให้มีนายกรัฐมนตรีคนที่ผู้มีอำนาจอยากได้ แต่ประเทศไทยต้องมีนายกรัฐมนตรีตามที่ประชาชนแสดงออกผ่านคูหาเลือกตั้ง

4. อยากให้สมาชิกรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้ง บางท่านอาจไม่ได้เข้าร่วมพรรครัฐบาล แต่อยากให้ทุกท่านช่วยรับฟังความต้องการหรือความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาชนด้วยความอดทนอดกลั้น ไม่แสดงท่าทีข่มขู่ คุกคาม หรือแสดงท่าทีเป็นศัตรูกับประชาชน
 
'มายด์' ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรมการเมือง กล่าวว่า ส่วนหนึ่งต้องการยืนยันตาม #Respect My Vote ตามสโลแกน “Respect เสียงของประชาชน เคารพผลการเลือกตั้งฟังเสียงของประชาชน” และอยากย้ำเตือนว่าวุฒิสภาไม่ควรใช้ดุลยพินิจของตัวเอง ก็ควรต้องโหวตเห็นชอบให้กับแคนดิเดตที่ 8 พรรคร่วมได้เสนอเข้าไปแล้ว เพื่อให้ประเทศไม่เจอทางตัน นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล และแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนให้ได้อย่างเร่งด่วนที่สุด

มายด์ กล่าวต่อว่า สมมติว่าวันที่ 19 ก.ค.ไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้อีก ซ้ำไปกว่านั้นจากเสียง ส.ว.เอง คิดว่าภาคประชาชนจะมีการขยับต่อไป แต่อาจจะไม่ได้มาจากแค่กลุ่มเดียวอย่างที่หลายๆ คนคิดว่าจะเป็นแบบนั้น โดยเฉพาะหลายองค์กรที่ขับเคลื่อนกันภายใต้ชื่อ #Respect My Vote ทุกคนที่อยากจะแสดงความเห็นทางการเมือง สามารถใช้ #RespectMyVote66 และ #RespectMyVote เพื่อส่งเสียงไปยังสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ว่าประชาชนต้องการอะไร และผู้มีอำนาจที่แท้จริงในประเทศนี้คือประชาชน ไม่ใช่คนอื่นคนใด

กรณีที่จะมีการเสนอชื่อ นายกฯ จากพรรคร่วมรัฐบาล แทนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั้น มายด์ กล่าวว่า ถ้าเป็นมติของ 8 พรรคร่วมไม่มีปัญหา แต่สิ่งทีสำคัญคือ รัฐบาลใหม่ต้องแก้ไขปัญหาของประชาชนตามข้อตกลงร่วม MOU ที่ได้เซ็นกันไว้ รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อเป็นการปลดล็อกการบริหารประเทศตามเจตจำนงของประชาชนให้ได้มากที่สุด

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ สมาชิก iLaw กล่าวว่า การเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ รอบที่ 2 ไม่ได้เป็นการเสนอญัตติ หรือญัตติซ้ำ เนื่องจากตามกฎหมายเรื่องการเสนอญัติอยู่ในข้อที่ 41 ส่วนการเสนอชื่อนายกฯ อยู่ในหมวดต่างหาก ว่าด้วยการเสนอชื่อนายกฯ เป็นคนละเรื่องกัน ญัติคือญัติ การเสนอชื่อนายกฯ ไม่ใช่การเสนอญัติ

จิรนุช เปรมชัยพร ตัวแทนเครือข่าย Respect My Vote กล่าวว่า สำหรับแคมเปญ Respect My Vote เป็นการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านประชาธิปไตยหลากหลายกลุ่ม เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. และจะดำเนินเรียกร้องต่อไป เพื่อหวังว่า ส.ว.จะรับฟัง ในฐานะที่เขาได้ประกาศว่าเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ถ้าท่านแสดงตนเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ท่านก็ต้องรับฟังเสียงของปวงชนชาวไทย และหวังว่าวันพรุ่งนี้ การโหวตนายกรัฐมนตรีจะสามารถเกิดขึ้นได้ตามความต้องการของประชาชนที่ได้แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง

จิรนุช เปรมชัยพร

"เราคิดว่ามันถึงเวลาจริงๆ ประเทศต้องได้รับโอกาสกลับคืนสู่ประชาธิปไตยแบบปกติ และข้อเรียกร้องวันนี้ที่เรามีต่อ ส.ว.ไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องพิเศษ เป็นข้อเรียกร้องขอให้ปฏิบัติในมาตรฐานเดียวกันกับที่คุณเคยทำไว้เมื่อปี 2562 คุณไม่มีความเห็น คุณโหวตตามเสียงข้างมากที่สภาเสนอมา ทีนี้คุณจะตอบอย่างไรว่า 312 เสียงของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่เสียงข้างมากที่คุณจะต้องโหวตเห็นชอบ 

"ต้องย้ำอีกเรื่องหนึ่งว่า สิ่งที่ ส.ว. ต้องดำเนินการเป็นการออฟไซด์ (offside - ล้ำหน้า) หลายประการ หน้าที่ตามหมวด 272 คือเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ แต่โดยหลัก มันคือตามบทเฉพาะกาล ถ้าคุณเชื่อว่ารัฐบาลที่ผ่านมาทำหน้าที่ได้ดีแล้ว ประเทศไทยควรจะออกจากบทเฉพาะกาลได้แล้วใช่ไหม งั้นการงดเว้นการใช้บทเฉพาะกาลของ ส.ว. จึงเป็นเรื่องสำคัญ และทำให้ประชาธิปไตยเดินหน้า 

"กลุ่มพวกเราจะไม่หยุดอยู่แค่นี้แน่ๆ และโหวตพรุ่งนี้หวังว่าจะผ่าน ไม่ผ่าน จะโหวตใหม่ โหวตไปเรื่อยๆ ก็ได้ อย่าหักเสียงประชาชน เราคิดว่าเรื่องสำคัญก็คือว่าพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังก่อตั้ง ต้องไม่เอื้อผลประโยชน์ต่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นการผนึกกันไว้เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ผนึกกันไว้เพื่อผลประโยชน์ของประชาธิปไตยในสังคม ดังนั้น เราจึงอยากจะให้เสียงข้างมากที่ประชาชนได้เลือกมาแล้วได้รับการเคารพ 

"พวกเรารู้ว่าเราอยู่กับการดักดาน ของการไม่เป็นประชาธิปไตยมาหลายปี หนทางหนึ่งของการกลับสู่ประชาธิปไตย คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยที่ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นเรื่องที่พวกเราดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และหวังว่ารัฐบาลที่เราเลือกไปจะได้มาทำงานร่วมกันกับเรา และสมาชิกสภาฯ ทั้ง 2 สภาจะร่วมกันกับพวกเรา ในการเดินกลับสู่ประชาธิปไตย" จิรนุช กล่าว

อนึ่ง ก่อนการยื่นหนังสือถึงวุฒิสภา เครือข่ายประชาชน Respect My Vote มีการยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นเดียวกัน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net