Skip to main content
sharethis

'กัณวีร์' รับข้อเสนอภาคประชาชนคุ้มครองชีวิตประชาชนชายแดนกระทบทหารพม่าทิ้งระเบิด ส่งผลผู้ลี้ภัยเข้าไทยเกือบ 1 หมื่นคนแล้ว ย้ำไทยต้องเปิดประตูมนุษยธรรมและยกระดับบทบาทนโยบายต่างประเทศของไทย เตรียมขอหารือที่ประชุมสภาฯ 10 ส.ค.นี้

8 ส.ค.66 ฝ่ายสื่อสารพรรคเป็นธรรมระบุว่าถึงกรณีที่ภาคประชาสังคมที่ทำงานชายแดนไทย-เมียนมา ทำหนังสือถึงพรรคเป็นธรรมขอให้มีมาตรการคุ้มครองประชาชนตามแนวชายแดนตะวันตก ในสถานการณ์การสู้รบของประเทศเมียนมา

กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า เตรียมนำปัญหานี้ขอหารือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันพฤหัสบดีที่ 10 ส.ค.นี้ ในฐานะที่ติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา และทำงานในองค์การสหประชาชาติในการดูแลผู้ลี้ภัย การทำงานด้านมนุษยธรรม และการทำงานหน่วยงานความมั่นคงในไทย และได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาไปหลายเวทีว่า ไทยต้องมองการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยเมียนมาด้วยหลักการมนุษยธรรม ถึงเวลาที่ไทยต้องเปิดประตูสู่มนุษยธรรม Humanitarian Corridor ในการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยเมียนมา และยกระดับบทบาททางการทูตของไทยหาทางออกนี้กับเมียนมา ภายใต้หลักมนุษยธรรมนำความมั่นคง

“ตัวเลขผู้หนีภัยการสู้รบจากรัฐคะเรนนี เข้ามาพักในพื้นที่พักพิงชั่วคราวใน จ.แม่ฮ่องสอน 5 แห่ง ทั้งที่ อ.แม่สะเรียง อ.ขุนยวม อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน รวม 9,060 คน สถานการณ์ยืดเยื้อมาเกือบ 2 เดือนแล้ว และมีแนวโน้มจะยาวนานอีกหลายเดือน ไม่นับถึงแนวชายแดนรัฐกะเหรี่ยง ที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปีแล้ว เป็นเรื่องที่ต้องรอรัฐบาลใหม่มาจัดการ แต่ระหว่างนี้รัฐบาลรักษาการก็ต้องมีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนคนไทยตามแนวชายแดนด้วย” กัณวีร์ กล่าวย้ำ

สำหรับข้อเรียกร้องจาก เครือข่ายภาคประชาสังคม 7 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน, เสมสิกขาลัย มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.), มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล, มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน, เครือข่ายแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย พังงา ระนอง ชุมพร ประจวบฯ (คนไทยพลัดถิ่น), Burma Concern มีสาระสำคัญระบุว่า

ช่วงวันที่ 30 มิ.ย. 2565 มีเครื่องบินรบของกองทัพพม่าได้บินผ่านหมู่บ้านวาเล่ย์เหนือ ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก โดยยิงอาวุธปืนจากเครื่องบินทำให้กระสุนตกบริเวณในไร่ปาล์ม และมีสะเก็ดระเบิดถูกรถยนต์กระบะ ของประชาชนไทย ซึ่งจอดห่างจากชายแดนประมาณ 1 กิโลเมตร เครื่องบินรบของเมียนมา ยังบินผ่านเข้าไปในตัวเมือง อ.พบพระ อีกด้วย ชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายพยายามเรียกร้องให้ทหารไทยประสานกับทหารเมียนมาเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นภาระของบริษัทประกันภัย

“ทุกวันนี้ราษฎรไทยที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเมยต่างรู้สึกกังวลใจในสถานการณ์สู้รบจากฝั่งเมียนมา เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีการรุกล้ำพื้นที่เข้ามาหรือไม่ เพราะยังมีการสู้รบอย่างสม่ำเสมอ” กัณวีร์กล่าว

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ ต.ปากจั่น อ.กระบุรี จ.ระนอง ทหารเมียนมาได้ยิงปืน ค. ถล่มฝ่ายต่อต้านและหมู่บ้านพลเรือนชายแดนเมียนมา ทำให้ชาวบ้านฝั่งเมียนมา ต้องหลบหนีข้ามมาอาศัยอยู่ในสวนปาล์มฝั่งไทย ขณะเดียวกันมีกระสุนปืน ค.ของทหารเมียนมาได้ตกลงข้างคอกวัวในฝั่งไทย ทำให้วัวตายและบาดเจ็บ คอกวัวเสียหาย ต่อมามีทหารไทยเข้ามาเก็บสะเก็ดระเบิดทั้งหมดออกไป แต่ไม่เคยหน่วยงานรัฐเข้ามาสอบถามเรื่องความเสียหายหรือเยียวยาใดๆ และเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ชายแดนไทยด้าน บ้านเสาหิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กองทัพเมียนมาได้ส่งเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดลงหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีชาวบ้านฝั่งรัฐคะเรนนีต้องหนีภัยความตายข้ามมาพักพิงยังฝั่งไทยร่วมหมื่นคนจนปัจจุบันก็ยังไม่มีท่าที่ว่าความรุนแรงดังกล่าวจะคลี่คลาย

นอกจากสถานการณ์ข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ไม่เป็นข่าว ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนเห็นว่าสถานการณ์ในลักษณะนี้ จะหนักขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนจำนวนมากในฝั่งเมียนมาถูกถล่มโดยไม่แยกแยะเป้าหมายระหว่างพลเรือนและทหารฝ่ายตรงกันข้าม โดยกองทัพเมียนมา ได้โจมตีทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์พักพิงชั่วคราว และหมู่บ้านจำนวนนับไม่ถ้วน ทุกวันนี้ประชาชนสองฝั่งต่างหวาดผวาเมื่อได้ยินเสียงเครื่องบิน ชาวบ้านที่ทำไร่ทำนาประกอบอาชีพอยู่ตามแนวชายแดนทั้งฝั่งไทยและเมียนมาต่างหนีหลบภัยจนไม่เป็นอันทำมาหากิน

“การยิงระเบิดและทิ้งระเบิดจากอากาศยานของกองทัพเมียนมาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะนับวันกองทัพเมียนมาจะเข้าถึงพื้นที่ด้วยกองกำลังทหารราบยากขึ้น จึงต้องใช้แสนยานุภาพทางอากาศยานเป็นหลัก แต่การไม่แยกแยะเป้าหมาย ได้ส่งผลต่อพลเรือนชายแดนทั้งฝั่งไทยและฝั่งเมียนมา ทำลายทรัพย์สินและสร้างความหวาดหวั่นให้ประชาชนชาวไทยตามแนวชายแดน การทิ้งระเบิดและโจมตีพื้นที่พลเรือนเป็นการละเมิดกติกาสากล นอกจากนี้ประเทศไทยยังต้องรองรับผู้หนีภัยความตายด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่ทำให้ชาวบ้านอุ่นใจได้เลย”

กัณวีร์ กล่าวย้ำว่า การสร้างประตูสู่มนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) บริเวณชายแดนไทยฝั่งตะวันตกที่ติดกับเมียนมาเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่สำคัญ เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่คำนึงถึงการให้ความช่วยเหลือที่เอาผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาเป็นตัวตั้ง โดยการให้ความช่วยเหลือนี้ต้องมีความเป็นกลาง ไม่เอนเอียง และเป็นอิสระต่อการคำนึงถึงการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ไทยต้องเป็นผู้นำในการสร้างประตูสู่มนุษยธรรมดังกล่าว โดยใช้กรอบความร่วมมือภูมิภาคอย่างอาเซียนเป็นกลไกผลักดันและระดมทรัพยากรด้านมนุษยธรรมด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net