Skip to main content
sharethis
  • วันนี้ (11 ส.ค.) ที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ มีกิจกรรม 3 ปี วันเฉลิมหาย: รียูเนียนกับ ‘ต้าร์-วันเฉลิม’ เนื่องในวันเกิดครบ 41 ปี
  • เจน-สิตานันท์ พี่สาววันเฉลิม ชวนคุยอัปเดตประเด็นที่หลายคนสงสัย จากนั้นต่อด้วยวงเสวนาโดย รังสิมันต์ โรม ส.ส.ก้าวไกล ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตราภรณ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ซินเธีย เวลิโก ผู้แทนระดับภูมิภาคของ OHCHR และปิดท้ายด้วยการเป่าเค้กร่วมกันเนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบ 41 ปีของ ต้าร์-วันเฉลิม


“ไม่เคยเห็นต้าร์โกรธใคร” ชัชชาติพูดถึงวันเฉลิม

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาเยี่ยมชมนิทรรศการรำลึก 3 ปี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกบังคับสูญหายระหว่างการลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชาเมื่อ 4 มิ.ย.2563 ที่วันนี้ครอบครัวและเพื่อนรวมถึงมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่ช่วยติดตามดำเนินการในกรณีนี้

ชัชชาติ กล่าวถึง ต้าร์-วันเฉลิมว่าเคยทำงานร่วมกันช่วงสมัยที่ทำงานอยู่กระทรวงคมนาคม โดยต้าร์ทำงานเป็นทีมสื่อสารให้ เขากล่าวถึงต้าร์ว่าเป็นคนที่เขาไม่เคยเห็นต้าร์โกรธใคร และทำงานด้วยกันอย่างดี 

ชัชชาติกล่าวรำลึกถึงต้าร์และทุกคนที่ถูกบังคับสูญหายและคิดว่าไม่ควรมีใครต้องถูกกระทำความรุนแรงถึงกับต้องถูกทำให้หายไป

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

พี่สาวต้าร์เปิดสัมพันธ์ ฮวด-ฮุนเซน-วันเฉลิม-ทักษิณ

เจน-สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของต้าร์ และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าถึงกิจกรรมที่ต้าร์ทำตอนเรียนมหาวิทยาลัยที่รามคำแหงว่าเขาสนใจรณรงค์เพื่อป้องกันเอดส์โดยไปแจกถุงยางอนามัยที่ธนิยะ สีลม แต่กลับถูกคนที่ขายถุงยางอนามัยอยู่ไล่กระทืบ

สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของต้าร์ และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

สิตานันท์ เล่าว่าขณะที่ต้าร์ถูกอุ้มที่กัมพูชา เธอได้ยินเสียงเหตุการณ์ทางไลน์เพราะปกติเธอกับน้องก็ได้คุยกันอยู่เรื่อยๆ อยู่แล้วและวันนั้นได้คุยโทรกันอยู่ขณะเกิดเหตุ

สิตานันท์เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่าง "ฮวด" ที่มีความใกล้ชิดกับทั้งต้าร์ วันเฉลิม และทักษิณ ชินวัตร รวมถึงสมเด็จฮุนเซน เธอได้ตั้งคำถามว่าทำไมทักษิณถึงลอยตัวเหนือปัญหาและทำเป็นไม่รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับต้าร์

ลูกๆ ของภูชนะ ร่วมงานด้วย

โรม มองรัฐต้องมีหน้าที่สืบสวน

ชี้มีคนบางกลุ่มสกัดวาระสิทธิมนุษยชน

รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เริ่มจากกล่าวรำลึกถึงวันเฉลิมว่ารู้จักกันตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่แล้วและก็เคยถกเถียงประเด็นนโยบายและการเมืองกันแต่เมื่อเกิดรัฐประหาร 2557ก็ทำให้ไม่ได้เจอกันอีกเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนร่วมสมรภูมิที่อยากเห็นประเทศไทยดีกว่านี้ และได้กล่าวรำลึกถึงโดยระบุถึงรายชื่อของผู้ที่ถูกบังคับสูญหายภายหลังการรัฐประหารในปี 2557

รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 

รังสิมันต์ กล่าวว่าการทำให้บุคคลสูญหายเป็นเรื่องเลวร้ายมาก เพราะเมื่อสูญหายแล้วทำให้คนในครอบครัวไม่ทราบชะตากรรมของคนที่ถูกทำให้สูญหายและยังทำให้คนในสังคมรู้สึกไม่ปลอดภัยด้วย ไม่เพียงแต่คนที่ถูกทำให้สูญหายจะถูกปกปิดชะตากรรมของพวกเขาแล้วแต่อาชญากรก็ปกปิดตัวเองด้วย คนก็จะคิดกันว่าถ้านักกิจกรรมถูกทำให้สูญหายไปได้ก็จะมีคำถามตามมาว่าจะวันหนึ่งจะไม่เกิดกับตัวเราเอง 

ส.ส.พรรคก้าวไกลกล่าวด้วยเรื่องนี้ได้ทำให้ ส.ส.ทั้งรัฐสภาตื่นตัวและเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องยุติได้แล้ว จึงผลักดันกฎหมายออกมาเพื่อป้องกันการบังคับสูญหายและซ้อมทรมาน แต่เขาก็เล่าว่าที่ผ่านมาก็มีอุปสรรคเพราะเมื่อร่างของประชาชนถูกนำเข้าสภาได้เพียงวันเดียวพรรคอนาคตใหม่ก็ถูกยุบไปเสียก่อน 

รังสิมันต์กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการบังคับสูญหายและซ้อมทรมานก็ยังได้รับการสนับสนุนในสภาเพราะเมื่อเกิดกรณีของวันเฉลิมแล้วก็ยังเกิดกรณีของผู้กำกับโจ้ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาจนขาดอากาศหายใจเสียชีวิต ทำให้สภาตื่นตัวว่าต้องมีกฎหมายมาแก้ไขเรื่องนี้ สังคมไทยไม่ควรต้องรู้สึกว่าสังคมไม่ปลอดภัยอีกต่อไป โดยในกฎหมายนี้ก็มีหลายเรื่องที่เป็นความก้าวหน้าเช่นการให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องติดกล้องในการดำเนินการจับกุมและสอบสวน

รังสิมันต์ ย้ำว่าไม่ว่าจะเป็นอาชญากรหรือไม่บุคคลที่ถูกจับกุมก็ไม่ควรถูกบังคับสูญหายหรือซ้อมทรมาน และความตื่นตัวของสมาชิกรัฐสภาทำให้กฎหมายนี้ผ่านมาได้โดยไม่มีเสียงคัดค้าน แต่กลับต้องมาเจอกับรัฐบาลที่ออก พ.ร.ก.มาเลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตราในกฎหมายที่รวมเรื่องการติดกล้องระหว่างการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้วยทั้งที่เรื่องนี้นับเป็นการปฏิวัติกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย แม้ว่าภายหลังศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาว่าขัดรัฐธรรมนูญซึ่งในสถานการณ์ปกติคนที่มีตำแหน่งนายกฯ จะต้องลาออกแล้วแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็บอกว่าออกไม่ได้แล้วเพราะตอนนี้เพียงแต่เป็นตำแหน่งรักษาการ

“มีกลุ่มอำนาจบางกลุ่มพยายามใช้กระบวนการทางการเมืองทุกทางเพื่อทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ก้าวหน้า” รังสิมันต์กล่าว

ส.ส.บัญชีพรรคก้าวไกลกล่าวว่า การจะบรรลุเป้าหมายในการป้องกันการบังคับสูญหายและตามล่าผู้กระทำความผิดเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวของผู้ถูกบังคับสูญหายได้อย่างไรนั้น แม้ว่าที่ผ่านมาการกระทำเหล่านี้จะเป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่แล้ว ก็ยังเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการเพื่อป้องกันและติดตามจับกุมด้วย แต่หลายกรณีการตามจับคนร้ายไม่ได้เพราะผู้ที่ถูกกระทำส่วนมากคือคนเห็นต่างจากรัฐ เช่นในกรณีวันเฉลิมซึ่งเกิดในกัมพูชายังกลายเป็นข้ออ้างที่รัฐอ้างว่าไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ แต่เขาก็เชื่อว่ากรณีของวันเฉลิมผู้กระทำคือเจ้าหน้าที่รัฐและจะมีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ไม่กี่คนที่กระทำการลักษณะนี้ได้

รังสิมันต์กล่าวว่าเดิมที่เขาหมายมั่นว่าถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะต้องรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาแม้ว่าวันนี้คงจะไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว แต่เขาก็มองว่าหน่วยงานอย่างตำรวจและกระทรวงการต่างประเทศก็ยังมีหน้าที่ต้องปูทางการสืบสวน อัยการที่มีหน้าที่ต้องประสานงาน ถ้าหน่วยงานเหล่านี้ได้ทำหน้าที่ของตัวเองก็จะตามจับคนร้ายได้และเชื่อว่าตำรวจไทยทำได้แต่ยังมีคนที่ขัดขวางกระบวนการไว้ 

ส.ส.ก้าวไกลกล่าวต่อว่าถ้าต้องการคืนความยุติธรรมกับครอบครัวของคนที่สูญเสียหน่วยงานของรัฐต้องสืบหาให้ได้ว่าคนที่ถูกอุ้มไปมีชะตากรรมอย่างไร และเป็นกระบวนการที่รัฐบาลสามารถทำได้ทันที แต่เขาในฐานะที่เป็น ส.ส.ขอยืนยันว่าจะมีการตั้งกระทู้ถาม และถ้ามีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นก็จะดำเนินการเรียกหน่วยงานต่างๆ มาถามและติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานเหล่านี้ที่มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการบังคับสูญหายและซ้อมทรมานที่จะต้องสืบหาติดตามคนที่ถูกบังคับสูญหายและติดตามตัวคนร้าย เพื่อตรวจสอบว่าหน่วยงานเหล่านี้ได้ทำหน้าที่อะไรไปแล้วบ้างซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะทำได้

มองอนาคต กรณีบังคับสูญหาย

วิทิต มันตราภรณ์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่าในไทยมีกรณีที่เป็นการบังคับสูญหายกว่า 80 กว่ากรณีที่ถูกทำให้สูญหายแต่รัฐไทยก็ยังยินดีที่จะจ่ายเงินเยียวยาง่ายกว่าจะออกมารับผิดชอบเช่นในกรณีของบิลลี่ หรือตากใบ ซึ่งเราก็อยากได้รับความรับผิดชอบด้วยไม่ใช่แค่ค่าเสียหายเท่านั้น แม้ว่าจะมีการการแก้ไขกฎเกณฑ์การจ่ายเป็น 4 แสนบาทแล้วแต่การหาความรับผิดชอบจากรัฐนั้นก็ยังเป็นเรื่องยากมาก

 

วิทิต มันตราภรณ์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิทิตกล่าวว่านอกจากเรื่องนี้ก็มีมิติภายนอกด้วยคือกรณีที่เกิดการกระทำความผิดข้ามประเทศด้วย ซึ่งเขามองว่าถ้ารัฐไทยมีข้อตกลงที่ทำกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยไว้อย่างไรก็ควรต้องปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นด้วย 

สำหรับประเด็นกฎหมายป้องกันการบังคับสูญหายและซ้อมทรมานของไทยวิทิตมองว่ากฎหมายที่เพิ่งออกมาให้นี้ไม่ได้ดีกับเพียงผู้ถูกกระทำแต่ยังดีกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยเพราะการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องอัดเทปบันทึกระหว่างการปฎิบัติหน้าที่ก็ยังเป็นการหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเจ้าหน้าที่ด้วย

นอกจากนั้นกฎหมายนี้ยังมีส่วนที่ดีอีกคือห้ามส่งตัวผู้ที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตหากถูกส่งตัวกลับประเทศ แต่ก็ยังเกิดกรณีที่มีการส่งเด็กพม่าที่เข้ามาเรียนในไทยถูกส่งกลับครูที่ให้เข้ามาเรียนก็ยังถูกดำเนินคดีอีกซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ไม่ดี ซึ่งเรื่องนี้นักการเมืองก็ควรจะต้องเข้ามาช่วยด้วย และไม่ควรเอากฎมหายคนเข้าเมืองมากลบกฎหมายที่ดีหรือไม่ใช่แค่เอาดุลพินิจของเจ้าหน้าที่บางฝ่ายบางคนมาใช้ และตัวผู้บังคับบัญชาก็ต้องมีนโยบายหรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจนด้วย

วิทิตกล่าวถึงการเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญา CED ที่ตอนนี้ไทยมีกฎหมายภายในรอไว้แล้วในอนาคตก็คือการเข้าร่วมภาคีอนุสัญญา CED แต่เขาก็มองว่านิยามการบังคับสูญหายใน CED ยังมีความชัดเจนกว่ากฎหมายของไทย และกฎหมายไทยก็ควรจะต้องทำให้นิยามกว้างขึ้นด้วย เช่นในเรื่องของผู้กระทำความผิดที่ในอนุสัญญานับรวมถึงผู้กระทำที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐด้วยเพราะรัฐมีหน้าที่จะต้องควบคุมและลงโทษผู้กระทำความผิดด้วย อีกทั้งในอนุสัญญายังนับรวมไปถึงการกระทำความผิดที่มากกว่าความผิดทางอาญา คือการกระทำความผิดที่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เช่นการอุ้มหายบุคคลเป็นกลุ่มหรือมีการอุ้มหายอย่างเป็นระบบซึ่งการกระทำความผิดลักษณะนี้มีความรับผิดชอบสูงกว่าความผิดทางอาญาทั่วไป

วิทิตยังกล่าวด้วยว่าในอนุสัญญานี้ยังเปิดให้เกิดกระบวนการที่ให้ประชาชนผู้ถูกละเมิดสามารถไปยื่นเรื่องถึงกลไกของสหประชาชาติได้เพื่อสั่งให้รัฐของผู้ถูกละเมิดต้องดำเนินการติดตามคนที่สูญหายโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการของศาลในรัฐนั้นๆ  เพื่อติดตามและและคุ้มครองหลักฐานการกระทำความผิดไม่ให้ถูกทำลาย รวมถึงประเด็นการเยียวยาด้วย

อาจารย์นิติ จุฬาฯ ยังฝากประเด็นเพิ่มเติมที่ควรต้องถกเถียงกันว่าจะใส่ไว้ในกฎหมายอย่างไรคือการอุ้มหายเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะเจอตัว แต่กรณีที่เกิดการละเมิดก่อนที่รัฐไทยจะมีกฎหมายหรือเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญานี้จะต้องทำให้ครอบคลุมแค่ไหน เพราะในเรื่องนี้คณะกรรมการ CED บอกว่าถ้าเป็นเหตุที่เกิดก่อนรัฐเข้าร่วมเป็นภาคีก็ไม่สามารถทำให้รัฐเข้ามารับผิดชอบได้แต่เนื่องจากการกระทำอุ้มหายนี้เป็นเหตุต่อเนื่องกันจึงยังขอการชดใช้ได้เพราะจะเป็นการใช้กฎหมายใหม่เอาผิดย้อนหลัง

วิทิตกล่าวถึงประเด็นที่มีอยู๋ในอนุสัญญาคือการห้ามการกักตัวแบบลับไว้อย่างเด็ดขาด แม้ว่าจะมีพ.ร.บ.ป้องกันบังคับสูญหายและซ้อมทรมานแล้วแต่ในไทยยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยังเปิดให้มีการควบคุมตัวบุคคลไปไว้ที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่ของรัฐโดยอ้างทั้งเรื่องผู้ที่ถูกคุมตัวยังไม่เป็นผู้ต้องหาหรือนำตัวมาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ ดังนั้นจึงต้องแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ที่เปิดช่องให้เกิดการกระทำลักษณะนี้ด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net