Skip to main content
sharethis

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ขีดเส้น 1 เดือน จี้ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) เดินหน้า 4 พื้นที่นำร่องธนาคารที่ดิน ชี้ 12 ปี ดำเนินการล้มเหลว ติดอุปสรรคล่าช้า-ไม่ยึดมั่นเจตนารมณ์กระจายถือครองที่ดินเป็นธรรม ย้ำแนวทางโฉนดชุมชนสู่รัฐบาลใหม่ ด้าน ผอ. บจธ. รับเร่งดำเนินการ

 

24 ส.ค. 2566 เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือรายงานว่า สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้จัดเสวนา ‘ทบทวนเจตนารมณ์การก่อตั้งธนาคารที่ดิน’ ณ สหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง จำกัด ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ตั้งแต่เวลา 11.30 น. โดยประเด็นสำคัญคือ การทบทวนเจตนารมณ์ในการก่อตั้งธนาคารที่ดิน และถอดบทเรียนการดำเนินการที่ผ่านมาของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) ว่ามีปัญหาอย่างไร และแนวทางต่อไปในการหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินโดยมีตัวแทนสหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง ตัวแทน สกน.จังหวัดลำพูน และตัวแทนจาก บจธ. ร่วมเสวนา และมีการอ่านแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์โดย สกน. ปิดท้าย

ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ รังสรรค์ แสนสองแคว สหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง, สุแก้ว ฟุงฟู สกน.จังหวัดลำพูน, ธนา ยะโสภา สกน.จังหวัดลำพูน, ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ นักวิชาการผู้ติดตามนโยบายป่าไม้ที่ดิน, กุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการบจธ. และนิรันดร์ สุพุทธี เจ้าหน้าที่บจธ. ดำเนินรายการโดย พชร คำชำนาญ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.)

เจตนารมณ์ของธนาคารที่ดินตามนิยามและภาพฝันของประชาชน

สุแก้ว ฟุงฟู สกน.จังหวัดลำพูน กล่าวว่า มุมมองในการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์แบบปัจเจก ไม่สอดคล้องกับความต้องการและเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต่อสู้และผลักดันการก่อตั้ง บจธ. ซึ่งเจตนารมรณ์ในการต่อสู้เรื่องที่ดินสำหรับตน คือ ‘การรักษาที่ดินไว้ให้ได้ใช้ประโยชน์จนถึงลูกหลาน’ ส่วนภาพฝันที่ต้องการให้เกิดขึ้นยังอยู่อีกไกล เพราะบจธ.ไม่เข้าใจตรงนี้ ทำให้การทำงานของบจธ.ไม่สอดคล้องกับสภาพจริงในพื้นที่

“การทำงานของบจธ.ที่ไม่สอดคล้องกับความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาของแต่ละพื้นที่ อย่างเช่น กรณีความล่าช้าในการจัดสรรและอนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อที่ดินในพื้นที่นำร่องโครงการฯ ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านในพื้นที่กำลังได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีและถูกฟ้องไล่ แต่ในพื้นที่นอกเหนือโครงการกลับสามารถจัดซื้อที่ดินได้” สุแก้ว กล่าว

รังสรรค์ แสนสองแคว สหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง กล่าวว่า กลุ่มผู้บริหารบางส่วนของบจธ.ไม่ได้เข้าใจในเจตนารมณ์ของการก่อตั้งธนาคารที่ดินอย่างแท้จริง และสะท้อนว่า การบริหารและดำเนินงานแบบ ‘การนั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง’ เป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหา ณ ขณะนี้ และการที่ บจธ. ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาในที่พื้นที่นำร่องในโครงการธนาคารที่ดินได้นั้น เป็นภาพสะท้อนถึงการทำงานของบจธ.ได้เป็นอย่างดี และนำไปสู่การตั้งคำถามว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ที่เหลือได้อย่างไร

ธนา ยะโสภา สกน.จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ที่ดินสำหรับตน คือ ปัจจัยการผลิต ที่สามารถใช้ผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก ซึ่งมองว่าแตกต่างจากมุมมองของกลุ่มทุนและเอกชนที่มองที่ดินเป็นสินค้าที่มีมูลค่าในการสร้างรายได้และผลกำไร ส่วนตัวยังคาดหวังว่าการเข้าใกล้ภาพฝันเป็นจริงมากขึ้น แต่ยังมีอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้การดำเนินการของบจธ.ติดขัด โดยเฉพาะเรื่องการอนุมัติงบประมาณที่ล่าช้าในการจัดซื้อที่ดิน

“ส่วนที่ติดขัดในการดำเนินการของบจธ.ในเรื่องงบประมาณการจัดซื้อที่ดินที่ล่าช้าจนไม่สามารถสนับสนุนและอำนวยให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันเวลา อาจด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น รัฐบาลดำเนินการอนุมัติงบประมาณล่าช้า ทำให้ล่าช้ากระทบต่อกันมาเป็นทอด ๆ จนถึงประชาชนที่ยังคงอยู่ในระหว่างการถูกดำเนินคดีฟ้องขับไล่ในที่ดินที่เป็นข้อพิพาทกับเอกชน และกลุ่มทุน” ธนา กล่าว

สุแก้ว ฟุงฟู สกน.จังหวัดลำพูน

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ นักวิชาการผู้ติดตามนโยบายป่าไม้ที่ดิน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของพื้นที่นำร่องในโครงการธนาคารที่ดินนี้เป็นผืนดินที่ได้มาจากการต่อสู้ และยืนยันเจตนารมณ์ของประชาชน ธนาคารที่ดินจึงต้องไม่ใช่องค์กรที่มีหน้าที่ดำเนินการจัดซื้อที่ดินให้ประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการที่ดินของรัฐที่ผ่านมา อีกปัญหาตอนนี้คือการดำเนินการของบจธ.ไม่ถูกทิศถูกทาง ในขณะที่ประชาชนมีอุดมการณ์ในการใช้ที่ดินแบบ ‘ที่ดินคือชีวิต’ และยืนหยัดในรูปแบบของการใช้ประโยชน์แบบกรรมสิทธิ์ร่วม ซึ่งมีความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์และบริหารจัดการที่ดินมากกว่าการมองที่ดินเป็นสินค้าแบบมุมมองของหน่วยงานรัฐ

“ขอถามกลับว่า ในประเทศไทยมีผืนดินแห่งไหนที่มีความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์ที่ดินมากกว่าพื้นที่โครงการนำร่องธนาคารที่ดินหรือไม่? สิ่งที่พิสูจน์ว่าการใช้ประโยชน์ในรูปแบบนี้มีความยั่งยืนคือการที่ผืนดินตรงนี้หล่อเลี้ยงชีวิตคนมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ในเมื่อผืนดินตรงนี้ความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์ แล้วเหตุใดจึงไม่รับรองกรรมสิทธิ์การใช้ที่ดินเสียที” ธนากร กล่าว

กุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการบจธ. ชี้แจงประเด็นความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณว่า ในการของบประมาณในแต่ละปี มักไม่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากรัฐบาลให้เหตุผลว่า บจธ.ไม่มีความมั่นคงชัดเจนในการก่อตั้งเป็นองค์กรระยะยาว ที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณเดิมที่ได้ตั้งแต่ปี 2557 อย่างไรก็ตาม ในการของบประมาณในปี 2567 จำนวน 1,500 ล้านบาทโดยประมาณ มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะได้รับการอนุมัติงบประมาณ และทางบจธ.ได้บรรจุแผนของสกน. ไว้ในแผนงบประมาณสามพื้นที่ได้แก่ ชุมชนบ้านศรีเตี้ย ชุมชนบ้านหนองเขียด อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน และชุมชนสันป่าเหียง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

 

สกน.ขีดเส้นตาย ‘บจธ.ปฏิรูปองค์กร’ ภายในหนึ่งเดือน พร้อมเดิมพันนโยบายรัฐบาลใหม่

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ เสนอว่า เมื่อบจธ.เป็นเครื่องมือของประชาชนที่ก่อตั้งขึ้นมาจากการต่อสู้เพื่อที่ดินของประชาชนแล้ว ดังนั้น ข้อเสนอจึงไม่ใช่เฉพาะการปรับโครงสร้างการบริหารของบจธ. แต่ต้องปรับมุมมองและทัศนคติในการกระจายอำนาจในการถือครองที่ดินด้วย ส่วนมุมมองในขบวนการต่อสู้เพื่อที่ดินของประชาชน เห็นว่าคงหวังพึ่งเฉพาะกลไกบจธ.อย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องขับเคลื่อนในมิติอื่น ๆ เช่นกัน

“มองว่าขณะนี้ บจธ.เหมือนเขื่อนที่กำลังจะแตก และทิศทางการดำเนินการของบจธ.มีผลต่อการกระจายอำนาจการถือครองที่ดินของประชาชน สิ่งที่สำคัญคือ เราจะกระจายที่ดินจากมือใครมาสู่ใคร ถ้าหากไม่มีมุมมองในการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบใหม่ ๆ อย่างกรรมสิทธิ์ร่วมหรือการใช้ประโยชน์แบบหน้าหมู่ และไม่กระจายการถือครองที่ดินจากกลุ่มทุน/เอกชน มายังผู้ถือคันไถ ในอนาคตคงไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืนจนอยู่ถึงรุ่นลูกหลานจะเกิดขึ้นได้หรือไม่” ธนากร กล่าว

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์

รังสรรค์ แสนสองแคว เสนอว่า บจธ.ต้องจัดการเรื่องสิทธิเหนือพื้นดินทั้ง 3 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนบ้านแพะใต้ อ.เวียงหนองล่อง ชุมชนบ้านท่ากอม่วง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน และชุมชนบ้านโป่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน ปี2566 และย้ำว่า บจธ.ไม่ใช่องค์กรเชิงพานิชย์ ดังนั้น บจธ.ต้องไม่แสวงหาผลกำไรจากเกษตรกร

“หากบจธ.ไม่สามารถดำเนินการให้โครงการในพื้นที่นำร่องบรรลุได้ บจธ.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความล่าช้านี้ และบจธ.ต้องปฏิรูปองค์กร โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้าง และทัศนคติในการทำงานของผู้บริหารองค์กรที่ไม่เข้าใจถึงเจตนารมณ์ในการก่อตั้งธนาคารที่ดิน จึงนำมาสู่ข้อเสนอให้เปลี่ยนผู้บริหารองค์กร ภายในเดือนกันยายนนี้เช่นเดียวกันสุดท้าย” รังสรรค์ กล่าว

ธนา ยะโสภา และสุแก้ว ฟุงฟู สกน.จังหวัดลำพูน สะท้อนว่าให้มีการอนุมัติงบประมาณที่คล่องตัว ทันต่อเวลา และเห็นว่าการที่ทางบจธ.จัดทำแผนงบประมาณประจำปี แล้วมักไม่ได้รับการอนุมัตินั้น อาจเป็นเพราะผลการดำเนินงานของบจธ.ไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน หากเป็นเช่นนี้ต่อไปบจธ.มีโอกาสสูงมากในการถูกยุบองค์กร

ด้านกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการ บจธ. ยืนยันว่าทุกข้อเสนอในครั้งนี้ จะรับไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไป พร้อมทั้งย้ำว่า บจธ.เป็นองค์กรที่จะสนับสนุนและเอื้ออำนวยให้ประชาชนมีที่ทำกินแน่นอน และการดำเนินการของบจธ.หลังจากนี้จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

สกน.แถลงการณ์ย้ำเตือนเจตจำนงแห่งการก่อเกิดธนาคารที่ดินกับความหวังของการปรับตัวเคียงข้างประชาชน

ช่วงสุดท้ายของงาน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือได้อ่านแถลงการณ์ “เจตจำนง แห่งการก่อเกิดธนาคารที่ดิน กับความหวังของการปรับตัวเคียงข้างประชาชน” โดยมีข้อเสนอต่อการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ดังนี้

1. จากการหารือระหว่างโครงการนำร่องธนาคารที่ดินร่วมกับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน จนได้แนวทางในการแก้ไขปัญหาโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 4 พื้นที่ ในรูปแบบการเช่าซื้อ และสิทธิเหนือผืนดิน นั้น ล่วงเลยมาแล้วกว่า 3 เดือน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เราจึงขอเสนอให้ทางประธานผู้อำนวยการบจธ. ในฐานะผู้ตัดสินใจเห็นชอบแนวทาง ให้ยืนยันและรับหลักการที่ได้ข้อสรุปร่วมกันอย่างเร่งด่วนที่สุด โดยใช้ระยะเวลา 1 เดือน หลังจากการหารือวันนี้ ถ้าทางประธานผู้อำนวยการ บจธ. ไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อสรุปได้ เราขอให้ประธานคณะกรรมการผู้อำนวยการบจธ.ลาออก เพื่อรับผิดชอบต่อกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่เป็นหัวใจหลักในการก่อเกิดธนาคารที่ดินได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของ พรฏ. ได้

2. ระยะเวลาการรอคำตอบจากบจธ. ระยะเวลา 1 เดือน เราจะประสาน ขบวนการภาคประชาชน และส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมต่อแนวทางต่อไปต่อท่าทีของบจธ. ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อข้อเสนอภาคประชาชน

3. เราขอเสนอให้เกิดการปฏิรูปองค์กร และเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนรวมกำหนด ออกแบบธนาคารที่ดิน ที่จะเป็นหัวใจในการลดความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินและกระจายการถือครองที่ดินได้อย่างแท้จริง และตรงตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชน

4. เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาการประสานและจัดซื้อที่ดินตามพื้นที่เป้าหมายที่มีข้อพิพาท เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยโดยเร็วอย่างเป็นรูปธรรม

5. เร่งรัดประสานเบื้องต้น ไปยังกลุ่มที่จะดำเนินคดีความกับชุมชน และเปลี่ยนมือที่ดิน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่รอการดำเนินการจากบจธ. โดยทำหนังสือถึงเจ้าของที่ดินให้ชะลอการดำเนินการใด ๆ ที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย และประสานเพื่อมิให้ขายเปลี่ยนมือในที่ดินที่มีข้อพิพาท

การยืนหยัดเชื่อมั่นตามเจตนารมณ์ของการก่อเกิดสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน จะปรับตัวเคียงข้างควบคู่ร่วมกับภาคประชาชนที่เป็นต้นคิดค้น เพื่อเป้าหมายกระจายการถือครองที่ดินโดยธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net