Skip to main content
sharethis

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการเผยผลสำรวจเมื่อเดือนเมษาที่ผ่านมา พบ คนไทยเห็นว่า ต้องยกเลิก สว. แต่งตั้ง ร้อยละ 55.24 เห็นว่า ยังต้องมี สว. แต่งตั้ง ร้อยละ 18.29

4 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์' ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รายงานว่า สำรวจดังกล่าว เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคนทั้งประเทศ (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52.32 ล้านคน) จำนวน 4,588 คน ใน 57 จังหวัด เรื่อง ทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งและสังคมการเมืองไทย 2566

ข้อคำถาม “ท่านคิดว่าระบอบประชาธิปไตยไทย ต้องมี หรือ ต้องยกเลิก สมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง”

ผลการวิจัยพบว่า
1. ผู้ที่เห็นว่าต้องยกเลิก สว. ร้อยละ 55.24 (2,516 คน) ผู้ที่เห็นว่ายังต้องมี สว. ร้อยละ 18.29 (833 คน) ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 26.47 (1,206 คน)

ภาคที่มีทัศนคติว่า ต้องยกเลิก สว. แต่งตั้ง มากที่สุดคือ ภาคอีสาน ร้อยละ 64.83 ตามด้วย ภาคเหนือ ร้อยละ 59.45 ภาคกลางและกรุงเทพฯ ร้อยละ57.65 ท้ายสุดเป็นภาคใต้ ร้อยละ 51.10

ภาคที่มีทัศนคติว่า ยังต้องมี สว. แต่งตั้ง มากที่สุดคือ ภาคเหนือ ร้อยละ 20.3 รองลงมาเป็น ภาคใต้ ร้อยละ 19.75 ตามด้วย ภาคอีสาน ร้อยละ 13.75 ภาคกลางและกรุงเทพฯ ร้อยละ11.68

2. เปรียบเทียบกับการสำรวจทัศนคติของคนกรุงเทพฯ พบว่า มีลักษณะใกล้เคียงกัน คนกรุงเทพฯ ที่เห็นว่าต้องยกเลิก สว. แต่งตั้ง มีร้อยละ 58.75 ผู้ที่เห็นว่ายังต้องมี สว. แต่งตั้ง ร้อยละ 18.08 ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 23.17 (ธำรงศักดิ์โพล 15 มกราคม 2566)

3. เปรียบเทียบกับการสำรวจทัศนคติของคน Gen Z (18-26 ปี) พบว่า คน Gen Z เห็นว่าต้องยกเลิก สว. แต่งตั้ง มีมากถึงร้อยละ 85.50 ส่วนผู้ที่เห็นว่ายังต้องมี สว.แต่งตั้ง มีเพียงร้อยละ 5.10 ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 9.40 (ธำรงศักดิ์โพล 25 กันยายน 2565)

4. จากการเก็บข้อมูลเชิงลึก คนไทยที่เห็นว่า ต้องยกเลิก สว. แต่งตั้ง นั้นมีคำอธิบายในแนวทางเดียวกันกับของคน Gen Z และคนกรุงเทพฯ ได้แก่ สว. แต่งตั้งไม่ได้เป็นผู้แทนของประชาชน, ผู้แทนของประชาชนที่แท้จริงต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน, สว. แต่งตั้งเป็นตัวแทนของฝ่ายเผด็จการ, สว. แต่งตั้งเป็นผู้แทนของคณะรัฐประหาร, สว.แต่งตั้งเป็นผู้รักษาสืบทอดอำนาจ คสช., สว.แต่งตั้งทำให้เราไม่ได้นายกรัฐมนตรีที่ประชาชนตั้งใจเลือก, สว. แต่งตั้งทำให้เราไม่ได้รัฐบาลของประชาชนเพื่อประชาชน, สว.แต่งตั้งเป็นผู้แทนทหาร, สว.แต่งตั้งนั้นทำหน้าที่พิทักษ์รัฐบาลทหารเป็นสำคัญ, สว.แต่งตั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย, สว.แต่งตั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ, สว.แต่งตั้งเป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติ, สว.แต่งตั้งทำให้ สส. และพรรคการเมืองไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการนี้ให้เป็นประชาธิปไตยได้ ซึ่งสอดคล้องกับทัศนคติของคนไทยส่วนใหญ่ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นี้เป็นฉบับเผด็จการ (ร้อยละ 56.80 ธำรงศักดิ์โพล 1 สิงหาคม 2566)

สำหรับคนไทยที่ยังให้มี สว.แต่งตั้ง ให้คำอธิบายว่า สว.แต่งตั้งเป็นผู้คอยปกป้องความพยายามเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข, ต้องมี สว.แต่งตั้งเพราะความจำเป็นของบ้านเมือง, ต้องมี สว.แต่งตั้งเพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพในการทำงาน, สว.แต่งตั้งเป็นผู้แทนประชาชนเช่นเดียวกับ สส., สว.แต่งตั้งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญหลากหลายอาชีพ, สว.แต่งตั้งไม่ใช่นักการเมือง, สว.แต่งตั้งทำหน้าที่ช่วยกลั่นกรองกฎหมายของพวก สส., สว.แต่งตั้งทำหน้าที่ถ่วงดุลการทำงานของพวก สส.

5. ข้อเสนอแนะของผู้วิจัย จากเหตุการณ์ทางการเมืองในสามเดือนที่ผ่านมาหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 การที่ สว. แต่งตั้งเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่ทำให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นโยบายพรรคที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากเป็นลำดับที่ 1 ไม่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นการดำเนินงานของรัฐบาลใหม่ได้ ดังนั้น ในประเด็นคำถามนี้ว่า “ท่านคิดว่าระบอบประชาธิปไตยไทย ต้องมี หรือ ต้องยกเลิก สมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง” ควรได้ทำการสำรวจทัศนคติประชาชนทั้งประเทศอีกครั้ง เพื่อที่จะได้นำมาเป็นองค์ประกอบกำหนดทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

ข้อมูลพื้นฐาน

งานวิจัยทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งและสังคมการเมืองไทย 2566 มีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 4,588 คน เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 6-17 เมษายน 2566

เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 2,439 คน (53.16%) ชาย 2,023 คน (44.09%) เพศหลากหลาย 126 คน (2.75%)

อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม Gen Z (18-26 ปี) 1,915 คน (41.74%) Gen Y (27-44 ปี) 1,016 คน (22.10%) Gen X (44-58 ปี) 1,046 คน (22.80%) Gen Baby Boomer ขึ้นไป (59 ปีขึ้นไป) 613 คน (13.36%)

การศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถาม ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 492 คน (10.72%) มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 971 คน (21.16%) อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 542 คน (11.82%) ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 2,210 คน (48.17%) สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 373 คน (8.13%)

อาชีพหลักของผู้ตอบแบบสอบถาม: นักเรียนนักศึกษา 1,529 คน (33.33%) เกษตรกร 456 คน (9.94%) พนักงานเอกชน 431คน (9.39%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 471 คน (10.27%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 602 คน (13.12%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 600 คน (13.08%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 329 คน (7.17%) อื่นๆ 170 คน (3.70%)

รายได้ต่อเดือนของผู้ตอบแบบสอบถาม: ไม่มีรายได้ 939 คน (20.47%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 1,141 คน (24.87%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 1,170 คน (25.50%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 620 คน (13.51%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 302 คน (6.58%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 416 คน (9.07%)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net