Skip to main content
sharethis

กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา เชิญกรมราชทัณฑ์-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจงปมการดูแลนักโทษ กรณี 'ทักษิณ ชิณวัตร' เผยแพทย์ยังไม่ระบุเหตุผ่าตัด ชี้เป็นสิทธิของผู้ป่วยและญาติ เข้าข่ายการพักโทษในเดือน ก.พ. 2567 โดยไม่ต้องใส่กำไลอีเอ็ม (EM) ด้าน กมธ.แนะ ควรให้ข้อมูลกับสังคม ลดความเคลือบแคลง 


ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2566 ว่านายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะ กมธ. เพื่อพิจารณาติดตามการดูแลนักโทษของระบบราชทัณฑ์ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจง อาทิ พลตำรวจตรี วีรพัฒน์ ศิวะแพทย์ รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจตรี กิตติ์ธนทัต เลอวงศ์รัตน์ รองนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ นางสาวจุฑารัตน์ จินตกานนท์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายวิชาการ และนายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กระทรวงยุติธรรม ทั้งนี้ระบุว่าการเชิญหน่วยงานต่าง ๆ มาชี้แจง เนื่องจากประเด็นดังกล่าว เป็นประเด็นที่สังคมเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย และการดำเนินการทางกระบวนยุติธรรม ยืนยันว่าไม่ได้มีอคติทางการเมืองแต่อย่างใด และการพิจารณาไม่ได้ลงลึกถึงรายละเอียดที่จะกระทบต่อสิทธิของผู้ป่วย 

โดยจากการชี้แจงของกรมราชทัณฑ์ พบว่าหลังจากการส่งตัวนายทักษิณ จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แดน 7 ไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา นายทักษิณ ยังอยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์มาโดยตลอด โดยมีเจ้าหน้าที่สับเปลี่ยนเวรผลัดละ 2 คน คอยดูแลความเรียบร้อย ส่วนอาการป่วยนั้นเป็นไปตามที่มีการแถลงก่อนหน้านี้คือ 4 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจ ปัญหาเกี่ยวกับปอด ความดันโลหิตสูง และภาวะกระดูกเสื่อมตามอายุ ทั้งนี้มีผลรับรองทางการแพทย์จากสิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยืนยันชัดเจน แต่สำหรับโรคใหม่ที่ต้องผ่าตัดนั้น ด้านรองนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่ายังไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งอาการต่าง ๆ เป็นสิทธิของผู้ป่วย และญาติที่จะไม่เปิดเผย แต่กมธ.ได้เสนอแนะให้นายแพทย์ใหญ่ หารือกับญาติ เพื่อเปิดเผยข้อมูลเท่าที่เปิดเผยได้ เพื่อให้สาธารณะชนเข้าใจ 

นายสมชาย กล่าวด้วยว่าที่ประชุมกมธ. ได้สอบถามกรณีหากนายทักษิณ ได้รับการรักษา ณ โรงพยาบาลตำรวจ จนอาการดีขึ้นแล้วสามารถส่งตัวกลับไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้หรือไม่นั้น ได้รับการยืนยันจากกรมราชทัณฑ์ ว่าสามารถรับกลับไปฟื้นฟูได้ตามขั้นตอนปกติที่ใช้กับนักโทษทั่วไปทุกประการแต่ต้องรอแพทย์ที่รักษาประเมินอาการ และจะได้ชี้แจงต่อไป นอกจากนี้กรมราชทัณฑ์ยังชี้แจงกรณีที่นายทักษิณได้รับอภัยโทษแล้วสามารถขออภัยโทษได้อีกหรือไม่ ว่าตามเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า จะต้องรับโทษก่อน 1 ใน 4 ภายในเรือนจำ เพื่อขออภัยโทษในห้วงเวลาสำคัญ ดังนั้น นายทักษิณ จึงยังไม่เข้าเกณฑ์ แต่การพักโทษ สามารถทำได้ โดยต้องเป็นนักโทษชั้นกลาง และถูกจำคุกไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ซึ่งนายทักษิณ เข้าข่ายการพักโทษในเดือน ก.พ. 2567 โดยไม่ต้องใส่กำไลอีเอ็ม (EM) เพราะรับโทษมาแล้ว ตั้งแต่ 22 ส.ค. และเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีการจำกัดพื้นที่ที่อยู่ เช่น การจำกัดเฉพาะอยู่ในบ้าน ห้ามออกนอกประเทศ โดยเกณฑ์ดังกล่าว เป็นเพราะโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลตำรวจ จึงถือว่ารับโทษแล้ว 

อย่างไรก็ตามนายสมชาย กล่าวว่า 1 เดือนหลังจากนี้ คณะ กมธ.จะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงความคืบหน้าอีกครั้ง ทั้งนี้เชื่อว่าข้อมูลที่ได้จากการชี้แจงจะสร้างความเข้าใจให้กับสาธารณะชน และลดความเคลือบแคลงในกระบวนการยุติธรรมได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net