Skip to main content
sharethis

พลันที่กองกำลังโกก้าง MNDAA สนธิกำลังกับฝ่ายต่อต้านรุกคืบในพื้นที่รัฐฉานตอนเหนือติดชายแดนจีนใน ‘ปฏิบัติการ 1027’ มีการยึดเมืองสำคัญในพื้นที่รัฐฉาน ตามมาด้วยปฏิบัติการของฝ่ายต่อต้านในพื้นที่รัฐอื่นๆ ทั้งนี้แม้จะเห็นทิศทางการรุกคืบใหญ่เพื่อยึดเมืองสำคัญและจุดยุทธศาสตร์ในรัฐฉาน มีความร่วมมือกันอย่างหลวมๆ เพื่อเปิดแนวรบในรัฐและภูมิภาคต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านในพม่าต่างๆ คือความแน่นแฟ้น พวกเขาไม่มีพิมพ์เขียวทางยุทธศาสตร์ร่วมกันว่าจะทำให้รัฐบาลทหารพม่าถึงจุดจบอย่างไร

แผนที่ปฏิบัติการ 1027 ในพื้นที่รัฐฉานตอนเหนือ ข้อมูลเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2566 (ที่มา: ISP Myanmar)

กองกำลังโกก้างยึดเมืองกุนโหลงและสะพานยุทธศาสตร์ข้ามแม่น้ำสาละวิน เมืองกุนโหลงนับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเพราะเป็นปากทางเชื่อมพื้นที่รัฐฉานเขตปกครองตนเองโกก้าง ภาพเผยแพร่เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2566 (ที่มา: Facebook/The Kokang)

กองกำลังโกก้างถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึก หน้าค่ายทหารพม่า ที่เมืองกุนโหลง ภาพเผยแพร่เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2566 (ที่มา: Facebook/The Kokang)

ทหารโกก้างลาดตระเวนในพื้นที่ยึดครองทางตอนเหนือของรัฐฉาน ที่มา: The Kokang

เป็นเวลาหนึ่งเดือนมาแล้วที่พันธมิตรสามภราดรภาพนำโดยกองกำลังโกก้าง (MNDAA) กองกำลังตะอางหรือปะหล่อง (TNLA) กองทัพอาระกัน (AA) และกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารกลุ่มอื่นๆ รุกคืบ "ปฏิบัติการ 1027" โจมตีที่มั่นของทหารพม่าพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉานโดยเฉพาะภูมิภาคโกก้าง สื่อต่างๆ ระบุว่าปฏิบัติการ 1027 ได้ทำให้สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) หรือรัฐบาลทหารพม่าสูญเสียพื้นที่อย่างรวดเร็วและจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถโจมตีโต้กลับได้มากนัก

โดยบทวิเคราะห์ล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว SHAN ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลทหารพม่ายังไม่ถึงจุดจบง่ายๆ โดยระบุว่า ถึงแม้ว่ากลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพจะประสบความสำเร็จได้มากพอสมควร แต่ก็ยังคงมีเมืองใหญ่ๆ บางส่วนที่กองทัพพม่ายังยึดไว้ได้ โดยหลังจากที่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย แถลงยอมรับว่าสูญเสียที่มั่นทางเหนือในรัฐฉาน ฝ่ายกองทัพพม่าก็มีการนัดประชุมพลที่ล่าเสี้ยว เมืองสำคัญของรัฐฉานตอนเหนือ และเป็นที่ตั้งของกองทัพพม่า กองบัญชาการภาคพื้นตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Command)

ในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้เราอาจจะได้เห็นการสู้รบใน เมืองหมู่เจ้, น้ำคำ, โหป่าง และเหล่ากาย ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ พันธมิตรสามภราดรภาพโดยเฉพาะกองกำลังโกก้างพยายามจะเข้ายึดเมืองให้ได้ ส่วนเมืองสี่ป้อและแสนหวี ก็เป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบเช่นกัน โดยพันธมิตรสามภราดรภาพต้องการควบคุมถนนและการตัดเส้นทางเสบียงและเสริมกำลังของกองทัพพม่า

เขตการค้าหลักไมล์ที่ 105 เมืองหมู่เจ้ และน้ำคำ

หมู่เจ้ (Muse) เป็นเมืองค้าขายใหญ่ติดชายแดนที่ไม่ใช่แค่สำคัญสำหรับรัฐฉานเท่านั้น แต่สำคัญกับพม่าทั้งประเทศด้วย การค้าขายชายแดนของเมืองนี้สร้างมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี หลังจากที่ปฏิบัติการ 1027 ดำเนินมาเป็นเวลา 1 เดือน หมู่เจ้ก็ยังคงเป็นที่ๆ มีการสู้รบแย่งชิงพื้นที่กันอย่างหนักจากทั้ง 2 ฝ่าย

ในช่วงเช้าของวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา มีการสู้รบที่ลากยาวไปจนถึงด่านชายแดนจินซานจ็อต (Kyin San Kyawt) การสู้รบเป็นเหตุให้ยานพาหนะจำนวนมากได้รับความเสียหาย ชาวเมืองหมู่เจ้กล่าวว่าไม่กี่วันก่อนกองทัพพม่า สังกัดกรมทหารราบที่ 99 ยังคุมพื้นที่ แต่หลังสู้รบกองกำลังโกก้างประกาศว่าพวกเขายึดด่านจินซานจ็อตเอาไว้ได้ มีแหล่งข่าวอีกรายหนึ่งจากหมู่เจ้ยืนยันว่ามีรถบรรทุกสินค้าจากจีนเข้าสู่พม่ามีไฟลุกท่วมเพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็ยิงสู้รบกัน

พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญจุดใดที่ส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาค?

แผนที่แสดงเมืองสำคัญบริเวณรัฐฉานตอนเหนือ “หมู่เจ้-น้ำคำ” ติดชายแดนจีน (ที่มา: Google Maps)

ในสถานการณ์ปัจจุบันกองทัพพม่ามีฐานที่มั่นยุทธศาสตร์สำคัญอยู่ 2 ด่านในเมืองหมู่เจ้ ทางตอนเหนือของรัฐฉานติดกับประเทศจีน ที่แรกอยู่ในเมืองน้ำคำ (Namhkam) ที่เรียกว่าฐานสะคันธิต (Sa Khan Thit) อยู่ห่างออกไปจากตัวเมืองน้ำคำ 3 ไมล์ หรือราว 4.8 กม. อยู่บนพื้นที่เนินเขาเล็กๆ ถ้าหากด่านนี้ตกไปอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายกบฏ กองทัพพม่าก็จะต้องยอมสละให้ไม่เพียงแค่พื้นที่ตัวเมืองน้ำคำทั้งหมดเท่านั้น แต่ยังจะต้องสละจุดยุทธศาสตร์ที่มีถนนเชื่อมระหว่างเมืองน้ำคำและบ้านน้ำปัดก่า (Nam Hpat Kar) ซึ่งนับเป็นอาณาเขตของพื้นที่หมู่เจ้-น้ำคำอีกด้วย

กองทัพรัฐฉานเหนือ (SSPP/SSA) โชว์จับแก๊งสแกมเมอร์ส่งให้ทางการจีนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2566 (ที่มา: Facebook/SSPP Info)

อีกเหตุการณ์สำคัญที่เมืองน้ำคำคือการที่พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉานเหนือ (SSPP/SSA) โชว์การปราบปรามแก๊งต้มตุ๋นออนไลน์และสแกมเมอร์ ในพื้นที่ปกครองของพวกเขาในเมืองน้ำคำและส่งตัวพวกที่จับได้ให้กับทางการจีน

เป็นเวลา 2 ปีมาแล้วที่กองทัพรัฐฉานเหนือ (SSPP/SSA) ขึ้นมาวางกำลังอยู่ตามชายแดนจีนกับรัฐฉาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อควบคุมด่านไม่เป็นทางการระหว่างรัฐฉานกับจีน เช่น หนองม้า ม่านฮอง ที่เมืองน้ำคำ และม่านเฮียว (Mant Hyo) ที่อยู่ที่ฝั่งของแม่น้ำรุ่ยลี่หรือแม่น้ำมาว (ทั้งนี้ม่านเฮียวในอดีตยังเป็นฐานบัญชาการย่อยของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าอีกด้วย) หลังจากที่การสู้รบติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันระหว่างกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) กับกองทัพพม่า ค่อยๆ ซาลง ก็มีการสู้รบกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา และมีการใช้กำลังทิ้งระเบิดจากทางอากาศที่เมืองน้ำคำ

ฐานที่มั่นกองทัพพม่าบนเนินสำคัญที่เขตการค้า “105 ไมล์” ซึ่งใช้ควบคุมเส้นทางการค้าสำคัญบนทางหลวงหมายเลข 3 “มัณฑะเลย์-ล่าเสี้ยว-หมู่เจ้” เชื่อมชายแดนจีน ทั้งนี้ฐานที่มั่นดังกล่าวถูกกองกำลังตะอาง TNLA บุกยึด (ที่มา: Google Maps)

การสู้รบจุดที่สอง อยู่ใกล้กับเขตการค้า “หลักไมล์ที่ 105” ของเมืองหมู่เจ้ โดยตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของปฏิบัติการ 1027 กองกำลังตะอาง (TNLA) ก็พยายามยึดฐานที่มั่นของกองทัพพม่าที่เขตการค้าหลักไมล์ที่ 105 โดยเป็นฐานที่ตั้งอยู่ข้างทางหลวงหมายเลข 3 ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญเชื่อมหมู่เจ้-ล่าเสี้ยว-มัณฑะเลย์ ซึ่งการสู้รบอาจจะลามไปถึงพื้นที่ติดชายแดนอย่างเมืองจิ่วก๊ด-ปางทราย ทั้งนี้นับตั้งแต่เกิดการปะทะกันทำให้เขตการค้าดังกล่าวแทบเป็นเมืองร้าง

ถ้าหากฐานที่มั่นและค่ายทหารใหญ่ทั้ง 2 แห่งที่ว่าถูกกองกำลังพันธมิตรสามภราดรภาพเข้ายึดครอง การค้าขายข้ามพรมแดนระหว่างจีนกับพม่าจะกลับมาเมื่อไหร่นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทางการจีนจะตัดสินใจร่วมกับรัฐบาลทหารพม่าอีกต่อไปแล้ว แต่จะเป็นกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพที่จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่าจะมีการค้าขายข้ามพรมแดนกลับมาอีกครั้งหรือไม่ เมื่อใด

นักวิเคราะห์ชี้บริบทที่กองกำลังแนวร่วมชาติพันธุ์ยึดพื้นที่โกก้างคืนจากทหารพม่าได้, 4 พ.ย. 2566

'ไป๋ เสอเฉียน' คือใคร? และทำไมทางการจีนถึงตามล่าเขา?, 17 พ.ย. 2566

เกิดอะไรขึ้นจากปฏิบัติการ 1027 บริเวณชายแดนจีน-รัฐฉาน, 21 พ.ย. 2566

การสู้รบในพม่า ศูนย์อพยพและผู้ลี้ภัย ปัญหาที่รัฐไทยต้องทบทวน, 24 พ.ย. 2566

กองทัพรัฐฉานเหนือ-ใต้ตกลงหยุดยิงต่อกัน หลังขัดแย้งภายในยาวนาน, 29 พ.ย. 2566

กองทัพพม่าเกณฑ์ผู้คนในชเวก๊กโก่มาเป็นกำลังพล คุ้มกันนายทุนคาสิโนจีน, 5 ธ.ค. 2566

'คาเฟ่สตาร์ลิงค์' เปิดในรัฐกะยาให้คนสื่อสารหากันได้ หลังรัฐบาลทหารพม่าตัดโทรศัพท์และเน็ตหลายพื้นที่, 6 ธ.ค. 2566

แนวรบที่เมืองโหป่าง

การที่ TNLA สามารถยึดฐานที่มั่นริมแม่น้ำสาละวิน ของกองพันทหารราบหมายเลข 567 ที่เมืองแจ๊ด (Mong Kyet) ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทัพทหารปืนใหญ่ เมื่อเช้าตรู่วันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา เป็นการปูทางให้พวกเขามีโอกาสที่จะยึดเมืองโหป่าง (Hopang) และปานลน (Panlon) เมืองทางตอนเหนือที่ติดต่อกับเขตปกครองตนเองของว้าได้

อย่างไรก็ตาม กองทัพพม่ายังคงมีกองพันทหารราบเบา 2 กองพัน และกองบัญชาการยุทธการภาค (ROC) ที่ 1 ตั้งฐานอยู่ที่นั่น หนึ่งในนั้นคือ กองพันทหารราบเบาที่ 145 ที่อยู่ในภาวะสั่นคลอน มีคนหนีทัพบางส่วนจากการรบที่กุนโหลง (Kunlong) มาสมทบกันที่นี่ ทั้งนี้มีเพียงกองพันทหารราบเบาที่ 143 และกองบัญชาการยุทธการภาคที่ 1 เท่านั้นที่สามารถป้องกันการโจมตีของกลุ่มกบฏได้ ในขณะที่กองพันทหารราบเบาที่ 145 ไม่สามารถไปรบถึงเขตแดนโกก้างได้ และกลายเป็นกองทหารราบที่หมดบทบาทใดๆ

เมืองแจ๊ดตั้งอยู่ที่แนวตั้งรับสำคัญเพราะติดต่อกับเขตแดนของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) กองทัพพม่าใช้ฐานที่มั่นที่นี่สกัดกั้นการขนส่งเสบียงยุทธปัจจัยมาจากพื้นที่ควบคุมของว้า (UWSA) เพื่อส่งให้ฝ่ายกบฏ ฐานดังกล่าวจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพื่อส่งเสบียงเข้าไปที่เมืองโหป่างและปานลน เมืองที่ควบคุมโดยรัฐบาลทหารพม่า แต่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ทำให้สองเมืองนี้เป็นดินแดนส่วนแทรก (enclaved territory) ที่อยู่ในวงล้อมของเขตโกก้าง และเขตว้า

การที่สภาบริหารแห่งรัฐซึ่งก็คือฝ่ายเผด็จการทหารพม่าสูญเสียฐานเมืองแจ๊ด ทำให้การยึดคืนจุดยุทธศาสตร์อย่างเมืองกุนโหลงยิ่งยากลำบาก สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ของกองทัพพม่าแย่ลงไปอีกคือหมู่บ้านหนานสะลาบตกไปอยู่ในมือของฝ่ายต่อต้าน และหากว่าในที่สุดกลุ่มกบฏยึดเมืองโหป่างได้ ก็จะเป็นโอกาสของฝ่ายกองทัพว้า UWSA ขยายพื้นที่ควบคุมของตัวเองได้ด้วย

เมืองเหล่ากายในวงล้อม

แผนที่แสดงเขตปกครองตนเองโกก้างและเมืองสำคัญในรัฐฉานตอนเหนือ
ที่มา: Google Maps

กองกำลังโกก้าง (MNDAA) ได้ล้อมเมืองหลวงของเขตปกครองตนเองโกก้างเอาไว้ราวกับเกือกม้า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้คือการที่ทหารพม่าทั้งกองพันที่เมืองกุนจัน (Konkyan) ในเขตโกก้าง ยอมแพ้ต่อกองกำลังโกก้าง MNDAA ทั้งนี้ตามปกติกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF กองพัน 1006 จะอยู่ที่เมืองนี้ แต่มีการย้ายกำลังพล BGF 1006 ไปยังเหล่ากาย ทั้งนี้ไม่แน่ชัดว่าผู้นำ BGF 1006 หยางจ้าวจิน (Yang Zhao Jin) ได้ไปพร้อมกับกองกำลังของเขาหรือไม่ ทั้งนี้ในบรรดาขุนศึกโกก้าง หยางจ้าวจินนับเป็นผู้นำคนสำคัญผู้มากประสบการณ์ที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลทหารพม่า

ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่เมืองกุนจันทั้งเมืองจะตกไปอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังโกก้าง MNDAA โดยเมืองกุนจันอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเหล่ากาย และมีแม่น้ำสาละวินกั้นอยู่ทางทิศตะวันตกเป็นพรมแดนของภูมิภาคโกก้าง และเนื่องจากมีคลื่นผู้อพยพออกจากเมืองเหล่ากาย ทำให้ผู้นำเขตปกครองตนเองภายใต้รัฐบาลทหารพม่า SAC เรียกร้องให้ประชาชนอย่าออกจากเมือง เนื่องจากการสู้รบที่รายล้อมอยู่จะทำให้พวกเขาประสบอันตรายได้ง่ายๆ

ในขณะเดียวกัน ผู้นำโกก้างที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลทหารพม่า อย่างไป๋ เสอเฉียน (Bai Xuo Qiang) หลิวอาเปา (Liu Arr Bao) และเว่ยซัง (Wei Sang) ต่างก็อยู่ที่กรุงเนปิดอว์ และมีชนชั้นนำโกก้างรุ่นเดียวกับพวกเขาส่วนหนึ่งก็ยังอยู่ในเหล่ากาย ทั้งนี้ ไป๋ หยิงเช็ง (Bai Ying Cheng) ลูกชายของไป๋ เสอเฉียน จะกลายเป็นผู้นำกองกำลังโกก้างฝ่ายที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลทหารพม่า

สี่ป้อ และแสนหวี

ทั้งสองแห่งนี้เป็นแหล่งที่มีการสู้รบอย่างหนักเพื่อแย่งชิงการควบคุมทางหลวงหมายเลข 3 และสะพานสำคัญ โดยกองกำลังตะอาง TNLA และพันธมิตรฯ กำลังพยายามตัดเส้นทางหลักที่เชื่อมเมืองสำคัญบนทางหลวงหมายเลข 3 ไปชายแดนจีนอย่าง ล่าเสี้ยว, แสนหวี, สี่ป้อ, จ็อกแม เมื่อใดที่กองทัพพม่าพยายามจะเปิดใช้สะพาน กองกำลังตะอาง TNLA ก็จะทำลายสะพาน อย่างไรก็ตามเกิดเหตุไม่กี่วันก่อนที่สะพานจินตี (Kyin Thi Bridge) ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำมิตแหงะหรือแม่น้ำตู้ บนทางหลวงหมายเลข 3 เชื่อมเมืองสี่ป้อ-จ็อกแม เกิดเหตุทหารตะอาง TNLA 30 นายติดอยู่ที่ซากสะพานและเสียชีวิต

ส่วนแสนหวีกลายเป็นที่ๆ เต็มไปด้วยการทิ้งระเบิดและยิงถล่มจากปืนใหญ่อย่างต่อเนื่องไม่หยุด
ทั้งนี้มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศหลายพันรายที่ยังคงติดอยู่ในพื้นที่สู้รบและถูกใช้เป็นโล่มนุษย์ที่หมู่บ้านจองคำ ใกล้กับกองบัญชาการยุทธการภาค (ROC) ที่ 16 ถึงแม้ว่าผู้นำทางศาสนาที่มีชื่อเสียงบางคนพยายามจะร้องขอกับกองบัญชาการภาคพื้นตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Command) ที่เมืองล่าเสี้ยว เพื่อเปิดทางให้ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศหลบหนี แต่กองทัพพม่าก็ปิดทางไม่ให้ผู้คนออกไป นอกจากนี้มีความเป็นไปได้ที่เมืองก้ดขาย (Kutkai) ทางตอนเหนือของแสนหวีจะกลายเป็นเมืองที่ตกอยู่ภายใต้การสู้รบด้วย

ผลกระทบจากปฏิบัติการ 1027

ปฏิบัติการ 1027 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชาชนในพม่า และยังมี “ปฏิบัติการ 1111” ที่นำโดยกองกำลังกะเรนนีที่เปิดการรุกในรัฐกะเรนนี หรือรัฐกะยา (ซึ่งอยู่ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน) มีความคืบหน้า มีผู้สังเกตการณ์บางคนประเมินว่าการสู้รบอาจจะขยายไปถึงทางตอนใต้ของรัฐฉานโดยมีการเชื่อมโยงกันระหว่างกองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเรนนี กับพันธมิตรสามภราดรภาพทางตอนเหนือ ขณะเดียวกัน พรรครัฐฉานก้าวหน้า/กองทัพรัฐฉาน (SSPP/SSA) หรือกองทัพรัฐฉานเหนือ ก็มีการวางกำลังอยู่บริเวณตอนเหนือของเมืองตองจี (Taunggyi) เมืองหลวงของรัฐฉาน

มีนักวิเคราะห์และคอลัมนิสต์ในสำนักข่าว SHAN อย่าง จายวันใส (Sai Wansai) เสนอว่าการล่มสลายอย่างรวดเร็วของรัฐบาลทหารพม่า (SAC) ภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย อาจจะไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แต่ทิศทางแนวโน้มจะเป็นไปในทางนั้น

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือปัจจัยที่ยังขาดไปเพื่อการผลักดันให้มีผลสำเร็จในโค้งสุดท้าย นั่นคือ การสร้างแนวร่วมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์-กลุ่มนิยมประชาธิปไตยให้เป็นปึกแผ่น ซึ่งในตอนนี้อย่างดีที่สุดก็ยังคงเรียกได้ว่าเป็นพันธมิตรกันอย่างหลวมๆ โดยไม่มีการสร้างความร่วมมือและการประสานงานกันอย่างเพียงพอ เราเห็นบางกลุ่มที่เริ่มต้นด้วยการบุกโจมตีรัฐบาลทหาร แต่ในอีกแง่หนึ่งพวกเขาไม่มีพันธะสัญญาทางการเมืองร่วมกัน และไม่มีพิมพ์เขียวในทางยุทธศาสตร์ร่วมกันว่าจะยุติและเอาชนะรัฐบาลทหารที่เป็นทรราชอย่างไร

พันธมิตรหลวมๆ ที่ว่านี้ประกอบด้วย กองทัพแห่งอิสรภาพกะฉิ่น (KIA), พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (KNPP), สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองทัพแนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF) และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ/กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (NUG/PDF) อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่ต้องย้ำเตือนว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยของนักศึกษาพม่าทั้งมวล (ABSDF) ก็เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรหลวมๆ นี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิบัติการทางทหาร

ขณะเดียวกันฝ่ายกบฏอีกกลุ่มหนึ่งก็มี คณะกรรมการเจรจาและปรึกษาทางการเมืองแห่งสหพันธรัฐ (Federal Political Negotiation Consultative Committee : FPNCC) หรือที่เรียกว่า พันธมิตรฝ่ายเหนือ FPNCC มีสมาชิกอยู่ 7 ราย คือ กองทัพอาระกัน (AA), กองทัพแห่งอิสรภาพกะฉิ่น (KIA), กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา หรือกองกำลังโกก้าง (MNDAA) กองทัพสัมพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ-รัฐฉานตะวันออก หรือกองกำลังเมืองลา (NDAA) พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (SSPP/SSA) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ซึ่งบางส่วนมีบทบาทในการสู้รบกับเผด็จการทหาร และมีกลุ่มอื่นๆ ในนี้ที่ยังคงวางตัวเป็นกลางที่อาจจะไม่ได้ถึงขั้นเป็นกลางจริงตามนิยามก็ตาม

ในพื้นที่พม่าตอนใต้ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ยังไม่มีการโจมตีใหญ่ที่มีนัยสำคัญเท่าที่เห็นจนถึงตอนนี้ เว้นแต่การโจมตีของ KNU กองพลน้อยที่ 6 และนอกจากนี้ข้อจำกัดของฝ่ายต่อต้านก็คือเกิดความไม่พอใจก่อตัวขึ้นระหว่างรัฐบาล NUG กับกองกำลัง PDF และกองกำลังพิทักษ์ประชาชนระดับท้องถิ่น (Local Defense forces) หรือทหารบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองกำลังพะคะพะ (หรือกองกำลังทหารบ้านที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับรัฐบาล NUG) ที่ยิ่งเฉื่อยเนือยในการต่อต้านรัฐบาลทหาร

ปฏิบัติการ 1027 ไปถึงไหนแล้ว

นี้อาจจะเป็นขั้นตอนที่สำคัญสำหรับทั้งสองฝ่าย มีความเป็นไปได้ว่าการสู้รบในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้อาจจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของของความขัดแย้งไปเลยก็ได้

โดยรัฐบาลทหารพม่ากำลังเตรียมการอยู่ที่ล่าเสี้ยวเพื่อโจมตีพื้นที่แสนหวีเพื่อยึดทางหลวงหมายเลข 3 คืนมา ทหารพม่ามุ่งจะป้องกันเมืองที่ถูกล้อมด้านในอย่างเหล่ากาย รวมทั้งน้ำคำ และฐานที่มั่นยุทธศาสตร์ที่เขต “105 ไมล์” ใกล้เมืองหมู่เจ้

ในขณะเดียวกับ พันธมิตรกลุ่มกบฏก็กำลังพยายามยึดค่ายทหารและฐานที่มั่นใหญ่ของทั้ง 3 เมืองนั้น ถ้าหากพวกเขาสามารถบรรลุเป้าหมายการโจมตีได้ รัฐบาลทหารพม่า จะต้องประสบกับทั้งความสูญเสียทางการทหารและสูญเสียอำนาจปกครองพื้นที่เหล่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น มันจะกลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทหารพม่าด้วย เช่น เรื่องที่จะเกิดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหน้าใหม่ในดีลการค้าข้ามพรมแดน ถึงแม้ว่า ทหารพม่าจะเตรียมตอบโต้กลับ แต่พวกเขาก็จะต้องเผชิญกับการเตรียมการป้องกันตั้งรับล่วงหน้า

สิ่งที่ต้องคำนึงถึง

เมื่อมองจากจุดยืนของการเจรจาต่อรองแล้ว รัฐบาลทหารพม่า อยู่ในจุดที่จะยอมสละเมืองติดชายแดนจีนอย่างเมืองโก (Mong Ko) ให้กับกองกำลังโกก้าง MNDAA แต่มันก็จะทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างกองกำลังกะฉิ่น KIA กับ กองกำลังโกก้าง MNDAA เพราะเมืองโก เป็นเครือรัฐย่อยของกะฉิ่นที่ขึ้นกับรัฐแสนหวีเหนือมาก่อน และในพื้นที่สัดส่วนประชากรเชื้อสายกะฉิ่นก็มีพอๆ กับประชากรเชื้อสายจีนโกก้าง

ที่เมืองน้ำคำ รัฐบาลทหารพม่าเตรียมใจกับการบุกของกองกำลังตะอาง TNLA ทั้งสองฝ่ายต่างเหนือล้า แต่รัฐบาลทหารพม่าพยายามสร้างความบาดหมางระหว่างประชากรเชื้อสายไทใหญ่กับพันธมิตรสามภราดรภาพ

ที่เมืองน้ำคำ มีประชากรไทใหญ่ 60,000 ราย มีประชากรตะอางหรือปะหล่อง 40,00 ราย แต่ทั้งกองทัพพม่าและกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ ต่างต้องการอยู่รอด ฝ่ายกองกำลังตะอาง TNLA ก็ต้องการยึดและปกครองเมืองน้ำคำทั้งหมด มีนักวิเคราะห์บางคนมองว่าปฏิบัติการ 1027 อาจจะสร้างความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสมดุลอำนาจทางตอนเหนือของรัฐฉานเป็นเรื่องที่น่าตระหนกสำหรับชุมชนชาวไทใหญ่และกลุ่มติดอาวุธที่มองกลุ่มชาติพันธุ์ตะอางและโกก้างว่าเป็นคู่แข่งของพวกเขา พวกเขากังวลว่าทั้งสองกลุ่มกำลังสั่งสมกำลังมากขึ้นและขยายเขตแดนเข้ามาในดินแดนที่มีประชากรเชื้อสายไทใหญ่อาศัยอยู่ รัฐบาลทหารพม่า SAC พยายามยุแยงให้เกิดความบาดหมางระหว่างกองกำลังโกก้าง MNDAA และชาวกะฉิ่นในพื้นที่ แต่อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะองค์กรกะฉิ่นในพื้นที่บางส่วนได้พบปะหารือกับกองกำลังโกก้าง MNDAA ในเมืองโก และพวกเขาก็ขอให้อย่ามีการกีดกันเลือกปฏิบัติระหว่างคนต่างชนชาติกัน

เมื่อจีนหันมาจับบทบาทเป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพ รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนจะรักษานโยบายไม่แทรกแซงเอาไว้ต่อไป มันเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนได้รับลาภลอยเรียบร้อยแล้วถึงแม้ว่าพวกเขาจะยังไม่ทราบแน่นอนว่าใครเป็นผู้ชนะในปฏิบัติการ 1027 ก็ตาม จากการที่เดิมทีแล้วผู้คนในพม่ามีทัศนคติทางลบต่อจีนมากขึ้นจนกระทั่งหลังรัฐประหาร รัฐบาลทหารพม่าก็แทบจะคลานเข่าเข้าหาจีน อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัญหาอีกจำนวนมากในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่า

มีกลุ่มติดอาวุธไทใหญ่ 2 กลุ่มหลักที่เคยขัดแย้งกันคือสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) กองทัพรัฐฉานใต้ และพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (SSPP/SSA) หรือกองทัพรัฐฉานเหนือ ทำสัญญาหยุดยิง แต่ก็ยังเร็วไปที่จะตัดสินว่ามันจะส่งผลลัพธ์แค่ไหนเพราะกองกำลังเหล่านี้ไม่ได้ตัดสินใจบนพื้นฐานของการยินยอมจากคนส่วนใหญ่แต่มาจากการตัดสินใจของผู้นำแต่เพียงอย่างเดียว ดูเหมือนว่ากองกำลังไทใหญ่ทั้ง 2 กลุ่มจะกำลังคำนวนผลได้ผลเสียของเรื่องนี้อยู่

มันเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มชาวไทใหญ่ที่เคยหลับอยู่ตอนนี้ถูกปลุกให้ตื่นแล้วจากการสู้รบอย่างหนักในบ้านเกิดของพวกเขา ฝ่ายรัฐบาลทหารพม่า ก็พยายามจะฉวยใช้จากการที่กองกำลังไทใหญ่สองกลุ่มประกาศหยุดยิงกัน โดยการคิดจะฉวยใช้กองกำลังอาวุธไทใหญ่มาเป็นตัวแทนอำนาจของพวกเขาเพื่อชดเชยการที่พวกเขาเพลี่ยงพล้ำในรัฐฉาน

สำหรับสภาพภายในของกองทัพพม่าเองแล้ว กลไกบางอย่างของพวกเขาผุพังและขวัญกำลังใจของพลทหารก็อยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากองทัพพม่ากำลังจะล่มสลายโดยสิ้นเชิง

เรียบเรียงจาก

Entering into a crucial stage of Operation 1027, What’s next?, SHAN, 04-12-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net