Skip to main content
sharethis

ในงานประชุมที่กรุงไทเป เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย โจเซฟ อู๋ รมต.ต่างประเทศของไต้หวัน พูดถึงการเลือกตั้งล่าสุด พรรค DPP คว้าชัยติดต่อกันสมัยที่ 3 แม้ว่าทางการจีนจะพยายามใช้อิทธิพลและสงครามข้อมูลผลักดันพรรค KMT  สะท้อนความเข้มแข็งปรับตัวได้ดีของ ปชต.ไต้หวัน

 

25 ม.ค. 2567 รัฐมนตรีต่างประเทศของไต้หวัน โจเซฟ อู๋ กล่าวว่า การเลือกตั้งในไต้หวันครั้งล่าสุดนั้นเป็นการแสดงให้โลกเห็นถึงความเข้มแข็งปรับตัวได้ดีของประชาธิปไตยในไต้หวัน ถึงแม้ว่าจีนจะพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งระดับประเทศของพวกเขาก็ตาม

โจเซฟ อู๋ (Joseph Wu)

ในที่ประชุมเรื่องความเข้มแข็งของประชาธิปไตยในกรุงไทเป ประจำปี 2567 อู๋ กล่าวว่า ไต้หวันสามารถจัดการเลือกตั้ง สส. และประธานาธิบดีได้สำเร็จลุล่วงเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา แม้ว่าทางการจีนจะพยายามชักใยผลการเลือกตั้งของไต้หวันก็ตาม

อู๋ กล่าวอีกว่า การที่ไต้หวันโต้ตอบแผนการของจีนด้วยความมีวุฒิภาวะนั้น นับเป็นหลักฐานว่าประเทศไต้หวันมีความเข้มแข็งปรับตัวได้ดี

อู๋ พูดถึงการที่ไต้หวันพัฒนาเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร และสงครามจิตวิทยาแบบที่เรียกว่า "สงครามด้านกระบวนความคิด" ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการใช้เนื้อหาใหม่แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังทำให้กับสิ่งที่ผู้คนเผชิญในชีวิตประจำวันของพวกเขา

รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวัน มองว่า เทคนิคสงครามจิตวิทยาที่ว่านี้จะยิ่งมีการพัฒนามากขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งรัฐบาลอำนาจนิยมและกลุ่มคนในประเทศที่ร่วมมือด้วยจะใช้มันเป็นเครื่องมือในเชิงคุกคามมากขึ้น

งานประชุมเรื่องความเข้มแข็งของประชาธิปไตยในกรุงไทเป ครั้งนี้ จัดขึ้นโดย ศูนย์วิจัยสภาพแวดล้อมสารสนเทศไต้หวัน (IORG) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำการวิจัยเรื่องวิทยาการข้อมูลของพลเรือน เป้าหมายขององค์กรพวกเขาคือการมุ่งแพร่กระจายความตระหนักรู้เรื่องการชักใยทางข้อมูลให้แก่ประชาชนได้รับทราบ

หยูชื่อเฮ่า ผู้อำนวยการร่วมของ IORG กล่าวต่อที่ประชุมว่า การชักใยข้อมูลข่าวสารในไต้หวันนั้นมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ การบ่อนทำลายปฏิบัติการทางประชาธิปไตย, การปฏิเสธค่านิยมประชาธิปไตย และการคัดค้านอธิปไตยของไต้หวัน

หยูกล่าวว่าการชักใยข้อมูลนั้นมักจะมีเป้าหมายเป็นหัวข้อที่ "มีความเป็นมืออาชีพ และ มีความแยกย่อย" เช่น เรื่องวัคซีน, เซมิคอนดักเตอร์ ("สารกึ่งตัวนำ" วัตถุดิบสำคัญอย่างหนึ่งของสินค้าไอที เป็นวัตถุดิบส่งออกที่สำคัญของไต้หวัน), และเรื่องการป้องกันประเทศ

หยู กล่าวว่า มีข้อมูลผิดๆ เหล่านี้เป็นจำนวนมากที่แพร่กระจายออกไปในรูปแบบวิดีโอ หรือ ทำขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ ทำให้การวิจัยเรื่องนี้ทำได้ยากขึ้น

หยู เปิดเผยว่า ในช่วงหลายเดือนก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง แม้แต่ผลโพลก็กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ชักใยข้อมูลได้ เช่น การปลอมแปลงตัวเลขผลโพลโดยตรง, การทำสำรวจตามท้องถนนที่อ้างว่าเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่, หรือการให้นักการเมืองและผู้นำทางความคิดอ้างผลการสำรวจที่น่ากังขาเพื่อจัดสร้างวาทกรรมในหมู่คนที่สนับสนุนพวกเขา

หยู ยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งที่อาจจะ "ส่งผลเสียอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของประชาชนไต้หวันที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย" นั่นคือข่าวลือที่อ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้ง

การวิจัยของ IORG ระบุว่าในช่วง 7 วันก่อนและหลังการเลือกตั้งไต้หวัน มียอดผู้ชมวิดีโอที่พูดถึงการโกงการเลือกตั้งในยูทูบ 15.6 ล้านวิว และใน Tik tok 16.6 ล้านวิว อย่างไรก็ตาม หยูกล่าวว่า ในยูทูบนั้นวิดีโอที่มียอมชมสูงที่สุด 10 รายการแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการโกงการเลือกตั้ง แต่ 10 อันดับแรกของช่อง Tik tok ที่มีวิดีโอยอดวิวสูงสุดนั้น มีหัวข้อเป็นเรื่องการกล่าวหาเรื่องการโกงการเลือกตั้งทั้งสิ้นในทุกอันดับ

หยูบอกอีกว่าบัญชีผู้ใช้งาน Tik tok ที่มียอดวิวสูงสุดที่มีเนื้อหากล่าวหาโกงการเลือกตั้งนั้น เป็นบัญชีผู้ใช้งานที่สร้างขึ้นเพียงแค่ 2 สัปดาห์ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งเท่านั้น ในขณะที่วิดีโอที่มียอดวิวมากเป็นอันดับที่ 2 ในประเด็นนี้ก่อนหน้านี้พูดถึงเรื่องอนิเมะแต่จู่ก็หันมาพูดเรื่องการโกงการเลือกตั้ง "แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย" ภายหลังจากการเลือกตั้งในไต้หวันจบลง

วิดีโอ 8 จาก 10 รายการที่มีผู้ชมมากที่สุดถูกถอดออกจากเว็บหลังจากที่ กกต. ของไต้หวันประกาศว่าพวกเขาได้รวบรวมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นหลักฐานแล้วส่งต่อไปให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดของไต้หวันกับกองบังคับการสืบสวนอาชญากรรมของไต้หวันแล้ว

กู่หมิงจุน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่สถาบันแห่งสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหัว กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนทางศาสนาระหว่างจีนกับไต้หวันนั้นเริ่มมาจากกลุ่มศาสนาในไต้หวันที่มีความตั้งใจอยากจะฟื้นฟูกิจกรรมทางศาสนาในจีน

กู่ กล่าวต่อไปว่า แต่ภายใต้กรอบการทำงานของจีนแล้ว การแลกเปลี่ยนที่ว่านี้จะถูกตีความว่าเป็น "การแลกเปลี่ยนฉันพี่น้อง" ด้วยข้ออ้างว่าทั้งจีนกับไต้หวันต่างก็ "เชื่อมโยงกันด้วยวัฒนธรรมและเชื้อชาติแบบเดียวกัน" กู่เป็นคนที่ใช้เวลาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในการวิจัยว่าศาสนามีบทบาทในการที่จีนนำมาใช้เป็นยุทธวิธีเพื่อผนวกรวมไต้หวันได้อย่างไรบ้าง

นอกจากการเดินทางเยือนด้วยเหตุผลเรื่องศาสนาที่มีอยู่แล้วและการปฏิสัมพันธ์ทางออนไลน์หลังจากเกิดโรคระบาดใหญ่ กู่กับทีมวิจัยของเธอพบว่า มีนักการเมืองไต้หวันบางคนที่มีความสัมพันธ์ห่างๆ กับวัดในไต้หวัน แต่ต่อมาก็ได้พัฒนาเส้นสายความสัมพันธ์กับวัดนี้เพื่อแทรกแซงและเข้าร่วมในกิจกรรมทางศาสนาระหว่างจีนกับไต้หวัน

 

เรียบเรียงจาก

Elections proof of Taiwan's democratic resilience: Foreign Minister Wu, Focus Taiwan, 20-01-2024
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net