Skip to main content
sharethis

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจีนทำการปล่อยบอลลูนให้ลอยข้ามเขตแดนน่านน้ำผ่านน่านฟ้าของไต้หวัน และมีการตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อช่วงตรุษจีนที่ผ่านมามีจำนวนบอลลูนจากจีนลอยผ่านมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมของไต้หวันรายงานว่ามีบอลลูนจากจีนลอยเข้าสู่อาณาเขตน่านฟ้าของไต้หวันรวม 6 ลำ ในช่วงระหว่าง 6.00 น. วันเสาร์ถึง 6.00 น. ของวันอาทิตย์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่นานมีกรณีบอลลูนจากจีนรวม 8 ลำ ลอยอยู่เหนือน่านฟ้าด้วยความสูง 12,000-35,000 ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล

จำนวนบอลลูนจีนที่ไต้หวันตรวจพบถือเป็นจำนวนที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทางกระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุถึงเรื่องนี้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับกิจกรรมทางการทหารของจีน สำหรับบอลลูนจำนวน 6 ลำที่ข้ามผ่านน่านฟ้าของไต้หวันนั้น มีบางส่วนที่ข้ามผ่านเมืองจีหลงทางตอนเหนือของไต้หวัน

ทางกระทรวงกลาโหมไต้หวันไม่ได้แสดงความคิดเห็นว่าบอลลูนที่รุกล้ำน่านฟ้าของพวกเขาเป็นบอลลูนประเภทใด และไม่ได้ระบุว่าทำไมจีนถึงส่งบอลลูนเหล่านี้ข้ามเส้นมัธยะเข้ามา เส้นมัธยะที่ว่านี้หมายถึงเส้นอาณาเขตทางทะเลที่ใช้แบ่งอาณาเขตของรัฐที่อยู่ตรงข้ามกัน และสำหรับในกรณีจีน-ไต้หวันก็เป็นเส้นแบ่งเขตแดนของทั้งสอง ในแบบที่รับรู้กันมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

แต่ทางการจีนก็อ้างว่าไต้หวันเป็นพื้นที่เขตแดนส่วนหนึ่งของประเทศตนเอง และเคยขู่ว่าถ้าจำเป็นจริงๆ อาจจะต้องใช้กำลังทหารเพื่อยึดไต้หวันมาอยู่ภายใต้การปกครองของพวกเขา

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจีนเริ่มมีปฏิบัติการทางทหารในเชิงกดดันไต้หวันมากขึ้น มีการวางกำลังเครื่องบินรบ โดรน และกองเรือรอบเกาะไต้หวันเป็นประจำแทบทุกวัน ซึ่งบางครั้งก็มีการข้ามพรมแดนผ่านไต้หวันด้วย ทางการจีนเริ่มทำเช่นนี้นับตั้งแต่ที่ อดีตโฆษกการต่างประเทศสหรัฐฯ แนนซี เปโลซี เดินทางเยือนไต้หวันเมื่อเดือน ส.ค. 2565

จากข้อมูลของกระทรวงกลาโหมไต้หวัน นับตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมาทางการจีนก็เริ่มส่งบอลลูนเข้าไปในไต้หวันด้วย

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการปล่อยบอลลูนลอยเข้าสู่ไต้หวันนั้นเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเฉลิมฉลองตรุษจีนปีมังกรด้วย ซึ่งเทศกาลนี้มีการเฉลิมฉลองทั้งในไต้หวันและในจีน รวมถึงโดยกลุ่มคนเชื้อสายจีนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

โฆษกด้านการทหารเคยกล่าวไว้เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาว่า การที่จีนส่งบอลลูนเข้าสู่ไต้หวันเป็นรายวันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของยุทธวิธี "พื้นที่สีเทา" ในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีและเลือกตั้งส.ส. ของไต้หวันวันที่ 13 ต.ค. เพื่อเป็นการ "คุกคามและก่อกวนประชาชนไต้หวัน"

กองทัพไต้หวันมักจะประเมินว่าการใช้บอลลูนเหล่านี้เป็นไปเพื่อการอุตุนิยมวิทยา โดยมีข้อสรุปเรื่องนี้จากการสืบสวนเศษซากบอลลูนที่พบรอบเกาะตงหยินเมื่อเดือน ก.พ. 2566

ทางกระทรวงกลาโหมไต้หวันยังเคยแถลงไว้เมื่อปี 2566 อีกว่า พวกเขามักจะพบเครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายกันในอากาศและในทะเลรอบไต้หวัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะพบได้ถี่มากที่สุดระหว่างเดือน ธ.ค.-ก.พ. เพราะลมตามฤดูกาลทำให้บอลลูนเคลื่อนเข้าใกล้ไต้หวัน

พันเอก หวังเจียชุ่น รองประธานหน่วยวางแผนปฏิบัติการร่วมของกระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุว่า การยิงบอลลูนจะเป็นการ "เปลืองกระสุน" และเป็นการโต้ตอบที่จีนต้องการจากไต้หวัน นอกจากนี้ยังบอกว่าการโต้ตอบทางการทหารตามมาตรฐานของไต้หวันคือการแจ้งเตือนต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและคอยติดตามการเคลื่อนไหวของบอลลูนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากพวกเขาพบมันลอยอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น

ในปี 2566 ช่วงเวลาระหว่างวันที่ 28 ม.ค. - 4 ก.พ. ก็เคยมีเหตุการณ์ที่บอลลูนจากจีนลอยข้ามน่านฟ้าทวีปอเมริกาเหนือกินพื้นที่บางส่วนของสหรัฐฯ และแคนาดา จนกระทั่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ ทำการยิงบอลลูนดังกล่าวตกที่เขตน่านน้ำชายฝั่งเซาธ์แคโรไลนา หลังจากมีการตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการของเอฟบีไอแล้วเบื้องต้นพบว่าบอลลูนดังกล่าวมีการติดอุปกรณ์เก็บข้อมูลข่าวกรองอยู่ด้วยแต่ดูเหมือนจะไม่มีการส่งข้อมูลกลับไปที่จีน


เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net