Skip to main content
sharethis

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้จัดทำข้อมูลชี้วัดใหม่เกี่ยวกับ 'การเรียนรู้จากการทำงาน' (Work-Based Learning : WBL) และอาชีวศึกษา โดยนำเสนอข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของคนหนุ่มสาวจาก WBL รวมถึงการฝึกหัดอาชีพ


ที่มาภาพ: Marcel Crozet/ILO

การเรียนรู้จากการทำงาน (WBL) มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะของคนทำงานให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ใช่แค่เส้นทางสำหรับคนหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแรงงานในวัยอื่น ๆ ที่ต้องการยกระดับทักษะ (up-skill) หรือพัฒนาทักษะใหม่ (re-skill) อีกด้วย การส่งเสริมและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการฝึกหัดงานและการฝึกอบรมจากการทำงานอื่น ๆ สามารถช่วยลดอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาว, อำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ตลาดแรงงาน, เพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันขององค์กร และช่วยให้แรงงานพัฒนาทักษะที่จำเป็นในโลกของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในการประชุมขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้รับรอง 'ข้อแนะนำด้านงานฝึกหัดที่มีคุณภาพปี 2023 (ฉบับที่ 208)' ซึ่งเป็นแนวทางโดยละเอียดสำหรับประเทศสมาชิกในการส่งเสริมและกำกับดูแลแรงงานฝึกหัด

คนหนุ่มสาวที่อยู่ระบบการศึกษา การฝึกอบรม และผู้ที่ขาดโอกาส


ที่มาภาพ: Marcel Crozet/ILO

การศึกษาที่มีคุณภาพและโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้คนในสังคม นอกจากนี้ยังเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านอย่างยุติธรรมไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกเพียงมีสัดส่วนคนรุ่นใหม่ (อายุ 15 ถึง 24 ปี) ประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่อยู่ในระบบการศึกษาและการฝึกอบรม

มีความเหลื่อมล้ำอย่างมากระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยอัตราการเข้าร่วมในระบบการศึกษามีตั้งแต่เพียง 20% ไปจนถึงเกือบ 80% ในภูมิภาคต่าง ๆ อัตราการเข้าร่วมสูงสุดอยู่ในยุโรปและเอเชียกลาง คนหนุ่มสาวเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ มากกว่า 66% และต่ำสุดในแอฟริกาที่ 45%

แม้ว่าผู้หญิงวัยรุ่นจะมีแนวโน้มที่จะเรียนหนังสือหรือฝึกอบรมมากกว่าชายวัยรุ่นในทุกภูมิภาค ยกเว้นแอฟริกา แต่สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะมีผลลัพธ์ด้านการจ้างงานที่ดีกว่า โดยทั่วโลก มีเพียง 48.6% ของหญิงวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปี ขึ้นไป) ที่ทำงานแบบได้รับค่าจ้าง เมื่อเทียบกับ 75.6% ของชายวัยผู้ใหญ่

'อาชีวศึกษา' ยังคงมีคำถาม


ที่มาภาพ: Nisreen Bathish/ILO

อาชีวศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะเฉพาะทาง แต่ทั่วโลกมีคนหนุ่มสาว (อายุ 15-24 ปี) เพียง 13.6% เท่านั้นที่จบการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา โดยภูมิภาคที่มีสัดส่วนสูงสุด คือ ยุโรปและเอเชียกลาง ที่ 19.0% และต่ำสุดคือ แอฟริกา ที่ 9.2% ตัวเลขเหล่านี้ยังสะท้อนถึงสัดส่วนของประชากรวัยทำงาน (อายุ 15 ปีขึ้นไป) ที่สำเร็จการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาอีกด้วย ซึ่งมีอัตราสูงสุดใน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก บรูไนดารุสซาลัม ออสเตรีย และเซอร์เบีย โดยมีประชากรวัยทำงานมากกว่า 50% ที่สำเร็จการศึกษาด้านนี้

ในประเทศส่วนใหญ่ (2 ใน 3 จากทั้งหมด 66 ประเทศ) อาชีวศึกษามีแนวโน้มแพร่หลายมากที่สุดในกลุ่มประชากรที่มีระดับการศึกษาระดับปานกลาง

การเรียนรู้จากการทำงาน (Work-based learning) 

จากข้อมูลของ 85 ประเทศ คนหนุ่มสาวอายุ 15-24 ปี ประมาณ 25 คนจาก 1,000 คน เข้าร่วมโครงการฝึกงานหรือฝึกอบรม (เช่น แรงงานฝึกหัด หรือ นักศึกษาฝึกงาน) อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้มีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละประเทศ รวมถึงกลุ่มอายุด้วย

สวิตเซอร์แลนด์มีคนหนุ่มสาวมีส่วนร่วมกับ 'การเรียนรู้จากการทำงาน' (Work-based learning) สูงที่สุด (225 คน ต่อ 1,000 คน) รองลงมาคือ เซียร์ราเลโอเน (140 คน ต่อ 1,000 คน) ออสเตรีย (136 คน ต่อ 1,000 คน) และฝรั่งเศส (116 คน ต่อ 1,000 คน)

น่าสังเกตว่าวัยรุ่นชายมีโอกาสมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้จากการทำงานมากกว่าวัยรุ่นหญิงเกือบ 2 เท่า

นอกจากนี้ คำนิยามของการฝึกงานและฝึกอบรมในแต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกันมาก ดังนั้นประสบการณ์การเรียนรู้จากการทำงานจริงจึงแตกต่างกันไป  ตั้งแต่การฝึกงานเพียงไม่กี่วันเพื่อสัมผัสกับสถานที่ทำงานจริง ไปจนถึงการฝึกงานในสถานประกอบการในแต่ละภาคเรียน เป็นต้น

แม้การเรียนรู้จากการทำงาน จะเป็นวิธีสำคัญในการพัฒนาทักษะเฉพาะทาง แต่ตัวเลขกลับชี้ให้เห็นว่าคนทำงานวัยผู้ใหญ่ (อายุ 15-24 ปี) มีโอกาสเข้าร่วมน้อยกว่าคนหนุ่มสาว โดยมีผู้ใหญ่เพียง 14 คน ต่อคนหนุ่มสาว 1,000 คน เท่านั้นที่มีโอกาสมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้จากการทำงาน

การขาดโอกาสในการเรียนรู้จากการทำงานที่ได้รับค่าตอบแทน

ข้อมูลจาก 31 ประเทศที่แยกประเภทผู้เรียนรู้จากการทำงานระหว่างได้รับค่าตอบแทนและไม่ได้รับค่าตอบแทนในกลุ่มคนหนุ่มสาว (อายุ 15-24 ปี) แสดงให้เห็นว่า ผู้ฝึกงานส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้รับค่าตอบแทน ตัวอย่างเช่น ในกัมพูชา กานา มาซิโดเนียเหนือ เซียร์ราเลโอเน ติมอร์-เลสเต กินี-บิสซา ยูกันดา และซิมบับเว ผู้เรียนรู้จากการทำงานที่ได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่า 10%

ในทางกลับกัน ผู้เรียนรู้จากการทำงานมากกว่า 95% ในออสเตรีย แคเมอรูน สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักรได้รับค่าตอบแทน

เกณฑ์สำคัญประการหนึ่งตาม 'ข้อแนะนำด้านงานฝึกหัดที่มีคุณภาพปี 2023 (ฉบับที่ 208' คือ การฝึกหัดดังกล่าวต้องรวมถึง "ค่าจ้างหรือค่าตอบแทนทางการเงินอื่น ๆ"

บทสรุป


ที่มาภาพ: Berke Araklı /ILO

จาก ข้อแนะนำด้านงานฝึกหัดที่มีคุณภาพปี 2023 (ฉบับที่ 208) ฉบับใหม่ของ ILO และตัวชี้วัดใหม่ ๆ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับปรุงนโยบายเพื่อให้แน่ใจว่าการเรียนรู้จากการทำงานนั้นมีประสิทธิภาพและครอบคลุม 
 ซึ่งความเหลื่อมล้ำด้านวัยและเพศที่ยังมีอยู่นั้น ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูป

เพื่อลดช่องว่างเหล่านี้ ผู้กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญกับการเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้จากการทำงานอย่างเท่าเทียมกันในทุกกลุ่มประชากร ไม่เพียงแค่ในขั้นตอนการคัดเลือกแต่ตลอดการฝึกอบรม ประเมิน และการเปลี่ยนผ่านสู่การทำงาน สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ต้องการเพิ่มจำนวนหลักสูตรการศึกษาหรือโครงการที่มีอยู่เท่านั้น แต่ยังต้องปรับปรุงนโยบายเพื่อให้แน่ใจว่ามีการเข้าถึงได้อย่างครอบคลุม โดยคำนึงถึงความต้องการของกลุ่มประชากรที่เปราะบาง

ริเริ่มกิจกรรมที่มุ่งเน้นไปที่ชุมชนที่ถูกทอดทิ้ง พื้นที่ชนบท และผู้พิการ ควรได้รับความสำคัญ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ทุกคนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมในการมีส่วนร่วมและประสบความสำเร็จในการเรียนรู้จากการทำงาน

นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาการเรียนรู้จากการทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลต้องมีนโยบายที่มั่นใจว่าสถานที่ทำงานสำหรับผู้เรียนมีความปลอดภัย ผู้เรียนได้รับสิทธิและการคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกับคนทำงานประจำอื่น ๆ และได้รับค่าตอบแทนอย่างยุติธรรม


ที่มา:
Insights into youth participation in work-based learning (Valentina Stoevska, ILOSTAT, 24 January 2024)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net