Skip to main content
sharethis

ในช่วงที่มีสงครามกลางเมืองพม่าระหว่างสภากองทัพเผด็จการพม่า กับกองกำลังฝ่ายต่อต้าน ก็มีตำรวจตระเวนชายแดนฝ่ายเผด็จการพม่าจำนวนหลายร้อยนายหนีไปยังประเทศบังกลาเทศที่อยู่ติดกับพม่า องค์กรสิทธิมนุษยชน 'ฟอร์ติฟายไรท์' เรียกร้องให้มีการสอบสวนว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมโหดร้ายในพม่าหรือไม่ โดยให้ประสานงานกับศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในการนี้

ฟอร์ติฟายไรท์ องค์กรด้านการตรวจสอบการละเมิดสิทธิฯ ระบุในบทความเว็บไซต์ของพวกเขาลงวันที่ 8 ก.พ. 2567 เรียกร้องให้รัฐบาลบังกลาเทศสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน (BGP) ของกองทัพเผด็จการพม่าที่หนีเข้าบังกลาเทศ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เหล่านี้อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมความโหดร้ายในพม่า

ฟอร์ติฟายไรท์เรียกร้องให้มีการประสานความร่วมมือกับศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในการสืบสวนอาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญาที่เป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า หลังจากที่ในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านี้มีตำรวจตระเวนชายแดนพม่าหลายร้อยนายที่หนีจากการสู้รบกับอาระกันอาร์มีเข้าสู่บังกลาเทศ โดยที่กลุ่มอาระกันอาร์มีเป็นกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567 หน่วยตระเวนชายแดนของบังกลาเทศกล่าวว่าตำรวจตระเวนชายแดนพม่า 264 นายได้เดินทางเข้าสู่บังกลาเทศเนื่องจากกำลังเกิดการสู้รบอยู่ในพม่า มีบางวันที่ตชด.เหล่านี้อพยพเข้าสู่ประเทศมากกว่า 100 นายในวันเดียว และมีบางส่วนที่ "บาดเจ็บสาหัส" ซึ่งพวกเขากำลังเข้ารับการรักษาพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลในบังกลาเทศ

โมฮัมเหม็ด มิซานูร์ รอห์มัน กรรมาธิการด้านการบรรเทาทุกข์ผู้ลี้ภัยและการส่งกลับประเทศของบังกลาเทศ ที่มีฐานในเมืองค็อกซ์บาซาร์ กล่าวว่า ตำรวจตระเวนชายแดนของพม่าจะได้รับการดูแลในเมืองบานดาร์บานที่อยู่ใกล้เคียงก่อนที่จะส่งตัวกลับพม่า

ฟอร์ติฟายไรท์ระบุว่า บังกลาเทศไม่ควรจะบังคับให้ตำรวจตระเวนชายแดนพม่ากลับประเทศของตัวเอง

แมทธิว สมิทธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฟอร์ติฟายไรท์กล่าวว่า "บังกลาเทศควรจะหลีกเลี่ยงไม่รีบส่งตัวเจ้าหน้าที่เหล่านี้กลับประเทศ แต่ควรจะให้การดูแลและคุ้มครองตามความต้องการของพวกเขา และควรจะมีการสอบสวนพวกเขาถึงความเป็นไปได้ว่าพวกเขาจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมความโหดร้ายในพม่า"

"มันจะเป็นประโยชน์กับทหาร, ตำรวจ และ เจ้าหน้าที่ชายแดนนายอื่นๆ ของพม่าเอง ในการที่จะออกมายอมรับการกระทำของตัวเอง และให้ความร่วมมือกับกลไกยุติธรรมนานาชาติ" สมิทธ์กล่าว

ทางศาล ICC เองก็เคยมีการตัดสินเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2562 อนุญาตให้ สำนักงานอัยการของ ICC (OTP) ทำการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในพม่าตามที่มีการกล่าวหา อย่างน้อยก็ในส่วนที่เกิดขึ้นในอาณาเขตของบังกลาเทศ

ทางศาล ICC ยังไม่ได้ออกหมายจับในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมความโหดร้ายต่อโรฮิงญา การสืบสวนของ OTP ยังอยู่ในช่วงของการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาราว 4 ปีแล้ว

บังกลาเทศเป็นประเทศสมาชิก ICC ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาและก่อนหน้านี้ก็เคยประสานงานกับศาลในการนำตัวผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดจากพม่ามาดำเนินคดี

เมื่อเดือน ก.ย. 2563 ทหารพม่า 2 นายคือ พลทหาร Myo Win Tun และ Zaw Naing Tun ปรากฏตัวที่พรมแดนบังกลาเทศ-พม่า ทั้งสองคนขอการคุ้มครองจากทางการบังกลาเทศ ในฐานะที่บังกลาเทศเป็นสมาชิกของ "ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ" ทางการบังกลาเทศได้แจ้งเตือนเรื่องพลทหารสองนายนี้ต่อ ICC โดยที่ทหารสองนายนี้ได้สารภาพว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่, การข่มขืน และอาชญากรรมอื่นๆ ต่อชาวโรฮิงญาในพม่า ทหารสองนายนี้ถูกส่งตัวต่อไปที่กรุงเฮก (เมืองที่ตั้งของ ICC) และนับเป็นผู้ก่อเหตุกลุ่มแรกในพม่าที่ถูกส่งตัวให้กับ ICC

ฟอร์ติฟายไรท์เสนอว่าทางการบังกลาเทศควรจะประสานงานกับกลไกอิสระนานาชาติเพื่อพม่า (IIMM) ในการเก็บรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับอาชญากรรมนานาชาติในพม่า คณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติจัดตั้ง IIMM ขึ้นในปี 2562 เพื่อเก็บรวบรวมและเก็บรักษาหลักฐานอาชญากรรมนานาชาติในพม่าเพื่อที่จะนำมาใช้สำหรับการดำเนินคดีในอนาคต

ในปี 2559-2560 กองทัพพม่าเป็นผู้นำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ โดยมีการเผาทำลายหมู่บ้านหลายร้อยแห่ง มีกรณีการสังหาร, ข่มขืน และทารุณกรรม เกิดขึ้นนับไม่ถ้วน และบีบให้ประชาชนมากกว่า 700,000 คนลี้ภัยไปที่บังกลาเทศ ฟอร์ติฟายไรท์, รัฐบาลสหรัฐฯ, คณะผู้แทนค้นหาข้อเท็จจริงที่ได้รับแต่งตั้งโดยสหประชาชาติ, องค์การต่างๆ ที่นำโดยชาวโรฮิงญา และหน่วยงานอื่นๆ ต่างก็ระบุว่าการโจมตีต่อชาวโรฮิงญาในกรณีนี้นับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

สมิทธ์ กล่าวว่า "รัฐบาลบังกลาเทศมีความคงเส้นคงวาในการกระทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยการช่วยสร้างความคืบหน้าด้านกระบวนการยุติธรรมนานาชาติสำหรับกรณีอาชญากรรมความโหดร้ายในพม่า และพวกเราก็หวังว่าทางการจะยังคงเดินตามเส้นทางเดิมต่อไปในสถานการณ์เช่นนี้"

"ตำรวจตระเวนชายแดนเหล่านี้ อาจจะมีข้อมูลที่ช่วยนำตัวผู้ก่อเหตุมารับผิดชอบต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาและอาชญากรรมอื่นๆ ที่กำลังปรากฏให้เห็นในพม่า และพวกเขาก็ควรจะได้รับการสอบสวนอย่างเหมาะสม" สมิทธ์กล่าว


เรียบเรียงจาก

Bangladesh: Investigate Fleeing Myanmar Junta-Forces, Coordinate with International Criminal Court, Fortify Rights, 08-02-2024

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net