Skip to main content
sharethis

ดิอีโคโนมิสต์ออกรายงานจัดอันดับประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ในปีที่ผ่านมาใครดีขึ้นใครแย่ลงบ้างท่ามกลางกระแสความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นในช่วงรอบปีที่ผ่านมา ส่วนของไทยอันดับตกจากอันดับ 55 ในปี 2565 เหลืออันดับ 63 ในปี 2566 แต่เหตุใดแม้จะมีเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่แล้วกลับตกมา 8 อันดับ

สัปดาห์ที่ผ่านมา The Economist Intelligence หรือ EIU ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยและวิเคราะห์ของ The Economist  ออกรายงานดัชนีประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ในปี 2023 โดยธีมหลักของเนื้อหารายงานรอบปีที่ผ่านมาคือสถานการณ์ประชาธิปไตยท่ามกลางยุคแห่งความขัดแย้ง ที่สถานการณ์ประชาธิปไตยในโลกดูจะมีแต่แย่ลงเรื่อยๆ แม้ในปีที่ผ่านมาจะมี 2 ประเทศที่หลุดพ้นจากการอยู่ในระบอบอำนาจนิยมขึ้นมาเป็นระบอบผสม แล้วกรีซก็ได้ขึ้นมาเป็นประชาธิปไตยเต็มตัวเพิ่มอีกประเทศก็ตาม

สำหรับประชาธิปไตยของไทย EIU ยังไม่จัดให้อยู่ในกลุ่มเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ซึ่งมีอยู่เพียง 24 ประเทศที่กระจุกตัวอยู่ในยุโรปตะวันตก อเมริกาใต้บางประเทศ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันและทวีปออสเตรเลีย ส่วนของไทยยังคงถูกจัดเป็นระบอบประชาธิปไตยที่บกพร่อง

EIU ให้ไทยได้คะแนนอยู่ที่ 6.35 จากคะแนนทั้งหมดเต็ม 10 ที่แม้คะแนนจะดีขึ้นกว่าตอนยุครัฐบาล คสช. ขึ้นมาหลายคะแนนแล้วแต่ก็ทรงๆ มาตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง 2562 แต่ก็มีพัฒนาการดีขึ้นมากในปี 2565 จน EIU ระบุว่าเป็นประเทศที่มีพัฒนาการดีขึ้นมากที่สุดในโลกของปี 2565 จากการที่ได้คะแนนเพิ่มมา 0.63

อย่างไรก็ตาม ถ้าเอาคะแนนมาเรียงดูก็อาจเรียกได้ว่าส่วนใหญ่ก็อยู่คาบเส้นที่อาจจะจะตกกลับลงไปเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นระบอบผสมระหว่างประชาธิปไตยและอำนาจนิยมซึ่งมีช่วงคะแนนอยู่ที่ 5.00-6.00 ได้อีกมากกว่าจะบอกว่าใกล้ได้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์

ปี

2566

2565

2564

2563

2562

2561

2560

2559

2558

2557

คะแนน

6.35

6.67

6.04

6.04

6.32

4.63

4.63

4.92

5.09

5.39

จากคะแนนที่ลดลงทำให้ไทยที่เคยได้อันดับดีขึ้นจากปี 2564 มา 17 อันดับเป็นอันดับที่ 55 ของโลกในปี 2565 กลับตกลงมา 8 อันดับเหลืออันดับที่ 63 ในปีที่ผ่านมา แต่ถ้าเทียบกันเองแค่ในกลุ่มประเทศตะวันออกเฉียงใต้ไทยจะอยู่อันดับ 5 จากทั้งหมด 11 ประเทศเป็นรองจากมาเลเซีย ติมอร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ตามลำดับ ส่วนพม่าอยู่ติดท้ายตารางตามสภาพความขัดแย้งและยังคงมีรัฐบาลจากการรัฐประหาร

ทั้งนี้ EIU จัดอันดับว่าประเทศไหนจะได้คะแนนภาพรวมเท่าไหร่และได้อันดับใดโดยดูที่ 5 ปัจจัยคือ กระบวนการการเลือกตั้งและความหลากหลาย, การทำงานของรัฐบาล, การมีส่วนร่วมทางการเมือง, วัฒนธรรมการเมือง และเสรีภาพของพลเมือง

สำหรับปีนี้ประเด็นเรื่องวัฒนธรรมการเมืองและเสรีภาพของพลเมืองยังดูจะเป็นตัวฉุดรั้งอันดับอยู่ โดยวัฒนธรรมการเมืองได้แค่ 5 คะแนน ส่วนเสรีภาพของพลเมืองได้แค่ 5.88 คะแนน

หัวข้อ

กระบวนการการเลือกตั้งและความหลากหลาย

การทำงานของรัฐบาล

การมีส่วนร่วมทางการเมือง

วัฒนธรรมการเมือง

เสรีภาพของพลเมือง

2566

7

6.07

7.78

5

5.88

2565

7.42

6.07

8.33

5.63

5.88

2564

7

5

6.67

6.25

5.29

เพราะอะไรเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่แล้วประชาธิปไตยไทยยังไม่ค่อยจะดีขึ้น?

ในรายงานของ EIU ระบุถึงการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี 2023 ว่าสำหรับไทยนั้นยังถือว่าห่างไกลที่จะเรียกได้ว่ามีการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและพรรคการเมืองได้แข่งขันกันอย่างเป็นธรรม เนื่องจากยังมีกองทัพยังคงมีอิทธิพลในทางการเมืองอยู่(โดยเรามีปากีสถานเป็นเพื่อนในแง่นี้)

แม้ว่า EIU จะให้คะแนนประชาธิปไตยไทยดีขึ้นมาบ้างในปี 2565 จากการที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านในเวลานั้นสามารถเข้ามาแข่งกันในสนามเลือกตั้งระดับท้องถิ่นจนได้ที่นั่งมากขึ้นเพราะประชาชนมีความตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นและคาดว่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปในพ.ค. 2566 ซึ่งจะเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงยุติการใช้กฎหมายความมั่นคงในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ EIU มองว่าไทยมีพัฒนาการของประชาธิปไตยมากที่สุดในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม แม้ในปี 2565 EIU จะให้คะแนนดีขึ้นจาก 2 ปัจจัยที่ว่าไป แต่ EIU ก็ระบุด้วยว่า ไทยเองก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ความเป็นประชาธิปไตยยังคงเป็นได้แค่ “ประชาธิปไตยที่บกพร่อง” หรือยังเป็นระบบผสม ที่แม้ว่าประชาชนจะเกิดความไม่พอใจต่อพรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนกองทัพจะเพิ่มขึ้นและพรรคการเมืองฝ่ายค้านก็ได้ที่นั่งมากขึ้น แต่รัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนโดยกองทัพยังคงยึดครองการควบคุมเหนือหน่วยงานความมั่นคงและตุลาการไว้ได้ ไปจนถึงการยังคงนำกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์มาใช้ในการดำเนินคดีด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีปัจจัยเรื่องรัฐธรรมนูญไทยที่ยังเปิดช่องให้ สว.ที่ถูกควบคุมโดยกองทัพเข้ามาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้และสถานการณ์ในช่วงปี 2565 ที่พรรคการเมืองบางพรรคพยายามจับขั้วกันเพื่อที่จะได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ซึ่งหากดูจากคะแนนในส่วนวัฒนธรรมการเมืองและเสรีภาพพลเมืองของปี 2565 ก็จะเห็นว่าเป็นส่วนที่แทบจะไม่มีการพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นเลย

จากปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญทำให้ปรากฏเป็นผลลัพธ์ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดในปี 2566 เมื่อพรรคการเมืองที่เป็นสายก้าวหน้าอย่างพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งแต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลและสภาที่ยังอยู่ภายใต้การครอบงำของกองทัพก็ทำให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่จากข้อกล่าวหาเรื่องถือหุ้นสื่อด้วย

 

อ้างอิงจาก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net