Skip to main content
sharethis
 

15 ก.พ.53  ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การเคลื่อนย้ายแรงงานแบบไร้ถิ่นพำนัก การอาศัยอยู่แบบชั่วคราว และการไม่มีสถานภาพความเป็นอยู่ที่แน่นอนของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย" ในงานสัมมนาชื่อเดียวกัน ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้แรงงานอพยพด้อยสิทธิและขาดอำนาจต่อรองนั้น เกิดจากการไม่มีสัญชาติ หรือเอกสารแสดงตัวตน ดังนั้น การจะมีหรือไม่มีตัวตนในประเทศไทย ไม่ใช่เพราะเกิดมามีลมหายใจ ทั้งยังไม่ได้อยู่ที่คุณธรรมหรือความประพฤติ แต่กลับอยู่ที่มีเอกสารราชการรับรองการเกิดหรือไม่

ขณะที่คำว่า ‘แรงงานต่างด้าว’ นั้นเพิ่งมีมาไม่นาน เดิมภาษาไทยมีเพียงแต่ ‘ต่างภาษา’ เท่านั้น พื้นเพของคนไทยในเมืองไม่ใช่คนไทย ดูได้จากชื่อ-สกุลของเจ้าของธนาคาร ตระกูลธุรกิจการค้า หรือช่างฝีมือต่างๆ ก็จะรู้ว่าไม่ใช่คนไทย นั่นเพราะตั้งแต่อดีตจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ไทยเป็นรัฐแบบราชาธิราช คือใครอยู่ในแผ่นดินนี้ก็ได้ หากสวามิภักดิ์ต่อผู้ที่เป็นเจ้าแผ่นดิน เกียรติภูมิศักดิ์ศรีของเจ้าแผ่นดินในระบบราชาธิราช คือการมีชาวต่างชาติมาพึ่งพาอาศัย หรือที่เรียกกันว่าพึ่งพระบรมโภธิสมภาร ดังจะเห็นได้ว่า ผู้นำหรือบุคคลสำคัญในสังคมล้วนมีที่มาจากดินแดนอื่นทั้งสิ้น เจ้านายมีเชื้อมอญ ตระกูลขุนนางอย่างบุนนาคก็เป็นเปอร์เซีย ผู้นำในสังคมหลายคนมีเชื้อสายจีน เวียดนาม พราหมณ์

แลเสริมว่า ไทยไม่เคยรังเกียจคนต่างชาติ จนตอนหลัง แนวความคิดเรื่อง "ชาติ" และ "รัฐชาติ" เกิดขึ้น รัฐดูแลคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ทำให้คนงานต่างชาติจำนวนไม่น้อยไม่สามารถมีอำนาจต่อรองได้ในสังคมไทย เห็นได้จากกฎหมายแรงงานที่ให้แรงงานต่างชาติเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ แต่ไม่อนุญาตให้เป็นผู้จัดตั้งสหภาพฯ และยังมีอีกหลายกรณีที่ต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิดเท่านั้น จึงจะได้รับสิทธิ

ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในระยะหลังซึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก เปิดประเทศให้กระแสโลกาภิวัตน์ของทุนนิยม ก่อให้เกิดการแข่งขันด้านทุนและเกิดการแสวงหาทรัพยากรและแรงงานราคาถูก เศรษฐกิจในรูปแบบนี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้แรงงานราคาถูก ซึ่งไร้อำนาจต่อรอง เพราะไร้สถานะทางกฎหมาย

ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ ระบุว่าสาเหตุที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานในไทยหรือประเทศที่ฐานะดีกว่า เกิดจาก (1) การเปิดประเทศ ทำให้เศรษฐกิจในย่านนี้เป็นเศรษฐกิจระบบเดียว วัดความมั่งคั่งที่เงิน ทุกอย่างผลิตเพื่อขาย ทำให้เกิดความต้องการเงินในทุกประเทศ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศที่ยากจนเงินไปยังประเทศที่มั่งคั่งกว่า และ (2) เมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตในระบบทุนนิยม แรงงานไทยที่เคยไร้ฝีมือในอดีตได้ขยับขึ้นไปเป็นแรงงานกึ่งมีฝีมือและแรงงานมีฝีมือ อุตสาหกรรมระดับล่างที่ทำเงินน้อยจึงไม่มีคนทำงาน แรงงานราคาถูกที่ไม่มีอำนาจต่อรอง เช่น แรงงานอพยพ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย จึงเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ

แล กล่าวถึงความขัดแย้งในการจัดการแรงงานข้ามชาติว่า ขณะที่นักสิทธิมนุษยชน นักรณรงค์ด้านสิทธิแรงงานต้องการให้แรงงานข้ามชาติมีอิสระ ได้รับการเคารพในคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ แต่ในโลกของความเป็นจริง แรงงานเหล่านี้เข้ามาทำงานในดินแดนที่มีรัฐบาล เป็นรัฐชาติที่เน้นการปกป้องและให้บริการกับคนที่ถือสัญชาติของตัวเท่านั้น ดังจะเห็นว่า รัฐทุกรัฐไม่เคยให้บริการคนชาติอื่นเป็นหลักหรือเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ การที่มีแรงงานต่างชาติในประเทศไทยหนึ่งล้านคนขึ้นไป โดยที่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ใด ชื่ออะไร มีหลักฐานอะไร ถามว่าฝ่ายความมั่นคงจะคิดอย่างไร

เขาเล่าถึงกรณีแพทย์จากโรงพยาบาลชายแดน 4-5 รายออกรายการโทรทัศน์เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาเพื่อร้องเรียนถึงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กรณีไม่มีงบประมาณ โดยระบุว่า แม้ผู้มารับการรักษาไม่ใช่คนไทย แต่ในฐานะแพทย์จะต้องยึดมนุษยธรรมเป็นหลัก จะต้องรักษา แต่งบของแพทย์ก็มาจากผู้ที่เสียภาษี ซึ่งก็คือผู้มีสัญชาติไทย นี่จึงเป็นเหมือน dilemma หรือความขัดกันที่หาทางออกได้ยาก

"ปัญหาใหญ่ที่สุดคือการจะทำอย่างไรให้มิติความมั่นคงเอื้อกับการรับรองค่าความเป็นมนุษย์ของแรงงานเหล่านี้" แลกล่าวและเสนอว่า การที่มีคนหนึ่งล้านกว่าคนเข้ามาในไทยต้องหาระบบที่ทำให้คนเหล่านี้ได้รับการปฎิบัติไม่น้อยกว่าคนไทย ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ต้องมีส่วนเกื้อกูลหรือ contribute ต่อประเทศชาติไม่น้อยกว่าคนไทยด้วย

อนึ่ง งานสัมมนาครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ "นิทรรศการศิลปะการเคลื่อนย้ายแรงงานแบบไร้ถิ่นพำนัก การอาศัยอยู่แบบชั่วคราวและการไม่มีสถานภาพความเป็นอยู่ที่แน่นอนของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย" โดยมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) และสตูดิโอซัง (Studio Xang) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก เจแปนฟาวน์เดชั่น (Japan Foundation) กรุงเทพฯ และ International Development Research Centre (IDRC) ประเทศแคนาดา

นิทรรศการภาพศิลปะครั้งนี้เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้สะท้อนความมีตัวตนและการดำรงอยู่เพื่อการทำงานหาเลี้ยงชีพผ่านผลงานศิลปะที่มีทั้งภาพถ่าย ภาพเขียน ภาพวาดลายเส้น วิดีโอ และการแสดงในรูปแบบต่างๆ โดยจะจัดแสดงระหว่างวันที่ 15-28 กุมภาพันธ์ ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซ.ทองหล่อ สุขุมวิท 55 กรุงเทพมหานคร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net