Skip to main content
sharethis

ศอฉ.มีมติยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ยังใช้อยู่ใน 4 จังหวัดสุดท้าย รวมกรุงเทพฯ เตรียมยุบศอฉ. แต่ให้สภาความมั่นคงชงแผนรองรับสถานการณ์ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง

 
ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีมติยกเลิกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เหลืออีก 4 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ หลังประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2553 โดยเตรียมเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า
 
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. แถลงภายหลังการประชุม ศอฉ. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศอฉ.เป็นประธานการประชุม ที่กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมว่า จากการติดตามสถานการณ์โดยรวมของ ศอฉ.พิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์โดยรวมมีทิศทางที่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทาง ศอฉ.จึงมีมตินำเสนอรัฐบาลว่าควรจะมีการยกเลิก  พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เหลือใน 4 จังหวัด ส่วนจะมีความเห็นอย่างไร ยกเลิกเมื่อไหร่นั้น เป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี
 
พ.อ.สรรเสริญกล่าวต่อว่า หลังจากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็จะมีแผนรักษาความสงบเรียบร้อยของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มารองรับในเรื่องดูแลความสงบ หากนายกรัฐมนตรีตัดสินใจยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้ประชาชนรู้สึกสบายใจว่าสถานการณ์และทิศทางของบ้านเมืองดีขึ้น นอกจากนั้นยังได้มีมติให้ทางเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอแผนต่อ ครม.สัปดาห์หน้า รวมถึงห้วงเวลาในการยกเลิกและแผนรองรับสถานการณ์ ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคงเพื่อรักษาความปลอดภัย ที่รองรับอยู่ในขั้นตอนปกติ เป็นการติดตามสถานการณ์และอาจมีการตั้งคณะกรรมการมาติดตามสถานการณ์ ทั้งนี้ ทาง ศอฉ.จะปิดตัวลงหากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

"หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน หมวดที่ 1 โดยมีแผนอำนวยการรักษาความสงบ ตามมาตรา 7 (2) คือการนำกฎหมายปกติมาบังคับใช้ เพียงแต่จะติดตามสถานการณ์หรือบูรณาการ หากการชุมนุมยกระดับสู่ความรุนแรง สามารถนำ พ.ร.บ.ความมั่นคงในหมวดที่ 2 มาบังคับใช้ได้ คือการเสนอเรื่องต่อ ครม.เพื่อประกาศพื้นที่ที่เห็นว่าสถานการณ์มีความรุนแรง เป็นพื้นที่ พ.ร.บ.ความมั่นคง และกำหนดห้วงเวลาที่แน่นอน เจ้าหน้าที่ทหาร เทศกิจ หรือส่วนอื่นๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงจะถูกบรรจุ เป็นเจ้าพนักงาน"
 
เมื่อถามว่า จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามสถานการณ์ หลังจากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า น่าจะเป็นในลักษณะนั้นหาก ศอฉ.ปิดตัวลง คงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาให้สอดคล้องกับการประสานงาน จุดประสงค์หลักคือการอำนวยความสะดวกให้เกิดความสงบเรียบร้อย แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะใช้ชื่ออะไร
 
 
ที่มา: มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net