Skip to main content
sharethis

วันนี้ (21 กันยายน 2554) นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อแสดงถึงการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศของรัฐบาลไทย ดังปรากฏหลักฐานจากการที่รัฐบาลไทยกำหนดนโยบายที่ปฏิเสธมิให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน การยื่นหนังสือครั้งนี้เป็นการยื่นเอกสารเพิ่มเติมจากการยื่นหนังสือครั้งล่าสุดของ สรส. ณ ที่ประชุมแรงงานระหว่างประเทศ ที่ นครเจนีวา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2554 ทั้งนี้ ประเทศไทยได้อนุวัติอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ อ. ที่ 19 เรื่องการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน (การทดแทนกรณีอุบัติเหตุ) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2511 เป็นต้นมา การยื่นหนังสือครั้งนี้ สรส. ต้องการนำเสนอข้อมูลการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบล่าสุดแก่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยเน้นนโยบาย “โครงการประกันอุบัติเหตุเอกชนสำหรับแรงงานข้ามชาติ” อันเป็นนโยบายที่เพิ่งประกาศ นโยบายนี้ปฏิเสธมิให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน ที่สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้กำกับดูแล แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงเป็นการ “แจ้ง” ให้นายจ้างซื้อประกันของเอกชนให้แรงงานข้ามชาติ ในราคา 500 บาท จากบริษัทประกันภัยเอกชน เพื่อให้ความคุ้มครองกรณีที่ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ทดแทนการรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนของรัฐ แต่ประกาศดังกล่าวไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และรัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งแตกต่างจากระบบกองทุนเงินทดแทน ที่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานให้บังคับใช้กฎหมายและลงโทษนายจ้างที่ไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทดแทน ระบบประกันภัยเอกชนจึงเป็นระบบที่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ และไม่สามารถประกันการเข้าถึงการได้รับการชดเชยเมื่อประสบอุบัติเหตุ นโยบายใหม่นี้ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติในประเทศ และยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อแรงงานข้ามชาติประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งส่วนมากเป็นแรงงานจากประเทศพม่าที่ทำงานในประเทศไทย แรงงานเหล่านี้เผชิญความเสี่ยงสูงที่จะเจ็บป่วยและได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน เพราะไม่ได้รับการคุ้มครองเพียงพอ แม้องค์การแรงงานระหว่างประเทศและองค์การสหประชาชาติจะทักท้วงนโยบายของรัฐบาลไทยมาโดยตลอด แต่ปัจจุบัน นโยบายของรัฐบาลไทยก็ยังคงเลือกปฏิบัติต่อแรงงานพม่าอย่างเป็นระบบและปล่อยให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ยังดำเนินต่อไป ในการยื่นหนังสือต่อรัฐบาลไทยครั้งที่แล้ว คณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญองค์การแรงงานระหว่างประเทศและผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติด้านการย้ายถิ่นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนนโยบายตามหนังสือเวียนที่ รส 0711/ ว751 ซึ่งปฏิเสธมิให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน หลังจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจึงได้ ขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ตั้งกองทุนประกันภัยเอกชนแยกต่างหากสำหรับแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติเหยื่ออุบัติเหตุและการเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยแยกต่างหากจากกองทุนเงินทดแทน ภายใต้นโยบายปัจจุบัน แรงงานข้ามชาติยังไม่ได้รับความคุ้มครองและยังเป็นกลุ่มเปราะบางต่อแนวปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิและการเลือกปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติ สรส. ได้รับรายงานมาว่าในหลายกรณี ไม่อาจเชื่อมั่นว่านายจ้างจะสมัครใจให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติด้วยตนเอง นายจ้างยังหลบเลี่ยงความรับผิด หรือแจ้งตำรวจให้มาจับลูกจ้าง โดยเฉพาะกรณีลูกจ้างประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ระบบการประกันภัยภาคเอกชนที่แยกการคุ้มครองและให้สิทธิประโยชน์กับแรงงานข้ามชาติน้อยกว่าแรงงานไทยเป็นระบบที่ไม่สามารถยอมรับได้และเป็นระบบที่เลือกปฏิบัติโดยธรรมชาติ แรงงานในประเทศไทยทุกคน ไม่ว่าจะมาจากแห่งหนหรือสัญชาติใดต้องได้รับการคุ้มครองภายใต้สิทธิแรงงานและการคุ้มครองแรงงานภายใต้กองทุนเงินทดแทนเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ สรส. ได้เรียกร้องให้องค์การแรงงานระหว่างประเทศและประชาคมนานาชาติ สนับสนุนข้อเรียกร้องนี้และดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่แรงงานทุกคนสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย ได้รับสิทธิและการคุ้มครองอย่างเสมอหน้าและเท่าเทียมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net