Skip to main content
sharethis

สถาบันความมั่นคงและระหว่างประเทศศึกษา เปิดวงวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในพม่า ทูตอียูเผยอาจยกเลิกการคว่ำบาตรพม่าในเร็วๆนี้ ในขณะที่นักวิเคราะห์มองพม่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบัน - การเมืองยังยึดกับตัวบุคคล 13 ม.ค. 55 – สถาบันความมั่นคงและระหว่างประเทศศึกษา (Institute of Security and International Studies -ISIS) คณะรํฐศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาในหัวข้อ Myanmar’s Progress: Internal Dynamics, Regional Meanings and Global Implications (ความก้าวหน้าของพม่า: พลวัตรภายใน และนัยสำคัญต่อภูมิภาคและสากล) วิทยากรประกอบด้วยตัวแทนจากสหภาพยุโรป นักวิเคราะห์ และนักวิชาการเข้าร่วมอภิปราย โดยหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความเปลี่ยนแปลงในพม่าขณะนี้ดำเนินไปทางบวกและรวดเร็ว และคาดการณ์ว่านานาชาติจะได้ผ่อนคลายมาตรการอันเข้มงวดลงในเร็วๆนี้ ผู้แทนอียูเผย อาจยกเลิกการคว่ำบาตรพม่า เอกอัครราชทูตประจำคณะกรรมการผู้แทนสหภาพยุโรป เดวิด ลิปแมน ผู้เคยประจำการในเอเชียตะวันออกหลายประเทศรวมถึงพม่า กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในพม่าว่า “น่าตื่นตาตื่นใจ” (Stunning) โดยเฉพาะในแง่ของเสรีภาพสื่อ ซึ่งเห็นจากการที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศจำนวนมากสามารถเข้าไปรายงานได้ตามปรกติต่างจากก่อนหน้านี้ และเขายังกล่าวว่า สหภาพยุโรปหวังว่าจะได้ผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการคว่ำบาตรลง หากพม่ายังคงดำเนินการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ต่อไป ลิปแมนระบุว่า ทางสหภาพยุโรปจะมีการประชุมระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศในวันที่ 23 มกราคมนี้ ซึ่งจะสรุปผลออกมาว่า ยุโรปจะมีมติเรื่องมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าในอนาคตอย่างไร ทั้งนี้ เขาชี้ว่า หากพม่าดำเนินการปล่อยตัวนักโทษทั้งหมด จัดการเลือกตั้งซ่อมที่สะอาดยุติธรรม และสามารถเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยได้ ก็เป็นไปได้สูงว่าสหภาพยุโรปจะยกเลิกการคว่ำบาตรต่อพม่า นักวิเคราะห์มอง กองทัพพม่าจะไม่รปห. อีก เหตุมุ่งเป็นทหารอาชีพ แลรี่ จาร์แกน อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซีที่ติดตามความเคลื่อนไหวในพม่ามาราว 40 ปี กล่าวว่า เขามองความเปลี่ยนแปลงในพม่าที่ผ่านมาในแง่ดี (optimistic) โดยเฉพาะในวันนี้ (13 ม.ค.) ที่มีรายงานว่ามีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองจำนวน 651 คน ประกอบด้วยกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เคยประท้วงในปี 1988 (พ.ศ. 2531) กลุ่มผู้นำชนกลุ่มน้อย พระสงฆ์ รวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยข่าวลับด้วย จาร์แกนมองว่า การเปลี่ยนแปลงในพม่า มักจะเกิดในช่วงเวลาที่เราไม่ทันตั้งตัว และเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร็วมาก ซึ่งเขามองว่า การที่ประธานาธิบดีเต็นเส่งเข้าพบกับนางออง ซาน ซูจีในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เป็นจุดเปลี่ยน (turning point) ที่สำคัญ ซึ่งนับแต่นั้นมา ประธานาธิบดีพม่าก็พยายามทำงานและสร้างความสัมพันธ์กับนางออง ซาน ซูจีอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เขามองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการช่วงชิงอำนาจในกลุ่มชนชั้นนำ ด้วยการดึงกลุ่มอำนาจต่างๆ มาถ่วงดุลระหว่างรัฐบาล กองทัพ และพรรคเอ็นแอลดี เขาวิเคราะห์ถึงพลวัตภายในกลุ่มผู้นำรัฐบาลว่า มีการช่วงชิงอำนาจระหว่างรัฐมนตรีสายเสรี (liberal) ซึ่งมีราวร้อยละ 20 และพยายามผลักดันการปฏิรูป ระหว่างรัฐมนตรีสายอนุรักษ์นิยม (hardliner) ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 20 และคัดค้านการปฏิรูปอย่างหัวชนฝา โดยเขาชี้ว่า หากดูจากการปล่อยตัวนักโทษการเมืองจำนวนมากในวันนี้ การยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนมิตโสน และโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย อาจแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายรัฐมนตรีสายเสรีมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายมากกว่า อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซีกล่าวว่า การยกเลิกการสร้างโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าว อาจมีเหตุผลหลักๆ มาจากการที่ผู้นำพม่าต้องการที่จะแสดงให้ประชาชนโดยเฉพาะฐานเสียงเห็นว่า รัฐบาลพม่ามีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม และต้องการที่จะหลุดพ้นจากการเป็นประเทศใต้บริวารของจีน นอกจากนี้ ยังมีส่วนมาจากอุดมการณ์ชาตินิยมของผู้นำพม่าด้วย เนื่องจากกระแสไฟฟ้ากว่าร้อยละ 90 จากโรงงานที่สร้างเสร็จแล้ว จะถูกส่งออกไปจีนและไทยทั้งสิ้น จาร์แกนยังอ้างถึงแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ภายในกองทัพของพม่าว่า กองทัพเองไม่ต้องการจะโค่นล้มรัฐบาล หรือเข้ามาแทรกแซงการเมืองอีกต่อไป เนื่องจากผู้นำระดับสูงต้องการที่จะกอบกู้ภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียของกองทัพ จากการคอร์รัปชั่น และปรับปรุงให้เป็นทหารอาชีพอย่างเต็มตัว “ตามที่ผมเข้าใจ ผมค่อนข้างมองในแง่บวกว่า กองทัพจะไม่เป็นสถาบันที่แทรกแซงทางการเมืองอีกต่อไป จากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ในกองทัพ ระบุว่า พล.อ. มิน ออง หล่าย (ผู้บัญชาการกองทัพพม่า) เองก็เห็นด้วยกับเต็นเส่งในการเดินหน้าการปฏิรูป เขาอยากเห็นกองทัพที่เป็นทหารอาชีพ” จาร์แกนกล่าว “เขาได้ริเริ่มการปฏิรูปภายในกองทัพหลายอย่างที่จะส่งเสริมให้ทหารเป็นมืออาชีพและอิสระ และยังติดต่อกับนานาชาติเพื่อส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปฝึกอบรมในต่างประเทศด้วย” อย่างไรก็ตาม เขามองว่า พม่าเองยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันที่ชัดเจน แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นการเมืองที่ยึดโยงกับตัวบุคคลมากกว่า (personality politics) ภาคปชช.เสนอรบ.ทำแผนเจรจาชนกลุ่มน้อยอย่างเป็นระบบ ด้านอ่อง นาย อู รองผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาชุมชนและสร้างความเข้มแข็งพลเมือง (Community Development and Civic Empowerment) ม.เชียงใหม่ วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงภายในพม่าที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคประชาชน ความอับจนทางเศรษฐกิจ แรงกดดันภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งตัวเขาเองกล่าวว่าค่อนข้างแปลกใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะที่ผ่านมา โดยเฉพาะเสรีภาพสื่อซึ่งนับว่าเปลี่ยนแปลงในแง่บวกมากที่สุด แต่เขาก็ชี้ว่าสื่อมวลชนในพม่ายังคงไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเนื่องจากการเซ็นเซอร์ตนเอง (self-censorship) อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ยังคงมีความท้าทายที่รัฐบาลพม่าต้องแก้ไขหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนักโทษการเมืองที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ การทำสงครามกับชนกลุ่มน้อย กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิประชาชนที่ยังคงอยู่ รวมถึงระบบเศรษฐกิจแบบอุปถัมป์ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีพิมพ์เขียวในอนาคตที่ชัดเจน ซึ่งออง นาย อู ได้เสนอให้รัฐบาลจัดทำแผนการเจรจากับชนกลุ่มน้อยที่เป็นระบบและครอบคลุม เพื่อการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net