Skip to main content
sharethis

พ.อ.สรรเสริญ เบิกความ ศอฉ มี “สไนเปอร์” จริง แต่เป็น “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” พ.อ.กัณฑ์ชัย ชี้ ทหารถูกปล้นปืนที่สามเหลี่ยมดินแดง เหมือนเหตุการณ์ในภาคใต้ ร.อ.มนต์ชัย เบิกความ กองกำลังติดอาวุธพยายามทำร้ายทุกคนเพื่อโยนความผิดให้กับทหาร

 

24 ก.ย.55 เวลา 9.00 – 17.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 707 ศาลอาญา รัชดา ได้มีการไต่สวน 3 นายทหาร คือ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด  พ.อ.กัณฑ์ชัย ประจวบอารีย์  และ ร.อ.มนต์ชัย ยิ้มอยู่ ตามเลขคดี อช.1/2555 จากกรณีการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ พลศรีลา คนขับรถแท็กซี่เสื้อแดงที่ถูกยิงและเสียชีวิตบริเวณหน้าปั้มเชลล์ ถนนราชปรารภ เมื่อบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 ช่วงที่มีการกระชับวงล้อมผู้ชุมนุมเสื้อแดงโดย ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยในระหว่างการไต่สวนได้มีบุตรสาวนายชาญรงค์ร่วมฟังด้วย
 
พ.อ.สรรเสริญ แจงมีหน้าที่นำเรื่องราวที่ประชุม ศอฉ.เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อายุ 49 ปี ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารบก รับราชการทหาร ในขณะเกิดเหตุเป็นโฆษกกองทัพบกและ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ในฐานะพยานเบิกความว่า ได้เข้าร่วมประชุมกับ ศอฉ. แต่ไม่ได้ประชุมทุกรอบ ซึ่งการประชุม ศอฉ. จะมีขึ้นทุกวันและพยานมีหน้าที่นำเรื่องราวที่ประชุมเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ ศอฉ.ถูกจัดตั้งโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้น คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี คือ นายกสุเทพ เทือกสุบรรณ ควบคุมดูแล
 
ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในเริ่มชุมนุม 12 มี.ค.53 ที่บริเวณถนนราชดำเนิน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและให้รัฐบาลในขณะนั้นลาออก หลังจากนั้น 3 เมษายน 2553 ได้ขยายพื้นที่ไปปิดสี่แยกราชประสงค์ หลังจากนั้นที่ราชดำเนินคนน้อยจึงขอพื้นที่คืนวันที่ 10 เมษายน 2553
 
วันที่ 7 เมษายน 2553 มีกลุ่มผู้ชุมนุมนำโดย นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง บุกไปในรัฐสภาและยึดอาวุธปืนจากเจ้าหน้าที่ที่รัฐสภา หลังจากนั้น ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ได้ประชุมหารือกัน โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดูแล และนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงนำไปสู่การตั้ง ศอฉ. 
 
นอกจากนายอริสมันต์บุกเข้ารัฐสภาแล้วยังมีการใช้กระสุน. M79 ยิงไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ คิดโดยสรุปว่าเป็นการยิงจากกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีการเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2553 ที่มีการขอพื้นที่คืนที่บริเวณถนนราชดำเนิน โดยทหารและตำรวจ โดยวันที่ 10 เมษายน 2553 ในช่วงเวลา 17.00 น ไปแล้วเกิดการปะทะกันนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และมีทหารบาดเจ็บหลายนายและเสียชีวิต 5 นายในเหตุการณ์นั้น
 
10 เมษา ทหารถอนตั้งแต่ 17.00 น. แต่ที่คอกวัวผู้ชุมนุมปิดล้อมถอนไม่ได้ ก่อนถูกโจมตี
วันที่ 10 เมษายน 2553 หลังจากมีการประชุมในตอนเช้า มีการสั่งการขอคืนพื้นที่ให้ปฏิบัติให้เสร็จภายในช่วงเวลา 17.00 น และขณะนั้นทุกหน่วยรายงานมาว่าทัศนวิสัยไม่ดีเพราะใกล้มืดแล้ว จึงขอยุติการปฏิบัติการและ ศอฉ. อนุมัติให้ถอนกำลัง แต่ขณะนั้นทหารจากกองพันทหารราบที่ 2 ไม่สามารถถอนตัวได้ เพราะมีผู้ชุมนุมไปขวางด้านหน้าและหลังบริเวณสี่แยกคอกวัว หลังจากนั้นทหารหน่วยดังกล่าวก็ถูกโจมตีโดย M67 และ M79 รวมทั้งกระสุนปืนโดยผู้ใช้อาวุธที่อยู่ในฝั่งผู้ชุมนุม
 
ในเวลา 20.00 น. จากการที่ ศอฉ.ได้ประชุมกันอย่างต่อเนื่อง พยานได้นั่งใกล้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ และเข้าใจว่าขณะนั้นนายกอร์ปศักดิ์ ได้โทรคุยกับนายแพทย์เหวง โตจิตราการ โดยได้ยินคำพูดของนายกอร์ปศักดิ์ ว่า “ให้ฝั่งโน้น(ผู้ชุมนุม นปช.) หยุดปฏิบัติการ เพราะทหารยุติแล้ว” 
 
หลังวันที่ 10 เมษายน 53 พื้นที่ราชประสงค์มีความรุนแรงเกิดขึ้น นำไปสู่มาตรการปิดล้อม การตัดสาธารณูปโภคและการตัดสัญญาณโทรศัพท์ เพื่อให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.53 ปรากฏว่าในเวลากลางวันกลุ่มผู้ชุมนุมมีประมาณไม่มาก แต่เมื่อเย็นและค่ำปริมาณผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นากอีก แสดงให้เห็นว่าผู้ชุมนุมยังสามารถเข้าออกได้อยู่
 
การกระชับวงล้อมไม่ใช่การสลายการชุมนุม เพียงแต่กดดันให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเอง
จนกระทั่งวันที่ 19 พ.ค.53 จึงตัดสินใจ “กระชับวงล้อม” เพื่อต้องการกดดันให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเองและต้องการควบคุมพื้นที่สวนลุม เนื่องจากพื้นที่สวนลุมมีกลุ่มใช้อาวุธสงครามอยู่และยิงออกมาจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต การกดดันทำให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเองนั้นไม่ได้เป็นการสลายการชุมนุม เพราะเราไม่ได้มีการส่งกำลังไปยังใจกลางพื้นที่การชุมนุม  การกระชับวงล้อมเราใช้มาตรฐานสากล 7 ขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก
 
การตายของนายชาญณรงค์ ทราบภายหลัง ยันเป็นโฆษกไม่จำเป็นต้องรู้เรื่อง
การตายของนายชาญณรงค์ (ผู้ตายในคดีนี้) ที่ราชปรารภ มาทราบภายหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นไปแล้ว ศอฉ.ไม่มีการแถลงข่าวเรื่องนี้ เนื่องจากไม่ใช่เหตุการณ์ในภาพรวม และจำไม่ได้ว่ามีทหารหน่วยไหนบ้างปฏิบัติการในที่ใด ยืนยันว่าการเป็นโฆษกไม่จำเป็นต้องรู้เรื่อง
ทหารจะมีอาวุธประจำกายทุกนาย แต่กระสุนจริงจะแจกเฉพาะผู้บังคับหมู่ที่มีดุลยพินิจและประสบการณ์
 
ภาพเขตใช้กระสุนจริงเป็นจิตวิทยาเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไป
ในฐานะเป็นโฆษก ศอฉ. ที่มีภาพเขตใช้กระสุนจริงปรากฏนั้น ได้รับรายงานจากผู้บังคับหน่วยในพื้นที่ถึงเหตุผลในการติดป้ายดังกล่าวเพราะว่า หนึ่ง พื้นที่นั้นมีชายชุดดำในกลุ่มผู้ชุมนุมยิงมา สอง เป็นพื้นที่อันตรายไม่ให้คนเข้า และ สาม เป็นปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่นั้น
มีการจับกุมกลุ่มที่ใช้อาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งทาง ศอฉ.เรียกว่า “ชายชุดดำ” ได้หลังการชุมนุมแต่ไม่สามารถจับได้ระหว่างการชุมนุม เนื่องจากกลุ่มนี้จะแฝงตัวกับผู้ชุมนุม 
 
ระบุบทความในเสนาธิปัตย์ ที่ว่าเป็น “การรบในเมือง” ผู้เขียนได้เขียนแก้แล้วว่าไม่ใช่
จากการที่มีนายทหารเขียนบทความเกี่ยวกับการวางกำลังทหารในช่วง เมษา – พ.ค.53 นั้น ถือว่าเป็น “การรบในเมือง” บทความนี้เป็นบทความของกรมยุทธศึกษาทหารบก คนเขียนชื่อ พ.อ.บุญรอด ศรสมบัติ ใช้นามปากกาว่า “นายหัวควง” ซึ่งเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้เขียนจากการดูรายงานข่าวแล้วนำมาวิเคราะห์ว่ารูปแบบการปฏิบัติการของทหารเป็นการใช้การรบ แต่หลังจากผู้เขียนนั้นได้ไปคุยเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ทหารผู้ปฏิบัติการ จึงมีการเขียนแก้ลงในวารสารเดียวกันคือ วารสารเสนาธิปัตย์ โดยแก้ว่าไม่ใช่ปฏิบัติการรบ
 
ก่อนหน้า 10 เม.ย.53 นั้นไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต หลังจากมีการบาดเจ็บและล้มตาย ศอฉ.มีการสรุปถึงสาเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ตัวพยานไม่ทราบข้อสรุป อย่างไรก็ตามมีการแถลงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบางกรณี เช่น กรณีที่มีคนโบกธงแล้วโดนยิงหงายท้องนั้น(นายวสันต์ ภู่ทอง)
 
มีการจับกุมชุดดำในเหตุการณ์ 10 เม.ย.และดำเนินคดีแล้ว
เหตุการณ์ชายชุดดำมีตั้งแต่ 10 เม.ย.53 เป็นต้นมา และมีการจับกุมตัว ชายชุดดำในเหตุการณ์ 10 เม.ย. จำชื่อไม่ได้แต่มีการดำเนินคดีอยู่ สำหรับคนที่กว้างระเบิดและยิง M79 นั้นไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนทำ แต่ก็สามารถจับกุมได้กว่า 10 คน ในเหตุการณ์นี้ เจ้าหน้าที่ทหารมีการใช้อาวุธและกระสุนจริง
การประชุมของ ศอฉ.ส่วนใหญ่นั้นมีนายสุเทพ เทือสุบรรณ เป็นประธานในที่ประชุม และวันที่ 10 เม.ย.53 นั้น มีนายสุเทพ เป็นผู้รับผิดชอบสั่งการ
 
ใช้กระสุนจริงไม่มุ่งเอาชีวิต ใช่เมื่อมีบุคคลใช้อาวุธจริงทำร้าย จนท.และประชาชน 
ในพื้นที่ถนนราชปรารภ ในแต่ละวันที่คนตายคนเจ็บมีการรายงาน แต่ไม่ทราบมากนัก การเสียชีวิตนั้นตนเองไม่ได้รับรายงาน เพราะคนเป็นโฆษกไม่ใช่คนรับรายงาน
 
ใน 7 ขั้นตอนของการควบคุมฝูงชนนั้น ไม่มีการใช้กระสุนจริง แต่หากตรวจพบว่ามีบุคคลใช้อาวุธจริงทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชน เจ้าหน้าที่ก็สามารถใช้กระสุนจริงได้ แต่ไม่ใช่มุ่งหมายเอาชีวิต
หากเรานิยามว่า “หนังสติ๊ก” ไม่ใช่อาวุธสงคราม เมื่อประชาชนถือหนังสติ๊กยิงเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้อาวุธสงครามยิงได้ หากเรานิยามว่า “หนังสติ๊ก” ไม่ใช่อาวุธสงคราม
 
มี “สไนเปอร์” จริง แต่เป็น “พลแม่นปืนระวังป้องกัน”
มีการปฏิบัติภารกิจแบบ “สไนเปอร์” จริง แต่เป็นในลักษณะ “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” เพื่อคอยป้องกันประชาชนและเจ้าหน้าที่ทหาร ส่วนคำว่า “สไนเปอร์” เป็นคำศัพท์ทางการทหาร คือ “พลซุ่มยิงลอบสังหาร” ต่างจาก “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” ที่ใช้ แม้จะสามารถยิงสกัดได้แต่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะเอาชีวิต รวมถึงไม่จำเป็นต้องอยู่ที่สูงเสมอไป ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ โดย “พลแม่นปืนระวังป้องกัน” จะใช้ M16 และ ทราโว แต่ไม่แน่ใจว่าใช้อาวุธปืนชนิดอื่นด้วยหรือไม่
 
พ.อ.กัณฑ์ชัย ช่วงเกิดเหตุตั้งด่านอำนวยความสะดวกและตรวจอาวุธ 
พ.อ.กัณฑ์ชัย ประจวบอารีย์  อายุ 45 ปี ขณะเกิดเหตุเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ จังหวัดลพบุรี ปัจจุบัน เป็นเสนาธิการหน่วยเฉพาะกิจ จ.นราธิวาส ในฐานะพยาน เบิกความต่อศาลว่า เข้าไปในพื้นที่ถนนราชปรารภในวันที่ 14 พ.ค.53 เวลา 14.00 น. เพื่อเข้าไปตั้งด่านอำนวยความสะดวกและตรวจอาวุธเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมนำอาวุธเข้าไปยังที่ชุมนุม แต่ไม่มีการห้ามไม่ให้เข้าออก โดยหน่วยที่รับผิดชอบมี 3 กองร้อยๆ ละ 150 นาย เข้าไปขึ้นกับ ร.1 รอ. หน่วยของพยานมีอาวุธปืนลูกซองประมาณ 80-100 กระบอก ที่เหลือเป็นโล่และตะบอง รวมทั้งมีอาวุธปืนทราโว 5 กระบอก แต่เบิกกระสุนซ้อมรบไป ส่วนกระสุนลูกซองมีกระสุนจริงอยู่ด้วย
 
ได้รับคำสั่งให้มาจากทางสามเหลี่ยมดินแดงเดินเท้าไปตั้งด่านที่บริเวณปากซอยราชปรารภ 12 ถึง 14 โดยเดินผ่านผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ขณะผ่านนั้นฝ่ายทหารได้รับความบอบซ้ำ แต่ไม่มีความรุนแรง จุดที่ไปวางกำลังอยู่ใกล้ใกล้สถานีจำหน่ายน้ำมันเอสโซ่ วางกำลังอยู่ตามชายคาตึก หลบตามซอกตึก ห่างจากสถานีจำหน่ายน้ำมันเชลล์(ซึ่งเป็นจุดที่นายชาญณรงค์ถูกยิง)ประมาณ 300 เมตร
 
ในวันที่ 14 พ.ค.53 เวลา 16.00 น. หลังจากที่ถูกผู้ชุมนุมทำร้ายตลอดทางที่เข้ามาและมีการเคลื่อนกำลังมาประชิดขณะที่หน่วยของพยานกำลังตั้งด่าน จึงได้ขออนุมัติผู้บังคับบัญชาเพื่อผลักดันผู้ชุมนุมออกไป โดยใช้โล่และตะบอง ไม่มีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น หลังจากนั้นจึงมีการวางรั้วลวดหนามห่างจากจุดที่วางกำลัง 100 เมตรทั้งด้านซ้ายและขวา ในบริเวณที่พยานวางกำลังไม่มีการติดป้ายข้อความ “เขตพื้นที่กระสุนจริง” 
ทหารถูกปล้นปืนที่สามเหลี่ยมดินแดง เหมือนเหตุการณ์ในภาคใต้
 
เวลา 17.00 น. ทหารจาก ร.1 ที่เข้ามาส่งอาหารทางสามเหลี่ยมดินแดงได้ถูกทำร้ายอย่างน่าสงสาร และถูกปล้นปืนไป 2 กระบอก และมีการเผารถยนต์ของทหาร เหมือนเหตุการณ์ในภาคใต้ มีการแต่งกายคลายทหาร มีการนำเสื้อทหารไปใส่ เช่นเดียวกับในภาคใต้ที่ปลอมตัวเป็นทหาร รวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมจะทำร้ายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าโดยไม่มีสติ นอกจากการปล้นปืนครั้งนี้ วันที่ 10 เมษายน 53 มีการปล้นปืนของทหารที่สะพานพระปิ่นเกล้า ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ทหารปัจจุบันก็ยังไม่ได้คืน
 
ก่อนเกิดเหตุ ทหารถูกโจมตีอย่างหนัก ทหารบาดเจ็บเล็กน้อย
ในคืนวันที่ 14 พ.ค.53 หน่วยของพยานถูกโจมตีอย่างหนักโดยยิงมาทางสามเหลี่ยมดินแดงและตามซอยต่างๆ รวมทั้งอาคารสูงอย่างตึกชีวาทัยและโรงแรมเซนจูรี ด้วยอาวุธปืนเล็กยาว M79 และอาวุธระเบิดจากกองกำลังที่อยู่ในฝูงชน ในวันนั้นทหารบาดเจ็บเล็กน้อย แต่ไม่มีใครเสียชีวิต วันที่ 16 พ.ค.53 ยังมีชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดยังสามารถเกิดระเบิดที่กลุ่มผู้ชุมนุมวางไว้ได้ พยานได้ส่องกล้องไปบนตึกชีวาทัยพบกองกำลังติดอาวุธอยู่บนนั้นด้วย
 
ในเช้าวันที่ 15 พ.ค.53 มีกลุ่มกำลังติดอาวุธโจมตี หน่วยของพยาน ซึ่งสายข่าวของพยานสามารถถ่ายภาพไว้ได้ หน่วยของพยานจึงมีการทำบังเกอร์โดยใช้กระสอบทรายเพื่อป้องกันอันตราย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมอาวุธมาวางกำลังช่วยหน่วยของพยานในบริเวณใกล้เคียง
 
บ่าย 3 วันที่ 15 พ.ค. ส่งผู้ใต้บังคับบัญชาไปช่วยเหลือผู้ตาย
 
เวลา 15.00 น. มีคนวิ่งมาแจ้งว่ามีคนเจ็บที่บริเวณสถานีจำหน่ายน้ำมันเชลล์ จึงได้วิทยุไปยังผู้บังคับการ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อขออนุญาตจัดกำลังเข้าไปช่วยเหลือ โดยมอบหมายให้ ร.อ.มลชัย ยิ้มอยู่ จัดกำลังเข้าไปช่วย หลังจากนั้นได้นำผู้บาดเจ็บเป็นชาย 2 คน ซึ่งขณะนั้นยังมีชีวิตอยู่ ทราบชื่อภายหลังจากพนักงานสอบสวน คือ นายชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้ตายในคดีนี้ 
 
ในขณะเคลื่อนที่เข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บนั้น มีเสียงปืนยิงมาจากสามเหลี่ยมดินแดง และมีทหารได้รับบาดเจ็บ คือ ส.อ.สรายุทธ์ ศรีวะโสภา ถูกกระสุนปืนยิงแต่บาดเจ็บไม่มาก
 
ขณะปฏิบัติการหน่วยมีทราโวเพียง 5 กระบอก ไม่มีการเบิกจ่ายกระสุน
ที่หน่วยของพยานสังกัดมีอาวุธปืนทราโวเกิน 100 กระบอก แต่ในการปฏิบัติการครั้งนี้มีการเบิกจ่ายเพียง 5 กระบอก และไม่มีการเบิกจ่ายกระสุน เหตุเพราะเนื่องจากได้รับภารกิจเพียงแค่ตั้งด่าน จึงเอาปืนมาเพียงแค่ขู่ก็เพียงพอแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. ถึง 19 พ.ค.53 หน่วยของพยานไม่มีการเบิกกระสุนจริงเลย
แม้ถูกโจมตี แต่ไม่มีการตอบโต้
 
แม้ในระหว่างการปฏิบัติการจะมีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธยิงใส่หน่อยของพยาน แต่หน่วยของพยานไม่มีการยิงใส่กลุ่มเหล่านั้นเลย แม้จะมีการร้องขอความช่วยเหลือไปยังผู้การ ร.1 รอ. แต่ถูกสั่งให้ช่วยเหลือตัวเองและให้เอากระสอบทรายทำเป็นบังเกอร์บังเอาไว้ รวมทั้งให้ใช้เพียงปืนลูกซองยิงขู่ โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชา เพราะหน่วยของพยานเป็นหน่วยจากต่างจังหวัดจึงไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือให้ความสำคัญจากทหารในเมือง
 
การดำเนินการจะได้รับคำสั่งจากผู้การ ร.1 รอ อีกที แต่ผู้การจะได้คำสั่งจากไหนอีกต่อนั้นพยานไม่ทราบ แม้แต่ในที่ตั้งด่านนั้น พยานจะขึ้นไปตรวจการบนตึกสูง ก็ถูกปฏิเสธจากประชาชนในบริเวณนั้น เพราะพวกเขาถูกขู่ว่าหากให้ทหารขึ้นตึกจะถูกเผาตึก 
 
ตลอดการปฏิบัติการเห็นผู้บาดเจ็บเพียง 2 คน
วันที่ 14 ถึง 19 พ.ค.53 นอกจากผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน (ที่รวมผู้ตายในคดีนี้)ที่พยานเห็น ไม่เห็นหรือได้รับรายงานว่ามีผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในบริเวณนั้นอีก
 
คิดว่าการวางยางไม่ได้เป็นภัยคุกคาม แต่มีเสียงปืนและระเบิดดังมาจากฝั่งผู้ชุมนุมเป็นระยะ
ช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 มีการนำยางมาวางบริเวณหน้าสถานีจำหน่ายน้ำมันเชลล์ แต่ไม่ได้เห็นคนชัดเจน เห็นแต่ยางที่กลิ้งมา ซึ่งตอนนั้นพยานไม่มีการสั่งการอะไรเลย แต่ได้ยินเสียงปืนและระเบิดดังมาจากฝั่งผู้ชุมนุมเป็นระยะ ซึ่งจุดที่ผู้ชุมนุมวางแนวยางนั้นห่างจากจุดที่พยานอยู่ประมาณ 300 เมตร และคิดว่าการวางยางดังกล่าวไม่ได้เป็นภัยคุกคามอะไรต่อกำลังพลของพยานและต่อประชาชน
 
ช่วงเวลานั้น จากที่ตรวจการพบว่ามีการยิงมาจากที่สูงและจากแนวราบมายังที่ทหารตั้งด่านอยู่ แต่ทหารภายใต้การบังคับบัญชาของพยานก็ไม่ได้มีการยิงตอบโต้
 
ไม่พบว่ามีกลุ่มติดอาวุธยิงใส่ประชาชน
ช่วงที่ตั้งด่านตรวจค้นผู้ที่ผ่านไปมาบริเวณนั้น มีการตรวจพบอาวุธ เช่น มีด ระเบิดปิงปอง ระเบิดทำมือ ธงแหลม และได้มีการส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ดำเนินคดีด้วย แต่ถ้าผู้ที่ผ่านไปมาไม่มีอาวุธก็จะไม่ขัดขวางหากจะเดินทางไปที่ชุมนุมที่ราชประสงค์ และเท่าที่สังเกตการณ์นั้นไม่พบว่ามีกลุ่มติดอาวุธยิงใส่ประชาชน
 
ร.อ.มนต์ชัย เบิกฯ แม้ ศอฉ.อนุญาตให้ใช้กระสุนจริงได้ แต่ก็ใช้แค่กระสุนซ้อม
ร.อ.มนต์ชัย ยิ้มอยู่ ปัจจุบันยศพันตรี อายุ 34 ปี ผู้บังคับกองร้อยของหน่วยที่ปฏิบัติการในพื้นที่เกิดเหตุ นายทหารยุทธการและการศึก กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ ซึ่งมาพร้อมกับ พ.อ.กัณฑ์ชัย ประจวบอารีย์   
 
เบิกความในช่วงเกิดเหตุนั้น ว่า ศอฉ. ได้อนุญาติให้ใช้กระสุนปืนทั้งกระสุนยางและการสุนจริงได้ แต่ปืนทราโวที่พยานใช้นั้นเป็นเพียงกระสุนซ้อมรบ ส่วนหลักการใช้กระสุนจริงของ ศอฉ. คือ หนึ่ง แจ้งเตือน สอง ยิงขึ้นฟ้าและสาม ยิงโดยไม่ประสงค์แก่ชีวิต ยิงเพื่อป้องกันตัวเอง โดยหน่วยของพยานมีการเบิกปืนทราโวมา 5 กระบอก โดยมีทหารระดับสัญญาบัตรถือ ไม่มีการเบิกกระสุนจริงมาใช้ มีเพียงกระสุนซ้อมรบ
 
ถูกโจมตีจากกองกำลังติดอาวุธของ นปช.
ตั้งแต่เข้ามาในพื้นที่วันที่ 14 พ.ค.53 ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมทำร้ายมาโดยตลอดด้วยการทุบตีและใช้อาวุธ เช่น ไม้ เหล็กแหลม มีและอาวุธที่หนักขึ้น ระเบิดขวด ระเบิดปิงปอง ขวางใส่ จนทหารในหน่วยได้รับอันตรายบาดเจ็บแต่ไม่สาหัส หลายนายหัวแตก ฟกช้ำ เย็นวันนี้ผู้ชุมนุมได้ยึดเอาอาวุธปืน M16 จำนวน 3 กระบอกและเครื่องกระสุนจริง จากเจ้าหน้าที่ทหารที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และเผาทำลายรถทหาร รวมทั้งนำเครื่องแต่งกายของทหารมาแต่งเพื่อทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นทหาร และในคืนวันเดียวกันหน่วยของพยานถูกโจมตีจากกองกำลังติดอาวุธของ นปช. โดยใช้ ปืนพก ปืนเล็กยาว M79 ระเบิดขว้างลูกเกลี้ยง ระเบิดเพลิง หนังสติ๊กและหัวน็อต โจมตี แต่ตอนนั้นไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ และหน่วยของพยานไม่มีการตอบโต้เพราะไม่ได้รับคำสั่ง
 
วันที่ 15 พ.ค.53 นั้น มีตำรวจ 1 กองร้อย ติดอาวุธ เข้ามาช่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ ส่วนผู้ชุมนุมมีการพยายามเข้ามากดดันหน่วยของตน และมีกองกำลังติดอาวุธเข้ามาด้วย ซึ่งมีเสียงอาวุธปืนเล็กดังมาจากหลายทิศทาง มีทั้งมาจากที่สูงอย่างตึกชีวาทัย โรงแรมเซนจูรี่ และการโจมตีจากที่ราบ
 
ขณะผู้ชุมนุมนำยางมาวาง ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นยิงมาจากตึกสูงบริเวณรอบข้าง
สำหรับเหตุการณ์ในคดีนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากพอสมควรนำยางรถยนต์ห่างจากจุดที่พยานประจำการอยู่ประมาณ 300 เมตร ขณะนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้นยิงมาจากตึกสูงบริเวณรอบข้าง พยานหลบอยู่ที่กำบังโดยไม่มีการตอบโต้ เนื่องจากไม่มีคำสั่ง
 
นำทีม 8 นาย เข้าช่วยเหลือผู้ตายในคดีนี้ 
หลังจากนั้นทราบจากผู้พันว่ามีคนได้รับบาดเจ็บอยู่ทางด้านหน้าไปทางปั้มน้ำมันเชลล์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของ นปช. พยานจึงเข้าไปประมาณ 8 นาย เพื่อตรวจสอบ โดยอาวุธที่นำไปส่วนใหญ่เป็นปืนลูกซอง มีเพียงพยานที่ใช้ทราโว รวมทั้งมีช่างภาพของทหารไปด้วยเพื่อถ่ายการปฏิบัติงาน คือ ส.อ.สรายุทธ์ ศรีวะโสภา โดยเดินทางไปตามแนวถนนด้านซ้าย ขณะเดินทางไปนั้นได้ถูกโจมตีด้วยอาวุธปืนเล็ก แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บเนื่องจากหลบตามเสา เขาไปถึงปั้มน้ำมันเชลล์จึงพยายามค้นหาผู้บาดเจ็บ จนพบอยู่บริเวณด้านหลังปั้มในสระน้ำเล็กๆ ทราบชื่อภายหลังว่าเป็นนายชาญณรงค์ ผู้ตายในคดีนี้ โดยขณะที่พบไม่พบผู้อื่นอยู่บริเวณนั้น จึงช่วยขึ้นมาจากสระน้ำและเรียกพลเปลมานำร่างไป และมีรถพยาบาลมารับไป ขณะนั้นได้รับแจ้งว่ามีผู้บาดเจ็บอีกคน ทราบชื่อภายหลังว่าคือนายไชยวัฒน์ พุ่มพวง ช่างภาพเนชั่น ที่บาดเจ็บอยู่อีกฝั่งของถนนด้วย 
 
ช่างภาพทหารถูกยิงขะตามเข้าไปบันทึกภาระกิจ
ขณะเข้าในปั้มเพื่อช่วยเหลือผู้ตายในคดนี้ ไม่มีการยิงมาใส่แล้ว เนื่องจากหากมีการยิงใส่ก็จะเกิดระเบิดขึ้นแล้ว โดยขณะเข้าไปยังพบผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งยืนอยู่ในปั้ม แต่พยานก็ไม่ได้สอบถามอะไร ขณะกลับที่ประจำการก็ถูกยิงไล่หลังกลับมา แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ มีเพียง ส.อ.สรายุทธ์ ศรีวะโสภา ที่ตามไปด้วยนั้นถูกยิงขณะถ่ายภาพ
 
แม้กฎจะอนุญาตให้ใช้อาวุธจริง แต่ก็ไม่ตอบโต้ เพราะใจไม่อยากตอบโต้ ตัวผู้บังคับบัญชาก็ไม่อนุญาต
แม้ตามกฎการใช้กำลังในข้อ 58 จะระบุว่าเจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธตอบโต้เพื่อยุติการคุกคามได้ แต่ตั้งแต่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ดังกล่าว เวลาดังกล่าว ไม่เคยใช้อาวุธตอบโต้เลย แม้มีการตั้งคำถามว่าเป็นการปล่อยและละเลยไม่ตอบโต้กลุ่มที่โจมตีอย่างนั้นจะสามารถคุ้มครองชีวิตใครไม่ได้ แต่เหตุที่ไม่ตอบโต้เพราะใจไม่อยากตอบโต้ ตัวผู้บังคับบัญชาก็ไม่อนุญาตและหน่วยของพยานก็ไม่ได้รับความเสียหาย  ส่วนการที่ผู้ชุมนุมนำยางมาวางก็ไม่เป็นเหตุให้ต้องตอบโต้หรือผลักดัน แต่ตอนนั้นได้มีการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมว่าไม่ให้เข้ามาประชิดเพราะไม่อยากให้เกิดการปะทะเหมือนเหตุการณ์ช่วงเย็นของวันก่อนหน้า ยืนยันด้วยว่าในวันที่ 15 พ.ค.53 นั้น ไม่มีทหารหน่วยใดเข้าไปผลักดันผู้ชุมนุมออกจากถนนราชปรารภ มีเพียงการแจ้งเตือน 
 
กองกำลังติดอาวุธพยายามทำร้ายทุกคนเพื่อโยนความผิดให้กับทหาร
นอกจากนี้หลังการเบิกความ ร.อ.มนต์ชัย ยิ้มอยู่ ได้นำเอกสารที่แสดงถึงคดีที่เป็นการไต่สวนเพื่อพิจารณาว่าเป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารที่เคยมีในอดีต เพื่อมอบกับศาล และอ้างว่าคดีในลักษณะแบบนี้ควรเป็นอำนาจของศาลทหารในการไต่สวนนั้น ศาลได้ชี้แจงกับ ร.อ.มนต์ชัย ว่าเนื่องจากมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ภายหลังจากคดีที่เป็นความในเองสารที่ ร.อ.มนต์ชัย อ้าง ดังนั้นจึงเป็นอำนาจของศาลในพื้นที่เกิดเหตุในการพิจารณา
สำหรับคดีนี้จะมีการไต่สวนนัดพยานปากต่อไปในวันที่ 28 ก.ย.55 นี้ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net