Skip to main content
sharethis

 

อินโดนีเซียหารือ MOU คุ้มครองแรงงานกับ 6 ประเทศ รวมทั้งไทย 
 
1 ก.พ. 56 - นายมูไฮมิน อีสคันดาร์ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและการย้ายถิ่นอินโดนีเซีย กล่าวว่า รัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการหารือเกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่องการคุ้มครองแรงงานอินโดนีเซียที่ทำงานอยู่ใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย ซาอุดีอาระเบีย  เกาหลีใต้ เยอรมนี บรูไน และคูเวต
 
นายอีสคันดาร์กล่าวว่า เนื้อหาของการหารือกับเจ้าหน้าที่ของทั้ง 6 ประเทศ เป็นเรื่องของร่างบันทึกความเข้าใจ โดยเน้นเรื่องของการปรับปรุงการคุ้มครองและสวัสดิการของแรงงานอินโดนีเซียที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศอย่างไร ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่หารือในครั้งนี้ยังรวมถึงกระบวนการการรับแรงงานเข้าทำงาน สัญญาการทำงาน เงินเดือน และวิธีการจ่ายเงินเดือน การเก็บหนังสือเดินทาง สิทธิการมีวันหยุดในแต่ละสัปดาห์ และบริษัทจัดหาแรงงาน ค่านายหน้าในการนำแรงงานเข้าทำงาน การฝึกความสามารถ และการจัดการความขัดแย้ง นอกจากนี้ นายอีสคันดาร์กล่าวว่า อินโดนีเซียยังได้เสนอตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจร่วม (เจทีเอฟ) ซึ่งจะช่วยจัดการความขัดแย้งระหว่างแรงงานกับนายจ้างอีกด้วย
 
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินโดนีเซียเคยทำบันทึกความเข้าใจเดียวกันนี้กับรัฐบาลของ 10 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ จอร์แดน เลบานอน และออสเตรเลีย
 
แรงงานขาดแคลนระบาดทั่วโลก กระทบคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจ
 
7 ก.พ. 56 - ธุรกิจทั่วโลกตอนนี้กำลังเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ โดยผลการสำรวจล่าสุดจากรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน (The Grant Thornton International Business Report: IBR) ซึ่งนำเสนอว่า 4 ใน 10 (39%) ของธุรกิจทั่วโลกต้องใช้ความพยายามอย่างสูงสุดเพื่อหาบุคลากรที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ ทั้งนี้ การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะทางเทคนิคนั้นเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด (64%) และสร้างความวิตกกังวลว่าจะกระทบความสามารถในการผลิตของผู้ประกอบการ ซึ่งท้ายที่สุดก็จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
 
ทอม โซเรนเซน พาร์ทเนอร์และหัวหน้าสายงานการจัดจ้างบุคลากรระดับผู้บริหาร ของแกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า “แท้จริงแล้ว กลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วยังมีอัตราการว่างงานในระดับสูง ดังนั้น ผลการสำรวจที่ว่านักบริหารธุรกิจกำลังกังวลกับการขาดแคลนแรงงานมีทักษะนั้นจึงบังเอิญเป็นเหมือนการเสียดสีข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ผมเห็นว่าในระยะสั้น นักบริหารธุรกิจจำเป็นต้องถ่ายทอดทักษะให้กับแรงงานภายนอกองค์กรเพื่อเติมเต็มช่องว่างทางความรู้ความสามารถให้ได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในระยะยาว นักบริหารธุรกิจจำเป็นต้องลงทุนกับโครงการอบรมให้ความรู้ภายในองค์กรเพื่อหล่อหลอมบุคลากรและจะเสริมสร้างให้พวกเขาสามารถทำงานเชิงยุทธศาสตร์ เกิดการพัฒนา และมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานต่อไป”
 
ทอม โซเรนเซน กล่าวเสริมว่า “แม้แต่สหประชาชาติ (United Nations) ยังรายงานไว้เมื่อหลายปีก่อนว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานจะมีจำนวนลดลงอย่างรุนแรงทั่วโลก ซึ่งประเทศจีนและสิงคโปร์กำลังประสบกับภาวะขาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ส่วนประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะดังกล่าวในช่วง 2020-2025 ดังนั้น หากคุณคิดว่าตอนนี้แรงงานหาได้ยากอยู่แล้ว ในความเป็นจริง ผมคิดว่าปัญหาจะรุนแรงมากขึ้นอีกหลายเท่า”
 
“การประกอบธุรกิจนั้นไม่อาจดำเนินไปได้โดยปราศจากบุคลากร การมอบหมายให้ทีมงานที่มีประสิทธิภาพทำงานที่ธรรมดาๆ มักจะประสบความสำเร็จได้มากกว่าการให้ทีมงานที่ไร้ความสามารถดำเนินงาน เพราะบุคลากรชั้นเลิศช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตให้กับองค์กร ทั้งยังช่วยให้องค์กรประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย และส่งผลให้ธุรกิจเกิดการเติบโต ดังนั้น ในระยะยาว ผู้บริหารธุรกิจต้องมั่นใจว่าโครงการฝึกอบรมพนักงานของบริษัทของตนจะเอื้อต่อการผลิตบุคลากรที่มีความสามารถอย่างยั่งยืน”
 
ในการนี้ ทั้งในกลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ล้วนประสบกับปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเชิงเทคนิค โดย 61% ของธุรกิจในกลุ่มเศรษฐกิจ BRIC และ 65% ของธุรกิจในกลุ่มประเทศ G7 ระบุถึงปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ การขาดประสบการณ์ในการทำงาน (56%) และการขาดคุณสมบัติที่เหมาะสม (54%) ก็เป็นปัญหาที่ได้รับการกล่าวถึงเช่นกัน นอกจากนี้ 1 ใน 5 ของผู้บริหารธุรกิจ (21%) กล่าวว่ากฎระเบียบเพื่อตรวจสอบคนเข้าเมืองยังเป็นปัญหาอีกด้วย
 
ผลกระทบจากปัญหาเรื่องแรงงานต่อคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจนั้นมีหลักฐานสนับสนุนอันชัดเจน กล่าวคือ รายงาน IBR เปิดเผยว่ากว่า 1 ใน 4 ของธุรกิจ (28%) คาดว่าแผนการขยายธุรกิจในปี 2013 จะต้องประสบกับปัญหาเนื่องจากขาดแคลนแรงงานมีทักษะ ส่วนกลุ่มเศรษฐกิจ BRIC ก็มีการรายงานในลักษณะเดียวกันหากทว่าอยู่ในระดับที่รุนแรงกว่า โดยอยู่ที่กว่า 1 ใน 3 (36%) ซึ่งผลการสำรวจนี้ลดลงจาก 35% ทั่วโลกในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน ซึ่งสมัยนั้นอัตราการจ้างงานนั้นสูงกว่าในปัจจุบันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว
 
มร. โซเรนเซน กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราได้เห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจากการเจรจาระหว่างสถาบันการศึกษา รัฐบาล และผู้บริหารธุรกิจอยู่แล้ว แต่รายงานฉบับนี้น่าจะส่งผลให้มีแรงผลักดันในเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ เพราะยังคงมีความไม่เชื่อมโยงกันในสถานการณ์ที่ว่าผู้บริหารธุรกิจนั้นมีความต้องการอย่างมากในการว่าจ้างแรงงานมีทักษะ ส่วนผู้ที่ว่างงานจำนวนมากก็ยังคงกำลังหางานทำ
 
“สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดความสูญเปล่าทางด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งต่อธุรกิจและผู้ที่ว่างงาน ในที่สุดแล้ว การเติบโตของเศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบ โดยธุรกิจจะมีข้อจำกัดในการขยายตัว และบุคคลที่ว่างงานก็ไม่มีรายรับเพียงพอที่จะใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งจะก่อให้เกิดวงจรอันไม่พึงประสงค์ ดังนั้น ผมขอเสนอแนะว่าการพัฒนาทักษะของบุคลากรควรจะได้รับการยกระดับความสำคัญ และบรรจุอยู่ในนโยบายสาธารณะ”
 
มณฑลทางใต้ของจีนจะยกเลิกการลงโทษด้วยการใช้แรงงาน
 
7 ก.พ. 56 - มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน ระงับการลงโทษด้วยการใช้แรงงานแล้ว โดยเป็นแห่งแรกในประเทศที่เริ่มยกเลิกระบบ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก
 
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานวานนี้ว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายระดับสูงของมณฑลยูนนานประกาศว่า มณฑลยูนนานจะไม่ส่งผู้กระทำความผิดฐานเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ ร้องเรียนทางการโดยการก่อความไม่สงบ และทำลายภาพพจน์ของเจ้าหน้าที่ ไปยังค่ายแรงงานอีกต่อไป และยังจะระงับการลงโทษด้วยการใช้แรงงานสำหรับผู้ที่ถูกจับด้วยข้อหาอื่นๆ อาทิ เสพยาเสพติด และขายบริการทางเพศ ส่วนผู้ที่อยู่ในค่ายแรงงานจะถูกปล่อยตัวหลังจากรับโทษครบกำหนด
 
ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายเมิ่ง เจียนจู ประธานคณะกรรมการการเมืองและกฎหมายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวว่า จะยกเลิกการลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยการใช้แรงงานในปีนี้ แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากสภาประชาชนแห่งชาติจีน ซึ่งจะจัดการประชุมในเดือนมีนาคมนี้
 
ด้านนางเยี่ยน จื่อชาน ผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมในมณฑลกวางตุ้ง กล่าวเมื่อสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า มณฑลกวางตุ้งได้เตรียมการเพื่อยกเลิกระบบค่ายแรงงานทันทีที่ได้รับการอนุมัติให้มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศระบบค่ายแรงงานถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากบรรดาทนายและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าเป็นวิธีการที่ล้าสมัย และเปิดโอกาสให้มีการกดขี่ข่มเหงผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่และนโยบายของทางการ โดยเฉพาะการคุมขัง
 
กลุ่มสิทธิฯเกาหลีใต้เห็นชอบ แอร์สาว'เอเชียนา แอร์ไลน์ส'ขอใส่กางเกงขายาว
 
แอร์โฮสเตสสาวสายการบินเอเชียนา แอร์ไลน์ส เรียกร้องผู้บริหารให้คลายกฎเครื่องแต่งกายอันแสนเข้มงวด ให้สามารถสวมใส่กางเกงขายาวปฏิบัติหน้าที่ได้ ท่ามกลางความเห็นชอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเกาหลีใต้...
 
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 7 ก.พ. ว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเกาหลีใต้ เห็นชอบตามคำเรียกร้องของบรรดาพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิง แห่งสายการบินเอเชียนา แอร์ไลน์ส ที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้บริหารขอให้ผ่อนปรนกฎการแต่งกาย ให้สามารถสวมกางเกงขายาวระหว่างปฏิบัติหน้าที่ได้
 
ทั้งนี้ การเห็นชอบดังกล่าวของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ถือเป็นชัยชนะเล็กๆ ของเหล่าแอร์โฮสเตสสาวกว่า 3,400 คน หลังเคยรวมตัวกันขอให้สายการบินลดความเข้มงวดเรื่องการแต่งกายเมื่อปีที่แล้ว จากการกำหนดจำนวนกิ๊บติดผม และความยาวของต่างหู เป็นต้น ขณะที่ประธานสหภาพพนักงานเอเชียนาหวังว่า การตัดสินใจดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงข้อบังคับเรื่่องการแต่งกายและการแต่งหน้า ต่อกลุ่มลูกจ้างหญิงที่มีอาชีพด้านการให้บริการในเกาหลีใต้ด้วย
 
อย่างไรก็ดี สายการบินเอเชียนา ระบุว่า จะพิจารณากางเกงขายาวในการออกแบบเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบพนักงานครั้งใหม่ แต่ยังไม่สามารถรับรองได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อนึ่ง เอเชียนา เป็นสายการบินสัญชาติเกาหลีใต้เพียงสายการบินเดียว ที่ไม่อนุญาตให้แอร์โฮสเตสสวมใส่กางเกงขายาว.
 
ตูนิเซียนัดหยุดงานทั่วประเทศประท้วงรัฐบาล
 
8 ก.พ. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงตูนิส ประเทศตูนิเซียว่า วิกฤตการเมืองในตูนิเซียส่อเค้าทวีความรุนแรงขึ้นอีก หลังสหภาพแรงงานเรียกร้องให้ประชาชนผละงานทั่วประเทศพร้อมกัน ท่ามกลางการปะทะเดือดระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับตำรวจปราบจลาจลในหลายพื้นที่ อันมีชนวนเหตุมาจากการลอบสังหารผู้นำพรรคฝ่ายค้านคนสำคัญเมื่อช่วงกลางสัปดาห์
 
สหภาพแรงงานกลางตูนิเซีย ( ยูจีทีที ) องค์กรภาคประชาชนที่มีอิทธิพลที่สุดของประเทศ ออกแถลงการณ์ปลุกระดมให้ประชาชนออกมาชุมนุมกันตามท้องถนนในกรุงตูนิสในวันนี้ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อกรณีการลอบสังหารนายชาครี บีเลด แกนนำพรรคฝ่ายค้านคนสำคัญ ซึ่งมักวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และพรรคเอนนาห์ดา ซึ่งครองเสียงข้างมากอยู่ในรัฐสภาอย่างเปิดเผย ทั้งนี้ บีเลดถูกมือปืนนิรนามลอบยิงสังหารหน้าบ้านพักของตัวเอง เมื่อวันที่ 6 ก.พ.
 
การเสียชีวิตของบีเลดปลุกให้กระแสการต่อต้านรัฐบาลลุกโชนขึ้นอย่างรุนแรง เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวหาว่า พรรคเอนนาห์ดาคือผู้อยู่เบื้องหลังการลอบสังหาร แม้นายกรัฐมนตรีฮามาดี เจบาลี จะแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติทันที ยืนยันการจัดตั้งรัฐบาล “เทคโนแครต” หรือรัฐบาลนักวิชาการ เพื่อหวังคลี่คลายสถานการณ์ แต่ข้อเสนอของเขากลับได้รับการคัดค้านจากสภาแห่งชาติ โดยนายซาห์บิ เอทิก ประธานสภาแห่งชาติ ให้เหตุผลว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นของเจบาลีเพียงคนเดียว และยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกพรรคเอนนาห์ดา
 
คำกล่าวของเอทิกทำให้สถานการณ์การชุมนุมบานปลายยิ่งขึ้นอีก มีรายงานว่าตำรวจปราบจลาจลต้องยิงทั้งแก๊ซน้ำตาและกระสุนยางเข้าสลายกลุ่มผู้ประท้วงนับหมื่นคน ที่หลั่งไหลมารวมตัวกันบริเวณจัตุรัสฮาบิบ บูเกียบา กลางกรุงตูนิส เป็นเหตุให้ตำรวจปราบจลาจลเสียชีวิตแล้ว 1 นาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
 
จัตุรัสดังกล่าวเป็นสถานที่เริ่มต้นการชุมนุมเพื่อโค่นล้มอำนาจเผด็จการของประธานาธิบดีซิเน เอล อาบีดีน เบน อาลี เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตูนิเซียครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” หรือการประท้วงโค่นล้มผู้นำในหลายประเทศแถบแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง
 
บาร์เคลย์สจะลดพนักงาน 3,700 อัตรา ตามแผนปรับโครงสร้าง
 
12 ก.พ. 56 - สถาบันการเงินบาร์เคลย์ส เตรียมลดพนักงานอย่างน้อย 3,700 อัตรา และในหน่วยงานวาณิชธนกิจ ตามแผนปรับโครงสร้างของผู้บริหารคนใหม่ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายประจำปี 1,700 ล้านปอนด์ และยกระดับมาตรฐาน
 
โครงการดังกล่าวเป็นไปตามแผนปรับโครงสร้างของนายแอนโทนี เจนกินส์ ซีอีโอคนใหม่ ที่ต้องการเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมา หลังเผชิญปัญหาอื้อฉาวหลายเรื่อง เช่น กรณีที่พนักงานธนาคารร่วมมือกันปั่นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคาร (ไลเบอร์) คิดเป็นมูลค่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
นอกจากนี้ บาร์เคลย์สยังมีแผนจ่ายโบนัสพนักงานในหน่วยงานวาณิชธนกิจเฉลี่ย 54,100 ปอนด์ ลดลงร้อยละ 17 จากปีก่อน ซึ่งโบนัสทั้งหมดของธนาคารมีมูลค่ารวม 1,850 ล้านปอนด์ ลดลงร้อยละ 14 จากปีก่อน ผู้บริหารบาร์เคลย์สมีแผนมุ่งเน้นการลงทุนในอังกฤษ สหรัฐ และแอฟริกา รวมทั้งลดขนาดสำนักงานทั่วยุโรปและเอเชีย
 
นายกญี่ปุ่นเรียกร้องผู้นำธุรกิจปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานเพื่อยุติเงินฝืด
 
นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่นเรียกร้องให้ผู้นำธุรกิจของประเทศปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานของบริษัท นับเป็นความเคลื่อนไหวซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยที่สะท้อนให้เห็นถึงการตัดสินใจของรัฐบาลเพื่อเร่งดำเนินการต่อสู้กับภาวะเงินฝืดที่มีมาอย่างยาวนาน
 
คำเรียกร้องของนายอาเบะมีขึ้นในระหว่างการประชุมร่วมกับล็อบบี้ยิสต์ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่ทรงอิทธิพลที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ซึ่งรวมไปถึงนายฮิโรมาสะ โยเนคูระ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น ที่ได้ระบุเมื่อเร็วๆนี้ว่าจะไม่หรือเลื่อนการปรับขึ้นเงินเดือนออกไปในการประชุมประจำปีร่วมกับสหภาพแรงงาน
 
นายอาเบะซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในโอนถ่ายการพลิกฟื้นกำไรของบริษัทไปยังภาคครัวเรือนในรูปของการปรับขึ้นเงินเดือน ตลอดทั้งกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชนในขณะที่กดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นผ่อนคลายนโยบายการเงินในเชิงรุกมากขึ้นเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางธุรกิจ
 
ทั้งนี้ ธนาคารญี่ปุ่นเห็นดัวยกับรัฐบาลในเรื่องการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ในเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่านโยบายการเงินต้องใช้ระยะเวลาจึงจะเห็นผลการถ่ายรายได้ไปยังพนักงาน และการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อโดยที่เงินเดือนไม่ได้ปรับขึ้นตามจะมีผลกระทบในเชิงลบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
 
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ผู้นำธุรกิจที่เข้าพบนายเอเบะยังมาจากสมาคมผู้บริหารธุรกิจของญี่ปุ่นและหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ในขณะที่นายอากิระ อามาริ รัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็เข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน
 
ING เตรียมปลดพนักงาน 2,400 คน หลังกำไรไตรมาส 4 พลาดเป้า
 
13 ก.พ. 56 - ไอเอ็นจี กรุ๊ป ผู้ให้บริการทางการเงินรายใหญ่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์ เตรียมปลดพนักงาน 1,400 คนในเนเธอร์แลนด์ และ 1,000 คนในเบลเยียม รวมเป็น 2,400 คน หลังกำไรไตรมาส 4 ปีที่แล้วพลาดเป้า ขณะที่สัดส่วนเงินกองทุนหลักก็ลดลง
 
ไอเอ็นจีรายงานว่า กำไรสุทธิในไตรมาส 4/2555 อยู่ที่ 1.43 พันล้านยูโร (1.92 พันล้านดอลลาร์) เทียบกับ 1.19 พันล้านยูโรในปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์
 
ขณะเดียวกันสัดส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ซึ่งชี้วัดความแข็งแกร่งทางการเงิน ก็ลดลงเหลือ 11.9% ณ สิ้นเดือนธ.ค. จาก 12.1% ในไตรมาส 3
 
นายแจน ฮอมเมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไอเอ็นจี กล่าวว่า "ปีนี้สภาพเศรษฐกิจยังคงมีความท้าทาย เราต้องพร้อมรับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อให้เกิดผลการดำเนินงานที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นทุกรายในระยะยาว"
 
ทั้งนี้ การประกาศปลดพนักงานครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่ไอเอ็นจีประกาศปลดพนักงานในธุรกิจธนาคารและประกันลง 2,350 คน เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว โดยไอเอ็นจีตั้งเป้าว่าจะต้องลดต้นทุนให้ได้ 1 พันล้านยูโรต่อปีภายในปี 2558
 
“ทอมสัน รอยเตอร์ส” จ่อปลดพนักงานทั่วโลก 2,500 ตำแหน่ง
 
14 ก.พ. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า บริษัท “ทอมสัน รอยเตอร์ส” ผู้ให้บริการทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลก และให้บริการรายงานข่าวสารให้แก่สำนักข่าวชั้นนำทั่วโลก เผยแผนเตรียมปลดพนักงานทั่วโลก 2,500 ตำแหน่งภายในสิ้นปีนี้ ที่เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการควบคุมค่าใช้จ่าย
 
นายเจมส์ สมิธ ประธานบริษัททอมสัน รอยเตอร์ส แถลงเมื่อวันพุธว่า เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในองค์กร และเพื่อลดความเสี่ยงในนโยบายการเงินของบริษัท อันจะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดผลกำไรได้ในปีนี้ บริษัทจึงจำเป็นต้องปลดพนักงานออก 2,500 ตำแหน่งทั่วโลก ภายในสิ้นปี 2556 แบ่งเป็น 11% จากพนักงานในส่วนการให้บริการทางการเงิน ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 22,500 คนทั่วโลก และอีก 4% จากพนักงานในส่วนสายงานสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคม ที่มีอยู่กว่า 60,000 คนทั่วโลก
 
แม้ผลประกอบการปีที่แล้วของบริษัท เฉพาะในไตรมาสที่ 4 จะได้กำไรกว่า 3.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ถือว่าลดลงอย่างมากหากเทียบกับผลกำไรในช่วงเวลาเดียวของปี 2554 ซึ่งอยู่ที่กว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสมิธคาดว่าสาเหตุมาจากธุรกิจให้คำปรึกษาทางการเงินที่ซบเซาอย่างมากจนน่าใจหาย
 
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของผลกำไรตลอดทั้งปี 2555 อยู่ที่กว่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเมื่อปีก่อนหน้านี้ ซึ่งอยู่ที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
ทอมสัน รอยเตอร์ส ก่อตั้งเมื่อปี 2551 จากการรวมตัวระหว่างสำนักข่าว รอยเตอร์ส สำนักข่าวเก่าแก่ของโลกอายุกว่า 162 ปี ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ของอังกฤษ กับบริษัท ทอมสัน คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการให้คำปรึกษาทางการเงินของแคนาดา ปัจจุบัน ทอมสัน รอยเตอร์ส มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครนิวยอร์ก ของสหรัฐ
 
2 สนามบินหลักเยอรมนีป่วน รปภ.สไตรก์
 
14 ก.พ. 56 - สำนักข่าวรอยเตอร์และเอพี รายงานจากเมืองดุสเซลดอล์ฟ ประเทศเยอรมนี ว่า การผละงานประท้วงขอขึ้นค่าแรงของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ประจำสนามบินดุสเซลดอล์ฟ และสนามบินฮัมบวร์ก ซึ่งเป็น 2 สนามบินหลักที่มีผู้โดยสารใช้บริการเดินทาง ผ่านเข้าออกมากที่สุดของเยอรมนี ในวันนี้ ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารหลายหมื่นคน โดยที่สนารมบินเมืองดุสเซลดอล์ฟ ทางภาคตะวันตกของประเทศ พนักงาน รปภ. ของสนามบินราว 400 คน ซึ่งสังกัดสหภาพแรงงานแวร์ดี พร้อมใจกันผละงานประท้วง ทำให้เที่ยวบินโดยสาร 183 เที่ยว ถูกเลือนการเดินทางไปจนกระทั่งถึงวันศุกร์ ส่วนสนามบินฮัมบวร์ก ทางภาคเหนือ เที่ยวบินถูกยกเลิก 103 เที่ยวในวันนี้ ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารประมาณ 17,000 คน
 
การผละงานประท้วงครั้งนี้ สหภาพแรงงานแวร์ดีบอกให้พนักงานในสังกัด หยุดงานตั้งแต่กะเช้าวันพฤหัสบดี จนถึงเวลาเที่ยงคืน ความคลื่อนไหวเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาต่อรองขอขึ้นค่าแรงจากนายจ้าง อีก 2.50 – 3.64 ยูโรต่อชั่วโมง สำหรับพนักงาน รปภ. ในสังกัด ซึ่งทำงานอยู่ในเขตรัฐนอร์ธ ไรน์-เวสต์ฟาเลีย ที่สนามบินดุสเซลดอล์ฟตั้งอยู่ ส่วน รปภ.ในสังกัดราว 600 คน ที่สนามบินฮัมบวร์ก ขอขึ้นค่าแรงอีก 2.70 ยูโรต่อชั่วโมง.
 
ชาวสิงคโปร์ประท้วงแผนรับแรงงานต่างชาติเพิ่ม
 
17 ก.พ. 56 - ชาวสิงคโปร์หลายพันคนชุมนุมประท้วงแผนการของรัฐบาลที่จะรับแรงงานต่างชาติมากขึ้น เพื่อชดเชยกับอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง  
 
การประท้วงรัฐบาลสิงคโปร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ซึ่งในครั้งนี้กลุ่มผู้ประท้วงไม่พอใจที่รัฐบาลมีแผนจะเพิ่มประชากรให้ได้ถึง 6.9 ล้านคน ภายในปี 2573 ขณะที่เวลานี้อัตราการเกิดลดลงอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลระบุว่า การรับแรงงานอพยพเป็นสิ่งจำเป็น
 
ปัจจุบันสิงคโปร์มีผู้อพยพอยู่เกือบร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมด 5.3 ล้านคน ซึ่งทางผู้ประท้วงเห็นว่า การหลั่งไหลของผู้อพยพทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์และค่าเล่าเรียนเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่คุณภาพของบริการตามโรงพยาบาลและระบบขนส่งสาธารณะลดลง ผู้ประท้วงบางคนยังไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลมีแผนจะรับผู้อพยพเพิ่มอีก 1 ล้านคน ขณะที่บางคนไม่พอใจที่รัฐบาลไม่รับฟังความเห็นของพวกเขา
 
นักข่าวบีบีซีประท้วงหยุดงาน 24 ชม. ค้านนโยบาย "บังคับลาออก"
 
18 ก.พ. 56 - ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ เริ่มประท้วงผละงาน 24 ชั่วโมงในวันนี้(18 ก.พ.) เพื่อประท้วงการบังคับให้ลาออก คาดว่าจะทำให้การออกอากาศกระจายเสียงทางวิทยุและโทรทัศน์เกิดปัญหา
 
สมาชิกสหภาพผู้สื่อข่าวแห่งชาติ (เอ็นยูเจ) เริ่มผละงานตั้งแต่เวลา 00.00 น. วันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่น (07.00 น.วันจันทร์ตามเวลาในไทย) เพื่อประท้วงหลังไม่สามารถหาข้อตกลงได้ร่วมกันกับฝ่ายบริหารเรื่องการบังคับให้พนักงานลาออก 30 คน
 
โดยบีบีซี เริ่มลดพนักงานราว 2,000 คน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "Delivering Quality First" ที่บีบีซีเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อรายการข่าวปกติ
 
โดยการบังคับให้ลาออกครั้งนี้ เกิดขึ้นกับพนักงานในส่วนของบีบีซีสกอตแลนด์ 9 ราย  สถานีวิทยุไฟฟ์ไลฟ์ ภาคบริการเครือข่ายเอเชีย และเวิลด์ เซอร์วิส
 
เลขาธิการสหภาพกล่าวว่า สมาชิกเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องงานและการทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างมีคุณภาพ พวกเขาไม่พอใจที่ผู้บริหารบีบีซีตัดสินใจย่ำแย่เช่นนี้ แทนที่บีบีซีจะพัฒนาแผนการจ้างงานอย่างเหมาะสมในทุกภาคส่วน แต่ฝ่ายบริหารกลับบริหารงานที่ทำให้ภาษีของประชาชนสูญปล่าโดยใช่เหตุ ที่ทำให้เสียนักข่าวที่มีประสบการณ์และความสามารถ พวกเขาขอเงินชดเชยการออกจากงานเป็นจำนวน 6 เดือน และว่าตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมามีพนักงานถูกบังคับให้ลาออกแล้ว 7,000 ตำแหน่ง
 
ด้านบีบีซีเปิดเผยว่า ทางผู้บริหารเข้าใจถึงความยากลำบากของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่รู้สึกผิดหวังที่สหภาพเลือกวิธีการเช่นนี้ และพร้อมที่จะนำรายการข่าวตามปกติกลับมาอีกครั้ง
 
สเปนจะจอดเที่ยวบินกว่าพันเที่ยวในสัปดาห์นี้เพราะพนักงานผละงาน
 
18 ก.พ. 56 - พนักงานสายการบินไอบีเรียของสเปนเริ่มผละงาน 5 วัน ตั้งแต่วันนี้ คาดว่าจะทำให้เที่ยวบินในสเปนต้องจอดเที่ยวบินกว่า 1,000 เที่ยวในสัปดาห์นี้
 
พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พนักงานยกกระเป๋า และนักบินของสายการบินไอบีเรียจะผละงานทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งละ 5 วัน ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมเพื่อประท้วงฝ่ายบริหารที่จะลดพนักงาน 3,807 ตำแหน่ง และลดเงินเดือน สายการบินได้ยกเลิกเที่ยวบินวันจันทร์ถึงวันศุกร์นี้ทั้งหมด 415 เที่ยว แต่คาดว่าจะทำให้สายการบินอื่น ๆ ต้องยกเลิกเที่ยวบินด้วยรวมทั้งหมด 1,200 เที่ยว เนื่องจากบริการตามท่าอากาศยานในสเปนจะมีปัญหา สายการบินไอบีเรียแจ้งว่า จะมีผู้โดยสาร 70,000 คนได้รับผลกระทบจากการผละงานครั้งแรกวันที่ 18-22 กุมภาพันธ์นี้ สายการบินได้จัดให้ผู้โดยสารขึ้นเที่ยวบินอื่นหรือสายการบินอื่นแล้ว และจะคืนเงินหรือเลื่อนกำหนดวันเดินทางให้แก่ผู้โดยสารรายอื่น
 
สายการบินไอบีเรียซึ่งควบรวมกิจการกับสายการบินบริติชแอร์เวย์ของอังกฤษเป็นอินเตอร์เนชั่นนัล แอร์ไลน์ กรุ๊ป เมื่อปี 2554 แจ้งผลประกอบการขาดทุน 262 ล้านยูโร (ราว 10,480 ล้านบาท) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีก่อน การผละงานของพนักงานในช่วงนี้ตรงกับช่วงปิดภาคเรียนในอังกฤษ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดของสเปน รัฐมนตรีคมนาคมสเปนขอร้องให้เลี่ยงการผละงานเพราะจะทำให้เศรษฐกิจประเทศเสียหายวันละกว่า 10 ล้านยูโร (กว่า 400 ล้านบาท) การท่องเที่ยวครองสัดส่วนถึงร้อยละ 11 ของเศรษฐกิจสเปน ขณะที่อัตราว่างงานในประเทศสูงถึงร้อยละ 26
 
คนงานสร้างสนามบอลโลกที่บราซิลขู่สไตรค์
 
19 ก.พ. 56 - บราซิล เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2014 เจอเรื่องวุ่นวายอีกแล้ว หลังมีรายงานว่าคนงานที่ทำการก่อสร้างสนามมาราคาน่า ที่กรุง ริโอ เดอ จาเนโร เมืองหลวงแดนแซมบ้า หนึ่งในสนามที่เตรียมจะใช้เป็นสังเวียน เวิลด์ คัพ ขู่จะหยุดงานเมื่อวันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หากไม่ได้รับสวัสดิการตามที่เรียกร้อง
 
ก่อนหน้านี้ฝ่ายจัดการเเข่งขันของชาติเจ้าภาพก็ประสบปัญหาการทำงานเเข่งกับเวลา เพราะงานสร้างสนามอาจเสร็จไม่ทันกำหนด ทำให้การที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานขู่จะหยุดงานจะทำให้การสร้างสนามอาจยิ่งล่าช้ากว่ากำหนด โดยตัวแทนกลุ่มคนงานระบุถึงข้อเรียกร้องครั้งนี้ว่า ต้องการขึ้นค่าแรง ขอคูปองอาหาร และประกันชีวิตสำหรับครอบครัวด้วย
 
ด้าน วากเนอร์ อันตูเนส ซีเกวร่า ผู้ว่าการเมือง ริโอ เดอ จาเนโร ยืนยันว่าจะมีการเจรจากับผู้ใช้แรงงานในวันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ และหากการเจรจาไม่บรรลุผล ก็จะเปิดประชุมเพื่อลงคะแนนเสียงเรื่องข้อตกลงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม บราซิล ยังมีปัญหาต้องทำงานแข่งกับเวลาก่อนถึงเส้นตายที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ "ฟีฟ่า" ที่เพิ่งขยายออกไปถึงวันที่ 15 เมษายน เป็นกรณีพิเศษ
 
สำหรับสนาม มาราคาน่า เป็นสนามที่ใช้จัดรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกปี 1950 และได้มีการนำมาปรับปรุงอีกครั้งด้วยงบประมาณ 295 ล้านปอนด์ (ประมาณ 14,750 ล้านบาท) เพื่อใช้ในศึกฟุตบอลโลก และ ศึก ฟีฟ่า คอนเฟเดอเรชั่น คัพ ในช่วงเดือนมิถุนายน โดยมีกำหนดเเล้วเสร็จเดิมอยู่ที่ 31 ธันวาคมทีผ่านมา ขณะที่จะเตรียมใช้งานนัดแรกในเกมกระชับมิตรระหว่าง บราซิล และ อังกฤษ ในวันที่ 2 มิถุนายนนี้
 
 
สเปน-สายการบินไอบีเรีย ประท้วงหยุดงานครั้งใหญ่
 
19 ก.พ. 56 - สายการบินไอบีเรียประท้วงหยุดงานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสายการบิน สร้างความโกลาหลให้กับผู้โดยสารและสนามบิน
 
ทั้งพนักงานต้อนรับภาคพื้นดิน และพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ของสายการบินไอบีเรีย ของสเปน ประกาศประท้วงหยุดงานเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่เมื่อวานนี้ แต่นักบินยังไม่ร่วมสไตร์คในอาทิตย์นี้ แต่จะเข้าร่วมประท้วงหยุดงานในครั้งหน้า ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 4-18 มีนาคม สาเหตุที่ทำให้พนักงานของสายการบินไอบีเรียออกมาประท้วงเนื่องจากผู้บริหารมีแผนที่จะปลดพนักงาน 3,800 คน คิดเป็น 19 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพนักงานทั้งหมด เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้สหภาพแรงงานที่ไม่ต้องการให้ปลดพนักงานและลดเงินเดือน ทำให้สายการบินไอบีเรีย ต้องยกเลิกเที่ยวบินกว่า 415 เที่ยวในสัปดาห์นี้ คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของเที่ยวบินทั้งหมดที่ให้บริการ
 
นอกจากนี้ยังเกิดเหตุชุลมุนขึ้นที่สนามบินบาราจาสในกรุงมาดริด เมื่อวานนี้ จนตำรวจต้องจับกุมตัวพนักงานที่ออกมาประท้วงไว้ 5 คน
 
นักข่าวบีบีซีผละงานประท้วง ครบ 24 ชม. กระทบการออกอากาศของสถานี
 
19 ก.พ. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 19 ก.พ. ว่า ผู้สื่อข่าวบีบีซี และสหภาพผู้สื่อข่าวแห่งชาติอังกฤษ (เอ็นยูเจ) รวมตัวกันผละงานประท้วง ครบ 24 ชั่วโมง เพื่อแสดงความไม่พอใจและเรียกร้องให้มีการทบทวนอีกครั้ง กรณีบรรษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งบริเตน (บีบีซี) ปลดผู้สื่อข่าว 30 คน ออกจากตำแหน่งอย่างไม่เป็นธรรม 
 
ทั้งนี้ การหยุดงานประท้วงดังกล่าว ส่งผลให้รายการวิทยุ ซึ่งออกอากาศทางบีบีซี เรดิโอ 4 ต้องยกเลิกจากผังรายการ และทดแทนด้วยข่าวสั้นและการออกอากาศซ้ำรายการเดิม ขณะที่โฆษกของบีบีซีระบุผิดหวังกับการหยุดงานประท้วง แต่ยืนยันว่าจะเจรจาหาข้อตกลงที่เหมาะสม ร่วมกับสหภาพผู้สื่อข่าวต่อไป
 
อนึ่ง ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา บีบีซีเลิกจ้างพนักงานมากถึง 2,000 ตำแหน่ง ซึ่งการประท้วงครั้งนี้ ผู้เรียกร้องยื่นข้อเสนอให้บีบีซี ขยายเวลาว่าจ้างผู้สื่อข่าวที่ถูกสั่งปลดต่อไปอีก 6 เดือน เพื่อให้มีการเตรียมพร้อมรับภาวะว่างงาน.
 
แรงงานอินเดียสไตรก์ทั่วประเทศ 2 วัน ต้านรัฐเปิดเสรี
 
20 ก.พ. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ว่า เกิดเหตุรุนแรงประปรายในหลายเมืองของอินเดียในวันนี้ หลังจากคนงานโรงงานผลิต รวมทั้งพนักงานลูกจ้างธนาคาร และคนขับแท็กซี่สามล้อหลายล้านคน พร้อมใจกันหยุดงานประท้วงทั่วประเทศเป็นเวลา 2 วันตั้งแต่วันนี้ ตามเสียงเรียกร้องของสหภาพแรงงานต้นสังกัด โดยมีรายงานการก่อความรุนแรงในหลายเมือง รวมถึงเมืองอัมบาลา ทางภาคเหนือ ซึ่งแกนนำแรงงานถูกรถบัสโดยสารแล่นทับเสียชีวิต ขณะพยายามนอนขวางทาง เพื่อไม่ให้รถวิ่งออกจากอู่ไปให้บริการผู้โดยสาร และที่นิคมอุตสาหกรรมนอยดา ชานเมืองหลวงกรุงนิวเดลี กลุ่มผู้ประท้วงใช้ท่อนเหล็กทุบทำลายหน้าต่างโรงงาน รวมทั้งจุดไฟเผารถบรรทุกและรถยนต์หลายคัน
 
ที่กรุงนิวเดลี บริการรถเมล์โดยสารประจำทาง และรถไฟใต้ดิน มีคนใช้บริการแน่นขนัด เนื่องจากกลุ่มคนขับรถแท็กซี่และรถสามล้อเกือบทั้งหมด เข้าร่วมการประท้วงตามท้องถนน
 
การผละงานประท้วงตามเสียงเรียกร้องของสหภาพแรงงาน มีขึ้นเพื่อคัดค้านแผนการของรัฐบาล ในการเปิดเสรีภาคการค้าปลีก ธนาคาร และการบิน แก่นักลงทุนต่างชาติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังสะดุด นอกจากนั้น แกนนำการประท้วงยังได้ยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อต่อรัฐบาล ซึ่งรวมถึง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแก่แรงงานทุกประเภท เป็นเดือนละ 10,000 รูปี (ประมาณ 5,550 บาท) ควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และจัดให้มีสวัสดิการสังคมแก่แรงงานทุกคน
 
กรีซผละงานประท้วง 24 ชม.
 
20 ก.พ. 56 - วิกฤติหนี้สินของกรีซยังคงพ่นพิษไม่เลิก กลุ่มสหภาพแรงงานเตรียมผละงานประท้วงครั้งใหญ่ 24 ชั่วโมงเพื่อต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดที่คาดว่าจะทำให้ตัวเลขคนตกงานในกรีซพุ่งขึ้นไปแตะระดับถึง 30%ในปีนี้
 
คนงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะก่อหวอดประท้วงครั้งใหญ่ที่คาดว่าจะทำให้การคมนาคมในประเทศต้องกลายเป็นอัมพาตอีกครั้ง โดยเฉพาะเที่ยวบิน, เรือเฟอร์รี่และบริการสาธารณะต่างๆ ขณะที่ก่อนหน้านั้นกลุ่มคนตกงานบางส่วนได้เริ่มจัดการชุมนุมประท้วงล่วงหน้าไปบ้างแล้ว ผู้ประท้วงหลายคนโอดครวญว่าพวกเขาไม่มีแม้แต่เงินที่จะซื้อรองเท้าให้ลูกหรือสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างคุณแม่ลูก 2 รายนี้ที่ต้องตกงานหลังบริษัทล้มละลายเมื่อปีที่แล้ว และเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันอีก 150 คนที่ยังคงไม่ได้เงินเดือนค้างจ่ายอีก 5 เดือน ขณะที่คนมีงานทำคนอื่นๆ เริ่มประสบปัญหาได้รับค่าจ้างไม่สม่ำเสมอ กรุงเอเธนส์นครหลวงของกรีซตำรวจต้องวางกำลัง 3,000 นายเพื่อป้องกันเหตุร้ายระหว่างการชุมนุม ที่คาดว่าจะทำให้กรีซต้องกลายเป็นอัมพาตไปในทุกภาคส่วนอีกครั้ง
 
คนขับแท็กซี่ในเกาหลีใต้ผละงานประท้วงทั่วประเทศ
 
20 ก.พ. 56 - คนขับแท็กซี่ในเกาหลีใต้ผละงานประท้วงทั่วประเทศเพื่อแสดงความไม่พอใจที่ประธานาธิบดีปฏิเสธการแก้กฎหมายให้แท็กซี่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล
 
ผู้ประท้วงต่างพากันแสดงความไม่พอใจที่ประธานา ธิบดี ลี มยอง บัก ปฏิเสธร่างกฎหมายฉบับแก้ไข ซึ่งจัดหมวดหมู่ให้คนขับแท็กซี่เป็นคนงานขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไปแล้ว แต่นายลีไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลไม่มีงบประมาณในเรื่องนี้และดำเนินการได้ยาก การประท้วงครั้งนี้มีขึ้นทั่วประเทศซึ่งทางการระบุว่ามีผู้เข้าร่วมเกือบ 32,000 คน คิดเป็นร้อยละ 20.7 ของจำนวนแท็กซี่ทั้งหมด โดยในกรุงโซลมีแท็กซี่เข้าร่วมร้อยละ 13.8 ทำให้รัฐบาลต้องจัดหารถบัสมาเสริมและเพิ่มจำนวนเที่ยวรถไฟใต้ดินเพื่อให้เพียงพอสำหรับการเดินทางไปทำงานของประชาชนในวันนี้
 
คนงานภาครัฐของมาลาวีขู่ปิดสนามบินในเมืองหลวง
 
20 ก.พ. 56 - คนงานภาครัฐของมาลาวี ประเทศทางตะวันออกเฉียงใต้ของแอฟริกาขู่จะปิดท่าอากาศยานระหว่างประเทศกรุงลิลองเวในวันนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งของการผละงานนาน 1 สัปดาห์เรียกร้องขอขึ้นค่าจ้าง
 
การปิดท่ากาศยานดังกล่าวจะกระทบต่อเที่ยวบินของสายการบินเคนยาแอร์เวย์ เซาต์แอฟริกันแอร์เวย์ และเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ คนงานภาครัฐกว่า 100,000 คน ผละงานตั้งแต่สัปดาห์ก่อน เรียกร้องขอขึ้นค่าจ้างร้อยละ 65 คิดเป็น 2 เท่าของอัตราเงินเฟ้อ เพื่อรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพราะเงินกวาจาของมาลาวีอ่อนค่าลง การผละงานทำให้โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอน โรงพยาบาลไม่มีแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วย
 
ด้านรัฐมนตรีคลังเผยว่า ไม่มีงบประมาณพอจะขึ้นค่าจ้างให้ได้และกำลังเจรจากับผู้ผละงาน ปัจจุบันรัฐบาลต้องจ่ายค่าจ้างคนงานภาครัฐ 97,000 ล้านกวาจา (เกือบ 8,310 ล้านบาท) หากยอมให้ตามที่เรียกร้อง ก็จะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ซึ่งเท่ากับงบประมาณทั้งหมดของประเทศ
 
'ฟ็อกซ์คอนน์' ระงับจ้างคนงานใหม่ เดา 'iPhone5' ขายไม่ดี
 
21 ก.พ. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 21 ก.พ. กลุ่มบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี ผู้ผลิตและประกอบอุปกรณ์ไอทีให้กับบริษัทแอปเปิล ระงับการจ้างงานพนักงานรายใหม่ ที่โรงงานใหญ่ในเมืองเซินเจิ้น โดยแถลงการณ์ภายในระบุว่า "ขณะนี้ยังไม่มีแผนจ้างงานที่โรงงานในจีนแผ่นดินใหญ่" และให้สัมภาษณ์กับไฟแนนซ์เชียลไทม์ส ว่า "อย่างน้อยอาจยังไม่รับแรงงานรายใหม่จนถึงสิ้นเดือน มี.ค.นี้" อย่างไรก็ดียังไม่แน่ชัดว่าเป็นเพราะยอดการสั่งสินค้า iPhone5 ลดลงหรือไม่ หรือปรับลดการผลิตเนื่องจากความต้องการสินค้าลดน้อยลง
 
ฟ็อกซ์คอนน์ เป็นเครือข่ายโรงงานรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ที่ผลิตสินค้าไอทีให้กับบริษัทต่างๆ อาทิ ฮิวเล็ตต์ แพ็คการ์ด เดลล์ โซนี่ และแอปเปิล เป็นต้น ด้านหลุยส์ หวู โฆษกฟ็อกซ์คอนน์ เผยว่าเมื่อวันหยุดยาวเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา พนักงานต่างเดินทางกลับถิ่นฐาน และกลับมาทำงานราว 97% แต่ไม่มีแผนการรับคนงานเพิ่มแม้บางส่วนจะออกไปแบบไม่บอกกล่าวก็ตาม
 
ทั้งนี้ ไตรมาสสุดท้ายปลายปี 2012 แอปเปิล จำหน่ายสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ได้เพียง 47.8 ล้านเครื่อง น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ 50 ล้านเครื่อง ซึ่ง iPhone ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญยิ่งกับแอปเปิล และเมื่อวันพุธที่ผ่านมา 20 ก.พ. หุ้นร่วงลง 2% อยู่ที่ 451 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตกฮวบมากถึง 34% จากเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งทำสถิติทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ
 
ชาวสเปนประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล
 
25 ก.พ. 56 - ชาวสเปนจำนวนมากพากันเดินขบวนมายังอาคารรัฐสภาของประเทศเมื่อวาน เพื่อประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดที่รัฐบาลผลักดันออกมา การเดินขบวนครั้งนี้เกิดขึ้นในวันครบรอบ 32 ปีเหตุการณ์ที่กองทัพพยายามล้มล้างรัฐบาล แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
 
งานนี้ กลุ่มผู้ประท้วงที่มีอยู่หลากหลายกลุ่ม พยายามทำให้การชุมนุมรวมพลังกันเป็นหนึ่งเดียว โดยการชูคำขวัญเดียวกันเรื่องการต่อต้านการยึดอำนาจของทหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธุ์ 2524
 
ทางผู้จัดการชุมนุมบอกว่า ปัจจุบันสเปนตกอยู่ภายใต้การยึดอำนาจทางการเงิน และเรียกร้องให้ประชาชนออกมาประท้วงมาตรการรัดเข็มขัด พวกเขามองว่ารัฐบาลชอบเอาใจพวกสถาบันการเงิน โดยปล่อยให้ประชาชนธรรมดาๆ ต้องลำบากแทน
 
กลุ่มผู้ชุมนุมออกมาตำหนิเรื่องความกดดันต่อตลาดการเงิน การคอร์รัปชั่นในรัฐบาลและในระบบการธนาคาร รวมทั้งเรียกร้องให้บรรดานักการเมืองในสภาทางออกในแนวอื่น ที่ทำให้ระบบสวัสดิการสังคมไม่ได้รับผลกระทบ
 
ปัจจุบัน เศรษฐกิจสเปนกำลังเผชิญกับภาวะการถดถอยครั้งใหญ่ ทำให้รัฐบาลต้องรัดเข็มขัด ตัดลดการใช้จ่าย และขึ้นภาษี สำหรับอัตราการว่างงานก็อยู่ที่กว่าร้อยละ 25 และคาดว่าจะขยับไปถึงร้อยละ 27
 
“เจพีมอร์แกน เชส” เตรียมปลดพนักงาน 19,000 ตำแหน่ง
 
27 ก.พ. 56 - สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ว่า “เจพีมอร์แกน เชส” วาณิชธนกิจรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ หากวัดจากจำนวนสินทรัพย์ เผยแผนเตรียมปลดพนักงาน 19,000 ตำแหน่ง ภายในสิ้นปี 2557 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายควบคุมงบประมาณ
 
น.ส.คริสติน เลมเกา โฆษกของเจพีมอร์แกนเชส กล่าวว่า ในจำนวนตำแหน่งงานทั้งหมดที่จะมีการปรับลดนั้น จะมาจากฝ่ายสินเชื่อมากที่สุด 15,000 ตำแหน่ง ส่วนอีก 4,000 ตำแหน่งจะมาจากฝ่ายบริหารธุรกิจเพื่อผู้บริโภค
 
อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีแผนเพิ่มตำแหน่งงานอีก 2,000 ตำแหน่งในส่วนของฝ่ายบริหารสินทรัพย์ และฝ่ายดูแลสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ เท่ากับว่า ตำแหน่งงานในอนาคตของธนาคารจะเหลืออยู่ที่ราว 17,000 ตำแหน่ง
 
ทั้งนี้ เจพีมอร์แกนเชสประเมินแล้วว่า นโยบายปรับโครงสร้างภายในองค์กรดังกล่าว เมื่อร่วมกับการใช้นโยบาย “การสร้างพลังรวมทางต้นทุน” จะช่วยปรับลดค่าใช้จ่ายของธนาคารในปี 2557 ได้กว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปี 2555
 
หลังต้องสูญเสียเม็ดเงินจำนวนมหาศาลถึง 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากความผิดพลาดในการประกอบธุรกิจ ที่ส่งผลให้ผู้บริหารระดับสูงหลายคนต้องยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว ผลประกอบการของเจพีมอร์แกน เชสประจำปี 2555 อยู่ที่กว่า 21.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้
 
Yahoo จะเลิกนโยบายที่ให้พนักงานทำงานจากบ้าน
 
27 ก.พ. 56 - Yahoo จะเลิกนโยบายที่ให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ เพราะเห็นว่าทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง นโยบายใหม่นี้เป็นมาตรการของ CEO คนใหม่ Marissa Mayer ซึ่งรับตำแหน่งปีที่แล้วและลาคลอดไปช่วงสั้นๆ ส่งท้าย Samsung จะเปิดตัวโทรศัพท์ Galaxy S Smartphone วันที่ 14 มีนาคมที่นครนิวยอร์ค
 
"เบสท์บาย" ประกาศปลดพนักงาน 400 อัตรา
 
27 ก.พ. 56 - เบสท์ บาย บริษัทจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของสหรัฐฯ เดินหน้าแผนลดค่าใช้จ่าย โดยการประกาศปลดพนักงานออกอีก 400 อัตรา
 
พนักงานที่ถูกปลดออกจำนวน 400 คนนี้ เป็นพนักงานที่ทำงานอยู่ในสำนักงานใหญ่ของเบสท์ บาย ในรัฐมินเนโซต้า ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 8,000 คน และการลดจำนวนพนักงานลงครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนประหยัดค่าใช้จ่ายของเบสท์ บาย ภายใต้การนำของนาย Hubert Joly ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของเบสท์ บาย ซึ่งได้ประกาศกับบรรดานักลงทุนเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วว่า จะประหยัดค่าใช้จ่ายลงให้ได้ประมาณ 725 ล้านดอลลาร์
 
เผยโรงงานแอปเปิ้ลในจีนใช้แรงงานเยี่ยงทาส
 
28 ก.ค. 56 - SACOM (Student & Scholars Against Corporate Misbehavior) กลุ่มเฝ้าระวังจากฮ่องกงกล่าวหาว่าโรงงานในจีนที่ผลิตอุปกรณ์ให้กับแอปเปิ้ล 3 แห่งปฏิบัติตัวกับแรงงานราวกับพวกเขาไม่ใช่มนุษย์
 
โรงงานทั้งสามแห่งนี้คือ Foxlink, Pegatron และ Wintek ที่ไม่มีสาธารณูปโภคที่มนุษย์ต้องการและยังใช้แรงงานนักศึกษาด้วย แม้ว่าแอปเปิ้ลจะเพิ่มมาตรการตรวจสอบโรงงานในจีนและลงโทษโรงงานที่ผิดหลักเกณฑ์
 
จากรายงานของ SACOM ประเมินว่าสภาพบางอย่างในโรงงานย่ำแย่ส่วนหนึ่งมาจากปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ลที่มีสูงมาก จึงเป็นผลทำให้คนงานต้องทำงานข้ามวันข้ามคืน บางคนทำงานถึง 14 ชั่วโมงต่อวันแต่มีวันหยุดแค่ 1- 2 วันในรอบสามเดือน นั่นหมายถึงการผิดกฎหมายแรงงานของจีนและหลักเกณฑ์ของแอปเปิ้ลด้วย
 
รายงานฉบับนี้ทาง Sacom ได้ข้อมูลมาจากการพูดคุยกับคนงานจำนวน 130 คนจากทั้ง 3 โรงงานเมื่อปลายปีที่ผ่านมา หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคนงานทำงานเยี่ยงทาส โดยเฉพาะในช่วงพีค คนงานต้องทำงานสูงสุด 14 ชั่วโมงต่อวัน มีหยุดแค่ 1-2 วันในรอบสามเดือน หลายคนถูกบังคับให้ทำงานที่ไม่มีการจ่ายค่าจ้างด้วยการลดเวลาพักทานอาหาร และต้องมาถึงโรงงานก่อนเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่วนเงินเดือนคนงานทั่วไปอยู่ที่ 1,300 – 1,400 หยวนเท่านั้น (6,500 – 7,000 บาท) ทั้งที่จริงคนงานควรได้รับค่าจ้าง 2,000 – 5,000 หยวน (10,000 – 25,000 บาท) เพราะพวกเขาทำโอทีตั้งเยอะ
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: ประชาไท, สำนักข่าวไทย, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, กรุงเทพธุรกิจ, มติชนออนไลน์, ไทยรัฐ, เดลินิวส์, โพสต์ทูเดย์ 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net