Skip to main content
sharethis

Starbucks บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นเจรจาต่อรองรวมกลุ่มกับสหภาพแรงงาน

หลังจากพนักงานร้าน Starbucks สาขาบัฟฟาโล นิวยอร์ก ลงคะแนนเห็นชอบให้มีตัวแทนสหภาพแรงงานเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ล่าสุด Starbucks และสหภาพแรงงาน Workers United/SEIU ซึ่งเป็นสมาชิกของสหพันธ์แรงงานอาหารนานาชาติ (IUF) ได้ตกลงที่จะเริ่มกระบวนการเจรจาต่อรองร่วมกัน เพื่อสร้างกรอบพื้นฐานการต่อรองร่วมในข้อตกลงสภาพการจ้าง (collective bargaining) สำหรับพนักงาน Starbucks ในสหรัฐอเมริกา กระบวนการนี้ยังครอบคลุมการยุติคดีความที่เกิดขึ้นจากข้อกล่าวหาที่ว่าสตาร์บัคส์ละเมิดกฎหมายแรงงานสหรัฐฯ

ข้อตกลงนี้ถือเป็นกรอบพื้นฐานระดับชาติฉบับแรกสำหรับเครือข่ายร้านอาหารจานด่วนขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ และเป็นผลลัพธ์จากการรณรงค์ครั้งใหญ่ของ Workers United/SEIU ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก IUF และสมาชิก

เมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. 2024 ร้าน Starbucks 21 สาขาได้ยื่นขอจัดการเลือกตั้งสหภาพแรงงาน นับเป็นจำนวนสาขาที่ยื่นขอมากที่สุดในวันเดียว โดยมีร้านค้ากว่า 400 สาขาที่ยื่นขอจัดการเลือกตั้งสหภาพแรงงานไปแล้ว

ข้อตกลงเบื้องต้น Starbucks ตกลงที่จะมอบสิทธิประโยชน์ให้กับพนักงาน 10,000 คน ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทปฏิเสธที่จะให้ เช่น การใช้บัตรเครดิตเพื่อให้ทิปส์และการขึ้นเงินเดือน

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โพสต์ข้อความผ่าน X (เดิมชื่อทวิตเตอร์) ว่า “เมื่อหลายเดือนก่อน ผมได้หารือกับผู้นำของ Starbucks Workers United เกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อสภาพการทำงานและค่าจ้างที่ดีขึ้น วันนี้ ผมขอชื่นชมพนักงานและ Starbucks สำหรับการประกาศกรอบการทำงานที่เคารพสิทธิในการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน เมื่อคนงานชนะ ทุกคนก็ชนะ”

ด้าน ซู ลองลีย์ เลขาธิการ IUF กล่าวว่า “ตั้งแต่แรกเริ่ม การต่อสู้ครั้งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับพนักงานบริการอาหารทั่วโลก ข้อตกลงระหว่างสตาร์บัคส์และ Workers United เป็นก้าวสำคัญสำหรับพนักงาน Starbucks ไม่เพียงแค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพนักงานร้านอาหารและร้านกาแฟทั่วโลก

ที่มา: IUF, 1/3/2024

คนทำงานภาคขนส่งสาธารณะในเยอรมนี หยุดงานประท้วงครั้งใหญ่

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2024 เยอรมนีเผชิญกับการหยุดชะงักของบริการขนส่งสาธารณะครั้งใหญ่ ขณะที่รถเมล์ รถไฟใต้ดิน และรถรางในหลายพื้นที่ของประเทศหยุดดำเนินการ การหยุดงานครั้งนี้เป็นจุดสุดยอดของการประท้วงเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่จัดโดยสหภาพแรงงาน Ver.di การประท้วงครั้งนี้สะท้อนถึงความร่วมมือที่กำลังก่อตัวขึ้นระหว่างกลุ่มแรงงานและกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โดยสหภาพแรงงาน Ver.di ได้ร่วมมือกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่ออนาคต (Fridays for Future) เพื่อสนับสนุน "งานที่ดีและการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ"

ความร่วมมือระหว่างพนักงานขนส่งและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเน้นย้ำถึงวิสัยทัศน์ร่วมกันสำหรับอนาคตของระบบขนส่งสาธารณะของเยอรมนี สหภาพแรงงาน Ver.di ซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงานได้เสนอข้อเรียกร้องชุดหนึ่งเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงาน ซึ่งรวมถึงการแก้ไขปัญหาตารางงานที่แน่นและความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความเครียด นอกจากนี้ สหภาพฯ ยังเรียกร้องให้มีการลงทุนมหาศาลในภาคขนส่งสาธารณะ มูลค่า 16,000 ล้านยูโรต่อปี โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการขนส่งเป็นสองเท่าภายในปี 2030 การเคลื่อนไหวนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อพนักงานเท่านั้น แต่ยังถือเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุระบบการขนส่งที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสภาพอากาศมากขึ้น

การเจรจาระหว่างสหภาพแรงงาน Ver.di และหน่วยงานขนส่งสาธารณะยังคงดำเนินต่อไป โดยมีความเป็นไปได้ที่จะมีการประท้วงเพิ่มเติมหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกัน ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานสำหรับการขึ้นค่าจ้างอย่างมากและเงินชดเชยครั้งเดียวเพื่อชดเชยผลกระทบของเงินเฟ้อเป็นประเด็นสำคัญในการหารือเหล่านี้ ผลลัพธ์ของการเจรจาเหล่านี้จะมีผลกระทบอย่างกว้างไกล ไม่เพียงแต่ต่อพนักงานและระบบขนส่งสาธารณะเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความมุ่งมั่นของเยอรมนีที่มีต่อเป้าหมายด้านสภาพอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย ความร่วมมือระหว่างพนักงานขนส่งและนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศอาจเป็นต้นแบบสำหรับความร่วมมือในอนาคตที่มุ่งหวังการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ

ที่มา: BNN, 1/3/2024

ปี 2023 ไต้หวันจ่ายเงินสงเคราะห์แก่แรงงานต่างชาติที่ญาติสายเลือดตรงเสียชีวิตกว่า 1,000 ล้านเหรียญ

ข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ณ สิ้นปี 2023 มียอดจำนวนแรงงานต่างชาติทำงานอยู่ในไต้หวัน 753,430 คน ในจำนวนนี้ทำงานอยู่ในภาคการผลิตและเข้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันภัยแรงงานกว่า 530,000 คน กองทุนประกันภัยแรงงานของไต้หวันเปิดเผยข้อมูล ปี 2566 มีแรงงานต่างชาติที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ เสียชีวิตจากสาเหตุต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 622 ราย ในจำนวนนี้ เป็นแรงงานไทยประมาณ 100 ราย และทายาทของแรงงานที่เสียชีวิตได้รับเงินทดแทนเป็นก้อนครั้งเดียวเนื่องจากเข้าเป็นสมาชิกกองทุนฯ

ที่มา: Radio Taiwan International, 1/3/2024

บุคลากรสาธารณสุขเคนยาประกาศหยุดงานประท้วง ชี้ความต้องการยังไม่ได้รับการตอบสนอง

หลังจากมีการประกาศเมื่อปลายเดือน ก.พ. 2024 บุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศเคนยาได้เริ่มการประท้วงเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2024 แสดงความไม่พอใจต่อข้อเรียกร้องที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองและการเจรจาที่ล่าช้า สหภาพเจ้าหน้าที่พยาบาลวิชาชีพ (KUCO) ยืนยันการเริ่มต้นการประท้วง โดยระบุว่ายังไม่มีความคืบหน้าในการหารือจนถึงขณะนี้ การเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากความตึงเครียดภายในภาคสาธารณสุขทวีความรุนแรง ซึ่งมีการประท้วงเมื่อเร็ว ๆ นี้และเหตุการณ์ที่น่ากังวลเกี่ยวกับการยิงหัวหน้าสหภาพแรงงาน

การประท้วงครั้งนี้เกิดขึ้นจากปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหลายประการที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความล่าช้าในการนำระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) มาใช้ การปรับสัญญากำกับแรงงานให้สอดคล้องกัน และความล่าช้าในการบรรจุพนักงานฝึกหัด นอกจากนี้ การปฏิเสธที่จะลงนามในข้อตกลงรับรองกับสหภาพแรงงานต่างๆ ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ความคับข้องใจเหล่านี้นำไปสู่เสียงเรียกร้องร่วมกันสำหรับการดำเนินการทันที เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูประบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขของเคนยา

เพื่อตอบสนองต่อการประท้วงที่ใกล้จะเกิดขึ้น กระทรวงสาธารณสุข (MoH) ได้นัดหมายประชุมกับตัวแทนจากสหภาพแรงงานสาธารณสุข เพื่อหาทางหลีกเลี่ยงการประท้วงและแก้ไขปัญหาพื้นฐาน แม้จะมีความพยายามเหล่านี้ บุคลากรสาธารณสุขก็ยังคงเดินหน้ากับการประท้วงตามแผน โดยมุ่งเป้าที่จะยื่นคำร้องต่อองค์กรระดับสูงของรัฐ รวมถึงรัฐสภาและคณะกรรมการบริการภาครัฐ (PSC) การกระทำครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการต่อสู้เพื่อการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นภายในภาคสาธารณสุข

ที่มา: BNN, 4/3/2024

เกาหลีใต้ลงดาบหมอประท้วง-ระงับใบประกอบวิชาชีพ

รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มมาตรการระงับใบประกอบวิชาชีพของแพทย์หลายพันคนที่กำลังผละประท้วงซึ่งสร้างผลกระทบรุนเเรงต่องานของโรงพยาบาลหลายแห่ง ตามรายงานของเอพี

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน พวกเขาไม่ปฏิบัติตามเส้นตายของรัฐ ที่ต้องการให้เเพทย์กลับไปทำงาน วันที่ 29 ก.พ.

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากที่เเพทย์และนักศึกษาฝึกงานแพทย์เกือบ 9,000 คนหยุดงานประท้วงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เนื่องจากไม่พอใจแผนผลักดันของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มการรับผู้สมัครเรียนสาขาเเพทยศาสตร์

ผู้ประท้วงกล่าวว่า แผนดังกล่าวของรัฐเร่งการเพิ่มจำนวนมากเกินไปและเกรงว่าจะกระทบต่อคุณภาพของเเพทย์ พร้อมทั้งอาจเกิดผลเชิงลบอื่น ๆ

รัฐบาลให้เหตุผลว่า ควรเพิ่มจำนวนการรับนักศึกษาเเพทย์เข้าเรียนอีก อย่างมาก 2,000 คนจาก 3,058 คนในปัจจุบัน เพื่อรับมือสังคมผู้สูงวัยและเเก้ปัญหาการขาดเเคลนเเพทย์ในชนบทและในบางสาขา

การประท้วงของแพทย์ได้ทำให้กำหนดการผ่าตัดและดูเเลผู้ป่วยหลายร้อยรายต้องถูกยกเลิกไป และอาจสร้างภาระหนักตามมาต่อบริการสาธารณสุขของประเทศ

เจ้าหน้าที่เดินหน้าตรวจสอบและยืนยันการประท้วงไม่เข้ามาทำงานอย่างเป็นทางการของเเพทย์ที่โรงพยาบาลหลายสิบแห่ง

นอกจากนี้ รัฐบาลกรุงโซลกำลังเริ่มระงับใบประกอบวิชาชีพของแพทย์เหล่านี้เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ตามข้อมูลจากการแถลงข่าวโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเกาหลีใต้ ปาร์ก มินโซ

รมช.ปาร์กกล่าวว่า เจ้าหน้าที่จะเเจ้งไปยังเเพทย์ที่กำลังประท้วงว่าใบอนุญาตประกอบอาชีพของพวกเขาจะถูกระงับ และจะให้โอกาสให้พวกเขาแสดงท่าทีกลับมา

เขากล่าวว่า มาตรการนี้น่าจะใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะมีผลเชิงปฏิบัติ

รมช.ปาร์กระบุว่า "เเม้ว่ามีการขอร้องหลายครั้งจากรัฐบาลและส่วนต่าง ๆ ของสังคม แต่จำนวนแพทย์ฝึกงานที่กลับมาทำงานยังอยู่ในระดับต่ำมาก เริ่มตั้งเเต่วันนี้เราจะดำเนินการทางกฎหมายด้วยการตรวจสอบ ณ​ สถานที่จริง"

ในเวลาเดียวกัน เขายังคงเรียกร้องให้เเพทย์กลับมาทำงาน

ผู้ไม่เห็นด้วยกับการประท้วงเห็นว่าแพทย์จำนวนมากต่อต้านแผนเพิ่มนักศึกษาเเพทย์ของรัฐ เพราะกลัวว่ารายได้ของตนจะลดลง หากมีหมอมากขึ้น

ทั้งนี้ จำนวนแพทย์รุ่นใหม่ที่ผละงานประท้วงเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของเกาหลีใต้ที่มีผู้ประกอบอาชีพนี้ 140,000 คน

อย่างไรก็ตาม ที่โรงพยาบาลบางแห่ง จำนวนแพทย์รุ่นใหม่คิดเป็นมากถึง 30-40% ของหมอทั้งหมด และพวกเขาเป็นผู้ช่วยที่สำคัญของหมอระดับอาวุโส

ที่มา: VOA, 5/3/2024

การสำรวจของ NHK ชี้ว่าบริษัทในญี่ปุ่นกว่า 80% ใช้ generative AI

NHK สำรวจบริษัทในญี่ปุ่นโดยพบว่ากว่า 80% กำลังใช้งาน AI แบบรู้สร้าง หรือ generative AI ในการดำเนินงานของตน

มีการติดต่อไปที่บริษัทใหญ่ 100 บริษัทเพื่อทำการสำรวจตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงมกราคม โดย 86 บริษัทกล่าวว่าพวกตนกำลังใช้ generative AI ขณะที่บริษัท 10 แห่งระบุว่าไม่ได้ใช้

บริษัท 48 แห่งที่ใช้เทคโนโลยีนี้ระบุว่า การใช้งาน generative AI จำกัดเฉพาะงานทั่วไป เช่น การทำเอกสาร ส่วนอีก 36 แห่งกล่าวว่าพวกตนยังใช้ generative AI สำหรับงานขั้นสูงและงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้วย

หลายบริษัทระบุว่าพวกตนได้จัดทำระบบภายในองค์กรที่มี generative AI แบบเชี่ยวชาญซึ่งผ่านกระบวนการเรียนรู้เฉพาะทางมาแล้ว

บริษัทแห่งหนึ่งกล่าวว่าคาดว่าจะสามารถลดแรงงานคนได้มากกว่า 1,800 ชั่วโมงต่อปีโดยใช้ generative AI เพื่อช่วยในการตรวจสอบเอกสาร

80% ของธุรกิจที่นำ generative AI มาใช้แล้วนั้นกล่าวว่า พวกตนกำลังวางแผนที่จะขยายการใช้งานเทคโนโลยีนี้

ที่มา: NHK World, 5/3/2024

Amazon อาจถูกบังคับรับรองสหภาพแรงงานเป็นครั้งแรกในสหราชอาณาจักร

ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในด้านสิทธิแรงงานของสหราชอาณาจักร บริษัท Amazon UK อาจถูกบังคับตามกฎหมายให้รับรองสหภาพแรงงานอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก  โดยการรับรองนี้อาจเกิดขึ้นหลังจากความพยายามอย่างหนักแน่นของสหภาพแรงงาน GMB ที่ได้เรียกร้องการรับรองสหภาพแรงงานอย่างเป็นทางการ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการรวมตัวของเหล่าแรงงานอย่างมหาศาลเป็นเวลากว่า 1 ปี ส่งผลให้จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างมากที่ศูนย์กระจายสินค้าของ Amazon ในเมืองโคเวนทรี สหภาพแรงงาน GMB เชื่อมั่นว่าพวกเขาบรรลุเกณฑ์ตามกฎหมายสำหรับการรับรองแล้ว แม้ว่า Amazon จะมีการรณรงค์ต่อต้านการจัดตั้งสหภาพแรงงานมานาน

การรับรองสหภาพแรงงานจะบังคับให้ Amazon ต้องเจรจากับ GMB เกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น ค่าจ้าง ความปลอดภัยของแรงงาน และสภาพการจ้างงาน เจ้าหน้าที่อาวุโสของ GMB กล่าวถึงจุดยืนของสหภาพแรงงานว่า "Amazon ใช้กลยุทธ์ทางกฎหมายเพื่อพยายามทำลายความพยายามในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน แต่แทนที่จะยอมแพ้ พนักงานของ Amazon ในเมืองโคเวนทรีได้ชักชวนเพื่อนร่วมงานเข้าร่วมสหภาพแรงงานเป็นจำนวนมาก"

นอกจากนี้ ความพยายามในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน Amazon ในสหราชอาณาจักรยังเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการระดับโลก โดยเมื่อเดือน พ.ย. 2023 GMB ได้ร่วมมือกับสหภาพแรงงานระหว่างประเทศเพื่อจัดการประท้วงและหยุดงานในวัน Black Friday ภายใต้แคมเปญ "Make Amazon Pay" แคมเปญระดับโลกนี้นำโดย UNI Global Union เน้นย้ำถึงความต้องการอย่างแพร่หลายทั่วโลกสำหรับสภาพการทำงานที่ดีขึ้นและการปฏิบัติต่อพนักงานของ Amazon อย่างเท่าเทียมกัน

ที่มา: UNI Global Union, 5/3/2024

Starbucks ในตะวันออกกลางเตรียมปลด 2,000 ตำแหน่ง เซ่นบอยคอตต์สงครามกาซ่า

อัลชายา กรุ๊ป (AlShaya Group) บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ในตะวันออกกลาง ซึ่งได้รับสิทธิ์ในการบริหารแฟรนไชส์สตาร์บัคส์ (Starbucks) ร้านกาแฟสัญชาติอเมริกัน ประกาศแผนปลดพนักงานกว่า 2,000 ตำแหน่ง หลังจากธุรกิจประสบปัญหาหนักจากการบอยคอตต์โดยผู้บริโภค อันเนื่องมาจากสงครามกาซ่า

รอยเตอร์อ้างอิงรายงานดังกล่าวจากแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับประเด็นนี้ ที่เผยว่าการปรับลดพนักงานได้เริ่มต้นเมื่อวันอาทิตย์ คิดเป็นสัดส่วน 4% ของพนักงานทั้งหมดของบริษัทอัลชายา กรุ๊ป ที่มีพนักงานเกือบ 50,000 คน และส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่ดูแลแฟรนไชส์สตาร์บัคส์ในตะวันออกกลางและในอเมริกาเหนือ

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทอัลชายา กรุ๊ป รวมถึงแหล่งข่าวที่เปิดเผยเรื่องนี้ ไม่ได้ระบุว่า มีพนักงานเป็นจำนวนเท่าใดที่ดูแลแฟรนไชส์สตาร์บัคส์ในตะวันออกกลาง

ด้านโฆษกสตาร์บัคส์ ระบุกับรอยเตอร์ว่า ทางบริษัทจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับอัลชายา กรุ๊ป ในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจในภูมิภาคที่สำคัญนี้

ทั้งนี้ บริษัทอัลชายา กรุ๊ป ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1890 ที่คูเวต เป็นหนึ่งในบริษัทค้าปลีกที่ดูแลบริษัทแฟรนไชส์ต่างชาติมากมาย อาทิ เดอะชีสเค้ก แฟคทอรี (The Cheesecake Factory) และเชค แช็ค (Shake Shack) และเข้ามาบริหารแฟรนไชส์สตาร์บัคส์ราว 2,000 สาขา ในตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ และเอเชียกลาง เมื่อปี 1999

ที่ผ่านมา แบรนด์ชาติตะวันตกเจอกับกระแสต่อต้านอย่างหนัก เมื่ออิสราเอลเริ่มปฏิบัติการทางทหารในฉนวนกาซ่า เพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มฮามาส เมื่อ 7 ตุลาคมปีก่อน ซึ่งรวมถึงสตาร์บัคส์ที่เผยเมื่อเดือนมกราคมว่า สงครามอิสราเอล-ฮามาส กระทบกับการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคจตะวันออกกลาง

ที่มา: VOA, 6/3/2024

รายงานเผย 40% ของคนทำงานไอซ์แลนด์ รายได้ไม่พอรายจ่าย แม้มีงานทำ

ผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยตลาดแรงงาน Varða รายงานว่า คนทำงานในไอซ์แลนด์ถึง 40% ประสบปัญหาหารายได้ไม่พอรายจ่าย สอดคล้องกับสัดส่วนคนที่ไม่สามารถรับมือกับค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน 80,000 ไอซ์แลนด์โครนา (ISK)

รายงานประจำปีฉบับนี้ ซึ่งเป็นฉบับที่ 4 ของ Varða ชี้ว่าสถานการณ์ทางการเงินของคนทำงานย่ำแย่ลง โดยผลสำรวจระหว่างปี 2023-2024 พบว่าแย่กว่าปี 2022 โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ ผู้ปกครองและผู้อพยพ โดยรายงานระบุว่า ราว 20% ของผู้ปกครอง ไม่สามารถซื้อของขวัญวันเกิดและวันหยุดให้ลูกได้ และกว่าหนึ่งในสี่ของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวประสบปัญหาขัดสนด้านการเงิน

ผู้อพยพเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าคนพื้นเมืองไอซ์แลนด์มาก รายงานพบว่าผู้อพยพจำนวนมากประสบปัญหาหารายได้ไม่พอรายจ่ายและรับมือกับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินไม่ได้ ถึงแม้จะมีอัตราการจ้างงานค่อนข้างสูง และมีสัดส่วนผู้จบการศึกษาระดับสูงกว่าคนไอซ์แลนด์ แต่กลับพบว่าวุฒิการศึกษาของพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับในตลาดแรงงานท้องถิ่น

ที่มา: The Reykjavík Grapevine, 6/3/2024

ทีมบาสเก็ตบอลมหาวิทยาลัย Dartmouth ในสหรัฐฯ โหวตเสียงข้างมากจัดตั้งสหภาพแรงงาน สร้างประวัติศาสตร์กีฬามหาวิทยาลัย

ทีมบาสเก็ตบอลชายของมหาวิทยาลัย Dartmouth ลงคะแนนโหวตเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน ถือเป็นก้าวสำคัญในการก่อตั้งสหภาพแรงงานแห่งแรกสำหรับนักกีฬามหาวิทยาลัย

การลงคะแนนนี้เกิดขึ้นที่สำนักงานทรัพยากรบุคคลของมหาวิทยาลัย โดยมีคณะกรรมการสัมพันธ์แรงงานแห่งชาติ (National Labor Relations Board: NLRB) เป็นผู้ดูแล ผลการลงคะแนน ปรากฎว่า นักกีฬาลงคะแนนเสียง 13-2 เห็นชอบให้เข้าร่วมกับสหภาพแรงงานบริการพนักงานนานาชาติ สาขาดาร์ทมัธ (Service Employees International Union Local 560) ซึ่งปัจจุบันเป็นตัวแทนของพนักงานบางส่วนในมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยยืนยันว่านักกีฬาเหล่านี้เป็นนักศีกษา ไม่ใช่พนักงาน ก่อนหน้านี้ทางมหาวิทยาลัยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ NLRB ทั้งคณะ เนื่องจากเจ้าหน้าระดับภูมิภาคของคณะกรรมการฯ ตัดสินว่านักกีฬาของมหาวิทยาลัยเป็นพนักงาน ซึ่งหมายความว่าพวกเขามีสิทธิ์จัดตั้งสหภาพแรงงาน

คดีนี้อาจถูกส่งไปยังศาลสหพันธรัฐ ซึ่งจะทำให้การเจรจาข้อตกลงสภาพการจ้าง (collective bargaining agreement) ล่าช้าออกไป และสมาชิกปัจจุบันของทีมบาสเก็ตบอลอาจจะสำเร็จการศึกษาไปแล้ว

ที่มา: NBC5, 6/3/2024

สภาพการทำงานของผู้หญิงญี่ปุ่นแย่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศ OECD

ญี่ปุ่นอยู่อันดับแย่ที่สุดลำดับที่ 3 ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก จากผลสำรวจประจำปีเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการทำงานของผู้หญิง

นิตยสาร The Economist ได้เผยแพร่ "ดัชนีอุปสรรคที่มองไม่เห็น" ที่จัดทำขึ้นเอง ก่อนถึงวันสตรีสากลซึ่งเป็นวันศุกร์ที่ 8 มีนาคมนี้

ทางนิตยสารได้จัดอันดับ 29 ประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD โดยพิจารณาจากตัวชี้วัด 10 ปัจจัย เช่น การมีส่วนร่วมเป็นทรัพยากรแรงงาน และความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิง

ผลการสำรวจปรากฏว่า ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 27 ส่วนตุรกีอยู่อันดับที่ 28 และเกาหลีใต้อันดับที่ 29

นิตยสารระบุว่า ผู้หญิงใน 3 ประเทศที่แย่ที่สุด “ยังคงเผชิญกับอุปสรรคในที่ทำงานอย่างใหญ่หลวงที่สุด”

ผลสำรวจระบุว่าสัดส่วนของผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในญี่ปุ่นอยู่ที่ราวร้อยละ 15 และในสภาผู้แทนราษฎรของญี่ปุ่นมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งเพียงร้อยละ 10 เศษ ๆ

ด้านไอซ์แลนด์ติดอันดับหนึ่งของประเทศที่มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง อยู่ที่ราวร้อยละ 40

ในการสำรวจนี้ประเทศกลุ่มนอร์ดิกกวาด 4 อันดับแรกไปครอง โดยไอซ์แลนด์อยู่อันดับที่หนึ่งตามมาด้วยสวีเดน นอร์เวย์ และฟินแลนด์

ที่มา: NHK World, 8/3/2024

พ่อแม่ในออสเตรเลียที่ลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรแรกเกิดจะมีเงินซูเปอร์ (เงินสะสมหลังเกษียณ) เพิ่มให้ด้วย

ในออสเตรเลียผู้ที่ได้รับเงินสำหรับการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรแรกเกิดจากรัฐบาลออสเตรเลีย จะได้รับเงินซูเปอร์ หรือเงินสะสมหลังเกษียณจ่ายเพิ่มให้ด้วยภายใต้นโยบายใหม่ของรัฐบาล

ราว 180,000 ครอบครัวต่อปีได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสำหรับการลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด (parental leave payments) ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2025 เป็นต้นไป จะมีการจ่ายเงินเพิ่มอีก 12 เปอร์เซ็นต์เข้ากองทุนเงินซูเปอร์หรือเงินสะสมหลังเกษียณให้ด้วย

แต่ทั้งนี้รัฐบาลออสเตรเลียยังไม่ได้เปิดเผยต้นทุนสำหรับเงินช่วยเหลือที่เพิ่มขึ้นนี้ แต่จะมีข้อมูลเพิ่มเติมให้ในร่างงบประมาณของรัฐบาลที่จะแถลงในเดือน พ.ค. 2024

ที่มา: SBS, 8/3/2024

บังกลาเทศเรียกร้องค่าจ้างเท่าเทียม สถานที่ทำงานปลอดภัย เนื่องในวันสตรีสากล

เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มี.ค. 2024 บังกลาเทศจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองภายใต้ธีม "การลงทุนเพื่อเร่งความเท่าเทียมทางเพศและโอกาส" เรียกร้องค่าจ้างที่เท่าเทียมกันและสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง ทั้งหน่วยงานของรัฐบาลและเอกชน รวมถึงองค์กรด้านสิทธิสตรี ต่างจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การเดินขบวน การชุมนุม และงานแสดงทางวัฒนธรรม

กระทรวงกิจการสตรีและเด็ก จัดการประชุมและพิธีมอบรางวัล "Joyeeta Award" ในเมืองหลวง เนื่องในโอกาสนี้ โดยสำนักข่าว United News of Bangladesh รายงานว่า นายกรัฐมนตรี Sheikh Hasina เข้าร่วมการประชุมและเรียกร้องให้สตรีมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เคียงข้างบุรุษ "วันนี้ หากเราต้องการความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ชายและหญิงสามารถร่วมกันสร้างชาติได้อย่างเท่าเทียม ด้วยการทำงานของพวกเขา" นายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้านสหภาพแรงงานสตรีภายในบ้านแห่งชาติ (National Women Domestic Workers' Union) จัดการเดินขบวนหน้าสโมสรผู้สื่อมวลชนแห่งชาติ เรียกร้องให้จับกุมและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม Preeti Urang และ Anwara ซึ่งเป็นแรงงานภายในบ้าน ผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานภายในบ้าน และระบุว่าแรงงานภายในบ้านในบังกลาเทศเป็นกลุ่มคนที่ถูกละเลย ถูกทารุณกรรม และถูกกดขี่มากที่สุด

ที่มา: New Age BD Dhaka, 9/3/2024

เกาหลีใต้ส่งแพทย์ทหารปฏิบัติงานที่โรงพยาบาล แก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์จากการนัดหยุดงานประท้วง

เกาหลีใต้กำลังประสบปัญหาระบบสาธารณสุข เนื่องจากแพทย์ฝึกหัดราว 12,000 คน จากโรงพยาบาล 100 แห่ง นัดหยุดงานประท้วงแผนปฏิรูประบบสาธารณสุขของรัฐบาล

รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศส่งแพทย์ทหาร และแพทย์จากศูนย์สุขภาพของรัฐ เข้าไปช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากการนัดหยุดงานประท้วงของแพทย์ฝึกหัด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า จะมีการส่งแพทย์ศัลยแพทย์ทหาร 20 นาย และแพทย์จากศูนย์สุขภาพของรัฐอีก 138 นาย ไปประจำยังโรงพยาบาล 20 แห่ง เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์

กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ระบุว่า จำนวนแพทย์ทหารที่ถูกเรียกตัวไปช่วยเหลือในครั้งนี้ เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น จากแพทย์ทหารทั้งหมดราว 2,400 นาย

ทั้งนี้ แพทย์ฝึกหัดราว 12,000 คน จาก 100 โรงพยาบาล เริ่มนัดหยุดงานประท้วงตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2024 ที่ผ่านมา เพื่อคัดค้านแผนของรัฐบาลที่จะเพิ่มจำนวนนักศึกษาแพทย์ เนื่องจากมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยไม่ได้แก้ไขเรื่องค่าตอบแทนและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

ที่มา: Al Jazeera, 11/3/2024

รัฐสภาสหภาพยุโรป (EU) อนุมัติกฎหมายคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์มดิจิทัล

ต่อไปนี้ แรงงานนับล้านคนที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในยุโรป  เช่น ขับรถส่งอาหาร ไรเดอร์ ฟรีแลนซ์ จะได้รับสิทธิ์พื้นฐานของการเป็นลูกจ้าง  ได้แก่ ค่าแรงขั้นต่ำ ค่าจ้างลาป่วย วันหยุดพักร้อน และการประกันสังคม ดดยรัฐสภาสหภาพยุโรป (EU) อนุมัติกฎหมายคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์มดิจิทัล

กฎหมายใหม่นี้ พลิกโฉมการพิสูจน์สถานะลูกจ้าง โดยภาระการพิสูจน์ย้ายไปที่บริษัทแพลตฟอร์ม แทนที่แรงงานต้องฟ้องร้องในชั้นศาล นอกจากนี้ ยังรับรองบทบาทของสหภาพแรงงาน  ในการมีส่วนร่วมด้านต่างๆ ในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม รวมถึงการบริหารจัดการอัลกอริทึม คาดการณ์ว่าจะมีแรงงานแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นเป็น 43 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2024 นี้

กฎหมายฉบับนี้ยุติปัญหาการที่แพลตฟอร์มระบุว่าแรงงานเป็นผู้ประกอบการอิสระ  เพื่อเลี่ยงการจ่ายสวัสดิการ  แรงงานจะได้รับค่าแรงที่เหมาะสม มีหลักประกันขณะเจ็บป่วย พักร้อน และได้รับการประกันสังคม

ชัยชนะครั้งนี้เป็นผลจากแรงงานและสหภาพแรงงานที่ต่อสู้ร่วมกัน  รวมถึงความร่วมมือจากสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีของสหภาพยุโรป

กฎหมายนี้ถือเป็นกฎหมายแรกของโลก  ที่คุ้มครองแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม  ต่อไป รัฐบาลแต่ละประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปปฏิบัติอย่างรวดเร็ว

ที่มา: ETUC, 11/3/2024

ญี่ปุ่นเห็นชอบร่างกฎหมายสนับสนุนแรงงานให้เลี้ยงดูลูกหรือดูแลสมาชิกอื่นในครอบครัว

รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจขยายการสนับสนุนเพิ่มเติมให้กับแรงงานที่มีเด็กเล็ก รวมถึงผู้ที่ดูแลสมาชิกอื่นในครอบครัว

ร่างแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการลาเพื่อดูแลลูกและดูแลครอบครัวได้รับความเห็นชอบในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 12 มี.ค. 2024

กฎหมายปัจจุบันมุ่งเป้าหมายไปที่พ่อแม่ที่มีลูกอายุ 3 ปีหรือต่ำกว่านั้นเป็นหลัก

ร่างแก้ไขกฎหมายกำหนดให้นายจ้างยกเว้นลูกจ้างจากการทำงานล่วงเวลา หากลูกจ้างคนนั้นมีลูกที่อยู่ในช่วงก่อนวัยเรียน

ลูกจ้างที่มีลูกอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หรือต่ำกว่านั้นจะได้รับอนุญาตให้ลาได้เมื่อลูกป่วยหรือบาดเจ็บ อีกทั้งสามารถลาได้หากชั้นเรียนของลูกปิดเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ หรือต้องเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน เช่น พิธีเข้าศึกษา

สำหรับลูกจ้างที่ดูแลสมาชิกในครอบครัว นายจ้างจะต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าพวกเขาสามารถลางานเพื่อไปดูแลสมาชิกครอบครัวได้ และต้องสอบถามเกี่ยวกับแผนการลาของลูกจ้าง

จนถึงปัจจุบัน เชื่อกันว่าหลายคนต้องออกจากงานโดยไม่ได้ใช้โครงการสนับสนุนลักษณะนี้

รัฐบาลกำลังหาทางผ่านร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวในสมัยประชุมปัจจุบันของรัฐสภา

ที่มา: NHK World, 12/3/2024

สหภาพแรงงานประณามสมาคมนายจ้างฟินแลนด์ ประกาศล็อกเอาต์ครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์

สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมฟินแลนด์ (The Industrial Union) ออกโรงตำหนิ สมาคมสมาพันธ์อุตสาหกรรมฟินแลนด์ (EK) และ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฟินแลนด์ (Technology Industries of Finland) กรณีประกาศล็อกเอาต์ นับเป็นครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของฟินแลนด์

ฝ่ายแรงงานมองว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้กำลังมิชอบ และคำแนะนำให้นายจ้างหยุดจ่ายเงินเดือนทันทีนั้น ถือเป็นการกระทำประทุษรกรรมต่อผู้ใช้แรงงาน โดยกฎหมายระบุว่า นายจ้างมีหน้าที่จ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างภายใน 7 วัน กรณีหยุดงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคู่สัญญาจ้างงาน

Riku Aalto ประธานสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมฟินแลนด์ กล่าวว่า "ฟินแลนด์ไม่เคยเผชิญกับการนัดหยุดงานของนายจ้างในระดับนี้มาก่อน การล็อกเอาต์ครั้งนี้เผยให้เห็นธาตุแท้ของบริษัทต่างๆ ในฐานะผู้มีอิทธิพลทางการเมือง ที่อยู่เบื้องหลังนโยบายของรัฐบาลซึ่งมุ่งหวะย่ำยีสภาพการทำงานของแรงงาน"

ฝ่ายสหภาพแรงงานเชื่อว่า ตามกฎหมาย นายจ้างมีหน้าที่จ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างภายใน 7 วัน แม้ว่าการหยุดงานจะเกิดขึ้นจากการล็อกเอาต์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ก็ตาม Aalto ยังระบุว่า หากนายจ้างแต่ละรายเดินตามคำแนะนำที่ออกโดยสมาคมฯ และองค์กรสมาชิก นำไปบังคับใช้กับลูกจ้าง ย่อมจะนำไปสู่การฟ้องร้องทางกฎหมาย

ที่มา: Teollisuusliitto, 12/3/2024

สื่อมวลชนโปรตุเกสนัดหยุดงานประท้วงครั้งแรกในรอบ 40 ปี

สหภาพนักข่าวโปรตุเกส (SinJor) ร่วมกับสมาคมสื่อมวลชนอื่น ๆ ประกาศนัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ในวันที่ 14 มี.ค. 2024 เพื่อเรียกร้องสภาพการทำงานที่ดีขึ้น การตัดสินใจหยุดงานครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจากสหพันธ์สื่อมวลชนนานาชาติ (IFJ) และสหพันธ์สื่อมวลชนยุโรป (EFJ)

SinJor เรียกร้องการปรับขึ้นเงินเดือนทั่วไป, สัญญาจ้างที่มั่นคง, ค่าล่วงเวลาที่เหมาะสม, ค่าตอบแทนการทำงานกลางคืนและวันหยุดสุดสัปดาห์, รวมถึงค่าตอบแทนเพิ่มเติมสำหรับการทำงานนอกเหนือเวลาปกติ นอกจากนี้ สหภาพฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนสื่อมวลชนในฐานะสาธารณูปโภคตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

ที่มา: European Federation of Journalists, 13/3/2024

พนักงานวัยหนุ่มสาวของบริษัท Samsung แห่เข้าสหภาพแรงงาน ประท้วงเงินเดือน "ต่ำกว่าคาดหวัง"

พนักงานจำนวนมากของบริษัท Samsung Electronics โดยเฉพาะกลุ่มวัย 20-30 ปีในแผนกเซมิคอนดักเตอร์ ต่างไม่พอใจกับอัตราเงินเดือนและโบนัสที่ "ต่ำกว่าคาดหวัง" ส่งผลให้มีการเข้าร่วมสหภาพแรงงานเป็นจำนวนมาก

อัตราเงินเดือนที่เติบโตช้า สัมพันธ์กับภาวะตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ที่ซบเซา ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานของ Samsung Electronics ในปีที่ผ่านมาลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี

สหภาพแรงงาน Samsung Electronics แห่งชาติ ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในบริษัทที่มีอยู่ 5 แห่ง มีจำนวนสมาชิกเกิน 20,000 คน คิดเป็น 16% ของพนักงานทั้งหมด โดยจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน หลังจากบริษัทประกาศปรับขึ้นเงินเดือน

ประกาศของ Samsung ที่ระบุว่า จะขึ้นเงินเดือนฐาน 2.9% และไม่มีโบนัสประจำปีให้กับพนักงานในแผนกเซมิคอนดักเตอร์สำหรับปีนี้ สร้างความไม่พอใจให้แก่พนักงาน นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของสมาชิกสหภาพแรงงานหน้าใหม่จำนวนมาก ทั้งนี้สหภาพแรงงานซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2021 เรียกร้องให้ปรับขึ้นเงินเดือน 6.5%

ที่มา: JoongAng Daily, 14/3/2024

ชาวต่างชาติอยู่ในไต้หวันอย่างผิดกฎหมาย เพิ่มค่าปรับ 5 เท่า ติดแบล็กลิสต์ 7 ปี

ไต้หวันประกาศใช้กฎหมายคนเข้าเมืองฉบับใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2024 เป็นต้นมา โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นมาตรการผ่อนปรนรวมถึงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยในไต้หวันอย่างถูกกฎหมายซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 1 ม.ค. 2024 เป็นต้นมา ส่วนของบทลงโทษเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2024 เป็นต้นไป สำหรับชาวต่างชาติที่อยู่เลยกำหนดวีซ่าหรือแรงงานต่างชาติที่หลบหนีนายจ้างถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงานและบัตรถิ่นที่อยู่ เพิ่มค่าปรับ 5 เท่า ติดแบล็กลิสต์ 7 ปี

ที่มา: Radio Taiwan International, 15/3/2024

รปภ. โรงพยาบาล Guys and St Thomas ในลอนดอน ประท้วงหยุดงานต่อเนื่อง เรียกร้องขึ้นค่าจ้าง

พนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.)  จากโรงพยาบาล Guys and St Thomas ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ประกาศยกระดับการประท้วงด้วยการหยุดงานต่อเนื่องอีก 7 วัน เริ่มตั้งแต่เช้าวันที่ 18 มี.ค. 2024 นี้ หลังจากฝ่ายบริหารของโรงพยาบาลปฏิเสธข้อเสนอขอปรับขึ้นค่าจ้างจำนวน 2,000 ปอนด์ ซึ่งคิดเป็นเงินเพียง 0.96 เพนนีต่อชั่วโมง

สหภาพแรงงานยูไนต์ (Unite) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร ระบุว่า เจ้าหน้า รปภ. สมาชิกสหภาพแรงงานจะหยุดงานประท้วงเป็นเวลา 7 วัน ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยภายในโรงพยาบาลทั้งสองแห่ง เนื่องจากเจ้าหน้า รปภ. มีบทบาทสำคัญในการดูแลความปลอดภัยของพนักงานและคนไข้ในโรงพยาบาลกายส์และเซนต์โทมัส ซึ่งตั้งอยู่ในย่านเซาท์ลอนดอน

การประท้วงหยุดงานครั้งนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการประท้วง 2 วันก่อนหน้านี้ เนื่องจากเจ้าหน้า รปภ. เป็นกลุ่มพนักงานที่ได้รับค่าแรงต่ำที่สุดในโรงพยาบาล นอกจากนี้ ค่าแรงของเจ้าหน้า รปภ. ยังน้อยกว่าเจ้าหน้า รปภ. ตามโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั่วกรุงลอนดอน เช่น โรงพยาบาลคิงส์คอลเลจ ที่เจ้าหน้า รปภ. มีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 30,000 ปอนด์ต่อปี

เจ้าหน้า รปภ. คนหนึ่งที่เข้าร่วมการประท้วงกล่าวว่า "ผู้บริหารฝ่ายรักษาความปลอดภัยของเราได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างเมื่อปีที่แล้ว แต่เงินเดือนของพวกเรายังคงเท่าเดิม แม้ว่าหน้าที่ของเรายิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ... พวกเราไม่รู้แน่ชัดว่าจะเจอกับอะไรบ้างในแต่ละวันที่มาทำงาน ซึ่งมันน่ากลัวมาก พวกเราต้องรับมือกับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ที่อารมณ์รุนแรง ไปจนถึงการเปิด-ปิดแผนกต่างๆ ภายในโรงพยาบาล ซึ่งล้วนมีความเสี่ยง แต่ฝ่ายบริหารกลับเพิกเฉย พวกเราทนไม่ไหวแล้วจริงๆ"

นอกจากปัญหาเรื่องค่าแรงแล้ว เจ้าหน้า รปภ. จำนวน 30 คน ยังต่อสู้กับการที่ฝ่ายบริหารโรงพยาบาลต้องการให้พวกเขาพักกลางวันโดยไม่ได้รับค่าจ้าง รวมถึงการปฏิเสธที่จะคำนวณวันหยุดพักร้อนโดยอิงตามสัปดาห์ทำงาน 37.5 ชั่วโมง

ที่มา: Unite the union, 15/3/2024

การปรับขึ้นค่าจ้างของบริษัทใหญ่ในญี่ปุ่นสูงถึง 5% โดยเฉลี่ย

พนักงานของบริษัทใหญ่ในญี่ปุ่นหลายแห่งได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ อันเป็นผลจากการเจรจาต่อรองประจำปีในช่วงฤดูใบไม้ผลิ สมาพันธ์สหภาพแรงงานแห่งญี่ปุ่น หรือ เร็งโง ซึ่งเป็นองค์กรสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นระบุว่า การขึ้นค่าจ้างโดยเฉลี่ยสูงสุดมากกว่า 5%

เจ้าหน้าที่ของเร็งโงประกาศผลการเจรจากับบริษัท 771 แห่งเมื่อวันศุกร์ที่ 15 มี.ค. 2024 โดยระบุว่าเงินเดือนโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น 16,469 เยน โดยเป็นการเพิ่มขึ้น 5.28% และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 33 ปีที่สูงกว่า 5% นอกจากนี้ยังสูงกว่าการคำนวณขั้นสุดท้ายของปีที่แล้วที่อยู่ที่ 3.6%

บริษัทหลายแห่งในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเหล็ก เห็นด้วยอย่างเต็มที่ต่อข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของสหภาพแรงงาน ขณะนี้ การเจรจาต่อรองกับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กกำลังใกล้จะได้ผลลัพธ์แล้ว จุดสนใจอยู่ที่ว่าพนักงานของบริษัทเหล่านี้จะได้เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นมากหรือไม่

ที่มา: NHK World, 16/3/2024

สงครามในปาเลสไตน์ส่งผลให้สูญเสียงานไปแล้วกว่า 507,000 ตำแหน่งงาน

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ชี้ว่า ณ ปลายเดือน ม.ค. 2024 สงครามในปาเลสไตน์ส่งผลให้สูญเสียงานไปแล้วกว่า 507,000 ตำแหน่งงาน ในจำนวนนี้ 201,000 ตำแหน่งงาน อยู่ในกาซา

ที่มา: ILO, 18/3/2024

พนักงาน Google ญี่ปุ่นรวมตัวตั้งสหภาพแรงงานสู้การเลิกจ้าง

พนักงาน Google ญี่ปุ่นจำนวนหลายสิบคนได้รวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้สหภาพแรงงานผู้บริหารโตเกียว (Tokyo Managers' Union)

การรวมตัวครั้งนี้เกิดจากความกังวลของพนักงานที่มีต่อการถูกเลิกจ้างกะทันหัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานที่อยู่ในญี่ปุ่นด้วยวีซ่าทำงาน ประเด็นนี้สืบเนื่องมาจากประกาศของ Google ในเดือน ม.ค. 2024 ที่ผ่านมาว่าบริษัทมีแผนจะปลดพนักงานทั่วโลกจำนวน 12,000 คน คิดเป็น 6% ของพนักงานทั้งหมด

พนักงาน Google ญี่ปุ่นเล่าว่า เพื่อนร่วมงานในสหรัฐฯ ถูกเลิกจ้างเพียงแค่ได้รับอีเมลแจ้งในช่วงกลางดึก สร้างความหวั่นวิตกให้กับพนักงานในออฟฟิศญี่ปุ่นที่รอคอยอย่างกังวลว่า พวกเขาอาจเป็นคนต่อไป พวกเขาหวังว่าการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานจะช่วยปกป้องพวกเขาจากการถูกเลิกจ้างกะทันหืน เนื่องจากกฎหมายแรงงานญี่ปุ่นกำหนดให้บริษัทต้องมีเหตุผลอันสมควรในการเลิกจ้างพนักงาน

ที่มา: Yahoo, 20/3/2024

Unilever ประกาศแผนเลิกจ้างพนักงาน 7,500 คน ภายใน 3 ปี ลดต้นทุน-ขยายธุรกิจไอศกรีม

บริษัทยูนิลีเวอร์ (Unilever) เปิดเผยว่ามีแผนแตกไลน์ธุรกิจไอศกรีม ซึ่งเป็นบ้านของแบรนด์ไอศกรีมชื่อดังอย่างแมกนัมและเบน แอนด์ เจอร์รีส์ ขณะที่ปรับลดพนักงาน 7,500 ตำแหน่งในแผนการลดต้นทุนรอบใหม่ของบริษัท

การแตกไลน์ธุรกิจไอศกรีมจะเริ่มต้นทันที และคาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงปลายปี 2025 อ้างอิงจากการเปิดเผยของ CEO ของบริษัท ที่ระบุว่ามีแผนจะย้ายสำนักงานใหญ่ของหน่วยธุรกิจไอศกรีมนี้ไปที่กรุงอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ แต่ก็ไม่ปิดกั้นทางเลือกอื่น ๆ ในการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ของหน่วยธุรกิจนี้

ทั้งนี้ ธุรกิจไอศกรีมทำยอดขายคิดเป็นสัดส่วน 16% ของยอดขายทั่วโลกของยูนิลีเวอร์ และในบางประเทศมียอดขายมากถึง 30-40% ทีเดียว อีกด้านหนึ่ง ทางบริษัทยังประกาศแผนลดต้นทุนราว 869 ล้านดอลลาร์ ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ซึ่งรวมถึงการปลดพนักงาน 7,500 ตำแหน่งทั่วโลก หรือประมาณ 5.9% ของพนักงาน 128,000 ตำแหน่งของบริษัท แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่า ภูมิภาคไหนจะได้รับผลกระทบจากการปลดพนักงานมากที่สุด

ที่มา: VOA, 20/3/2024

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net