Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน สัมภาษณ์ นพ.จตุรงค์ ธีระกนก วุฒิสมาชิก จ.ร้อยเอ็ด และประธานอนุกรรมาธิการการคมนาคมทางราง วุฒิสภา ถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาการคมนาคมระบบรางในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 56 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... โดยกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้กระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ เพื่อนำมาลงทุนโครงการต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 1.ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 2.อำนวยความสะดวกการเดินทางสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน 3.ปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัว และแผนงานที่กำหนดไว้ในบัญชีท้าย พ.ร.บ.ในวงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2563 และคาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาขอรัฐสภาปลายเดือนมีนาคมนี้

 

 

การคมนาคมทางรางมีมากว่าร้อยกว่าปีแล้ว แต่ไม่ค่อยถูกพูดถึง กระทั่งวันนี้ ทำไมสังคมไทยจึงต้องหันกลับมาสนใจเรื่องนี้

ผมว่าสถานการณ์ทั่วโลกมันเปลี่ยน นานาประเทศก็เริ่มใช้ระบบรางทำงาน ประการหนึ่งคือ เรามีวิกฤติทางพลังงาน ถ้ายังใช้รถยนต์ต่อไปเมื่อเทียบกับการขนส่ง การขนคนแล้ว ต่อคันต่อระยะทาง รถยนต์แพงกว่า 4-7 เท่า ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพของรถด้วย เมื่อมีวิกฤติพลังงานจึงต้องมาคิดว่าจะขนส่งอย่างไรให้มันถูกลง เมื่อโลจิสติกส์ มันถูกลง กระบวนการแข่งขันในเรื่องการค้าก็จะดีขึ้น ประเด็นที่สอง การคมนาคมทางรางสร้างความรู้สึกว่าปลอดภัยมากกว่า ดังนั้น ก็จะลดเรื่องของอุบัติเหตุบนทางหลวงมากขึ้น ตรงนี้ก็มีส่วนให้คนหันกลับมาสนใจเรื่องของระบบราง

จากการศึกษาของอนุกรรมาธิการการคมนาคมทางราง วุฒิฯ ตอนนี้มีโมเดลหรือรูปแบบที่น่าจะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยไหม

เราศึกษาแต่เอามาใช้เลยไม่ได้ ตอนนี้ที่วุฒิฯกำลังดูอยู่อย่างเรื่องระบบการบริหารจัดการของ JR ญี่ปุ่นที่เขาแบ่งเป็นตะวันออก ตะวันตก ซึ่งมีทั้งระบบการบริหารทางรางและในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องของทรัพย์สิน

ในมาเลเซียเอง เราก็ไปดู เขามองว่าระบบสาธารณูปโภคเป็นสาธารณะ คือให้การบริการเพื่อที่จะให้ประชาชนสามารถเดินทางได้ด้วยความปลอดภัยแล้วก็เซฟก็คือราคาถูก ในจีนเอง เป็นประเทศใหญ่ประชากรมาก ก็จำเป็นต้องมีระบบตรงนี้เพื่ออำนวยความสะดวก การขนส่งมากขึ้น

ที่นี้ในบ้านเรา ทำแบบไหน ที่จะมีขึ้นไม่ว่าจะเป็นไฮสปีดความเร็วสูงหรือระบบรางคู่ที่จะเกิดของ รฟท.(การรถไฟแห่งประเทศไทย) กระทั่งการเดินรถในกรุงเทพฯและปริมณฑล หรือในเขตเมืองทั้งหลาย สิ่งต่างๆเหล่านี้คงต้องมีระบบอะไรบางอย่างเข้ามาบริหารจัดการ จะมองถึงระบบการลงทุน จะมองถึงระบบการคืนทุน จะมองถึงระบบการบริการสาธารณะ จะมองถึงระบบความปลอดภัยหรือมาตรฐานความปลอดภัย ตรงนี้อนุฯกำลังวางกรอบเพื่อช่วยกันศึกษาดูว่า ถ้าเรากล้าลงทุนเป็นล้านๆ เราก็ควรต้องมีระบบเข้ามาดูแล ไม่ว่าระบบการตรวจสอบ ระบบการวางแผนผังทั้งหมด ระบบการเชื่อมโยง นี่ก็เป็นเป้าประสงค์หนึ่งที่อนุฯคมนาคมทางรางกำลังคุยกันว่าควรจะเอารูปแบบ ประสบการณ์ในแต่ละประเทศไม่ว่าจะญี่ปุ่น มาเลเซีย อเมริกาหรือยุโรป รวมทั้งความเห็นจากที่ปรึกษาต่างๆมาทำให้เป็นบริบทของบ้านเรา

เวลานี้เราพูดถึงไฮสปีดซึ่งงบประมาณ 2.2ล้านล้าน เหมือนจะให้ความสำคัญตรงนี้มาก จะไปตัดราคากันเองกับสายการบินต้นทุนต่ำ หรือราคาที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไหร่ที่คนสามารถใช้ชีวิตได้จริงมาใช้ระบบนี้

นี่คือสิ่งที่เราเป็นห่วงเหมือนกัน การลงทุนถ้าใช้รายรับจากการขนส่งผู้โดยสารอย่างเดียวคือสิ่งที่เราเป็นห่วง ไฮสปีดการลงทุนค่อนข้างสูง อัตราการคืนทุนก็คงใช้เวลายาว เพราะฉะนั้นถ้าต้องการการคืนทุนที่เร็วอัตราค่าบริการก็คงต้องแพง เมื่อแพงก็คงต้องเกิดแน่นอนสนามบินเรามีเกือบทั่วประเทศ  โลว์คอส (สายการบินต้นทุนต่ำ) เข้ามามากขึ้นฉะนั้นก็แข่งขันกัน แต่ส่วนหนึ่งโดยหลักการแล้ว รถไฟหรือไฮสปีดอัตราค่าโดยสารจะถูกกว่าอัตราเครื่องบินอยู่ประมาณ 20-30% แต่ข้อดีคือระยะเวลาของการเดินทางอาจจะสั้นกว่า คือ เครื่องบินจะไปเสียเวลาในการเช็คอินเช็คเอาท์ ในขณะเดียวกันรถไฟออกจากสถานีแล้วเข้าสู่กลางเมืองได้เลยนี่คือข้อได้เปรียบของรถไฟประการที่สอง ความรู้สึกถึงความปลอดภัยรถไฟจะดีกว่าก็คงมีส่วนในการดึงลูกค้าเป็นตัวหลักๆ

แต่เมื่อถามว่าคุ้มไหม เราก็มามองว่าเป็นเรื่องของการขนส่งสาธารณะหรือไม่ เป็นสาธารณะประโยชน์ไหม ในส่วนหนึ่งรัฐเองจะต้องซัพพอร์ต ในอีกส่วนรัฐคงจะต้องมีรายได้จากส่วนอื่นที่เกี่ยวกับในระบบราง ที่เราพูดกันในวันนี้ (ในการประชุมของคณะอนุกรรมาธิการวันที่ 18 มี.ค.56) ก็คือเรื่องของทรัพย์สิน เรื่องของการบริหารจัดการที่ดินของการรถไฟ ซึ่งการรถไฟจะเอาเรื่องนี้เข้ามาร่วมด้วยไหม หรือจะเอาตัวเองรอด ผมคิดว่าถึงระยะเวลาหนึ่งจะรอดด้วยตัวเองได้

บทเรียนการขาดทุนของระบบรถไฟไทยก็คือการซ่อมบำรุงรถไฟซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง (ทำให้ไม่ค่อยได้รับการผ่านงบประมาณลงมา) ในการศึกษามองเห็นการกันงบประมาณของรัฐในส่วนนี้หรือไม่

แน่นอน เวลาคิดต้องคิดเรื่องบำรุงรักษาด้วย บ้านเราแต่เดิมหารายได้เพื่อดูแลตัวเอง แต่บางครั้งในการเริ่มต้นใหม่ๆ การทุ่มทุนตรงนี้มันเกิด การบำรุงรักษาก็ต้องมีส่วนนี้วางเอาไว้ ผมคิดว่าเขาต้องคิดอย่างนี้เหมือนกัน เหมือนทำธุรกิจจะต้องมีทุนสำรองที่จะพัฒนาปรับปรุงแก้ไขต่างๆ ประเด็นก็คือต้องมีการวางแผนอย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว เมื่อรถไฟเริ่มวิ่งแล้ว ของบางอย่างเราไม่สามารถที่จะสั่งวันนี้ได้วันนี้ แต่สั่งวันนี้อาจจะได้อีก 2 ปี เพราะฉะนั้นการวางแผนเรื่องนี้จะต้องเกิดขึ้น การเฝ้าระวังเพื่อเป็นแผนจัดการอย่างต่อเนื่องได้ จึงอยากฝากเรื่องนี้ไว้ตรงนี้ บางครั้งบ้านเราอาจจะขาดตรงนี้ไป ที่ขาดอาจจะเป็นเพราะเรื่องระบบการเงินการคลังที่เข้ามาผูกพันในการที่จะทำเรื่องนี้ทั้งที่เรามองไม่เห็น ทำให้บางทีเราก็ลืมไป

คิดว่าอุปสรรคอะไรที่จะทำให้แผนอนาคตของระบบรางที่วางไว้ตรงนี้ไม่สำเร็จ และมีข้อเสนอแนะอะไรถึงรัฐบาลไหม

คิดว่าเราจะกล้าลงทุนหรือไม่เท่านั้นเอง ถ้าเรามองว่าสิ่งต่างๆที่เราลงทุนตรงนี้ไปมันทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้เร็วและไปทันเขา เราต้องกล้าลงทุน อุปสรรคมันอยู่ตรงนี้เพราะมันคงจะมีปัญหาเรื่องการลงทุนเท่านั้นเอง

สองคือการเลือกเทคโนโลยีที่จะคุ้มทุนจะเอามาใช้ก็มีความสำคัญ ปัญหาสำคัญน่าจะอยู่ตรงนี้ กล้าไหม กล้าที่จะลงทุนตรงนี้เพื่อก้าวไปข้างหน้า สองเมื่อกล้าแล้วการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม คุ้มค่า เกิดผลประโยชน์น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ต้องคิดให้หนัก

ทีนี้ถ้าเกิดลงมาแล้ว เราพูดไปแต่แรกแล้วว่า หนึ่งโลจิสติกส์ดีขึ้น การขนส่งสินค้า การบริการ ความรวดเร็วผู้โดยสาร ความปลอดภัย มันก็ยิ่งดีขึ้น การใช้ทางหลวงก็ลดน้อยลง อุบัติเหตุก็ลดน้อยลง ความสึกหรอของทางหลวงก็ลดน้อยลง ตรงนี้มันเป็นสิ่งที่จะกลับเข้ามา แต่ระบบรางก็ต้องมีการซ่อมบำรุงเหมือนกันแต่ตรงนี้ผมคิดว่ามันจะเป็นการถ่ายผู้โดยสาร ถ่ายของในปริมาณที่มากในเวลาอันสั้น
 

ที่มา : เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน



 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net