Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันที่ 19 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันหยุดราชการของพม่าเพราะเป็น “วันแห่งวีรบุรุษ” (Martyrs’ Day) ที่ประชาชนชาวพม่าร่วมรำลึกถึงการจากไปของนายพลอองซาน รัฐบุรุษคนสำคัญ ผู้นำขบวนการปลดแอกพม่าจากระบอบอาณานิคมอังกฤษ และ “บิดาแห่งพม่าสมัยใหม่” ในวันเดียวกันนี้ในปี 1947 (พ.ศ.2490) นายพลอองซานและสมาชิกคณะรัฐมนตรีอีก 7 คนถูกลอบยิงเสียชีวิต เพียง 5 เดือนเศษก่อนอังกฤษให้เอกราชแก่พม่าในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1948

นับตั้งแต่พม่าเริ่มปิดประเทศในต้นทศวรรษ 1960 รัฐบาลสั่งห้ามการเฉลิมฉลองเนื่องในวันวีรบุรุษ แต่หลังการปล่อยตัวนางอองซานซุจีครั้งล่าสุดในปี 2010 กับเหตุการณ์ที่หลายคนมองว่าเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” และเป็นการจุดกระแสด้านการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า วันแห่งวีรบุรุษนี้จึงไม่ได้กลายเป็นวันหยุดราชการธรรมดา ๆ วันหนึ่งอีกต่อไป การเฉลิมฉลองวันแห่งวีรบุรุษทั้งจากภาครัฐและประชาชนเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว (ค.ศ.2012)

ในปีนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงนายพลอองซาน ฟากฝั่งของรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน NLD ภายใต้การนำของนางอองซานซุจี เอกอัครทูตประเทศต่าง ๆ ต่างส่งตัวแทนไปวางวางพวงหรีดหน้าอนุสาวรีย์นายพลอองซานที่สวนสาธารณะกันดอจีกลางเมืองย่างกุ้ง ประชาชนเองก็ร่วมระลึกถึงนายพลอองซานทั้งที่อนุสาวรีย์นายพลอองซานที่มีอยู่แทบจะทุกหัวเมืองในพม่าและสถานที่ฝังศพของท่าน (Martyrs’ Mausoleum) ใกล้กับพระมหาเจดีย์ชเวดากอง แม้ว่าประชาชนทั่วประเทศจะร่วมกันเฉลิมฉลองและร่วมไว้อาลัยแก่การจากไปของนายพลอองซานอย่างเอิกเกริกในปีนี้ และเป็นปีแรกที่รัฐบาลพม่าจัดพิธีรำลึกถึงวีรบุรุษผู้วายชนม์ทั้ง 8 คนอย่างยิ่งใหญ่ แต่กลับไร้เงาของประธานาธิบดีเตงเส่ง ที่ติดภารกิจการเยือนสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสพอดี จึงทำให้รัฐพิธีสำคัญในปีนี้ต้องเป็นอีกปีหนึ่งที่ไม่มีผู้นำรัฐบาลพม่าเข้าร่วม

ในขณะที่ชาวพม่า[1]จัดงานวันแห่งวีรบุรุษอย่างเอิกเกริก ชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยกลุ่มใหญ่อย่างชาวฉาน (ไทใหญ่) กะฉิ่น และกะเหรี่ยง กลับมองการเฉลิมฉลองในวันแห่งวีรบุรุษด้วยความขมขื่น

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1947 เพียง 5 เดือนเศษก่อนนายพลอองซานจะถูกลอบสังหาร และเพียง 11 เดือนก่อนพม่าได้รับเอกราช มีการประชุมแบบพหุพาคีระหว่างตัวแทนของอังกฤษ รัฐบาลพม่า และตัวแทนชนกลุ่มน้อยที่เมืองปางหลวง (พม่าอ่านว่า “ปินโลง” และฉานอ่านว่า “ป๋างโหลง”) เมืองเล็ก ๆ ในรัฐฉาน เพื่อกำหนดอนาคตทางการเมืองของชนกลุ่มน้อยภายหลังพม่าได้รับเอกราช ในการประชุมครั้งนี้มีผู้แทนชนเผ่าเพียง 3 กลุ่ม ได้แก่ ฉาน กะฉิ่น และฉิ่นเข้าร่วม ที่ประชุมมีมติทั้งหมด 9 ข้อ หลักใหญ่ใจความของข้อตกลงที่ปางหลวงคือการที่ชนกลุ่มน้อยจะยินยอมเข้าร่วมกับพม่า ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพพม่า โดยเงื่อนไขว่ารัฐบาลพม่าส่วนกลางจะต้องไม่แทรกแซงกิจการภายในของชนกลุ่มน้อย และพึงปกครองชนกลุ่มน้อยด้วยความเท่าเทียมตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย ต่อมาในรัฐธรรมนูญพม่าที่ร่างขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ค.ศ.1947 มีข้อความในบทที่ 10 ว่าด้วยสิทธิการแยกตัวของชนกลุ่มน้อย โดยในข้อ 201 ในรัฐธรรมนูญพม่าฉบับนี้ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “...ทุกรัฐจะมีสิทธิแยกตัวจากสหภาพ (พม่า – ผู้เขียน) ตามเงื่อนไขดังที่กำหนดไว้”[2] และสิทธิในการแยกตัวจากสหภาพพม่านั้นจะมีกำหนด 10 ปี ในช่วงเวลา 10 ปีหลังพม่าได้เอกราช ชนกลุ่มน้อยกลุ่มใหญ่ ๆ ที่ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการเจรจาที่ปางหลวง อย่างกะเหรี่ยงและมอญเริ่มจับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐบาลพม่า ในขณะที่ชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่มีบทบาทในการประชุมปางหลวงต่างหวาดระแวงและเริ่มไม่มั่นใจในอนาคตของตนเอง

ความระส่ำระสายของรัฐบาลหลังเอกราชภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอูนุเกิดจากทั้งสงครามกลางเมืองกับชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มและภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ทำให้อูนุจำเป็นต้องเชิญผู้นำในกองทัพอย่างนายพลเนวินขึ้นมาเป็นรัฐบาลรักษาการในปี 1958 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 10 ปีหลังพม่าได้รับเอกราช และเป็นปีที่สิทธิในการแยกตัวของชนกลุ่มน้อยที่ต้องการแยกตัวออกจากสหภาพพม่า ตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 1948 จะมีผลบังคับใช้พอดี การใช้ความรุนแรงทางการทหารปราบปรามกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย และการกำจัดเสี้ยนหนามทางการเมือง เช่น เจ้าฟ้าฉาน ทั้งการจำกัดสิทธิทางการเมืองโดยการปลดเจ้าฟ้าบางส่วนและยึดทรัพย์สิน เจ้าฟ้าบางพระองค์อย่างเจ้าฉ่วยไต้ เจ้าฟ้าแห่งเมืองยองฉ่วยที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของพม่าหลังได้รับเอกราชก็ถูกกองทัพควบคุมตัวและเสียชีวิตในเรือนจำในเวลาต่อมา

การขึ้นสู่อำนาจของเนวิน กระบวนการสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองทัพพม่า (หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ตั๊ดม่ะด่อ”) การเปลี่ยนการปกครอง และการนำระบอบสังคมนิยมมาใช้เป็นธรรมนูญปกครองประเทศเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของพม่า และในห้วงคำนึงของชนกลุ่มน้อยแล้ว การปฏิวัติของกองทัพคือการทำลายจิตวิญญาณของข้อตกลงปางหลวงซึ่งก็คือจิตวิญญาณของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในพม่าโดยสิ้นเชิง นอกจากนั้นยังเป็นการ “ทรยศ” ต่อเจตนารมณ์ของนายพลอองซานที่ต้องการรวมพม่าให้เป็นหนึ่งเพื่อสร้างรัฐนาวาสมัยใหม่ที่พร้อมเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นจากการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการพัฒนาทางเศรษฐกิจหลังพม่าได้รับเอกราช

แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามจากผู้นำชนกลุ่มน้อยและพรรค NLD ของนางอองซานซุจีในอันที่จะนำจิตวิญญาณปางหลวงขึ้นมาปัดฝุ่นและอภิปราย รวมทั้งวางเป็นแผนแม่บทเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในพม่าตามระบอบสหพันธรัฐ (federal system)[3] อีกครั้ง แต่คำถามจากชนกลุ่มน้อยที่อาจจะตามมา หรือสิ่งที่พวกเขาต้องการอย่างแท้จริงอาจไม่ใช่สัญญาลมปากหรือจิตวิญญาณที่ไร้วิญญาณแห่งปางหลวง แต่คือการทวงคืนข้อผูกพันทางกฎหมายของข้อตกลงปางหลวง อันได้แก่สิทธิในการแยกตัว (secession) ออกจากสหภาพพม่าและสิทธิอื่น ๆ ของพวกเขาที่บรรจุอยู่ในข้อตกลงปางหลวงและรัฐธรรมนูญพม่าปี 1948 ที่พม่าร่วมร่างกับอังกฤษ

แน่นอนว่าในตอนนี้รัฐของชนกลุ่มน้อยไม่มีเงื่อนไขทางการเมืองใด ๆ ที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพม่าอีกแล้ว (ต่างกับเงื่อนไขเมื่อ 66 ปีที่แล้ว ที่ทั้งพม่าและชนกลุ่มน้อยต้องร่วมมือกันเป็นหนึ่งเพราะต้องการเอกราชจากอังกฤษ) และไม่มีตัวแทนคนใดจากฝั่งรัฐบาลพม่าที่จะมีบุคลิกประนีประนอมและเป็นที่เคารพทั้งจากชนกลุ่มน้อยและรัฐบาลพม่าอย่างนายพลอองซาน การจะมองอนาคตทางการเมืองของพม่ามีความจำเป็นต้องนำการเมืองเรื่องชนกลุ่มน้อยเข้ามาพิจารณาด้วยเสมอ เพราะชนกลุ่มน้อยทั้งเล็กและใหญ่กว่า 135 กลุ่มประกอบกันเป็นประชากรกว่า 1 ใน 3 ของประชากรรวมในพม่าปัจจุบัน และยังปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากองทัพพม่าตั้งแต่ทศวรรษ 1962 เป็นต้นมาก็ได้ทุ่มกำลังมหาศาลให้กับการแก้ไขและปราบปรามปัญหาอันเนื่องมาจากชนกลุ่มน้อย

เรามักได้ยินสื่อหรือนักวิเคราะห์บางคนกล่าวชื่นชมพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจพม่าในปัจจุบันอยู่บ่อย ๆ บ้างกล่าวว่าพม่ามีพัฒนาการทางการเมืองที่น่าชื่นชม หรือการที่ผู้นำในรัฐบาลมีความต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงเป็นสิ่งที่น่ายกย่องส่งเสริม แต่ทั้งหมดนี้เป็นการมองและวิเคราะห์ทิศทางการเมืองของพม่าแบบ “โลกสวย” จนเกินไป จริงอยู่ว่าการเยือนประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่เคยคว่ำบาตรพม่ามาอย่างยาวนาน หรือการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองพม่าบางคน แม้จะเป็นตัวชี้วัดทัศนคติของกลุ่มผู้ปกครองในรัฐบาลพม่าได้บ้าง แต่ก็มิใช่การปักหมุดว่าการเมืองพม่าต่อไปนี้จะมั่นคงและปราศจากปัญหา

แม้กองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยเกือบทุกกลุ่มจะยอมเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าแล้ว (ยกเว้นกองทัพรัฐฉานตอนใต้ หรือ Shan State Army ภายใต้การนำของพลโทเจ้ายอดศึก ที่กำลังเจรจากับรัฐบาลพม่าอยู่ในขณะนี้) แต่ความหวาดระแวง ความคับแค้น และความทรงจำที่ชนกลุ่มน้อยมีต่อประวัติศาสตร์ความรุนแรงในพม่าที่มีมาตลอด 6 ทศวรรษจะเป็นแบบทดสอบให้กับรัฐบาลพม่าของประธานาธิบดีเตงเส่งต้องเร่งสร้างความมั่นใจ ความไว้วางใจ และทัศนคติที่ดีต่อรัฐบาลพม่าแก่ชนกลุ่มน้อยให้ได้ มิฉะนั้นความพยายามรวมเชื้อชาติในพม่าให้เป็นหนึ่งเดียวคงเกิดขึ้นได้ยาก แต่เงื่อนไขหนึ่งที่รัฐบาลพม่าต้องเคารพและน้อมรับคือการรวมชนกลุ่มน้อยในพม่าให้เข้ามาอยู่ภายใต้ “สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์” นั้น รัฐบาลกลางต้องให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงหรือใช้ความรุนแรงปราบปรามชนกลุ่มน้อยอย่างที่เป็นมาอีก

 

หมายเหตุ:

ผู้เขียนใช้คำว่า “พม่า” และ “เมียนมาร์” ปะปนกันในบทความนี้ ผู้เขียนใช้ “พม่า” เมื่อกล่าวถึงประเทศพม่า และคนพม่าแท้ (มาจากคำว่า “บะหม่า” ในภาษาพม่า) ซึ่งเป็นเชื้อชาติของคนส่วนใหญ่ในประเทศพม่าในปัจจุบัน และใช้คำว่า “เมียนมาร์” เมื่อกล่าวถึงประเทศพม่าในฐานะที่เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ดังนั้น “สหภาพเมียนมาร์” จึงหมายรวมถึงสหภาพที่ประกอบไปด้วยหลายรัฐและหลายเชื้อชาติ




[1] ในที่นี้หมายความถึงชาวพม่าแท้หรือ “บะหม่า”

[2] “The Right of Secession: A Paper tiger that scares those who want to be scared”: เข้าถึงได้ที่http://www.english.panglong.org/index.php?option=com_content&view=article&id=4405:the-right-of-secession-a-paper-tiger-that-scares-those-who-want-to-be-scared&catid=85:politics&Itemid=266

[3] ดูรายละเอียดใน “NLD to help hold second ‘Panglong Conference’”: เข้าถึงได้ที่ http://democracyforburma.wordpress.com/2013/02/14/nld-to-help-hold-second-panglong-conference/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net