Skip to main content
sharethis

PerMAS จัดเวที SATU PATANI “ขอสิทธิกำหนดตนเอง” มุ่งสื่อสารให้ชาวโลกรับรู้ ระบุการเรียกร้องสิทธิความเป็นเจ้าของมีมากว่า 228 ปีแล้ว ย้ำปัญหาของปาตานีต้องให้นานาชาติมาช่วย พ่อเด็ก 3 ศพชี้ถ้ายังไม่ได้สิทธิกำหนดชะตามกรรมตนเอง ความยุติธรรมก็ไม่เกิด

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ลานแสงจันทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS จัดเสวนา SATU PATANI #13FEB / 3 FEB สงครามและสันติภาพ ประชาชน “ปาตานี” จะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่? อย่างไร? มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก

ในเวทีเสวนามีผู้ร่วมแลกเปลี่ยน ได้แก่ นายตูแวดานียา ตูแวแมแง จากองค์กร Lempar นายเจ๊ะมุ มะมัน พ่อเด็ก 3 คนที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 ที่อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส นายชินทาโร ฮาร่า อาจารย์แผนกวิชาภาษามลายู ม.อ.ปัตตานี โดยมีนายซูไฮมี ดูละสะ เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายตูแวดานียา กล่าวว่า วันนี้คนต่างประเทศรู้จักคนที่อยู่ในชายแดนใต้ในฐานะชาวปาตานี เพราะฉะนั้นการได้มาซึ่งสิทธิความเป็นเจ้าของของคนปาตานีก็ควรต้องเป็นไปเหมือนกับการได้สิทธิในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งการต่อสู้เพื่อสิทธิความเป็นเจ้าของที่ปาตานีไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียง 10 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 228 ปี

นายตูแวดานียา กล่าวต่อไปว่า ในเมื่อรัฐบาลยังไม่เปิดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อให้ประชาชนได้แสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างปลอดภัยได้ ส่งผลทำให้ประชาชนต้องแสดงออกด้วยคำพูดที่ว่า ‘PATANI MERDEKA’ บนท้องถนน ป้ายผ้า ฯลฯ       

"การที่รัฐไทยพยายามจะเปลี่ยนความเป็นมลายูปาตานีให้กลายเป็นคนไทยมุสลิม สิ่งนั้นมันเป็นไปไม่ได้ เห็นได้จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ไม่ได้ตอบโจทย์ชาวปาตานี จะเห็นได้จากการเขียน PATANI Merdaka บนบัตรเลือกตั้ง" นายตูแวดานียา เผย

นายตูแวดานียา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สันติภาพที่แท้จริงที่ประชาชนต้องการจะต้องมีความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินเสียก่อน จึงจะได้รับรู้ว่า สันติภาพที่ชาวปาตานีต้องการ คืออะไร รวมทั้งการต่อสู้ด้วยอาวุธเพียงอย่างเดียว ไม่อาจนำไปสู่การมีชัยชนะที่แท้จริงได้

นายซูไฮมี กล่าวว่า ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด เพียงเป็นคนปาตานีก็ต้องส่งสัญญาณให้ชาวโลกได้รับทราบว่า สงครามเกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งในภาวะสงครามปาตานี นานาชาติต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในดินแดนปาตานี

นายซูไฮมี กล่าวต่อไปว่า หากปาตานีเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ อาจส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆในอาเซียนได้ เนื่องจากปาตานีเป็นจุดเชื่อมต่อของภูมิภาค ฉะนั้น สิ่งที่ประชาชนปาตานี ต้องทำในวันนี้คือ 1.จัดตั้งองค์กรภาคประชาชน 2.มีเครือข่ายประชาชน 3.มีการประชาสัมพันธ์ 4.การมีอุตสาหกรรมเป็นของตัวเอง ทั้งนี้ เราต้องอยู่เป็นกลุ่มเพื่อสร้างเครือข่ายในการอยู่ร่วมกันให้เข้มแข็ง

“การต่อสู้ของประชาชนปาตานี ไม่ว่าจะเลือกใช้อาวุธหรือการเมือง หรือกิจกรรมของภาคประชาสังคมต้องมีเอกภาพเดียวกัน แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการพูดคุยสันติภาพ แต่ก็ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้เกิดการตอบโต้อย่างรุนแรงจากฝ่ายขบวนการในพื้นที่ เพราะไม่ใช่สิ่งที่มาจากฝ่ายขบวนการอย่างแท้จริง" นายซูไฮมี กล่าว

นายชินทาโร่ กล่าวว่า การต่อสู้ของชาวปาตานี ต้องอยู่ในกรอบกติกาสากล จากการพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมา ไม่ได้มีการรับฟังประชาชน แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือประชาชนชาวปาตานี

ส่วนนายเจ๊ะมุ กล่าวว่า ก่อนที่จะไปถึงความต้องการสูงสุด คือ เอกราช เราต้องรู้จักตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากชาวมลายูปาตานี ยังไม่สามารถกำหนดชะตากรรมของตัวเองได้ ความยุติธรรมก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

"สิ่งที่ผมอยากได้ คือ ความยุติธรรมและการกำหนดการชะตากรรมของชาวปาตานี" นายเจ๊ะมุ กล่าว

นางพาดีละห์ ภรรยานายเจ๊ะมุ กล่าวในเวทีว่า ขอบคุณนักศึกษา ชาวบ้านที่มาเยี่ยมให้กำลังใจ หากวันนี้ คนที่ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของใครนั้นคงถึงเวลาที่ต้องพิจารณาแล้ว

นายอาร์ฟาน วัฒนะ ประธานจัดงานเปิดเผยว่า 1 ปีที่ผ่านมา PerMAS เป็นองค์กรร่วมที่มีองค์กรฐานกว่า 20 องค์กร ซึงแต่ละองค์กรมีประเด็นในการขับเคลื่อนแตกต่างกัน ทั้งประเด็นการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม บันเทิง ฯลฯ โดย PerMAS เน้นขับเคลื่อนประเด็นทางการเมือง โดยนำวาระของประชาชนมาพูดคุย

การจัดเวทีครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 แล้วโดยได้นำประเด็น 13FEB คือเหตุการณ์นักต่อสู้เพื่อเป็นเอกราชเสียชีวิต 16 ศพเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 ที่มีนายมะรอโซ จันทรวดีเสียชีวิตในครั้งนั้นด้วย ส่วน 3 FEB เป็นเหตุการณ์เสียชีวิตของเด็กชายผู้บริสุทธิ์ 3 คนเมื่อสันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่าน พวกเขาถูกทำร้ายทั้งที่ไม่มีความผิดใดๆ ทั้ง 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นในอ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เพื่อเป็นการรำลึกและแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่ละเมิดสิทธิความมนุษย์ในสังคม

“วันนี้เรามาขับเคลื่อนในนามกลุ่มปัญญาชน เป็นเพียงกระบอกเสียงของประชาชนในพื้นที่ เราจึงเปิดเวทีให้ประชาชนได้แสดงออกถึงสิทธิทางการเมืองในภาวะสงครามเช่นนี้ว่า ตนเองต้องการอะไร รวมทั้งการแสดงออกผ่านป้ายผ้าสีขาว หรือผ้าเพื่อสันติภาพ(Dress for Peace)” นายอาร์ฟานกล่าว

นายอาร์ฟาน เปิดเผยด้วยว่า จากการจำลองการฟังเสียงของประชาชนในการลงประชามติ ปรากฏว่า คนปาตานีที่ต้องการกำหนดชะตากรรมตนเองมีอยู่จริงจำนวนมาก ที่ต้องการออกมาบอกเล่าความรู้สึกของตนเองท่ามกลางภาวะสงครามในชายแดนใต้

“สำหรับตัวชี้วัดที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งแก่ประชาชน เห็นจากการที่ยังมีประชาชนอีกมากที่ต้องการสันติภาพ พวกเรา เป็นเพียงคนกลางในการเปิดพื้นที่ตรงนี้ ส่วนอนาคตจะดำเนินไปในทิศทางใดขึ้นอยู่ประชาชนซึ่งจะเป็นผู้กำหนด”นายอาร์ฟานกล่าว

นายอาร์ฟาน เปิดเผยอีกว่า หลังจบงานมีการแจกป้ายผ้า เพื่อให้ประชาชนนำกลับไปเขียนความต้องการในหมู่บ้านของตนเอง โดยจะมีการติดต่อประสานงานเพื่อขอรับป้ายผ้าเหล่านั้นแล้วนำมารวมกัน เพื่อส่งต่อความต้องการจากหมู่บ้านถึงองค์กรระหว่างประเทศเช่น สหประชาชาติ (UN) ต่อไป

สำหรับกิจกรรมภายในงานมี 2 ส่วน ได้แก่ ภาคเวที ประกอบด้วย การเสวนา การขับร้องเพลงของศิลปิน Budu little การกล่าวสุนทรพจน์ Pidato การอ่านแถลงการณ์ของ PerMAS และภาคซุ้มนิทรรศการ ซึ่งมีทั้งของ PerMAS ศูนย์ทนายความมุสลิม บู๊ทเขียนหนังสือ และจุดแสดงป้ายผ้า Dress for peace

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net