Skip to main content
sharethis

Google สั่งตรวจสอบประเด็นความเท่าเทียมเชื้อชาติในองค์กร หลังถูกกดดันหนัก

ผู้นำด้านบริการเทคโนโลยีชั้นนำของโลก อย่าง Google กำลังถูกกดดันให้ทำการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่อาจมีการเลือกปฏิบัติและเหยียดเชื้อชาติโดยด่วน หลังผู้บริหารสั่งปลด สมาชิกทีมดูแลงานด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ Ethical Artificial Intelligence (AI) ที่เป็นผู้หญิงออกไป 2 รายเมื่อไม่นานมานี้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า Color of Change ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรมด้านเชื้อชาติที่ทรงอิทธิพล เรียกร้องให้ Google ยักษ์ใหญ่ด้านบริการค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ดำเนินการตรวจสอบกรณีความไม่เท่าเทียมกันด้านเชื้อชาติภายในองค์กรของตน โดยระบุในจดหมายที่ส่งตรงถึง ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของบริษัท Alphabet Inc ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google รวมทั้งผู้บริหารชั้นสูงอีกหลายคน ว่า การตรวจสอบโดยหน่วยงานอิสระและหน่วยงานสาธารณะ จะช่วยให้บริษัทแห่งนี้เข้าใจถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของตนที่เกี่ยวข้องกับประเด็น “ความเท่าเทียมกันทางเชื้อชาติ สิทธิพลเมือง และการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ” ได้ดีขึ้น

ทางกลุ่มยังระบุในจดหมายดังกล่าวด้วยว่า “พนักงานผิวสีของ Google ต้องเผชิญกับบรรยากาศการทำงานที่ไม่เป็นมิตร จากพนักงานคนอื่นๆ ที่แสดงอาการเหยียดเชื้อชาติ ขณะที่พนักงานของ Google ที่เป็นชาวผิวสีต้องรับภาระในการให้ความรู้กับเพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่ง ถูกตอบโต้จากการที่ออกมาเตือนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ คุณลักษณะของบริการ หรือนโยบาย ที่เลือกปฏิบัติ”

รายงานข่าวระบุว่า การตรวจสอบปัญหาความเท่าเทียมกันทางเชื้อชาตินั้นมักเป็นหน้าที่ของหน่วยงานบุคคลที่ 3 ที่จะทำการวิเคราะห์รูปแบบการทำธุรกิจของบริษัทนั้นๆ โดยพิจารณาตั้งแต่เรื่องของนโยบาย ไปจนถึงผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อหาข้อสรุปว่า ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิด หรือตอกย้ำ หรือทำให้ปัญหาการเลือกปฏิบัติในองค์กรนั้นฝังรากลึกยิ่งกว่าเดิมหรือไม่

ก่อนหน้านี้ กลุ่ม Color of Change เคยกดดันให้บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งต้องดำเนินการตรวจสอบภายในดังว่าไปแล้ว โดยในปีที่แล้ว ทางกลุ่มได้ดำเนินแผนรณรงค์การคว่ำบาตรการลงโฆษณากับบริษัท Facebook เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลที่แสดงการเลือกปฏิบัติ และในเวลานี้ กลุ่มเคลื่อนไหวนี้กำลังเดินหน้าวิพากษ์วิจารณ์ YouTube ว่าให้การอุปถัมภ์บรรดา Influencer (อินฟลูเอนเซอร์) หรือ ผู้มีอิทธิพลบนสื่อสังคมออนไลน์ ให้ทำการเผยแพร่ข้อมูลแนวชาตินิยมผิวขาว และแนวคิดสุดโต่งอื่นๆ บนแพลตฟอร์มของตน

บลูมเบิร์ก รายงานว่า ขณะที่ Google ประกาศว่า บริษัทได้สร้างตำแหน่งงานเพื่อให้การสนับสนุนพนักงานที่ถูกจัดว่าเป็นชนกลุ่มน้อยและให้คำแนะนำแนวทางอาชีพ รวมทั้งดำเนินมาตรการตรวจสอบต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการประเมินผลงานของพนักงานทุกคนจะเป็นไปอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน บริษัทกลับมีปัญหาเกี่ยวกับทีมงานด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของตน โดยทีมงานดังกล่าวต้องสลายตัวลงเมื่อเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว หลัง ทิมนิต เกบรู พนักงานด้านวิจัยคนสำคัญซึ่งเป็นชาวผิวสี และ มาร์กาเร็ต มิตเชลล์ ซึ่งเพื่อนร่วมงานนำทีมวิจัย ยุติการทำงานกับบริษัท เนื่องจากผู้บริหารไม่เห็นด้วยกับรายงานชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

เกบรู ซึ่งมีชื่อเสียงจากผลงานการศึกษาปี 2018 ที่ชี้ว่า ระบบการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) บางระบบมีประสิทธิภาพต่ำ เมื่อต้องแยกแยะคนที่มีสีผิวเข้ม และ มิตเชลล์ กล่าวหลังออกมาจาก Google ว่า บริษัทแห่งนี้มีปัญหาด้านวัฒนธรรมที่เหยียดเพศและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ทั้งคู่ถูกกันไม่ให้เข้าร่วมงานด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์

ที่มา: VOA, 1/5/2021

แรงงานเวียดนามเข้าเมืองผิดกฎหมาย กลายเป็นผู้ต้องหาร่วมที่ทำรถบรรทุกไหลลงทางรถไฟ จนเกิดอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การรถไฟไต้หวัน

อุบัติเหตุครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การรถไฟไต้หวัน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2021 เวลา 09.28 น. ขณะที่รถไฟด่วนไท่หลู่เก๋อ ขบวนที่ 408 วิ่งจากสถานีซู่หลินในนครนิวไทเป ไปยังเมืองไถตง ระหว่างที่วิ่งออกจากอุโมงค์เหรินเหอ และกำลังจะวิ่งเข้าอุโมงชิงสุย ระยะทางห่างระหว่างอุโมงค์ทั้งสอง 287 เมตร แต่ก่อนถึงปากอุโมงค์ชิงสุ่ย มีรถบรรทุกติดเครนที่ไหลลงมาจากเขาข้างทางขวางบนราง รถไฟด่วนที่วิ่งด้วยความเร็ว 125 กม.ต่อชม. และห่างจากรถบบรทุกที่ขวางทางเพียง 250 เมตร  และเป็นทางโค้ง กว่าจะมองเห็น เหลือเวลาตอบสนองเพียง 4 วินาที พนักงานขับรถไฟพยายามเปิดหวูดและเบรกกะทันหัน แต่ไม่ทัน พุ่งชนรถบรรทุกและลากเขาไปในอุโมงค์ทำให้หัวขบวนรถไฟตกราง ตู้รถไฟตู้ต่อๆ มากระแทกและอัดอยู่ในอุโมงค์ พนักงานขับรถไฟและผู้โดยสารรวม 492 คน เสียชีวิต 49 ราย บาดเจ็บ 218 ราย

ต้นเหตุของการเกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ต้องบอกว่าเกิดจากความมักง่ายของผู้รับเหมาซ่อมบำรุงทางรถไฟและความบกพร่องในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การรถไฟที่ปล่อยปละละเลยไม่สอดส่องดูแลว่า ผู้รับเหมาทำตามในสัญญาหรือไม่ และเหตุที่นำเรื่องนี้มาเล่าซ้ำอีกครั้ง เพราะมีแรงงานเวียดนามผิดกฎหมายรายหนึ่ง ชื่อเล่นว่า อาห่าว ผัวพันกับคดีนี้ กลายเป็นผู้ต้องหาร่วมที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย นี่เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรง

เรื่องของเรื่องคือ อาห่าว ซึ่งเดินทางมาทำงานที่ไต้หวัน ตั้งแต่ปี 2014 ทำงานในโรงงานครบ 3 ปี ไม่อยากกลับประเทศ ใช้วิธีหลบหนีไปทำงานที่ฮัวเหลียน กับนายหลี่อี้เสียง ผู้รับเหมางานซ่อมบำรุงทางรถไฟ โดยเป็นผู้ช่วยของนายหลี่ ตั้งแต่ปี 2017 ในวันเกิดเหตุ นายหลี่และอาห่าวไปทำงานที่ไซต์งาน ทั้งๆ ที่ในวันนั้นเป็นวันหยุด ตามสัญญาห้ามไปทำงาน เพราะขบวนรถไฟจะเยอะเป็นพิเศษ แต่ด้วยความที่นายหลี่ เกรงว่า โครงการจะล่าช้า กลัวถูกปรับวันละ 120,000 เหรียญไต้หวัน เลยแอบไปทำงาน จากกล้องบันทึกวงจรปิดในไซต์งาน และกล้องบันทึกการเดินรถของรถไฟด่วนขบวนที่ 408 ก่อนเกิดเหตุ พบนายหลี่ขับรถบรรทุกติดเครนและกลับรถกลางทางเขา หัวรถบรรทุกไปติดต้นไม้ทางไหลเขา แทนที่จะเรียกรถลากมา นายหลี่สั่งอาห่าวเอาเชือกลากรถมาผูกที่ท้ายรถบรรทุกกับรถแบคโฮ จากนั้นสั่งให้ขับรถแบคโฮลากรถบรรทุกขึ้นมา แต่เชือกลากรถผูกไม่แน่นหนา ทำให้ลากไปได้นิดเดียว เชือกเกิดหลุด รถบรรทุกกระตุกหน่อยไหลลงเขาไปขวางทางรถไฟ เมื่อเห็นเช่นนี้ แรงงานเวียดนามตกใจวิ่งไปโบกไม้โบกมือเพื่อให้รถไฟที่โผล่ออกจากอุโมงค์เห็นจะได้หยุด แต่ไม่ง่ายที่พนักงานขับรถไฟจะเห็น ส่วนนายหลี่แทนที่จะรีบโทรศัพท์ให้ศูนย์ควบคุมของการรถไฟ เพื่อแจ้งพนักงานขับรถขบวนดังกล่าวหยุดเดินรถ ด้วยความกลัวจ้างแรงงานต่างชาติทำงานอย่างผิดกฎหมาย จะถูกปรับหนัก นายหลี่กลับสั่งให้อาห่าวรีบขี่มอเตอร์ไซค์หลบหนีไปกบดานที่บ้านเพื่อน กระทั่งตำรวจรู้ว่า นายหลี่ไม่ได้ไปที่ไซต์งานคนเดียว และรถบรรทุกไม่ได้ไหลลงไปเองอย่างที่นายหลี่โกหก และแกะรอยจนจับนายอาห่าวมาดำเนินคดีจนได้

อาห่าว ถูกตั้งข้อหาร่วมกับนายหลี่ฆ่าคนโดยประมาท ฝ่ายพี่สาว ซึ่งแต่งงานมาอยู่ที่ไต้หวันร้องว่า น้องชายขับรถไม่เป็น และเป็นลูกจ้าง นายจ้างสั่งให้ทำอะไรก็ต้องทำ เรียกร้องอัยการตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความเป็นธรรมด้วย ตัวอาห่าวเองคงไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า ตนจะมาพัวพันคดีใหญ่ที่ทำผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์การรถไฟ

ที่มา: Radio Taiwan International, 2/5/2021

ฮ่องกงระงับแผนการบังคับให้แม่บ้านต่างชาติต้องฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 หลังถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ

นางแคร์รี่ หล่ำ ผู้บริหารฮ่องกงแถลงว่าทางการได้ระงับนโยบายบังคับให้แม่บ้านต่างชาติต้องฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 หลังถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ แม้ทางการฮ่องกงจะยื่นยันว่านโยบายนี้ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ หลังจากพบแม่บ้านฟิลิปปินส์คนหนึ่งติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่แพร่กระจายเชื้อได้ง่ายและแม่บ้านรายนี้ไปพบสังสรรค์กับเพื่อนก่อนทราบผลตรวจว่าเป็นบวก จึงต้องตรวจเพื่อเป็นการป้องกันล่วงหน้า

ด้านกลุ่มสิทธิแรงงานฟิลิปปินส์ในฮ่องกงยินดีที่ทางการฮ่องกงสั่งระงับการบังคับฉีดวัคซีน แต่อยากให้เป็นการตรวจหาเชื้อและฉีดวัคซีนโดยสมัครใจ เพราะการบังคับทำให้แม่บ้านต่างชาติถูกเลือกปฏิบัติและถูกตราหน้า

ส่วนการบังคับตรวจหาเชื้อกับแม่บ้านต่างชาติ 370,000 คน ทางการฮ่องกงระบุว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พ.ค. 2021

ที่มา: Thomson Reuters Foundation, 4/5/2021

ผลสำรวจชี้คนทำงาน 'ออสเตรเลียน-นิวซีแลนด์' 47% พร้อมลาออกหากงานไม่ยืดหยุ่นในยุคหลัง COVID-19

ผลสำรวจพนักงานชาวออสเตรเลียนและนิวซีแลนด์ซึ่งจัดทำโดย Ernst & Young Global ระบุว่าประมาณ 47% ระบุว่าพวกเขายินดีลาออกจากงานมากกว่าจะกลับไปทำงานที่มีตารางงานที่เข้มงวดแบบครั้งเมื่อก่อนที่จะมีสถานการณ์ระบาดของ COVID-19

และเมื่อให้เลือกระหว่างความยืดหยุ่นของสถานที่ทำงานและเวลาการทำงานแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถาม 52% เลือกความยืดหยุ่นของเวลาการทำงาน ขณะที่ 40% เลือกความยืดหยุ่นของสถานที่ทำงาน

นอกจากนี้ผลสำรวจระบุว่า 55% ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นด้วยว่าการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ควรจะเป็นข้อบังคับเพื่อให้แรงงานทุกคนกลับมาทำงานได้อย่างปลอดภัย โดยมีผู้ไม่เห็นด้วย 23%

ที่มา: Bloomberg, 5/5/2021

หยุดยาววันแรงงานทั่วประเทศจีนมีผู้เดินทางท่องเที่ยวราว 230 ล้านคน

สถิติจากศูนย์ข้อมูลกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน ระบุว่า ในช่วงหยุดยาววันแรงงานปีนี้ ทั่วประเทศจีนมีผู้ออกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศประมาณ 230 ล้านคน เพิ่มขึ้น 119.7% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน กลับมาอยู่ที่ระดับ 103.2% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของช่วงก่อนหน้าเกิดโรคระบาด ขณะที่การปฏิบัติตามมาตรการจองคิวล่วงหน้า จำกัดเวลาและปริมาณการเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ อย่างจริงจังได้กลายเป็นภาวะปกติใหม่

ในช่วงวันแรงงาน สถานที่ท่องเที่ยวระดับชาติราว 12,000 แห่งเปิดให้บริการตามปกติ คิดเป็น 90% ของสถานที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศ โดยแหล่งท่องเที่ยวระดับ 5A รับรองนักท่องเที่ยวประมาณ 48 ล้านคน

ปีนี้ แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ อาศัยแพลตฟอร์มอัจฉริยะและเว็บไซต์การท่องเที่ยวพยากรณ์และบริหารการไหลเวียนของนักท่องเที่ยวอย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ปีนี้ยังเป็นวาระครบรอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีน การท่องเที่ยวธีมสีแดงจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีการเปิดตัวเส้นทางการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ รวมถึงการท่องเที่ยวสีแดง+การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตพื้นบ้าน การท่องเที่ยวทัศนศึกษา และการท่องเที่ยวชนบท ส่วนการแสดงแสงสียามค่ำคืนต้องตอบสนองความต้องการท่องเที่ยวกลางคืนของนักท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคยามค่ำคืนได้กลายเป็นเรื่องปกติแล้ว

ที่มา: China Radio International, 6/5/2021

สภาการพยาบาลสากลเรียกร้องจัดลำดับฉีดวัคซีน COVID-19 โดยให้ความสำคัญกับพยาบาลก่อน

สภาการพยาบาลสากล (International Council of Nurses - ICN) ได้ออกมาเรียกร้องการจัดลำดับฉีดวัคซีน COVID-19 โดยให้ความสำคัญกับพยาบาลก่อน

นอกจากนี้ ICN ยังระบุว่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนข้อเสนอของ WTO ในการระงับสิทธิบัตรวัคซีน COVID-19 ชั่วคราว ซึ่งจะเป็นการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีน รวมทั้งเรียกร้องให้ประเทศที่มีคำสั่งซื้อวัคซีนมากเกินไปให้แบ่งปันกับประเทศที่ต้องการมากที่สุดด้วย

ที่มา: ICN, 6/5/2021

กฎหมายประกันและคุ้มครองอุบัติเหตุจากการทำงานฉบับใหม่ของไต้หวัน คุ้มครองเพิ่ม 4 เท่า แรงงานเสียชีวิตในหน้าที่ทายาทรับเงินทดแทนรายเดือน

ไต้หวันผ่านกฎหมายประกันและคุ้มครองอุบัติเหตุจากการทำงาน โดยเป็นกฎหมายที่รวมการป้องกัน ชดเชยเยียวยา และบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้แรงงานที่โชคร้ายประสบอุบัติเหตุจากการทำงานไว้ในฉบับเดียวกัน ครอบคลุมแรงงานทุกคน ประกอบด้วย แรงงานที่เดิมได้รับการคุ้มครองจากกองทุนประกันภัยแรงงานอยู่แล้ว 10.55 ล้านคน

แรงงานที่ได้รับการคุ้มครองใหม่ ได้แก่แรงงานในสถานประกอบการที่ต่ำว่า 4 คน จำนวน 3.3 แสนคน และแรงงานต่างชาติในครัวเรือน 2.3 แสนคน รวมทั้งหมด 11.11 ล้านคน เมื่อโชคร้ายประสบอุบัติเหตุเจ็บป่วย ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตจากการทำงาน จะได้รับเงินชดเชยหรือเงินทดแทนมากกว่าเดิม โดยนายจ้างเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันทั้งหมดตั้งแต่ 41-153 เหรียญต่อคนต่อเดือน โดยแรงงานเสียชีวิตในหน้าที่ ทายาทรับเงินทดแทนรายเดือนจากเดิม 3,000 TWD เป็นต่ำสุดเดือนละ 12,000 TWD จนกว่าจะสูญสิ้นคุณสมบัติ มีผล 1 พ.ค. 2021

ที่มา: Radio Taiwan International, 7/5/2021

คนทำงานภาคสาธารณสุขเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ เจอศึก 2 ด้านทั้งจาก COVID-19 และการเหยียดเชื้อชาติ

สำนักข่าว AP สัมภาษณ์นักเรียนแพทย์ "Natty Jumreornvong" เธอกล่าวถึง “ศึก 2 ด้าน” ของบุคลากรด้านการเเพทย์ในอเมริกาที่มาจากความเสี่ยงของ COVID-19 และการถูกเหยียดเชื้อชาติ แหล่งข่าวผู้นี้กล่าวว่าเคยมีคนไข้จากแผนกจิตเวช เรียกเธอด้วยคำที่เเฝงการเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชีย นักเรียนแพทย์เชื้อสายไทยรายนี้กล่าวว่าเธอเคยถูกไล่ด้วยประโยคที่ว่า “go back to China” หรือ "กลับไปจีนซะเถอะ"

และเมื่อเดือน ก.พ. 2021 ที่ผ่านมา ขณะที่เธอยังสวมชุดเจ้าหน้าที่การเเพทย์อยู่ก็มีชายคนหนึ่งเดินมาหาเธอและพูดว่า “Chinese virus” หรือ "ไวรัสจีน" และยังคว้าโทรศัพท์ไปพร้อมทั้งดึงตัวเธออีกด้วย ซึ่งเจ้าตัวก็ได้แจ้งตำรวจไปแล้ว Natty ซึ่งเรียนอยู่ที่ the Icahn School of Medicine ที่นครนิวยอร์ก บอกกับ AP ว่าประสบการณ์ "สู้ศึก 2 ด้าน" ของเธอคือสิ่งท้ายทายของเจ้าหน้าที่การเเพทย์เชื้อสายเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก หรือ AAPI (Asian and Pacific Islander) ในอเมริกาจำนวนมาก

นักศึกษาเเพทย์อีกผู้หนึ่งที่ชื่อ Hueyjong “Huey” Shih ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์กเช่นกัน กล่าวว่าเคยถูกตั้งข้อสันนิษฐานโดยเพื่อนร่วมงานว่าเขาเป็นลูกโทนเพราะน่าจะมาจากประเทศจีนที่เคยมีนโยบายให้ประชากรมีบุตรเพียงคนเดียว ทั้ง ๆ ที่เขามาจากไต้หวัน

ทั้งนี้ประชากรกลุ่ม AAPI คิดเป็นร้อยละ 6 ถึง 8 ของคนอเมริกันทั้งหมด และร้อยละ 20 ของผู้มีอาชีพเภสัชกรและหมอที่ไม่ใช้ศัลยแพทย์ ถ้าพิจารณาถึงเฉพาะกลุ่มศัลยแพทย์ ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก มีสัดส่วนร้อยละ 12 ถึง 15 ของผู้ประกอบอาชีพดังกล่าว

ก่อนเกิดการระบาดของโคโรนาไวรัส การศึกษาพบว่า เเพทย์เชื้อสายเอเชียในอเมริการ้อยละ 31 ถึง 50 เคยถูกเหยียดเชื้อชาติสีผิว เช่นคนไข้ไม่ขอรับการรักษา ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าการเหยียดเชื้อชาติสีผิวต่อแพทย์ผิวดำ แต่สูงกว่ากลุ่มฮิสเเปนิก

ในประวัติศาสตร์ เจ้าหน้าที่รัฐในอเมริกาเคยกล่าวโทษอย่างผิด ๆ ว่าเขตไชน่าทาวน์ของซานฟรานซิสโก เป็นสาเหตุของการระบาดของโรคฝีดาษ ในช่วงทศวรรษที่ 1870 ชาวจีนยังเคยถูกห้ามเข้าสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายแรงงานปี 1882 และชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นก็เคยถูกบังคับใช้แรงงานในสหรัฐฯ แม้ว่าญาติของพวกเขาจำนวนมากร่วมรบในกองทัพอเมริกันช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ที่มา: VOA, 8/5/2021

นร.-นศ.ต่างชาติในออสเตรเลียจะไม่ถูกจำกัดชั่วโมงทำงานด้านบริการและท่องเที่ยวอีกต่อไป

สื่อออสเตรเลียรายงานว่าผู้ถือวีซ่านักเรียน-นักศึกษา ที่ได้รับการจ้างงานในอุตสาหกรรมการบริการ (hospitality) และการท่องเที่ยว จะไม่ถูกจำกัดชั่วโมงการทำงานอีกต่อไป ภายใต้มาตรการใหม่ที่จะถูกรวมไว้ในร่างงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลสหพันธรัฐ

นักเรียนต่างชาติจะถูกยกเลิกการจำกัดชั่วโมงทำงาน หากพวกเขากำลังถูกว่าจ้างในอุตสาหกรรมการบริการ (hospitality) และการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญสำหรับคนจำนวนมากที่ต้องพึ่งพางานประเภทนี้

จากการประมาณการณ์ของรัฐบาลนั้น มีนักเรียนต่างชาติราว 300,000 คนในออสเตรเลีย ที่ถูกจำกัดชั่วโมงทำงานให้ทำได้ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อ 2 สัปดาห์ ขณะกำลังเรียนอยู่ แต่เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ ตอนนี้รัฐบาลจะยกเลิกข้อจำกัดชั่วโมงการทำงานสำหรับผู้ถือวีซ่านักเรียน ที่กำลังได้รับการว่าจ้างในอุตสาหกรรมเหล่านี้ หลังได้รับความเห็นอย่างแข็งขันในเรื่องนี้จากกลุ่มอุตสาหกรรม

ที่มา: SBS, 10/5/2021

โครงการก่อสร้างในสิงคโปร์ล่าช้า เพราะปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างชาติ หลังคุมเข้มมาตรการป้องกัน COVID-19

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติของสิงคโปร์ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจรับมือการแพร่ระบาดของ COVID-19 กล่าวในรัฐสภาว่า โครงการก่อสร้างใหม่ ๆ จำนวนมากจะล่าช้าออกไปอีก 1 ปีหรือมากกว่านั้น ขณะที่บริษัทในภาคการขนส่งทางทะเลและภาคการผลิตนั้น อาจจะต้องละทิ้งโอกาสใหม่ ๆ เนื่องจากบริษัทใดก็ตามที่ต้องการนำเข้าแรงงานต่างชาติจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูงจะเผชิญกับความล่าช้าอย่างมาก และเวลารอการอนุมัติการเข้าประเทศอาจจะนานกว่า 6 เดือน

ที่มา: CNA, 11/5/2021

นักวิเคราะห์ชี้นโยบายช่วยคนว่างงานของไบเดน อาจทำให้คนอเมริกันเลิกหางานมากขึ้น

สถิติตัวเลขผู้ที่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ อีกครั้งในเดือน เม.ย. 2021 ที่เพียง 266,000 คน แทนที่จะสูงถึงระดับ 1 ล้านคนอย่างที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตั้งข้อสังเกตว่านโยบายช่วยเหลือคนว่างงานของรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน อาจเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนไม่สนใจหางานทำในช่วงที่ผ่านมา

ภายใต้แผนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รอบล่าสุด รัฐบาลกรุงวอชิงตันอนุมัติเงินช่วยเหลือผู้ว่างงานให้อีกสัปดาห์ละ 300 ดอลลาร์ต่อราย ซึ่งเป็นส่วนเพิ่มเติมจากเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลแต่ละรัฐมอบให้อยู่แล้ว พร้อมขยายสวัสดิการสำหรับผู้ว่างงานในส่วนอื่นๆ ด้วย

เมื่อพิจารณาสถิติผู้กลับเข้าทำงานใหม่ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยออกมา ควบคู่กับ รายงานล่าสุดจากสำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐฯ (U.S. Bureau of Labor Statistics – BLS) ที่ชี้ว่ามีตำแหน่งงานเปิดใหม่ถึง 8.1 ล้านตำแหน่งทั่วประเทศ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2021 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีการเริ่มเก็บตัวเลขมาในปี ค.ศ. 2000 หลายคนเริ่มเชื่อมากขึ้นว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยเลือกจะไม่ออกไปหางานทำและอยู่บ้านรับสวัสดิการดีกว่า

ในเวลานี้ กลุ่มธุรกิจต่างๆ เช่น หอการค้าสหรัฐฯ ได้ออกมาโทษนโยบายขยายสวัสดิการคนว่างงานของรัฐบาล ปธน.ไบเดน ว่าเป็นเหมือน “การจ้างคนไม่ให้ออกไปทำงาน” แล้ว

แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าความเห็นของภาคเอกชนที่ว่านี้เป็นความจริงมากเพียงใด นักการเมืองทั้งระดับรัฐและระดับชาติหลายรายเริ่มส่งเสียงสนับสนุนคำกล่าวโทษดังกล่าวบ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกัน ที่ออกมาประณามรัฐบาลและเรียกร้องให้มีการยุตินโยบายช่วยเหลือคนว่างงานล่าสุดนี้โดยทันทีแล้ว

อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ที่สนับสนุนแผนช่วยคนว่างงานของรัฐบาล ปธน.ไบเดนอยู่ อาทิ เคท บาห์น ผู้อำนวยการด้านนโยบายตลาดแรงงานของ ศูนย์ Washington Center for Equitable Growth ที่ย้ำว่าขณะที่สหรัฐฯ ยังอยู่ท่ามกลางภาวการณ์ระบาดใหญ่ของ COVID-19  อยู่นี้ การเสนอความคิดที่จะให้ยกเลิกสวัสดิการว่างงาน เพียงเพื่อผลักดันให้คนออกไปสมัครงานมากขึ้นนั้นเป็น “การบังคับให้คนกลับเข้าทำงานในสภาวะที่ยังไม่ปลอดภัย” มากกว่า

ที่มา: VOA, 13/5/2021

ไต้หวันหารือประเด็นขยายระยะเวลาทำงานของแรงงานต่างชาติเกิน 12 ปี

ไต้หวันกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก โดยเฉพาะแรงงานกึ่งฝีมือ ซึ่งได้รับผลกระทบจาก 3 ปัจจัยใหญ่ ได้แก่ สถานการณ์โควิดทั่วโลกที่รุนแรงมาตั้งแต่ต้นปี 2020 ส่งผลให้การเดินทางของแรงงานต่างชาติมีอุปสรรค รัฐบาลเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการผลักดันโครงการเมกโปรเจกต์ ต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก รวมถึงนักธุรกิจไต้หวันแห่ย้ายกลับมาลงทุนในมาตุภูมิมากขึ้น หาคนงานเข้าทำงานไม่ได้ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ผู้ประกอบการมีเสียงเรียกร้องดังกระหึ่มมากขึ้น จนประธานาธิบดีไช่อิงเหวินเคยรับจะแก้ปัญหาเรื่องนี้และกล่าวว่า ไต้หวันจะไม่ยอมเป็นสถานฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานต่างชาติให้ประเทศอื่นอีกต่อไป ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและกระทรวงเศรษฐการ ก็เคยกล่าวต่อนักธุรกิจว่า การขยายระเวลาทำงานของแรงงานต่างชาติออกไปอีก 2 ปี เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้ประกอบการ เป็นประเด็นที่หารือกันได้ แต่เสียงเรียกร้องของผู้ประกอบการที่ต้องการให้ขยายระยะเวลาการทำงานของแรงงานต่างชาติ จากปัจจุบันที่กำหนดไม่เกิน 12 ปีเป็น 15 ปี หรือบางกลุ่มเรียกร้องให้ขยายไปถึง 20 ปีเลย กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานเผย ทั้งหมดติดอยู่ที่ปัญหาเงินบำนาญชราภาพรายเดือน กล่าวคือ ตามกฎหมายการจ้างงานในปัจจุบัน แรงงานต่างชาติทำงานไม่ครบ 15 ปี มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพเป็นก้อนครั้งเดียว แต่หากขยายระยะเวลาการทำงานออกไปครบหรือเกิน 15 ปี แรงงานต่างชาติจะมีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน

ที่มา: Radio Taiwan International, 14/5/2021

ญี่ปุ่นจะพิจารณามาตรการส่งเสริมการขี่จักรยานไปทำงาน

กระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค คมนาคม และการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น จะเริ่มศึกษาหนทางในการทำให้ผู้คนเดินทางไปทำงานด้วยจักรยานได้ง่ายขึ้น โดยรวมไปถึงการสนับสนุนทางการเงินสำหรับบริษัทที่สร้างที่จอดจักรยานสำหรับผู้ที่มาทำงานด้วยจักรยาน

ทางกระทรวงได้ออกร่างแผนที่ใช้ไปจนถึงปีงบประมาณ 2025 เพื่อสนับสนุนการใช้จักรยานไปทำงาน โดยนี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของทางกระทรวงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยการท่องเที่ยว และทำให้สุขภาพของคนทำงานดีขึ้น

ภายใต้แผนนี้ ทางกระทรวงตั้งเป้าเพิ่มการใช้งานจักรยานในการไปทำงานให้ถึงร้อยละ 18.2 จากวิธีการเดินทางไปทำงานทั้งหมดภายในปีงบประมาณ 2025 โดยเทียบกับร้อยละ 15.2 ในปีงบประมาณ 2015

เจ้าหน้าที่จะพิจารณามาตรการทางงบประมาณและภาษี ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ สร้างพื้นที่จอดจักรยาน นอกจากนี้ แผนนี้ยังรวมไปถึงการสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบขี่จักรยาน อีกทั้งยังกำหนด “เส้นทางจักรยานแห่งชาติ” เพื่อพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยทางกระทรวงมีแผนจะสรุปแผนนี้ภายในช่วงปลายเดือน พ.ค. 2021 นี้

ที่มา: NHK, 16/5/2021

คนทำงานคอปกขาวส่วนใหญ่ที่สหรัฐฯ ยังอยากทำงานทางไกลต่อเนื่อง แม้วิกฤต COVID-19 จะคลี่คลาย

ก่อนที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) จะประกาศเมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2021 ว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ครบโดสแล้ว ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยได้ในพื้นที่สาธารณะ แต่จากการสำรวจของ Gallup ที่ได้ทำการสำรวจชาวอเมริกันอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ทำงานระยะไกลอย่างน้อย 10% ในรอบสัปดาห์ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 - เม.ย. 2021 พบว่าคนทำงานในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ ยังทำงานจากระยะไกลตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดใหญ่เมื่อปี 2563 เป็นต้นมา และในเดือน เม.ย. 2564 นี้ยังมีถึงร้อยละ 52

สัดส่วนของคนทำงานคอปกขาวที่ทำงานทางไกลมีถึงร้อยละ 72 ส่วนคนงานปกน้ำเงินมีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น อัตราส่วนนี้ค่อนข้างคงที่ตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา ที่ลดลงจากจุดสูงสุดของการระบาดในสหรัฐฯ เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2021 เมื่อโรงเรียนและธุรกิจส่วนใหญ่ต้องปิดตัวลง

ข้อมูลระหว่างเดือน ต.ค. 2563 - เม.ย. 2021 พบคนทำงานที่มีสัดส่วนทำงานทางไกลสูงสุด ได้แก่อาชีพเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และการคำนวณทำงานทาไกลสัดส่วนสูงสุดถึง ร้อยละ 86 อาชีพเกี่ยวกับสังคมศาสตร์ ร้อยละ 86 อาชีพเกี่ยวกับบริการทางการเงิน ประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ หรือที่ปรึกษา ร้อยละ 80

กลุ่มอาชีพอื่น ๆ ที่มีอัตราการทำงานระยะไกลสูงรองลงมา ได้แก่ สาขากฎหมาย ร้อยละ 74 การศึกษาการฝึกอบรมหรืองานห้องสมุด ร้อยละ 69 สถาปัตยกรรม / วิศวกรรม ร้อยละ 67 คนทำงานในชุมชนหรือบริการสังคม ร้อยละ 60  และเสมียน หรือพนักงานออฟฟิศ ร้อยละ 56

ส่วนอาชีพที่มีสัดส่วนการทางไกลน้อยที่สุด ได้แก่ พนักงานในโรงงาน ร้อยละ 8 พนักงานบริการ ร้อยละ 9 พนักงานด้านการขนส่ง ร้อยละ 14 พนักงานงาน ร้อยละ 36 และคนทำงานภาคการดูแลสุขภาพ ร้อยละ 33

นอกจากนี้ร้อยละ 35 ของพนักงานประจำทั้งหมดที่ตอบแบบสอบถามระบุว่าหากเลือกได้พวกเขาจะทำงานจากระยะไกลต่อไปให้ยาวนานที่สุด ในขณะเดียวกันร้อยละ 17 เลือกที่จะกลับไปที่สำนักงาน ขณะที่เหลืออีกร้อยละ 48 ไม่ได้ทำงานจากระยะไกล

จากการสำรวจของ Gallup พบว่า 'คนทำงานคอปกขาว' (ทำงานในออฟฟิศ หรืออาชีพที่ต้องใช้ทักษะสูง) ประมาณ 4 ใน 10 ระบุว่าหากเลือกได้พวกเขาจะทำงานจากระยะไกลให้ยาวนานที่สุดเท่าที่สุด

ที่มา: Gallup, 17/5/2021

ไต้หวันเล็งออกกฎใหม่ จำกัดผู้อนุบาลย้ายงานข้ามตำแหน่งไปทำงานภาคการผลิตระหว่างสัญญา

สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงต่อเนื่อง การเดินทางข้ามประเทศมีอุปสรรค ประกอบกับแรงงานอินโดนีเซียที่ครองสัดส่วนผู้อนุบาลในไต้หวันร่วม 80% เนื่องจากตรวจพบติดเชื้อโควิดจำนวนมาก ถูกระงับการเดินทางเข้าไต้หวันชั่วคราวมาตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลขาดแคลนแรงงานต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะตำแหน่งผู้อนุบาล เนื่องจากเป็นงานหนัก ทำงานอย่างไม่มีเวลาหยุดพักที่แน่นอน แถมค่าจ้างต่ำกว่าแรงงานภาคการผลิต ทำให้มีผู้อนุบาลที่ยังไม่ครบสัญญาขอโอนย้ายไปทำงานในโรงงาน หรือที่เรียกกันว่าฟอกงานกันมากขึ้น จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานพบว่า ปี 2020 ที่ผ่านมาตลอดทั้งปี มีผู้อนุบาลยื่นขอโอนย้ายไปทำงานในโรงงาน 287 ราย แต่ปี 2021 เพียงแค่ 3 เดือนแรก ยื่นขอโอนย้ายไปทำงานในโรงงานแล้ว 1,023 ราย ตัวเลขพุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจ หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป นายจ้างที่ต้องการจะว่าจ้างผู้อนุบาลจะประสบปัญหาอย่างหนัก

ต่อสถานการณ์ดังกล่าว นางสวี่หมิงชุน รมว. กระทรวงแรงงานตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภานิติบัญญัติว่า โดยหลักการแล้ว จะไม่อนุญาตให้ผู้อนุบาลโอนย้ายงานข้ามตำแหน่งไปทำงานภาคการผลิต ยกเว้นแต่ในกรณีได้รับการปฏิบัติจากนายจ้างอย่างไม่ถูกกฎหมาย เช่นมีการทำร้ายหรือผิดสัญญาจ้าง หรือนายจ้างเดิม นายจ้างใหม่และตัวผู้อนุบาลเองยินยอมย้ายงานทั้ง 3 ฝ่าย และนายจ้างใหม่ต้องมีคุณสมบัติว่าจ้างแรงงานต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังๆ มีนายจ้างจำนวนมากร้องเรียนว่า ผู้อนุบาลของตนต้องการจะย้ายงานไปทำในโรงงาน เมื่อไม่ยอม ผู้อนุบาลจะใช้วิธีอู้งาน หรือแกล้งทำงานผิดพลาด เพื่อบีบให้นายจ้างยอมให้ตนย้ายงานได้ หากนายจ้างรายใดประสบปัญหาดังกล่าว สามารถร้องเรียนต่อกองแรงงานได้ หากตรวจสอบแล้วเป็นจริง กระทรวงแรงงานจะไม่อนุญาตคำร้องขอย้ายงานของผู้อนุบาลรายนั้นๆ และจากสภาพการณ์ดังกล่าว กระทรวงแรงงานกำลังทบทวนมาตรการการย้ายงานของผู้อนุบาล โดยมีแนวโน้มว่าจะออกกฎระเบียบใหม่จำกัดผู้อนุบาลที่ยังทำงานไม่ครบสัญญาขอย้ายงานโดยไร้เหตุผล

ที่มา: Radio Taiwan International, 21/5/2021

รัฐควีนส์แลนด์เปิดตัวแคมเปญดึงดูดใจแรงงานด้านการบริการจากทั่วออสเตรเลียให้ย้ายไปทำงาน

แม้ว่าตามพื้นที่กลางใจเมืองนครซิดนีย์ ลูกค้าจะพากันกลับมาแล้ว แต่สำหรับธุรกิจด้านการบริการ (hospitality) หลายๆ แห่งนั้น การขาดแคลนลูกจ้างยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง

นางแอนนาสตาเชีย พาลาส์เชค์ (Annastacia Palaszczuk) มุขมนตรีควีนส์แลนด์ กำลังทำทุกอย่างเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวและลูกจ้างด้านการบริการ (hospitality) ให้มายังพื้นที่ทางเหนือสุดของรัฐควีนส์แลนด์

“โครงการเวิร์ก อิน พาราไดซ์ (Work in Paradise) ของเรา หรืออย่างที่ฉันอยากเรียกมันว่างานในพื้นที่ดั่งสวรรค์ เป็นโครงการที่ให้สิ่งจูงใจ ซึ่งจะให้เงิน 1,500 ดอลลาร์แก่คุณ เพื่อให้คุณมาที่นี่และทำงานที่นี่ เราต้องการคุณ เราต้องการให้คุณมาที่นี่และมาทำงานในพื้นที่ดั่งสวรรค์” นาง พาลาส์เชค์ มุขมนตรีควีนส์แลนด์ กล่าว

โครงการรณรงค์ด้วยทุนดำเนินการ 7.5 ล้านดอลลาร์นี้จะเริ่มต้นตั้งแต่ 1 ก.ค. 2021 นี้ ก่อนฤดูกาลท่องเที่ยวของพื้นที่เหนือสุดของควีนส์แลนด์จะเริ่มขึ้น

นายมาร์ก ออลเซน ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวพื้นที่ร้อนชื้นทางเหนือของควีนส์แลนด์ (Tourism Tropical North Queensland) กล่าวว่า “ที่นี่เป็นสวรรค์ แต่มันไม่ใช่เพราะสวรรค์ที่ทำให้แตกต่าง แต่มันคือผู้ที่ทำให้เกิดความแตกต่าง มันคือแรงงานที่มีทักษะมีความสามารถ ซึ่งสร้างความทรงจำที่น่าประทับใจเหล่านั้นให้เรา และสิ่งที่เราต้องการทำในฤดูหนาวนี้คือ ช่วยเหลือธุรกิจเหล่านั้นมากมาย ที่กำลังพยายามหารายได้มาอุดช่องโหว่ 2,000 ล้านดอลลาร์ที่เกิดเพราะโควิดในปี 2020”

ควีนส์แลนด์มีนักท่องเที่ยวภายในประเทศไหลบ่าเข้าไปเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ผู้ประกอบการท้องถิ่นในควีนส์แลนด์กลับไม่สามารถฉวยประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่เฟื่องฟูขึ้นได้ เนื่องจากการขาดแคลนลูกจ้าง แต่ผู้ประกอบการบางรายถึงขนาดรับการจองเพียงร้อยละ 80 ของศักยภาพที่รองรับได้เท่านั้น

ที่มา: SBS, 22/5/2021

ซูซูกิ มอเตอร์จะระงับการผลิตในบางโรงงานเป็นการชั่วคราวเนื่องจากสารกึ่งตัวนำขาดแคลน

บริษัทซูซูกิ มอเตอร์ ระบุว่าจะหยุดการผลิตที่โรงงานในญี่ปุ่นบางส่วนในเดือน มิ.ย.2021 เนื่องจากการขาดแคลนสารกึ่งตัวนำทั่วโลกยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ต่อไป

โรงงาน 3 แห่ง ในจังหวัดชิซูโอกะ ทางตอนกลางของญี่ปุ่น มีกำหนดหยุดผลิต 3-9 วัน ในเดือน มิ.ย. 2021 หลังจากที่ทางบริษัทได้หยุดโรงงานบางส่วนเป็นการชั่วคราวในเดือนเมษายนและพฤษภาคม

สารกึ่งตัวนำขาดแคลนเนื่องจากหลายเหตุผล เช่น ความต้องการที่สูงขึ้นต่อรถยนต์และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือน เหตุเพลิงไหม้ที่โรงงานผลิตสารกึ่งตัวนำขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในญี่ปุ่นยังทำให้ปัญหานี้หนักขึ้นไปอีก

การขาดแคลนสารกึ่งตัวนำส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นรายอื่นเช่นกัน โตโยต้าจะหยุดสายการผลิตภายในประเทศบางส่วนเป็นเวลาสูงสุดถึง 8 วันในเดือน มิ.ย. 2021

เมื่อเดือน เม.ย. 2021 ซูบารุหยุดการผลิตเป็นเวลา 8 วัน ที่โรงงานแห่งหนึ่งใกล้กรุงโตเกียวและ 10 วัน ที่โรงงานแห่งหนึ่งในสหรัฐ

ที่มา: NHK, 24/5/2021

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net