Skip to main content
sharethis

Toyota ตกลงจ่ายค่าเสียหายพร้อมขอโทษ กรณีพนักงานเครียดงานจนฆ่าตัวตายเมื่อปี 2010

Toyota ตกลงจ่ายเงินให้กับครอบครัวของพนักงานรายหนึ่งที่ฆ่าตัวตายเมื่อปี 2021 เนื่องจากทำงานหนักเกินไปและถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน หลังศาลตัดสินเมื่อเดือน ก.ย. 2021 ให้การเสียชีวิตของพนักงานคนดังกล่าวถือว่าเกี่ยวข้องกับงาน โดยชี้ว่าผู้ตายมีอาการเครียดอย่างรุนแรงจากการทำงานก่อนที่จะฆ่าตัวตาย

ที่มา: Newsweek, 1/2/2022

ชาวออสเตรเลียเกินครึ่งหนุนปูทางให้ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวได้อยู่ถาวร

งานวิจัยล่าสุดที่พบว่าชาวออสเตรเลียส่วนมากสนับสนุนให้มีหนทางสู่การเป็นประชากรถาวร สำหรับผู้อพยพย้ายถิ่นที่ได้อาศัยและทำงานอยู่ในประเทศนี้เป็นเวลาหลายปี

การสำรวจที่ดำเนินการโดยศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Law Centre) จากชาวออสเตรเลียจำนวน 1,095 คน พบว่า ร้อยละ 78 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเชื่อว่า ผู้ที่อาศัยและทำงานอยู่ที่นี่ด้วยวีซ่าชั่วคราว “ควรมีความมั่นคง เพื่อที่พวกเขาจะได้วางแผนชีวิตในแบบที่พวกเขาต้องการได้”

การสำรวจดังกล่าวมีขึ้นหลังรายงานที่จัดทำโดยศูนย์คนทำงานอพยพย้ายถิ่น (Migrant Workers Centre) เมื่อปีที่ผ่านมาเปิดเผยว่า มีความเชื่อมโยงที่เหนียวแน่นระหว่างการถูกเอารัดเอาเปรียบในสถานที่ทำงาน และผู้มีสถานะวีซ่าชั่วคราว โดยได้ให้เหตุผลว่าควรที่จะมีหนทางที่มากขึ้นในการได้เป็นประชากรถาวรในออสเตรเลีย

ผลสำรวจล่าสุดที่ได้มีการสำรวจเมื่อเดือน ธ.ค. 2021 ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 58 เชื่อว่า ผู้อพยพย้ายถิ่นช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนคนทำงานในงานเฉพาะทาง และอีกร้อยละ 33 เชื่อว่าพวกเขาทำงานที่ได้ค่าจ้างน้อยซึ่งชาวออสเตรเลียไม่ต้องการที่จะทำ

ในบรรดาผู้ที่ได้รับการสำรวจความเห็น ร้อยละ 54 เชื่อว่าผู้อพยพย้ายถิ่นนำความหลายหลายทางวัฒนธรรมมายังออสเตรเลีย และร้อยละ 24 เชื่อว่าผู้อพยพย้ายถิ่นจะชะลอการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของออสเตรเลียได้

ร้อยละ 79 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเห็นด้วยว่า “หากผู้อพยพย้ายถิ่นอาศัยและทำงานอยู่ในออสเตรเลียอยู่แล้วพวกเขาควรที่จะมีหนทางสู่การได้เป็นประชากรถาวร” และร้อยละ 55 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเห็นด้วยว่า “ผู้อพยพย้ายถิ่นควรมีความสามารถในการวางแผนอนาคตของตัวเองที่นี่ไม่ว่าจะถือวีซ่าชนิดใดก็ตาม”

ที่มา: SBS, 3/2/2022

กลุ่มอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 กำลังเผชิญปัญหาเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ

กลุ่มอาสาสมัครกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันในกรุงโตเกียวในวันเสาร์ที่ 5 ก.พ. 2022 เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือท่ามกลางการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่พวกเขาแสดงความกังวลเรื่องการขาดแคลนอาสาสมัคร เนื่องจากยอดติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พุ่งสูงขึ้น

กลุ่มให้ความช่วยเหลือกลุ่มหนึ่งจัดกิจกรรมเดือนละ 2 ครั้งที่สวนฮิงาชิ-อิเกบูกูโระชูโอในเขตโทชิมะ สำหรับผู้คนที่ประสบปัญหาขาดรายได้เนื่องจากตกงานหรือรายได้ลดลง ผู้คนที่มาขอรับความช่วยเหลือที่กิจกรรมนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทางกลุ่มแจกจ่ายเสื้อผ้าและอาหารโดยแยกวันกัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของการติดเชื้อโดยเริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. 2022 บรรดาอาสาสมัครได้มอบเสื้อผ้า อุปกรณ์กันหนาว รองเท้า และสิ่งของอื่น ๆ ให้ฟรี มีผู้มารับสิ่งของราว 110 คน

คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวคนหนึ่งในช่วงวัย 30 ปีซึ่งต้องเลี้ยงดูลูก 2 คนกล่าวว่า เนื่องจากยอดติดเชื้อที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง เธอจึงไม่ทราบว่าเมื่อไหร่ที่ร้านอาหารซึ่งเธอทำงานอยู่ จะสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีก ที่ผ่านมาเธอดำรงชีวิตด้วยเงินเก็บ และกล่าวว่าเธอไม่มีใครให้พึ่งพิงได้รวมถึงหวังว่าจะสามารถกลับไปทำงานได้ในเร็ววัน

กลุ่มให้ความช่วยเหลือนี้ระบุว่าทางกลุ่มได้จำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่ในงานกิจกรรมดังกล่าวให้อยู่ที่ 25 คน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ส่งผลให้ภาระของเจ้าหน้าที่แต่ละคนหนักขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่บางคนไม่สามารถมาร่วมงานอาสาสมัครได้เนื่องจากติดเชื้อ หรือมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทางกลุ่มเป็นกังวลว่ายอดติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นอาจทำให้การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มถูกจำกัด

ที่มา: NHK, 5/2/2022

'ไบเดน' ชูภาคการผลิตอเมริกันกลับมาแล้ว ระหว่างเยือนโรงงานในเทนเนสซี

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศย้ำว่าภาคการผลิตของสหรัฐฯ กำลังฟื้นคืนสู่ภาวะพร้อมเดินเครื่องเต็มที่อีกครั้ง ระหว่างการเยือนโรงงานแห่งหนึ่งในรัฐเทนเนสซี ที่รับหน้าที่ผลิตระบบชาร์จสำหรับรถพลังงานไฟฟ้าให้กับบริษัทสัญชาติออสเตรเลียแห่งหนึ่ง พร้อมยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการเปลี่ยนให้รถยนต์ที่ใช้ในราชการเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด

ในการเยือนโรงงานแห่งนี้ที่จะผลิตระบบชาร์จสำหรับรถไฟฟ้าจำนวน 30,000 ตัวต่อปี และสร้างงานใหม่ 500 ตำแหน่งให้กับคนในพื้นที่ ปธน.ไบเดน กล่าวว่า สายการผลิตดังกล่าวจะ “ใช้ชิ้นส่วน วัสดุเหล็กและโลหะ ของอเมริกา” และจะมีการตั้งสหภาพแรงงานขึ้นด้วย

ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า ความพยายามของรัฐบาลในการส่งเสริมภาคการผลิตผ่านทุกทิศทางนั้น จะ “ส่งผลเป็นคลื่นกระทบ ... และส่งเสริมให้มีการจ้างงานขึ้นอีกหลายเท่า” และว่า โรงงานผลิตต่างๆ จะเป็นผู้ช่วยผลักดันให้มีการขยายตัวของโรงผลิตเหล็ก ธุรกิจขนาดเล็กที่จัดหาชิ้นส่วน รวมทั้ง โครงการก่อสร้างทั้งหลายทั่วประเทศต่อไป

ที่มา: VOA, 10/2/2022

เผยพนักงานในหลายประเทศเริ่มสนใจรับเงินเดือนเป็น Cryptocurrency มากขึ้น

บริษัท Deel ผู้ให้บริการด้านบัญชีเงินเดือนและบริการด้านการจ้างงานระดับโลก เผยว่าจากฐานข้อมูลพนักงานประมาณ 100,000 คน ใน 150 ประเทศทั่วโลก พบในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีพนักงานราว 2% ให้ความสนใจรับเงินเดือนบางส่วนเป็น Cryptocurrency โดยกว่า 2 ใน 3 เลือกรับ Bitcoin ทั้งนี้พนักงานที่สนใจเลือกรับเงินเดือนเป็น Cryptocurrency นั้น ส่วนมากอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการเงิน

ที่มา: Bloomberg, 11/2/2022

นครนิวยอร์กเลิกจ้างพนักงาน 1,428 คน เพราะไม่ยอมฉีดวัคซีน COVID-19

นครนิวยอร์กประกาศเลิกจ้างพนักงาน 1,428 คน โดยได้ส่งหนังสือแจ้งการเลิกจ้างไปให้ หลังจากที่ได้ลาหยุดแบบไม่รับค่าจ้างมาเป็นเวลาหลายเดือน และไม่ยอมเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรกตามเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้พนักงานส่วนใหญ่ของนครนิวยอร์กจากทั้งหมดประมาณ 370,000 คน ได้รับการฉีดวัคซีนตามกำหนดเวลา โดยข้อมูล ณ เดือน ก.พ. 2022 พนักงานราว 95% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 84% เมื่อมีการประกาศข้อกำหนดการฉีดวัคซีนครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค. 2021

ที่มา: The New York Times, 14/2/2022

พยาบาลในรัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลียหยุดงานประท้วงเรียกร้องขึ้นเงินเดือน-ลดภาระงาน

พยาบาลในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดในออสเตรเลีย หยุดงานประท้วงเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ หลังจากการเจรจากับรัฐบาลเรื่องแก้ปัญหาขาดแคลนคนและขึ้นเงินเดือนไม่ได้ผล

พยาบาลจากโรงพยาบาลมากกว่า 150 แห่ง ทั่วรัฐนิวเซาท์เวลส์เริ่มการผละงานเป็นเวลา 24 ชั่วโมง โดยได้ไปรวมตัวหน้ารัฐสภาในนครซิดนีย์ ถือป้ายประท้วงเรื่องทำงานจนเหนื่อยล้า ขอขึ้นเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 2.5% และขอให้เพิ่มสัดส่วนจำนวนพยาบาลต่อคนไข้ เพื่อลดภาระงานที่หนักขึ้นในช่วงการระบาดของ COVID-19

ที่มา: CNBC, 14/2/2022

เวียดนามจะไม่ปิดโรงงานผลิตทุกประเภท แม้ยอดผู้ติดโรคติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้น

รัฐบาลเวียดนามระบุว่าจะไม่ปิดโรงงานผลิตทุกประเภท แม้ยอดผู้ติดโรคติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้น หลังจากที่เคยใช้นโยบายล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดเมื่อปี 2021 จนกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของร้านค้าปลีกของประเทศตะวันตก ที่มีเวียดนามเป็นแหล่งผลิตสำคัญของแบรนด์ต่างๆ เช่น Nike, Zara, Apple และ Samsung

นอกจากนี้เวียดนามเริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดการระบาดแล้ว โดยให้โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนเมื่อต้นเดือน ก.พ. 2022 และจะยกเลิกมาตรการจำกัดเที่ยวบินโดยสารระหว่างประเทศ แม้ว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 26,000 คน เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2022 ซึ่งถือว่าสูงเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา

ที่มา: The Daily Star, 15/2/2022

ไต้หวันให้แรงงานต่างชาติที่ทำงานครบ 6 ปี ยกระดับเป็น 'แรงงานกึ่งฝีมือ' และหากทำงานในฐานะแรงงานกึ่งฝีมือครบ 5 ปี สามารถยื่นขอถิ่นที่อยู่ถาวรได้

ไต้หวันประสบภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ขณะที่กฎหมายการจ้างงานกำหนดแรงงานต่างชาติทำงานในไต้หวันได้ไม่เกิน 12 ปี สภาบริหารมีนโยบายผ่อนปรนระยะเวลาการทำงานของแรงงานต่างชาติโดยไม่ต้องแก้กฎหมาย กระทรวงแรงงานวางแผนให้แรงงานต่างชาติที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับ 3 เงื่อนไข ได้แก่ทำงานในไต้หวันครบ 6 ปีขึ้นไป มีทักษะฝีมือการทำงาน และนายจ้างยอมจ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้นตามกำหนด สามารถยื่นขอยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือได้ และเมื่อทำงานในฐานะแรงงานกึ่งฝีมือครบ 5 ปี สามารถยื่นขอถิ่นที่อยู่ถาวรได้

ที่มา: Radio Taiwan International, 18/2/2022

เฮติประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดที่ 54% หลังแรงงานประท้วง

รัฐบาลเฮติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อัตราสูงสุดที่ 54% หลังจากมีการประท้วงหลายสัปดาห์โดยคนทำงานภาคการตัดเย็บเสื้อผ้าที่ระบุว่าว่าค่าจ้างของพวกเขาไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น

แต่อัตราการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้ก็แตกต่างกันไปตามอุตสาหกรรม โดยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและโทรคมนาคม ส่วนในภาคการผลิตเสื้อผ้านั้นได้รับการเพิ่มขึ้น 37% เท่านั้น

ที่มา: Salt Wire, 22/2/2022

พบแรงงานไทย-ฟิลิปปินส์ในออสเตรเลียได้ค่าแรงต่ำ จี้แก้กฎหมายเอาผิดนายจ้าง

สหภาพแรงงานไฟฟ้า (The Electrical Trade Union) ได้แถลงต่อการไต่สวนของคณะกรรมการวุฒิสภาว่า ลูกจ้างกลุ่มดังกล่าวเป็นชาวฟิลิปปินส์ 2 คน และชาวไทย 2 คน ได้ร่วมทำงานในโครงการก่อสร้างฟาร์มโซลาร์เซลล์รอบนอกเมืองทาวน์สวิลล์ (Townsville) ทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์เมื่อปี 2018

มีการพบว่า ลูกจ้างกลุ่มดังกล่าวได้รับค่าจ้างวันละ $40 ดอลลาร์ พร้อมค่าอาหารและที่พัก $42 ดอลลาร์ และได้รับการจ้างงานภายใต้วีซ่าชั่วคราวสำหรับผู้มีทักษะเฉพาะทาง Subclass 400 โดยพบอีกว่า “งานทักษะเฉพาะทางในระดับสูง” ที่พวกเขาได้รับการจ้างงานนั้น รวมไปถึงงานไฟฟ้าที่ต้องมีใบอนุญาต แต่ทักษะและคุณวุฒิของลูกจ้างเหล่านั้นไม่ได้รับการประเมิน และลูกจ้างเหล่านั้นไม่มีใบอนุญาตในการทำงานดังกล่าว โดยทางสมาชิกของสหภาพฯ ได้ระดมเงินเพื่อช่วยเหลือคนทำงานกลุ่มนี้

ส่วนนายจ้างของคนทำงานกลุ่มดังกล่าวได้ระบุผ่านทางนักกฎหมายว่า พวกเขาไม่ได้ทำสิ่งผิดกฎหมาย และไม่มีภาระผูกพันที่จะต้องจ่ายเงิน โดยได้ยุติเรื่องนี้ด้วยการขึ้นค่าจ้าง และจ่ายค่าจ้างย้อนหลัง

อย่างไรก็ตาม สภาพแรงงานไฟฟ้าได้กล่าวต่อกับคณะกรรมการวุฒิสภาว่าถึงแม้ว่าจะมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ว่ากฎหมายที่ได้มีการเสนอโดยรัฐบาลกลาง “ไม่มีข้อกำหนดใดที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นอีก และไม่มีอำนาจใดๆ ในการดำเนินการกับนายจ้างหากปัญหาเกิดขึ้นอีกครั้ง”

“ตอนนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้ถูกต้อง แทนที่จะกลับไปทำธุรกิจตามปกติ หรือจะปล่อยให้แย่กว่านั้น” สหภาพ ฯ กล่าวต่อคณะกรรมการไต่สวน

“อย่างน้อยที่สุด รัฐบาลก็ควรที่จะเร่งดำเนินการตามคำแนะนำ 22 ข้อที่รายงานของคณะทำงานเพื่อคนทำงานอพยพย้ายถิ่น (The Migrant Workers’ Taskforce Report) ได้มีการเสนอไว้เมื่อ 2 ปีก่อน”

“การปฏิบัติต่อผู้ถือวีซ่าในตอนนี้ถือเป็นความอับอายระดับชาติ”

ร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งได้เสนอต่อสภาเมื่อเดือน พ.ย. 2021 ที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดโทษทางแพ่งและอาญา “ในกรณีการบีบบังคับ พยายามใช้อิทธิพลเกินควร หรือกดดันให้ผู้ถือวีซ่าตกลงหรือยอมรับข้อตกลงในการทำงานบางอย่าง” รวมถึงมีการกำหนดอำนาจในการสั่งห้ามไม่ให้นายจ้างที่ได้รับการลงโทษ อนุญาตให้ผู้ถือวีซ่าเข้ามาทำงานเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด

โดยหน่วยงานพิทักษ์พรมแดนออสเตรเลีย (ABF) จะได้รับอำนาจในการกำกับดูแลในส่วนของหมายเตือนให้นายจ้างปฏิบัติตามข้อกำหนด และดำเนินการใช้กฎหมายต่อการละเมิดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน

รัฐบาลออสเตรเลียเชื่อว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเสริมความแข็งแรงในการปกป้องคนทำงานอพยพย้ายถิ่น และทำให้แน่ใจว่าลูกจ้างที่ปฏิบัติตามกฎหมายจะถูกช่วงชิงโอกาสโดยนายจ้างที่ไม่มีความเป็นธรรม

ที่มา: SBS, 23/2/2022

ปี 2021 คนทำงานในสหรัฐฯ หยุดงานประท้วงกว่า 140,000 คน

ข้อมูลจาก ILR Labour Action Tracker ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ระบุว่าในปี 2021 คนทำงานในสหรัฐฯ หยุดงานประท้วงกว่า 140,000 คน จากการหยุดงานทั้งหมด 265 ครั้ง สำหรับเหตุผลในการหยุดงานประท้วงอันดับแรกคือเรื่องค่าจ้าง ตามมาด้วยประเด็นทางสุขภาพและความปลอดภัย โดยการหยุดงานประท้วงในเดือน ต.ค. และ พ.ย. 2021 รวมกันมีสัดส่วนแรงงานที่ร่วมหยุดงาน 60% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดที่หยุดงานประท้วงตลอดทั้งปี 2021

ที่มา: Business Insider, 23/2/2022

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net