Skip to main content
sharethis

ในวันพรุ่งนี้ (6 พ.ค.) จะมีพิธีราชาภิเษกกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ที่มหาวิหารเวสมินสเตอร์ แอบบีย์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ขณะที่กระแสต่อต้านระบอบกษัตริย์อังกฤษในช่วงนี้กลับเพิ่มขึ้น เห็นได้จากผลโพลความนิยมกษัตริย์อังกฤษที่ลดลงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ด้านกลุ่มผู้ประท้วงที่สนับสนุนระบอบสาธารณรัฐมองว่า การให้ประชาชนถวายสัตย์แสดงความจงรักภักดีในพิธีนั้นเป็นเรื่อง 'ล่วงเกินประชาชน'

ประมุขควรเป็นถวายสัตย์ฯ ต่อประชาชน 

เกรแฮม สมิทธ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรีพับลิกกล่าวว่า "ในระบอบประชาธิปไตย ประมุขของประเทศควรจะเป็นผู้ให้สัตย์ปฏิญาณตนว่าจะจงรักภักดีต่อประชาชนของตัวเอง ไม่ใช่ทำในทางตรงกันข้าม เรื่องไร้สาระแบบนี้ควรจะหมดไปตั้งแต่สมัยพระราชินีเอลิซาเบธที่ 1 แล้ว ไม่ใช่เลยมาถึงหลังยุคพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ด้วย"

กลุ่มสนับสนุนสาธารณรัฐของอังกฤษที่ใช้ชื่อว่า "รีพับลิก" กล่าวว่า การบอกให้ประชาชนเป็นผู้ถวายสัตย์แสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ชาร์ลส์ในช่วงพิธีราชาภิเษกนั้น ถือเป็นเรื่องที่ "ล่วงเกินประชาชน ขาดการรับรู้เข้าใจประชาชน และเป็นพิธีการที่ดูหมิ่นไม่เคารพต่อประชาชน"

สมิทธ์กล่าวด้วยว่า "มีการเยาะเย้ยเกิดขึ้นในวงกว้างต่อแผนการให้ประชาชนถวายสัตย์จงรักภักดีเช่นนี้ และมีโอกาสเป็นศูนย์ที่ประชาชนมากกว่าร้อยละ 0.001 ในประเทศนี้จะมองเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงจัง มีประชาชนเพียงแค่ร้อย 9 เท่านั้นที่ให้ความสนใจต่อพิธีราชาภิเษก แผนการนี้แสดงให้เห็นว่าราชวงศ์ (อังกฤษ) ห่างเหินจนขาดความเข้าใจประชาชนมากขนาดไหน"

สมิทธ์มองว่าเรื่องนี้เป็น "การคำนวณพลาดอย่างใหญ่หลวง" ของราชวงศ์อังกฤษที่เกิดจากความกลัวว่าระบอบกษัตริย์กำลังได้รับการสนับสนุนลดลงอย่างมาก จึงมีการย้ำด้วยพิธีที่โบราณล้าสมัยที่สุด ในขณะเดียวกับที่พยายามทำให้คนอื่นๆ เข้าร่วมด้วยวิธีการที่หยาบโลนสุดๆ เรื่องนี้คงทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกไม่ดี

ทั้งนี้กลุ่มรีพับลิก แถลงเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าพวกเขาได้รับจดหมายเป็นเชิงเตือนจากกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ ซึ่งระบุว่ามีการบังคับใช้กฎหมายความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองฉบับใหม่ (Public Order Bill) ที่เพิ่งจะผ่านร่างขั้นตอนสุดท้ายในสภา และกำลังรอลงพระปรมาภิไธยในอีกไม่นานหลังจากนี้ และมีการพาดพิงถึงกลุ่มรีพับลิกให้มีการ "เผยแพร่เนื้อหาจดหมายฉบับนี้ต่อสมาชิกรายอื่นๆ ที่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบจากกฎหมายใหม่นี้ด้วย"

กลุ่มรีพับลิกแถลงว่าพวกเขาจะไม่ยอมถูกยับยั้งจากจดหมายเตือนของรัฐบาลอังกฤษ พวกเขามองว่าจดหมายที่ส่งมานั้นสามารถตีความได้ว่าเป็น "การข่มขู่คุกคามแบบอ้อมค้อมต่อกลุ่มผู้ประท้วงที่มีความชอบธรรม"

สมิทธ์กล่าวถึงกรณีนี้ว่า พวกเขาได้พบปะกับตำรวจ 2 ครั้ง และมีการพูดคุยกันทางโทรศัพท์หลายครั้ง ซึ่งทางตำรวจก็บอกว่าพวกเขาไม่มีปัญหาใดๆ กับแผนการประท้วงของรีพับลิกที่จัตุรัสทราฟัลการ์และตามเส้นทางที่มีพิธีราชาภิเษกในวันที่ 6 พ.ค. นี้ จึงเป็นเรื่องชวนให้สงสัยว่าทำไมกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษถึงส่งจดหมายแบบไม่ระบุชื่อผู้ส่งในเชิงขู่พวกเขา

"เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า (กษัตริย์) ชาร์ลส์ ผู้ที่ไม่มีปัญหาในการที่พูดถึงอะไรก็ตาม กลับเลือกที่จะไม่ปกป้องสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อมันถูกคุกคามในนามของพระองค์ บางทีแล้วพระองค์ก็ควรจะทรงมีพระราชดำรัสอย่างชัดเจนว่าพระองค์เชื่อเรื่องสิทธิในการชุมนุม" สมิทธ์กล่าว

ท่าทีของนักการเมืองต่อพิธีราชาภิเษก

นอกจากประชาชนทั่วไปแล้วยังมีนักการเมืองบางส่วนในสหราชอาณาจักรที่มีจุดยืนต่อเรื่องพิธีราชาภิเษกด้วย เช่น ส.ส. ไคลฟ์ ลูอิส จากพรรคแรงงานของอังกฤษ มีแผนการว่าจะขึ้นปราศรัยในการประท้วงต่อต้านพิธีราชาภิเษกในวันที่ 6 พ.ค. นี้

 

 

 

ก่อนหน้านี้ลูอิสเคยแสดงจุดยืนเกี่ยวกับระบอบกษัตริย์เอาไว้ไม่นานนักหลังการเสด็จสวรรคตของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 โดยกล่าวว่า ระบอบกษัตริย์นั้นเป็น "กระดูกสันหลังของโครงสร้างอำนาจที่สืบย้อนไปได้ถึงระบอบศักดินา" ที่ตกค้างมาถึงปัจจุบัน

ลูอิซ บอกอีกว่า "พวกเราต้องให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยในฐานะวาระทางการเมืองในระดับต้นๆ"

"ข้อถกเถียงในเรื่องระบอบกษัตริย์ การเมืองของพวกเรา รัฐธรรมนูญของพวกเรา เป็นอะไรที่ควรจะมีการออกอากาศอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่ถูกปิดกั้นหรือแม้กระทั่งถูกระงับยับยั้งชั่วคราว" ลูอิซกล่าว

กลุ่มผู้นำของสกอตแลนด์และเวลส์ที่มาจากการเลือกตั้งก็ดูเหมือนจะต้องการยกเลิกระบอบกษัตริย์จากพื้นที่ของตัวเองเช่นกัน พรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของไอร์แลนด์เหนือคือพรรคชินน์เฟนก็ต้องการให้มีการรวมชาติกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์

ฮัมซา ยูสซาฟ มุขมนตรีคนใหม่ของสก็อตแลนด์เคยกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า "ผมมองตัวเองว่าเป็นพลเมืองมาก่อนเหนือสิ่งอื่นใด ไม่ใช่เป็นประชาราษฎร์ (ผู้อยู่ใต้อำนาจราชวงศ์)"

นอกจากนี้ยังเคยบอกว่าจะมีการเลือกตั้งประมุขของสกอตแลนด์มาแทนระบอบกษัตริย์ภายใน 5 ปี ถ้าหากสกอตแลนด์สามารถแยกตัวเป็นอิสระจากอังกฤษได้

อย่างไรก็ตามยูสซาฟก็มีแผนการจะเข้าร่วมพิธีราชาภิเษก เช่นเดียวกับ มาร์ค เดรกฟอร์ด มุขมนตรีของเวลส์ ซึ่งเป็นผู้แสดงตนเป็นฝ่ายสนับสนุนสาธารณรัฐเช่นกัน นอกจากนี้ มิเชลล์ โอนีลล์ หัวหน้าพรรคชินน์เฟน ก็ประกาศว่าจะเดินทางเยือนพิธีราชาภิเษกเพื่อเป็นการแสดงความเคารพในความคิดเห็นของกลุ่มชาวอังกฤษฝ่ายชาตินิยมเท่านั้น โอนีลล์ เชื่อว่าการเข้าร่วมพิธีนั้น "จะไม่ได้ลดทอนแนวคิดสาธารณรัฐนิยม" ของตัวเธอเอง

สื่อเอเอฟพีระบุว่ารัฐบาลออสเตรเลียมีแผนการจะตีตัวออกจากระบอบกษัตริย์ของอังกฤษเช่นกัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้อีกประเทศหนึ่งในเครือจักรภพคือบาร์เบดอสเคยถอนตัวออกจากระบอบกษัตริย์มาแล้วตั้งแต่สมัยราชินีเอลิซาเบธที่ 2

ในแง่ของประชาชนทั่วไปแล้ว สมิทธ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรีพับลิกระบุว่า คงมีคนทั่วไปเข้าร่วมพิธีราชาภิเษกเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้คนเหล่านั้นเป็นคนสนับสนุนระบอบกษัตริย์เสมอไป

"มีผู้คนจำนวนมากที่ไปดูงานราชาภิเษกก็เพราะว่าพวกเขาต้องการเห็นอะไรที่เป็นประวัติศาสตร์... มันไม่จำเป็นว่าพวกเขาจะเป็นรอยัลลิสต์"

ผลโพลชี้ความนิยมกษัตริย์ลดลงเป็นประวัติการณ์

ผลสำรวจจากศูนย์แห่งชาติเพื่อการวิจัยสังคม (NatCen) ของอังกฤษเปิดเผยผลการสำรวจเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า จากการสำรวจในช่วงระหว่างปี 2565 จนถึงต้นปี 2566 ประชาชนชาวอังกฤษมีทัศนคติสนับสนุนระบอบกษัตริย์อังกฤษลดลง หลังจากที่เคยเพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว

จากกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 29 มองว่าระบอบกษัตริย์อังกฤษ "มีความสำคัญอย่างยิ่ง"  ซึ่งนับว่าน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์

ผลการสำรวจชุดเดียวกันนี้ในปี 2566 เปิดเผยให้เห็นอีกว่ามีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26 มองว่าระบอบกษัตริย์อังกฤษ "มีความสำคัญมากพอสมควร" มีร้อยละ 20 มองว่า "ไม่ได้มีความสำคัญมากเท่าไหร่" และมีร้อยละ 25 มองว่า "ไม่สำคัญเลยแม้แต่น้อย / ควรยกเลิกระบอบนี้"

แอนนา ไวท์ล็อก ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ราชาธิปไตยจากมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน ระบุว่า ถึงแม้ระบอบกษัตริย์จะมีเสถียรภาพมากขึ้นในปัจจุบันจากการที่มีการแย่งชิงอำนาจแบบมีการนองเลือดน้อยลง แต่ทว่ามันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเห็นต่างในสหราชอาณาจักรได้ในหลายแง่

แต่ไวท์ล็อกก็มองว่า ความคิดเห็นแตกแยกที่ว่านี้มันไม่ใช่เรื่องแย่ ในทางตรงกันข้ามมันเป็น "โอกาสที่จะทำให้มีการถกเถียงอภิปรายกัน" โดยที่ไวท์ล็อกมองว่าคนรุ่นใหม่ในตอนนี้เริ่มมีการตั้งคำถามว่า "ระบอบกษัตริย์ได้ทำอะไรบ้าง มีคุณค่าอย่างไร มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ไหม" มีความคิดเห็นต่อระบอบนี้เปลี่ยนไปจากเดิมดูจากที่มีผู้ประท้วงใช้แฮชแท็กว่า #NotMyKing ที่แปลตรงตัวว่า "ไม่ใช่กษัตริย์ของเรา" ในการประท้วงกษัตริย์ชาร์ลส์

ก่อนหน้านี้เคยมีผู้ประท้วงที่สวมเสื้อยืดสีเหลืองระบุคำขวัญในเชิงท้าทายระบอบกษัตริย์อังกฤษ ผู้ประท้วงรายหนึ่งชื่อ ไรอัน คิง กล่าวไว้ว่า "ระบอบกษัตริย์ไม่ควรมีอยู่ในสังคมสมัยใหม่เนื่องจากที่มันล้าหลังและไม่เป็นประชาธิปไตย"

สื่อต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มรีพับลิกที่เคยถูกมองว่าเป็นกลุ่มตกขอบในสังคมอังกฤษกลับเริ่มมีเสียงที่ดังขึ้นหลังจากการสิ้นพระชนม์ของราชินีเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 2565 โดยที่ในตอนนี้กลุ่มรีพับลิกมีความตื่นตัวมากขึ้นในโซเชียลมีเดียและมีสมาชิกอยู่ที่ 130,000 ราย

ผู้ประท้วงมีการตั้งป้ายคำว่า "ไม่ใช่กษัตริย์ของเรา" แบบให้เห็นอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในยุคสมัยของราชินีเอลิซาเบธ

ถึงแม้ว่าผลสำรวจของสำนักวิจัย YouGovที่ออกมาเมื่อไม่นานนี้จะระบุว่ายังมีกลุ่มตัวอย่างชาวอังกฤษร้อยละ 58 ที่สนับสนุนระบอบกษัตริย์ แต่กลุ่มรีพับลิกก็ชี้ให้เห็นว่า หากโฟกัสไปที่ช่วงอายุ กลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 18-24 ปี มีกลุ่มที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งประมุขของประเทศจำนวนมากกว่าอยู่ที่ร้อยละ 38 ขณะที่กลุ่มที่สนับสนุนระบอบกษัตริย์อยู่ที่ร้อยละ 32

สมิทธ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรีพับลิกกล่าวว่า พวกเขาไม่ใช่กลุ่มนักปฏิวัติโค่นล้มระบอบด้วยความรุนแรงแบบในอดีต แต่เป็นกลุ่มที่ต้องการให้มีระบอบการเลือกตั้งประมุขแทนระบอบที่มีการสืบทอดอำนาจทางสายเลือดแบบเดิม รวมถึงต้องการให้รัฐธรรมนูญรับรองระบบแบ่งแยกอำนาจอย่างชัดเจนระหว่างประมุขกับฝ่ายบริหาร

"สิ่งที่พวกเราเสนอไม่ใช่อะไรที่สุดโต่งเลย มันเป็นสิ่งที่เป็นประชาธิปไตย" สมิทธ์กล่าว

เรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net