Skip to main content
sharethis

12 ก.ค.2566 ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมหลังจากมีการนัดชุมนุมด่วนจากกลุ่มนักกิจกรรม หลังจากที่เช้าวันนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มีเหตุสิ้นสุดลงจากกรณีหุ้นไอทีวีหรือไม่

ธัชพงษ์ แกดำ หรือบอย ประกาศช่วงเริ่มการชุมนุมว่าวันนี้มีการแจ้งจัดการชุมนุมกับตำรวจแล้วดังนั้นจึงสามารถชุมนุมได้โดยที่จะไม่มีการดำเนินคดีตามหลังแน่นอน

ธนพร วิจันทร์ หรือไหม จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนเริ่มปราศรัยเป็นคนแรกว่าวันนี้เราได้เห็นองคาพยพของเผด็จการ อย่าง กกต.ที่ทำงานอย่างฉ้อฉลมาโดยตลอดทำให้ประชาชนตั้งคำถามว่า กกต. มีไว้ทำไม ทำแต่เรื่องที่ทำลายประชาธิปไตย แต่ประชาชนจะไม่ยอมให้กับองคาพยพเผด็จการ เพราะอำนาจเป็นของประชาชนไม่ใชของ กกต. หรือศาลรัฐธรรมนูญของเผด็จการ และจะไม่ยอมให้มีการรัฐประหารยึดอำนาจประชาชนอีกแล้ว

ธนพร วิจันทร์ ภาพจาก Mob Data Thailand

แกนนำเครือข่ายแรงงานฯ กล่าวต่อว่าพรุ่งนี้ที่มีการโหวตนายกฯ ประชาชนก็ยึดหลักการว่าพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากย่อมได้รับสิทธที่จะเป็นนายกฯ ถ้าวันนี้กลไกรัฐสภาเดินหน้าได้จะมาชุมนุมทำไม แต่เพราะกลไกไม่ให้พื้นที่กับประชาชนที่เลือกตั้งตัวแทนเข้าไปแล้วยังต้องมาดูว่า ส.ว.จะเลือกนายกฯที่ได้เสียงจากประชาชนอีก

ธนพรได้ขอให้ ส.ว.ทำหน้าที่เพื่อให้บ้านเมืองต่อไปได้ ไม่ควรอ้างว่า ก้าวไกลจะแก้ 112 แลวไม่โหวตให้เพราะสภาจะเป็นพื้นที่ในการบอกว่าจะแก้ไขหรือไม่แก้ไข แต่ไม่ใช่หน้าที่ของ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้วที่ ส.ว.บอกว่าจะไม่เข้าประชุมเพราะจะมีการชุมนุมกดดัน เธอยืนยันว่าพรุ่งนี้ไม่ได้มีมวลชนที่จะไปกดดันแต่ไปรอผลโหวตนายกฯที่รัฐสภา

“พวกเราพยายามอยู่ในกรอบอยู่ในกติกาที่ให้ประเทศนี้มันเดินต่อไปได้ ที่ให้ประชาธิปไตยมันเดินต่อไปได้ พวกเราประชาชนเป็นคนงานเป็นพ่อค้าแม่ค้า วันนี้เศรษฐกิจมันย่ำแย่ไปมากแล้ว พวกเราไม่มีช่องทางอื่นแล้ว วันนี้เราตองการรัฐบาลที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับพวกเรา เราต้องการรัฐบาลประชาธิปไตยที่เปิดพื้นที่ให้พี่น้องประชาชนได้ใช้พื้นที่รัฐสภาที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยพูดเรื่องนโยบายชองแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ที่พวกเรารอคอยเราอยากมีเวทีพูดกันแบบตรงไปตรงมา พูดแล้วให้มันเกิดการแก้ไขปัญหานี่คือสิ่งที่พวกเราเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ยึดหลักการประชาธิปไตยมาโดยตลอด”

ธนพรระบุว่าวันนี้เราเห็นแล้วว่าบรรดานักร้องเรียนทั้งหลายพยายมทำให้เหตุการณ์บ้านเมืองไปไม่ได้ จึงขอให้ทุกฝ่ายที่ขัดขวางประชาธิปไตยได้ยุติแล้วมาใช้พื้นที่และกลไกของรัฐสภามาพูดคุยกันว่าพวกเราเห็นไม่ตรงกันเรื่องไหนบ้าง เราจะต้องมีพื้นที่จะพูดถ้าวันนี้ยังไม่ให้พื้นที่ประชาชนได้พูดแล้วจะใช้พื้นที่ไหน เพราะจะชุมนุมก็มี พ.ร.บ. ชุมนุมปิดกั้นเราทุกอย่าง

“ถ้าพรุ่งนี้ ส.ว.บอกว่าจะโหวตนายกรัฐมนตรีให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย พวกเราก็จะไม่มีการออกมาชุมนุมในวันนี้ มันไม่มีใครอยากออกมาชุมนุม แต่วันนี้ ทุกหน่วยงานกำลังบอกว่าพวกชุมนุมก่อความวุ่นวาย แต่ความวุ่นวายเกิดจากฝ่ายรัฐ เกิดจาก ส.ว. เกิดจากกลไกของเผด็จการ มันไม่ได้เกิดจากกลไกประชาชนเลย”

แกนนำเครือข่ายแรงงานฯ กล่าวว่าประชาชนไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหนก็อยากให้ประเทศเดินต่อไปได้ แล้ว ส.ว.ก็เป็นกลไกสำคัญที่จะเลือกนายกฯ คนที่ 30 ที่พรรคการเมืองเสนอมา ก็ขอให้เคารพกติกาตรงนี้

ธนพรยืนยันว่าสำหรับประชาชนที่จะไปสภาพรุ่งนี้เพื่อไปรอฟังผลและให้กำลังใจ ไม่ว่าผลจะออกมาตอนกี่โมงก็จะรอจนกว่าจะทราบผลแต่จะไม่ก่อความวุ่นวาย และเมื่อทราบผลแล้วก็จะค่อยคุยกันและจะยกระดับการชุมนุมเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยเดินต่อไปได้ เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

“เลือกตั้งมาตั้งแต่วันที่ 14 รัฐบาลเขาฟอร์มทีมกันได้ 312 เสียงแล้วถ้าเป็นกลไกปกติไม่มี ส.ว.ป่านนี้ประเทศเดินหน้าไปได้แล้ว แต่วันนี้มันติดที่กลไก ส.ว.250 ที่ต้องมาเลือกนายกรัฐมนตรี” ธนพรย้ำว่าขอให้ ส.ว.ที่จะไม่มาโหวตก็ขอให้มาโหวต ประชาชนไม่ได้จะทำอะไรไปแค่นั่งฟังและดูว่าจะแสดงวิสัยทัศน์และโหวตอย่างไร

แกนนำเครือข่ายแรงงานฯ ย้ำว่าขอให้ ส.ว.อย่าสร้างมลทินให้ตัวเองไปมากกว่านี้ เพราะประชาชนกำลังจับตาดูทั้ง ส.ว. กกต. และศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการอยู่ และเชื่อว่าพลังของประชาชนที่ออกมาชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเพื่อบกเจตจำนงค์ของประชาชนว่าต้องการให้ประเทศนี้และประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ จึงขอให้คนที่จะไปรัฐสภาพรุ่งนี้ไปอย่างสงบ

มีน

มีน จากกลุ่มประชาชนตื่นรู้กล่าวว่าคนที่มาวันนี้ในฐานะประชาชนที่แสดงออกพลังประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งแล้วแต่ทำไมผู้มีอำนาจจึงไม่ฟังเสียงประชาชน จากการที่ออกไปเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ประชาชนกว่า 25 ล้านเสียงเลือกพรรคการเมืองที่จับมือกันจัดตั้งรัฐบาลและโหวตให้พิธาเป็นนายกฯ คือการที่ประชาชนยอมใช้สิทธิของตัวเองตามหลักการประชาธิปไตยเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปสู่ความเจริญ

“แล้วเป็นอะไรกัน ความเจริญนะไม่ต้องการเหรอ”

ประชาชนที่ออกมาชุมนุมตามหลักประชาธิปไตย แต่จะไม่จำเป็นต้องออกมาถ้า กกต.ไม่หาเรื่องให้พิธาต้องหลุดจากการเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่ กกต.ที่ไม่ได้มาจากประชาชนและเมื่อการเลือกตั้งจบไปแล้วรับรองสิทธิสภาพของสมาชิกที่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว แต่พอจะตั้งรัฐบาลได้แล้วก็มาตัดตอน แล้วตอนเย็นศาลรัฐธรรมนูญยังรับคำร้องพิจารณายุบพรรคเพราะพรรคมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 เป็นการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ด้วย

“นี่คือรัฐบาลที่เราใฝ่ฝัน นี่คือ 25 ล้านเสียงเลือกมาเป็นเสียงส่วนใหญ่ ควรฟังประชาชนได้แล้ว พรุ่งนี้ ส.ว.ไม่ต้องอ้างความชอบธรรมเลยว่าจะต้องปกป้องหลักการประชาธิปไตย ส.ว.ไม่เคยมาจากประชาธิปไตย เราไม่เคยเลือก ส.ว.มา เรารู้กันอยู่ว่าใครเป็นคนเลือก ส.ว. เพราะฉะนั้นต้องทำตามเสียงประชาชน อย่าแตกแถว 250 คน เลือกพิธาให้เป็นนายกรัฐมนตรี” มีนย้ำ

เธอกล่าวต่อว่าถ้าผลไม่ออกมาตามที่ประชาชนต้องการก็พร้อมลงถนนไปไรัฐสภาเพื่อกดดันให้ ส.ว.ลงเสียงให้พิธา และถ้าหลังจากมีนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วต้องเดินหน้าเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้รัฐธรรมนูญเพื่อใหรัฐธรรมนูญ 60 ที่มีปัญหาอยู่หายไปจากประเทศนี้

“พรุ่งนี้เรามาจับตาการเมืองไทย ดูว่ามันสะท้อนเสียงของประชาชนไทยมั้ย ถ้ามันไม่ยอมสะท้อนเสียงของประชาชนที่เลือกตั้งมา คอยดูประชาชนนี่แหละจะออกมาล้มมันให้ดู” มีนทิ้งท้าย

ธนลภย์ ผลัญชัย

ธนลภย์ ผลัญชัย หรือ หยก กล่าวว่าประชาชนได้มอบอำนาจให้รัฐเพื่อให้ปกป้องสิทธิของประชาชน ถ้าผู้ปกครองละเมิดสิทธิประชาชนย่อมมีอำนาจถอดถอนผู้ปกครองโดยลุกขึ้นปฏิวัติเอาอำนาจอธิปไตยคืนได้ 

ธนลภย์ กล่าวถึงปัญหาที่รัฐไม่เคารพเสียงประชาชน รวมทั้งบทบาทของ ส.ว.ที่มาจากการรัฐประหาร 2557 ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมทั้งปราศรัยถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่ให้การรับรอง และตั้งคำถามเชิงเปรียบเทียงถึงกรณีการกล่าวหาว่าการแก้ไข ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มาจากการรัฐประหารนั้นกลับเป็นรัฐบาลได้ถึง 8 ปี 

“14 ล้านเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกลย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่าพรรคก้าวไกลมีนโยบายแก้ไข 112 ก็รู้กันแล้วว่า 112 มันสมควรได้รับการแก้ไข ในขณะที่กำลังมีการถกเถียง ในขณะที่กำลังจะจัดตั้งรัฐบาลก็มีผู้ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 อยู่”
 
ธนลภย์ ยังกล่าวถึงเรื่องที่เมื่อวานทางโรงเรียนอุดมศึกษาพัฒนาการและสมาคมผู้ปกครองได้พยายามไปพบ ส.ว.เพื่อไล่เธอออกจากโรงเรียน แต่เธอยืนยันว่าจะไม่ออก เพราะส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งและไม่ได้มาจากประชาชนต่างหากที่สมควรจะต้องออกจากตำแหน่ง

อานนท์ นำภา

อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปการชูสามนิ้วจะอยู่ในทุกที่ที่มีการต่อสู้กับเผด็จการและขอส่งกำลังใจให้กับบรรดาผู้ลี้ภัยที่ต้องออกจากประเทศไปเพราะมาตรา 112 และเขายืนยันว่าพรุ่งนี้เรื่องของกฎหมายมาตรานี้จะถูกพูดถึงในสภาแน่นอน

“เพราะพรุ่งนี้สภามีมติให้อภิปรายได้ 6 ชั่วโมงก่อนที่จะมีการโหวต แน่นอนวุฒิสภาและ ส.ส.พวกอนุรักษ์นิยมเขาจะลุกขึ้นมาโจมตีนโยบายของพรรคก้าวไกล ของพรรคเพื่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เขาจะพยายามอภิปรายเกี่ยวกับมาตรา 112 ให้ได้ แต่นั่นเข้าทางพวกเราเพราะเราจะฝากความหวังกับ ส.ส.อภิปรายชี้แจงว่าทำไมเราต้องแก้ไข 112 เราต้องยกเลิก 112 ฝากความหวังไว้กับ ส.ส.แต่ละพรรคการเมือง” อานนท์กล่าวขอให้บรรดา ส.ส.ช่วยกันจูงใจ ส.ว. ให้ร่วมกับกการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้และร่วมโหวตไปพร้อมกับ 8 พรรคที่จับมือกันตั้งรัฐบาลให้พิธาเป็นายกฯ

“เราไม่มีความจำเป็นต้องมากันวันนี้เลย เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปี 2563 และก่อนหน้านี้ไปอีกการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเราออกมาบาดเจ็บล้มตายกันบนท้องถนนกันเป็นร้อย ถนนเส้นนี้(พระราม 1) เคยมีการยิงด้วยสไนเปอร์มีคนเสื้อแดงตายเป็นร้อยเพราะการต่อสู้บนท้องถนนมันเจ็บปวด มันสูญเสีย เราจึงเลือกในระบอบรัฐสภาในการส่งตัวแทนไปเป็นปากเป็นเสียงแทนเราจะได้ไม่ต้องมีการสูญเสีย” อานนท์กล่าวถึงประชาชนที่ต้องอดทนตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเพื่อรอการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมาเพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน

“เขาบอกว่าติดคุกแล้วให้ประกันออกมาไม่ให้พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์เราก็พยายามไม่พูด เพราะเราอดทนจะไปสะท้อนเสียงของพวกเราผ่านสภาผู้แทนราษฎรให้เขาไปพูดแทนเรา ไปพูดในพื้นที่ที่มันปลอดภัย ก่อนการเลือกตั้งเราถูกโจมตีอย่างมากมาย การดีเบตทุกเวทีมีอภิปรายเรื่อง 112 ทุกเวทีเพราะนี่คือปัญหา นี่คือแก่นแกนของปัญหา มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงการแก้ไขการยกเลิกรวมไปถึงปัญหาโครงสร้างอื่นๆ”

อานนท์ระบุว่าปัญหากองทัพ ปัญหาการกระจายอำนาจ ไปนถึงปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ประชาชนในพื้นที่ก็เลือกตัวแทนของพวกเขาอย่างพรรคประชาชาติเข้ามาร่วมรัฐบาลเพราะนโยบายของพรรคก็ใกล้เคียงกับพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลคือการลดอำนาจทหาร

“ทุกอย่างมันถูกหาเสียงมาแล้วก่อนการเลือกตั้ง ทุกคนก็รู้ว่าสิ่งที่เราไปกากบาทมันหมายความว่ายังไง ผลการเลือกตั้งออกมาโคตรชัดเจน เพราะ 43 จังหวัด พรรคก้าวไกลมีปาตี้ลิสต์มาอันดับหนึ่ง และอีก 26-27 จังหวัดพรรคเพื่อไทยมาอันดับหนึ่งเมื่อรวมทั้งประเทศ 73 จังหวัดที่เลือกฝ่ายประชาธิปไตยมา 25 ล้านคน 75% ของคนที่ออกมาใช้สิทธิ นี่เป็นโคตรฉันทามติ” อานนท์ตอกย้ำถึงจำนวนเสียงจากประชาชนที่ออกมาเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ที่จะให้ฝ่ายประชาธิปไตยมาบริหารประเทศแม้กระทั่งในจังหวัดที่ส.ส.เขตเป็นภูมิใจไทยแต่ปาตี้ลิสต์ก็ยังเป็นของก้าวไกล

อานนท์ยังได้กล่าวถึงการออกแบบรัฐธรรมนูญ 60 ที่ทำให้มี ส.ว.มาร่วมเลือกนายกฯ ถึง 5 ปีเพราะต้องการให้กลับมาโหวตเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอีกครั้งหลังจากหมดช่วงรัฐบาลที่ได้มาตอนปี 2562 และมีความพยายามตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 62 ที่ให้การลงคะแนนเลือกตั้งทำผ่านบัตรใบเดียวเพื่อสกัดพรรคเพื่อไทย แม้ว่าจะทำได้สำเร็จแต่ก็ทำให้ได้พรรคอนาคตใหม่เข้ามาในรัฐสภาถึง 80 กว่าเสียงแต่พรรคที่ได้เสียงเป็นอันดับหนึ่งกลับสู้ไม่ได้เพราะมีการใช้ “บัตรเขย่ง”มาเอาเปรียบจึงต้องเอาส.ว.อีก 250 เสียงมาร่วมเพื่อให้ตั้งรัฐบาลได้ไปพร้อมกับการซื้อตัว ส.ส.จากพรรคอื่น

ทนายกล่าวต่อว่าเมื่อพรรคก้าวไกลทำงานได้ดีในสภา ฝ่ายรัฐบาลก็เปลี่ยนบัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบเพื่อสกัดพรรคก้าวไกลแต่สุดท้ายพรรคก้าวไกลก็ชนะมาเป็นอันดับหนึ่ง

“เพราะคนมันตื่นแล้ว มันตื่นจากหลับกันแล้ว ไม่ใช่เฉพาะคนรุ่นใหม่ ในต่างจังหวัดที่เป็นคนในทุกสาขาอาชีพเขาโหวตไว้วางใจพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยให้มาจับมือกัน”

อานนท์กล่าวต่อไปว่าในตอนแรกที่พรรคเพื่อไทยยังลังเลไม่ชัดเจนว่าจะจับมือกับ 3 ป.หรือไม่แต่ประชาชนก็บังคับให้ต้องชัดเจนว่าไม่จับมือกับ 3 ป.แน่นอน ทำให้ประชาชนในอีก 26 จังหวัดยังเลือกพรรคเพื่อไทยเพราะหวังว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะไม่แตะมือกับ 3 ป.แน่นอน

ทนายกล่าวด้วยว่าพลังของ “ด้อม” หรือ “ติ่ง” เป็นพลังของประชาชนอย่างแท้จริงที่ทำให้พรรคการเมืองต้องรับฟังที่แม้กระทั่งพรรคก้าวไกลก็ยังต้องถอยหลังจากมีข่าวเรื่องจะไปจับมือกับพรรคชาติพัฒนากล้า ทำให้เห็นพลังของประชาชนที่อยู่นอกสภามีพลัง

“นี่คือเหตุผลที่เรามารวมตัวกันเพื่อส่งเสียงว่าวันนี้ วันพรุ่งนี้พลังประชาชนจะมีพลังอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่เลือกตั้งแล้วเลือกตั้งเลย แต่ก่อนจะถึงวันพรุ่งนี้สมุนของอำนาจเผด็จการได้สำแดงเดชจึงมีการนัดเฉพาะกิจวันนี้”

อานนท์ได้กล่าวถึงกรณีที่ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มีเหตุสิ้นสุดลงจากกรณีหุ้นไอทีวีหรือไม่ ทั้งที่ประชาชนทั้งสังคมก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องไร้สาระใส่ร้ายหลักฐานก็มี แต่ กกต.ยังดึงดันด้วยการทำผิดระเบียบตัวเองด้วย

“ต่อไป กกต.ต้องติดคุกสถานเดียวเป็นอื่นไปไม่ได้เพราะมันชัดเจน” อานนท์ย้ำถึงการพยายามของ กกต.ที่ยื่นเรื่องเอาในวันสุดท้ายก่อนที่สภาจะมีลงคะแนนเลือกนายกฯ เพื่อ ส.ว.มีข้ออ้างในการไม่โหวตให้พิธา แต่ประชาชนจะไม่ยอม

ทนายกล่าวถึงเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเรื่องนโยบายที่จะมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลขัดรัฐธรรมนูญและเป็นการล้มล้างการปกครอง เพราะเรื่องนี้เขายืนยันว่าเป็นอำนาจของ ส.ส.ที่จะสามารถเสนอแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายได้ และการเสนอแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย ส.ส.ยังต้องฟังจากประชาชนด้วย

“มติของประชาชน 14 ล้านเสียงเป็นขั้นต่ำมีความเห็นว่าจะยกเลิกหรือแก้ไข 112 แต่เขาไม่ฟัง เขาไปอ้างต่อว่าแค่ 14 ล้านเสียงเป็นเสียงส่วนน้อย”

อานนท์ยังได้ยกตัวอย่างของการปราศรัยของพรรคเพื่อไทยที่อยุธยาที่มีทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ที่ไปทำโพลล์เรื่องยกเลิกมาตรา 112 ก็ยังมีคนที่ร่วมฟังการปราศรัยของพรรคเพื่อไทยร่วมทำโพลล์บอกว่าต้องการยกเลิกมาตรา 112 แสดงให้เห็นว่า 25 ล้านเสียง หรือ 70% เห็นไปในทางเดียวกัน

“เราก็หวังว่าเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ก็ดี เรื่องกระจายอำนาจเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็ดี การทำให้กองทัพมันสมาร์ท มันดูดีขึ้น มันมีความฉลาดขึ้นก็ดี หรือเรื่องอื่นๆ เราไม่ได้หักด้ามพร้าด้วยเข่า แต่เราจะให้ ส.ส.ของเราเข้าไปอภิปรายเข้าไปเสนอกฎหมาย”

“แต่วันนี้เผด็จการอำนาจนิยม ชนชั้นนำคนในสังคมเก่ากำลังจะปิดตายประตูนั้นโดยพรุ่งนี้เขาจะไม่โหวตรัฐบาลของพรรคร่วม 8 พรรคเป็นรัฐบาล เขาจะปิดประตูนี้ไม่ให้มีการแก้ไขความเดือดร้อนของบ้านเมืองโดยสันติ และไม่สนใจเสียงใดๆ ของคนข้างนอกเพราะเสียงในทวิตเตอร์ก็ได้แค่กดไลค์กดแชร์ เสียงในเฟซบุ๊กก็ได้แต่ด่ากันไม่มีนัยยะสำคัญอะไร ผมอยากท้ามีเสียงหนึ่งที่จะไปตะโกนให้ได้ยินถึงรัฐสภาในวันพรุ่งนี้คือ ปากสดๆ ของประชาชน”

อานนท์กล่าวว่าฝ่ายเผด็จการเลือกที่จะแกล้งทำเป็นไม่ได้ยินเสียงของประชาชนที่แสดงออกก่อนเลือกตั้งหรือแม้กระทั่งเสียงของประชาชนในบัตรเลือกตั้ง ทำให้เลี่ยงไม่ได้ที่ประชาชนจะต้องส่งเสียงในวันพรุ่งนี้ที่รัฐสภาและชูสามนิ้วกัน

ทนายยังขอให้คนที่ไปชุมนุมในวันพรุ่งนี้อย่าได้หลงกลการยุแหย่ของเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจที่มีการเตรียมพร้อมและซ้อมเพื่อที่จะจับกุม

“ถ้าพรุ่งนี้เราถูกหักหลัง เราถูกปิดประตูการได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากที่มาจากประชาชน การลุกขึ้นสู้ของประชาชนทั่วประเทศในสัปดาห์หน้าเกิดขึ้นแน่นอน”

“พวกคุณจะดูถูกเหยียดหยามยังไงก็ได้ แต่คะแนนเสียงที่ลงไปแล้วทั้ง 25 ล้านเสียงคือเสียงที่ศักดิ์สิทธิ์ คือเสียงที่กำหนดอนาคตของประเทศไปแล้ว จะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ไม่ได้ ไม่ยอม ส.ว.ที่เป็นผู้นำเหล่าทัพอ้างว่ามีงานสำคัญจะไม่เข้าประชุมพรุ่งนี้ มันมีงานอะไรสำคัญอย่างอื่นนอกจากโหวตนายกฯ ให้ประเทศอีก ผบ.เหล่าทัพถ้าพรุ่งนี้ไม่เห็นหน้า มึงเจอกัน” นอกจากนั้นอานนท์ยังย้ำไม่ให้ ส.ว.อื่นๆ เลือกงดออกเสียงด้วยเพราะประชาชนรู้ว่าเป็นเช่นเดียวกับการโหวตไม่เลือกและประชาชนจะจำเอาไว้ว่าใครบ้าง

อานนท์ได้ขอให้ประชาชนร่วมกันต่อสู้ผ่านการรณรงค์ทั้งในทางสื่อสังคมออนไลน์และบนท้องถนนไปด้วยกัน และการต่อสู้ของประชาชนก็ทำได้แค่สามทางเท่านั้นคือบนสื่อสังคมออนไลน์ การออกเสียงเลือกตั้งที่ทำแล้วไม่เจ็บไม่ตาย และหนทางสุดท้ายคือการลงมาชุมนุมที่ถนน แต่ประชาชนก็ได้เลือกที่จะทำสองทางแรกไปแล้ว

ทนายกล่าวว่าการเลือกตั้ง 14 พ.ค.เป้นครั้งที่คนกลับบ้านไปเลือกตั้งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องที่เขาตกใจมากเพราะการเลือกตั้งสองสามครั้งหลังเป็นการเลือกตั้งในช่วงที่กระแสสูงเช่นปี 48 เลือกตั้งในสมัยพรรคไทยรักไทยทักษิณกำลังเป็นที่นิยมมาก การเลือกตั้งปี 54 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็เกิดขึ้นหลังจากการล้อมฆ่าในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ประชาชนต้องการตบหน้ารัฐบาลอภิสิทธิ์

“ปี 66 ผมแทบจะไม่เชื่อเพราะไม่มีอะไรเกี่ยวโยงเลย เอื่อยๆ ถ้าไม่มีแบม ตะวันทุกอย่างก็เอื่อยๆ ไม่มีหยกทุกอย่างก็เอื่อยๆ ทุกคนก็ทำงานแต่แรงเอื่อยนี้มันผลักพวกเราให้กลับไปเลือกตั้งและสะท้อนเสียงที่แท้จริงของประชาชนออกมาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 312 เสียงไม่ใช่เรื่องธรรมดา และนี่คือการแลนด์สไลด์ของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

“พรรคที่เขากล่าวหาว่าล้มเจ้าว่าต้องการแยกแผ่นดินถูกเลือกมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยเสียงทั่วประเทศ 14 ล้านเสียง ข้ออ้างนี้ไม่หยุดเท่านี้ วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัยเรื่องพรรคก้าวไกลแก้ไขมาตรา 112 เป็นการล้มล้าง อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญคือมีคำสั่งให้พรรคที่โดนกล่าวหายุติการกระทำหมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งพรรคก้าวไกลหยุดนโยบายแก้ไข 112 พวกเรายอมมั้ย” อานนท์ถามมวลชนที่มาฟังและมีเสียงตะโกนบอกว่าไม่ยอม

อานนท์อธิบายหากศาลสั่งได้แบบนี้หมายถึงว่าศาลกำลังบริหารประเทศผ่านทางคำสั่งศาลซึ่งไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน และศาลจะมาใช้อำนาจบริหารแบบนี้ไม่ได้เพราะมีการแบ่งอำนาจศาลและฝ่ายบริหารไว้ชัดเจนแล้ว ถ้าไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่าประเทศไทยมีระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่บริหารโดยศาลรัฐธรรมนูญซึ่งประชาชนจะต้องยืนยันว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้

ทนายยืนยันว่าแม้เขาจะยืนยันเรื่องยกเลิกมาตรา 112 แต่ถ้าการเสนอแก้ไขจะไม่ผ่านในสภาเขาก็ไม่รู้สึกเสียใจ แต่จะต้องไม่มีการปิดกั้นไม่ให้นำเรื่องนี้เขาไปถกกันในสภา เพื่อเปิดเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนที่เห็นด้วยหรือเห็นต่างกันในเรื่องมาตรา 112 อย่างพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติไปแสดงความเห็นกันในสภาว่าทำไมถึงแก้มาตรา 112 ไม่ได้

“แก้ปัญหานี้ในสภา เพื่อไม่ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องถูกดำเนินคดีบนท้องถนนกันแบบสันติวิธีที่สุด”

อานนท์กล่าวถึงปัญหาอื่นๆ อย่างปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่แก้ไม่ได้อย่างยาวนานก็ขอให้ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของคนในพื้นที่ไปอภิปรายในสภา ไม่ใช่การไปดำเนินคดีด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 หรือแม้กระทั่งที่เชียงใหม่ก็มีการใช้ข้อหานี้กับคนที่ออกมาเรียกร้องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและกระจายอำนาจ

“เป็นสัญญาณการดิ้นครั้งสุดท้ายของฝ่ายอนุรักษ์นิยม และการดิ้นครั้งสุดท้ายมักจะแสดงความหน้าด้านมากที่สุด เราอาจจะได้เห็นเรื่องแปลกๆ ในวันพรุ่งนี้เช่น ส.ว.ติดโควิด ส.ว.ไม่อยากเข้าสภา ส.ว.กลัวม็อบ ข้ออ้างสารพัดข้ออ้าง พรุ่งนี้เราจะได้เห็น เราจะจำชื่อมันไว้ จำนามสกุลด้วย คนเหล่านี้ถือว่าเป็นปฏิปักษ์การปกครองอย่างแท้จริงเพราะการเลือกตั้งมันสิ้นสุดโดยสมบูรณ์แล้วว่าพวกเราชนะอย่างเด็ดขาด ไม่ต้องไปถกเถียงกัน เขย่งยังไงก็สู้ไมได้ ไปนับใหม่ก็ไม่ได้ เพราะคนเลือกแล้วว่าให้ฝ่ายประชาธิปไตยมาบริหารประเทศ”

อานนท์กล่าวว่าตัวเขาเองอยากให้กำลังใจพรรคร่วมรัฐบาลและอยู่ร่วมกันอย่างเหนียวแน่นแล้วประชาชนจะเป็นกำแพงผนังทองแดงให้ทุกคนทุกพรรคอย่างแน่นอน

“ผมเห็นการสัมภาษณ์ของหมอชลน่านแล้วเข้าใจเลย แกพูดด้วยความจริงใจเรื่องที่ประชาชนมัดรวมกัน อันนี้เป็นเรื่องจริงคือ ส.ส.เขารู้สึกว่าประชาชนเลือกแล้วมันทรยศประชาชนไม่ได้”

นอกจากนั้นอานนท์ได้ขอให้ประชาชนและนักการเมืองอย่าแตกกันตามแผนของฝ่ายตรงข้ามที่พยายามยุแยงให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในฝ่ายประชาธิปไตย

อานนท์กล่าวทิ้งท้ายถึงการเคลื่อนไหวต่อไปว่าถ้าพรุ่งนี้มีการโหวตที่เป็นการหักหลังประชาชน สัปดาห์หน้าจะขอให้มีการชุมนุมทั้งประเทศ เพื่อให้การต่อสู้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อเปลี่ยนประเทศเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

หลังการปราศรัยของอานนท์ธัชพงษ์ได้ขึ้นนัดการชุมนุมในวันพรุ่งนี้ให้ประชาชนรวมตัวกันที่ประตูฝั่งทางเข้าสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นและจะไม่ไปทางประตูฝั่งวุฒิสภา เพื่อไม่ให้เข้าทางเกมของฝ่ายตรงข้าม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net