Skip to main content
sharethis

องค์การนักศึกษา มธ. จัดกิจกรรม "ทวงคืนอำนาจประชาชน #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" มีการปราศรัยวิจารณ์ ส.ว.และองค์กรอิสระที่กำลังขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนและการใช้กระบวนการทางกฎหมายอย่างไม่ถูกต้อง มีการแสดงสัญลักษณ์ตอกฝาโลง เผาพริกเกลือสาปแช่ง

17.30 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต(มธ.รังสิต) บริเวณลานสัญญาธรรมศักดิ์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) จัดกิจกรรมทวงคืนอำนาจประชาชน #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ในกิจกรรมมีนักศึกษาของ มธ.ร่วมปราศรัยวิจารณ์การใช้กระบวนการทางกฎหมายกับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทั้งกรณีถือหุ้นไอทีวีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไปและศาลยังรับคำร้องที่พรรคก้าวไกลถูกกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครองเนื่องจากมีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงการที่ ส.ว.ที่ไม่โหวตให้พิธาเป็นนายกฯ ด้วย

ในกิจกรรมมีการให้โหวตแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่กับเรื่อง "ส.ส. และ ส.ว.ต้องเคารพเสียงประชาชนนายกฯต้องมาจากเสียงข้างมากของประชาชน" "กฎหมายยังมีความศักดิ์สิทธิ์หรือไม่" รวมถึงถามความเห็นว่ามีสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้เป็นอย่างไร

 

โบ๊ท

โบ๊ท นักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทยนับตั้งแต่อดีตที่มีการรัฐประหารและการสังหารประชาชนแล้วก็มีการเลือกตั้งนี้เปรียบเสมือนวงจรอุบาทว์ในการเมืองไทย ที่ฝ่ายชนชั้นนำและนายทุนสามานย์มาหลอกประชาชนว่าประเทศนี้เป็นของประชาชนแต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เพราะเสียงของประชาชนถูกเหยียบย่ำ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ที่ได้รับการเลือกตั้งมายังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ประชาชนไทยกลายเป็นคนนอกของการเมืองไทยเมื่อต้องเผชิญกับกลุ่มพวกพ้องนักการเมืองที่รับใช้เผด็จการและไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎรรวมกลุ่มกันครองตำแหน่งรัฐมนตรีกันอย่างยาวนานที่ไม่สามารถคุยกันได้เพราะผลประโยชน์ไม่ตรงกันประชาชนไม่เคยอยู่ในการสมการของนักการเมืองเหล่านี้ และเรื่องนี้ถูกพิสูจน์แล้วจากที่ก่อนเลือกตั้งสัญญาว่าจะช่วยกันปิดสวิตช์ ส.ว.แต่วันนี้พรรคการเมืองเหล่านี้อย่างเพื่อไทยกลับมีท่าทีจะเป็นงูเห่า

โบ๊ทกล่าวว่าการจะหยุดวงจรอุบาทว์นี้ได้คือต้องสู้ต่อไปเพราะชัยชนะของฝ่ายตรงข้ามคือการทำให้ประชาชนท้อแท้รู้สึกว่าประเทศนี้สู้ไปก็ไม่ได้อะไร จะออกเสียงไปทำไมประชาชนไม่มีทางสู้ชนะ ประชาชนจึงต้องไม่หยุดที่จะส่งเสียงออกไปกดดันผู้แทนราษฎรของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้แทนราษฎรก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองและรักษาสัญญาที่หาเสียงไว้ของตัวเองด้วยโดยการใช้เสียงของตัวเองไปตามฉันทามติของประชาชน แต่ประชาชนกดดัน ส.ว.ไม่ได้เพราะไม่ได้มาจากประชาชนแต่ถูกแต่งตั้งมาจาก คสช.แต่ก็ยังมากินเงินจากภาษีของประชาชน

โบ๊ทยังกล่าวถึงที่ ส.ส.และ ส.ว.อ้างเรื่องเสนอแก้มาตรา 112 ของก้าวไกลเพื่อที่จะไม่โหวตทั้งที่การเสนอแก้กฎหมายเป็นสิ่งเพียงกฎหมายฉบับหนึ่งที่สามารถเสนอเพื่อพิจารณาในสภาได้ แต่การอ้างมาเพื่อไม่โหวตนายกฯ นั้นก็เป็นเพราะไม่ต้องการให้ประชาชนชนะ แล้วกฎหมายมาตรา 112 เองก็ยังมีปัญหาที่ถูกเอามาใช้ดำเนินคดีกับคนจนมีคนเสียชีวิตในคุก นอกจากนั้นที่ผ่านมากฎหมายนี้ก็เคยถูกแก้มาแล้ว ดังนั้นเหตุผลที่ยกมาอ้างกันนั้นฟังไม่ขึ้น

เอย (ภาพโดย ที่พระจันทร์)

เอย นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ กล่าวว่ารัฐธรรมนูญที่นักนิติศาสตร์ยึดถือกันว่าเป็นกฎหมายสูงสุดแต่เมื่อศาลตีความเกินกว่าตัวบทแล้วจะยังมีไปอีกเพื่ออะไร แล้ว มธ.ที่อ้างประชาชนทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยออกมาแถลงการณ์อะไรที่กับความวิปริตที่เป็นผลผลิตของคณะนิติศาสตร์ มธ. อย่างมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่เป็นเนติบริกรให้คณะรัฐประหารมาเขียนรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจให้ คสช.

"คุณใช้กฎหมาย เอาความรู้กฎหมายที่พวกคุณมีมาเป็นอาวุธให้พวกเผด็จการแบบนี้มันถูกแล้วเหรอ ยังกล้าอีกเหรอว่าอยู่คณะนิติศาสตร์ ไม่มีจิตสำนึก ไม่มีจิตสำนึกในประชาชน" เอย กล่าว

เอยยังได้กล่าวถึงที่มาของ ส.ว.ในอดีตที่เริ่มมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2490 ว่าทำให้เกิด ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งขึ้นมาโดยผู้ริเริ่มก็คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชย์ ซึ่งเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของพวกอภิสิทธิ์ชนที่แม้จะถูกรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ห้ามคนที่อยู่ในตำแหน่งหม่อมเจ้าขึ้นไปมายุ่งการเมืองแล้วก็ตาม ส.ว.จึงกลายมาเป็นมรดกตกทอดของพวกอำนาจนิยมและพวกศักดินา แล้วถึงจะทำให้ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังถูกทำลายลงไปด้วยการรัฐประหาร 2549

ศาลรัฐธรรมนูญที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็อ้างไม่ได้ว่ามีอิสระเพราะถูกเลือกมาโดย ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้งเข้ามาอีกที

“กฎหมายมันสำคัญอย่างมาก ถ้าคุณยึดถือตัวบทกันจริงๆ ทำไมถึงฉีกรัฐธรรมนูญกันเป็นว่าเล่น”

“ศาลที่ได้อำนาจมารัฐธรรมนูญ ประชาชนมีอำนาจสูงสุด แต่ศาลไม่ยึดโยงกับประชาชนไม่ทำให้ประชาชนศรัทธาได้ บ้านเมืองนี้ยังมีขื่อมีแปอยู่มั้ย” เอยได้เรียกร้องให้ศาลมีความโปร่งใสเพราะตอนนี้ไม่มีใครตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญได้ อีกทั้งในประมวลกฎหมายอาญาก็ไม่ได้ระบุว่าศาลต้องมีความรับผิดตามกฎหมาย

เอยยังได้เรียกร้องไปยังนักกฎหมายทุกคนและมีความรู้ทางกฎหมายเป็นอย่างดีอย่างวิษณุ เครืองามที่พูดอะไรก็ไม่มีทางผิดกฎหมายความกลับกลอกนี้ที่ทำให้ประเทศชาติถอยหลังทุกวันนี้ และนักศึกษานิติศาสตร์ก็อย่าเอาแต่ท่องจำประมวลกฎหมายแต่ไม่เข้าใจความหมายเบื้องหลังเพราะมันไม่ใช่ความจริงสูงสุดกฎหมายไม่ดีก็ต้องตั้งคำถาม

20.30 น. หลังการเวียนปราศรัยของนักศึกษาและประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมเสร็จสิ้นลงตัวแทนจาก อมธ.อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อสถานการณ์การเมืองที่ตอนนี้ยังไม่ได้รัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนแม้จะผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว

"การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 นับเป็นความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบ แต่กลับเป็นอีกครั้งที่ความต้องการของประชาชนได้ถูกบดขยี้ เพราะแม้ฉันทามติของประชาชนจะเด่นชัดสะท้อนผ่านคูหา เลือกตั้งอย่างไร แต่ก็เหมือนกับไม่มีความหมายใด ๆ ที่จะทําให้ผู้มีอํานาจที่แท้จริงในประเทศแห่งนี้รู้สึกรู้สาเลยแม้แต่น้อย"

แถลงการณ์ระบุว่ากระบวนการตุลาการภิวัตน์ทำให้ศาลและองค์กรอิสระมีสิทธิเด็ดขาดในการชี้นำประเทศสู่ความเลวร้ายลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับ ส.ว.ที่ขัดขวางระบอบประชาธิปไตยอยู่ทั้งที่คนเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นมาโดยคณะรัฐประหารอย่าง คสช. ทำให้ประชาชนรู้สึกโกรธแค้นและตั้งคำถามว่าประเทศนี้เป็นของใคร ซึ่งการที่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วแต่ยังไม่สามารถมีนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนได้ก็เป็นผลที่เป็นรูปธรรมจากการรัฐประหาร

แถลงการณ์เรียกร้องถึงผู้มีอำนาจและพรรคการเมืองที่กำลังมุ่งจัดตั้งรัฐบาลในนามของประชาชนให้ระลึกถึงอนาคตของประเทศและความสง่างามในวิถีทางประชาธิปไตย

“ไม่ว่าอย่างไรพวกเราก็จะไม่ยอมแพ้ พวกเราจะต่อสู้ ในทุกวิถีทางเพื่อโค่นล้มความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างทางการเมืองอันบิดเบี้ยวในสังคมไทย พวกเราจะต่อสู้ผ่านคูหา เลือกตั้ง พวกเราจะต่อสู้บนท้องถนน พวกเราจะต่อสู้ด้วยวาจา และความคิด ตามสิทธิ และเสรีภาพที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ภายใต้กฎกติกาอันเป็นธรรม ทั้งหมดนี้คือจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์กับการต่อสู้ที่ไม่มีวันสูญสลายลงได้ เพราะความอดทน ของผู้คนนั้นมีขีดจํากัด ธรรมศาสตร์เราจึงขอยืนตรงและไม่อดทนอีกต่อไป ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ท้ายแถลงการณ์ระบุ

ภาพโดย ที่พระจันทร์

จากนั้นผู้จัดทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยนำหุ่นจำลองที่มีรูปตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใส่ในโลงและตอกฝาโลง จากนั้นจึงนำรัฐธรรมนูญ 2560 เผาลงในกระป๋องเหล็ก และปิดท้ายด้วยการเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งผู้มีอำนาจ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ สว. ที่เป็นปรปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย และยุติการชุมนุม

ภาพโดย ที่พระจันทร์

กล่องลากตั้ง ติดยันต์ไล่ ส.ว. สะท้อนกติกาการเมืองอันผิดปกติ

บริเวณที่จัดงานมีการจัดแสดงกล่องลากตั้ง และพานสาปแช่งรัฐธรรมนูญ 60 โดยอะโวคาโด ผู้จัดกิจกรรมบอกว่า ทำขึ้นมาเพื่อสะท้อนกติกาการเมืองอันผิดปกติ

อะโวคาโด (นามสมมติ) นศ.คณะนิติศาสตร์ ปี 1 ของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า "กล่องลากตั้ง" คอนเซ็ปต์คือการไล่ ส.ว.

นศ.นิติศาสตร์ กล่าวต่อว่า กล่องลากตั้ง เป็นการตั้งคำถามกับ ส.ว. ช่วงที่ผ่านมาว่า ถ้าการเลือกนายกฯ และรัฐบาลขึ้นอยู่กับ ส.ว. แล้วจะให้เราเลือกตั้งทำไม จะให้เราเปลืองงบฯ ทำไม รอบๆ กล่องมีการแปะยันต์กัน ส.ว. เอาไว้ ด้านบนของกล่องมีดอกไม้ที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า "ขอ ส.ว.เถอะ อย่ามายุ่งกับกล่องเลือกตั้งนี้" หรือสะท้อนมุมมองของเธอที่ขอ ส.ว. อย่ามายุ่งกับผลการเลือกตั้ง และการโหวตรับลงมติเห็นชอบแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้แล้ว

ข้างๆ ของกล่องลากตั้ง เธอจัดแสดงพิธีสาปแช่งไว้อาลัยให้รัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะรัฐธรรมนูญถูกเขียนเพื่อคนไม่กี่คน ไม่ได้เขียนเพื่อประชาชน และเป็นจุดเริ่มต้นกติกาที่ไม่เป็นธรรม

"โดยการจัดพาน เป็นการจัดแบบมัดตราสังข์ เป็นการไหว้ผีไหว้ศพ มีการปักธูปปักหัว เพื่อสาปแช่งคนร่างรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นมา" อะโวคาโด กล่าว

นอกจากนี้ อะโวคาโด เธอต้องการสื่อด้วยว่า กล่องลากตั้ง ที่วางไว้บริเวณที่ชุมนุม ก็ไม่รู้ว่าจะถูกใครช่วงชิงไปหรือไม่ หรือเราไม่รู้ด้วยว่าจะได้การเลือกตั้งที่โปร่งใส หรือสมบูรณ์มาตอนไหน

ท้ายสุด อะโวคาโด กล่าวถึงศิษย์เก่าธรรมศาสตร์บางคนที่มีส่วนร่วมกับการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ขึ้นมา

"สวัสดีค่ะ รุ่นพี่คณะฯ หนู มันทำให้พวกเราเห็นว่าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้สร้างคนดี แต่สร้างคนอย่างคุณ" อะโวคาโด ทิ้งท้าย

ทั้งนี้ มีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. คือศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเมื่อ 20 ม.ค. 2561 มีชัย ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น "เกียรติภูมินิติโดม" ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net