Skip to main content
sharethis

นักวิจัยจาก MIT ศึกษาว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) คุ้มค่ากว่าในการทำงานที่ต้องใช้สายตา 1,000 อย่าง ใน 800 อาชีพ พบว่าในหลายกรณี ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและดูแลรักษาระบบ AI นั้นสูงกว่าการให้มนุษย์ทำงานเดียวกัน 


ภาพประกอบสร้างจากเทคโนโลยี AI ของ Image Creator from Microsoft Designer

ในยุคสมัยของปัญญาประดิษฐ์ (AI) นอกจากจะสร้างความตื่นเต้นแล้วยังทำให้ความกลัวเก่าแก่หลายศตวรรษที่ว่าเทคโนโลยีจะมาแย่งงานมนุษย์ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง

แต่จากการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) พบว่า ตอนนี้ AI ยังคงมีราคาแพงเกินไปที่จะแทนที่มนุษย์ในงานส่วนใหญ่

ในงานวิจัย Beyond AI Exposure: Which Tasks are Cost-Effective to Automate with Computer Vision? โดย Maja S. Svanberg และคณะ ที่ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการแทนที่แรงงานมนุษย์ด้วย AI ในงานที่ใช้คอมพิวเตอร์วิทัศน์  (Computer Vision)* ในสหรัฐอเมริกา เช่น ครู ช่างอบขนม และผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน เป็นต้น

*งานที่ใช้คอมพิวเตอร์วิทัศน์  (Computer Vision) หรือ งานที่ใช้คอมพิวเตอร์วิทัศน์ หมายถึง การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer Vision) ในการทำงานอัตโนมัติ โดยคอมพิวเตอร์วิทัศน์จะช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถ "มองเห็น" และ "เข้าใจ" โลกเสมือนมนุษย์ เทคโนโลยีนี้มีศักยภาพสูงในการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตและการทำงานของมนุษย์ โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานต่างๆ ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ Computer Vision:
  • ระบบตรวจสอบคุณภาพ - ใช้ในการตรวจสอบสินค้าบนสายพานการผลิต หรือตรวจจับสิ่งผิดปกติในภาพถ่ายทางการแพทย์
  • ระบบคัดแยก -ใช้ในการคัดแยกวัตถุ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือผลไม้
  • ระบบตรวจสอบ -ใช้ในการตรวจสอบความปลอดภัย เช่น ตรวจจับบุคคลแปลกหน้า หรือตรวจจับควันไฟ
  • ระบบควบคุม - ใช้ในการควบคุมการทำงานของเครื่องจักร เช่น ควบคุมหุ่นยนต์หยิบสินค้า
  • ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ: ใช้ในการนำทางรถยนต์ไร้คนขับ หรือโดรน

การศึกษาพบว่าต้นทุนการใช้ AI แทนแรงงานคนแล้วคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายแทนค่าจ้างนั้นมีเพียง 23% เท่านั้น นักวิจัยยังคาดการณ์ว่าแม้ว่าต้นทุนต่อปีจะลดลง 20% แต่ก็ยังต้องใช้เวลานานหลายทศวรรษกว่างานที่ใช้คอมพิวเตอร์วิทัศน์จะกลายเป็นทางเลือกที่คุ้มทุนสำหรับธุรกิจต่างๆ

การใช้ AI ในงานคอมพิวเตอร์วิทัศน์ จะช่วยให้เครื่องจักรดึงข้อมูลจากข้อมูลภาพและดิจิทัล ตัวอย่างจากการศึกษานี้ คือ ร้านเบเกอรี่ที่ใช้คอมพิวเตอร์วิทัศน์ในการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ แต่การทำงานนี้คิดเป็นเพียง 6% ของงานทั้งหมด และการติดตั้งและใช้งานเทคโนโลยีมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการให้พนักงานที่เป็นมนุษย์ทำงาน

การศึกษานี้ได้รับทุนจาก MIT-IBM Watson AI Lab และใช้แบบสำรวจออนไลน์เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานที่ต้องใช้สายตาประมาณ 1,000 งาน ใน 800 อาชีพ พบว่าในหลายกรณี ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและดูแลรักษาระบบ AI นั้นสูงกว่าการให้มนุษย์ทำงานเดียวกัน

ในบทความวิจัย 45 หน้านักวิจัยชี้ให้เห็นว่า “‘เครื่องจักรจะแย่งงานของเราไป’ เป็นความกังวลที่มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ความกังวลดังกล่าวกลับมาอีกครั้งเมื่อมีการสร้างโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (large language models)”

นับตั้งแต่ ChatGPT ของ OpenAI เปิดตัวในเดือน พ.ย. 2022 ความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ AI จะทำให้เกิดการสูญเสียตำงานในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ศิลปะไปจนถึงธนาคาร รายงานของ Goldman Sachs ในปี 2023 ประเมินว่า 18% ของงานทั่วโลกอาจได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี AI ที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหา (generative AI)

แต่ในงานประชุมที่ดาวอส เมื่อเดือน ม.ค. 2024 แซม อัลแมน (Sam Altman) ซีอีโอของ OpenAI กล่าวว่า สติปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (artificial general intelligence: AGI) ซึ่งเป็น AI ที่คาดการณ์ว่าจะมีความฉลาดเทียบเท่ามนุษย์ "จะเปลี่ยนโลกน้อยกว่าที่เราคิด และจะเปลี่ยนแปลงงานน้อยกว่าที่เราคิด"

มายาคติ 'AI vs มนุษย์'


ภาพประกอบสร้างจากเทคโนโลยี AI ของ Image Creator from Microsoft Designer

จากบทความ Artificial intelligence: Myths and truths, robots vs humans? ที่เผยแพร่เว็บไซต์ The Cloud Group ชี้ว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีวิวัฒนาการมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา ประกอบกับจินตนาการของมนุษย์และนิยายวิทยาศาสตร์ ก็ไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนต่างนึกภาพถึงช่วงเวลาที่เครื่องจักรทำสงครามกับมนุษย์ หรือเราสูญเสียงานเพราะถูกหุ่นยนต์แทนที่ แม้ว่าจะมีบางอาชีพที่อาจถูกแทนที่ด้วย AI ในอนาคตอันใกล้ แต่ก็มีอีกหลายหน้าที่ที่จำเป็นต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของมนุษย์ จริงอยู่ที่เราอาจจะเห็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์อยู่บ่อยครั้ง จนกลายเป็นความกังวลของบางคน

ในบทความชิ้นนี้ได้นำเสนอ 4 มายาคติเกี่ยวกับ 'AI vs มนุษย์' ไว้ดังนี้

มายาคติที่ 1: เครื่องจักรกำลังจะเข้ามาแทนที่มนุษย์ในโลกแห่งการทำงาน

นี่อาจเป็นมายาคติที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ด้วยโลกแห่งความบันเทิง มีความคิดที่ว่าเครื่องจักรและผู้คนแข่งขันกันแย่งชิงงาน แต่มันเป็นเพียงมายาคติ

แม้ว่าปัจจุบันจะมีหุ่นยนต์นับพันตัวที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน และเมื่อเวลาผ่านไปหุ่นยนต์เหล่านี้อาจเข้ามาทำงานบางสิ่งบางอย่างแทนเรา แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะถูกแทนที่โดยสมบูรณ์

ตัวอย่างเช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมส่งผลให้มีการวางเครื่องจักรและหุ่นยนต์เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตในโรงงานและปรับปรุงคุณภาพ เช่นเดียวกับการใช้แชทบอทช่วยในการบริการลูกค้าให้ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นการแบ่งเบาแรงคนไปได้เป็นอย่างมาก และเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้ทำงานอื่นที่ดีกว่า

มายาคติที่ 2: AI จะยึดครองโลก

เคยคิดไหมว่า สักวันเราจะมีชะตากรรมเหมือนในหนัง The Terminator หรือ The Matrix ที่เครื่องจักรควบคุมมนุษย์และยึดครองโลก? เรื่องนี้มีความเป็นไปได้มากแค่ไหน?

แนวคิดนี้มาจากการคาดการณ์ว่าเครื่องจักรอาจฉลาดเกินกว่ามนุษย์และต้องการกำจัดเรา อีลอน มัสค์ (Elon Musk) เจ้าของบริษัท Tesla เคยเตือนว่าเพื่อป้องกันเรื่องนี้ ควรมีการควบคุมการพัฒนา AI

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า หุ่นยนต์ไม่มีทางมีสัญชาตญาณและอารมณ์เหมือนมนุษย์ได้ ดังนั้นความกังวลเรื่องการยึดครองโลกอาจเป็นแค่เรื่องแต่ง

มายาคติที่ 3: AI เป็นสิ่งเดียวกับ Machine Learning

AI เป็นคำพ้องความหมายกับ "Machine Learning" ทั้งสองคำมีความเกี่ยวข้องกัน แต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

AI คือแนวคิดใหญ่ ส่วน Machine Learning เป็นเพียงส่วนย่อยของ AI ลองนึกภาพ AI เหมือนกล่องเครื่องมือขนาดใหญ่ ภายในกล่องนั้นมีเครื่องมือต่าง ๆ มากมาย หนึ่งในเครื่องมือสำคัญก็คือ Machine Learning ซึ่งทำงานโดยการสอนคอมพิวเตอร์ให้เรียนรู้และปรับตัวจากข้อมูล โดยค้นหาและจดจำรูปแบบภายในข้อมูลนั้น ทำให้สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ในอนาคตได้แม่นยำขึ้น

มายาคติที่ 4: AI คือหุ่นยนต์เท่านั้น

นี่เป็นอีกมายาคติที่แพร่หลาย หลายคนเข้าใจผิด คิดว่า AI คือหุ่นยนต์เท่านั้น ภาพจำของ AI คือ R2D2, C3PO หรือหุ่นยนต์จากภาพยนตร์ต่างๆ

ความจริงคือ AI ถูกนำไปใช้ในหลากหลายเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่หุ่นยนต์เท่านั้น ตัวอย่างใกล้ตัว เช่น ระบบจดจำใบหน้าบนสมาร์ทโฟน หรือระบบสแกนลายนิ้วมือ ล้วนเป็นตัวอย่างของ AI ที่ไม่ใช่หุ่นยนต์

ลองนึกภาพ AI เป็นมันสมองอัจฉริยะ มันสามารถเรียนรู้ ปรับตัว และแก้ปัญหาได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ โปรแกรม หรือแม้แต่ฮาร์ดแวร์อย่างหุ่นยนต์เอง

ดังนั้น ครั้งต่อไปที่คุณเห็นเทคโนโลยีที่ฉลาดล้ำ อย่าเพิ่งคิดไปว่านั่นคือหุ่นยนต์ AI มีอีกหลายรูปแบบ และกำลังมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ


ที่มา:
AI is too expensive to replace humans in jobs right now, MIT study finds (Pascale Davies, Euro News, 23 January 2024)
Artificial intelligence: Myths and truths, robots vs humans? (The Cloud Group)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net