Skip to main content
sharethis

สส.ก้าวไกลยื่นญัตติด่วนขอให้สภาฯ ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติเพราะคำวินิจฉัยที่ผ่านมาทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่า สส.ทำอะไรได้หรือไม่ได้และศาลยังตีความอำนาจตัวเองมาครอบคลุมอำนาจนิติบัญญัติ “ชัยธวัช” ย้ำไม่กระทบคำวินิจฉัยที่ออกมาแล้วไม่ละเมิดอำนาจศาล แต่หวังถูกนำมาพิจารณาในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

6 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย สส.พรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง ยื่นญัตติด่วนขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา ขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับญัตติดังกล่าว

ชัยธวัชกล่าวว่าการเสนอญัตตินี้สืบเนื่องจากได้เห็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 หรือคดีลบล้างการปกครองของพรรคก้าวไกลฉบับเต็มที่เพิ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมาก็พบว่ามีบางประเด็นที่กระทบกับการทำหน้าที่ และการปฏิบัติงานของ สส. รวมถึงสมาชิกรัฐสภาอย่างมีนัยสำคัญ

ศาลรัฐธรรมนูญฟันเสนอแก้ 112 ของ 'พิธา-ก้าวไกล' เป็นการใช้สิทธิฯ 'ล้มล้างการปกครอง' สั่งเลิกการกระทำ

หัวหน้าพรรคกล่าวโดยสรุปประเด็นเรื่องนี้ว่าการกล่าวหา ว่าการเสนอแก้ไขร่างกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ สส.พรรคก้าวไกลนั้นเป็นการล้มล้างการปกครอง แต่ทางพรรคก้าวไกลได้โต้แย้งข้อกล่าวหาไว้ว่า การเสนอแก้ไข มาตรา 112 ไม่ใช่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพ ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 แต่การเสนอร่างกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นฉบับใด เป็นอำนาจของ สส.ตามกระบวนการนิติบัญญัติ และการเสนอร่างกฎหมายไม่สามารถเป็นการล้มล้างการปกครองได้

ชัยธวัชกล่าวถึงเหตุผลต่อว่า เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจการตรวจสอบว่าร่างพระราชบัญญัติชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ทั้งก่อนและหลังการประกาศใช้อยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ได้มีการตีความขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่า แม้การเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นวิธีการทางรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจโดยตรงในการเสนอกฎหมายระดับพระราชบัญญัติอยู่แล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าตัวเองมีอำนาจที่จะตรวจสอบและวินิจฉัยว่า การเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ซึ่งเป็นการตีความครอบคลุมถึงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัตินอกเหนือการตรวจสอบการชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 และมาตรา 212

หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่าทางพรรคเห็นว่าคำวินิจฉัยในส่วนนี้จะส่งผลต่อความชัดเจนของขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแล้วจะกระทบโดยตรงต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็น สส. หรือสมาชิกรัฐสภาทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่าอะไรที่สมาชิกรัฐสภาจะทำได้หรือไม่ได้ จึงควรจะพิจารณาโดยเร่งด่วนในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการกระทำของ สส.

ชัยธวัชกล่าวว่าการศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้จะรวมไปถึงคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้ด้วยเช่น  เรื่องการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ วินิจฉัยว่าไม่ให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถึงที่มาของสมาชิก  คำวินิจฉัยเหล่านี้ของศาลรัฐธรรมนูญล้วนกระทบต่อสมดุลและดุลยภาพอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญอย่างมีนัยสำคัญ จึงเป็นที่มาของการยื่นญัตติด่วนในวันนี้

ชัยธวัชกล่าวอีกว่าเรื่องนี้ควรต้องมีการศึกษาเพราะคำวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนี้กระทบต่อดุลยภาพของอำนาจในระบอบประชาธิปไตยและเพื่อรักษาหลักการแบ่งแยกอำนาจและหาทางป้องกันไม่ให้อำนาจตุลาการเข้ามาก้าวก่ายการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติโดยการตีความขยายเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในฐานะข้อยกเว้นของระบบกฎหมายในกรณีที่เป็นประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน และที่เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องเร่งด่วนเพราะคำวินิจฉัยทำนองนี้กระทบโดยตรงต่อการทำงานของสมาชิกรัฐสภาไม่มีความชัดเจนแน่นอนว่าเรื่องไหนทำได้หรือไม่และจะถูกตีความว่าเป็นเรื่องที่ถูกตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญได้มากกว่าที่รัฐธรรมนูยกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ

หัวหน้าพรรคก้าวไกลเน้นย้ำว่าการยื่นญัตตินี้ยังเป็นการตั้งเรื่องขึ้นมาศึกษาเท่านั้น ยังไม่ไปกระทบคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้เกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลใดๆ ทั้งสิ้น และเมื่อมีผลการศึกษาออกมาแล้วก็จะสร้างความชัดเจนให้กับฝ่ายนิติบัญญัติเองว่าตกลงเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ตรงไหนกันแน่ และคาดหวังว่าผลการศึกษานี้จะมีส่วนในการนำไปพิจารณาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในอนาคต เพราะเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาอยู่จนถึงทุกวันนี้ เช่น ร่างของพรรคเพื่อไทยที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้แก้ทั้งฉบับ แต่รัฐสภาเห็นว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จะขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แม้พรรคเพื่อไทยจะใช้อำนาจโดยชอบตามรัฐธรรมนูญก็ตาม ถ้าเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน ก็จะมีปัญหาต่อไปในอนาคต

"ปัญหาการตีความเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดมากหากฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบเช่นนี้ได้ เพราะเราเคยแก้ไขมาแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติรวมถึงสภาร่างรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขที่มาของวุฒิสภาได้ แต่มาถึงยุคหนึ่งปรากฎว่าศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจในการตีความเรื่องดังกล่าว มาก้าวก่ายและล้ำแดนฝ่ายนิติบัญญัติ จะเป็นปัญหาการเมืองได้ในอนาคต"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net