Skip to main content
sharethis
'พิชัย นริพทะพันธุ์' อดีต รมว.พลังงานเผย กฟผ. พยายามล็อบบีให้หยุดวิจารณ์ กรณีซื้อหุ้นเหมืองถ่านหินอินโดนีเซีย จี้ตอบ 4 คำถามชี้แจงสังคม และให้เปิดเอกสารการประเมินราคาว่าคำนวณราคาถ่านหินอนาคตอย่างไร 
 
11 ธ.ค. 2559 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า ตามที่ได้ออกมาวิจารณ์การที่บริษัทลูกของ กฟผ. จ่ายเงิน 1.17 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้าซื้อหุ้นของเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย เพียง 11 - 12% นั้น เป็นการตำหนิตามหลักการการบริหารธุรกิจ เป็นไปตามเหตุผล ใครที่อยู่ในวงการธุรกิจและการค้าหลักทรัพย์ ได้เห็นการซื้อขายที่ผิดปกติแบบนี้ก็ต้องมีความเห็นเหมือนกับตน ซึ่ง กฟผ. ควรจะต้องชี้แจงให้ความกระจ่างกับประชาชน มากกว่าที่จะใช้วาจาที่ไม่สุภาพ และ ผู้ว่าการ กฟผ. ควรจะต้องมีวุฒิภาวะและสัมมาคารวะ เพราะตนก็เคยเป็น รมว.พลังงาน และ เป็นอดีตผู้บังคับบัญชา กฟผ. โดยตรง ย่อมมีสิทธิที่จะวิพากษ์การดำเนินการที่เห็นว่าผิดปกติได้ เพราะหลังจากที่ตนออกมาเปิดเผยทุกคนต่างเห็นด้วยว่าน่าจะผิดปกติ โดย กฟผ. ต้องตอบปัญหาที่สังคมสงสัย ดังนี้
       
1) เหตุใดจึงจ่าย 1.17 หมื่นล้าน เพื่อซื้อหุ้นเพียง 11 - 12% เป็นเรื่องสมเหตุสมผลหรือไม่ กฟผ. อินเตอร์ มีสิทธิ์มีเสียงในการบริหารเหมืองถ่านหินนี้หรือไม่ ถ้าถือหุ้นเพียงเท่านี้ ความเสี่ยงที่จะเกิดหากการบริหารผิดพลาดแล้วบริษัทเกิดเจ๊ง ใครจะรับผิดชอบ
       
2) กฟผ. ทราบหรือไม่ว่า อนาคตของโลก จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานอื่นที่ไม่ใช่ถ่านหินแล้ว บางสำนักวิเคราะห์ยังพูดถึงการหยุดใช้ถ่านหินในปี 2025 ด้วยซ้ำไป กฟผ. ที่อยู่ในธุรกิจนี้ก็น่าจะทราบดี
       
3) กฟผ. มองอนาคตราคาถ่านหินอย่างไร ขอให้เปิดเผยเอกสารการทำข้อตกลงทั้งหมดเพื่อขอตรวจสอบ เพราะหากถ่านหินจะหมดความสำคัญในอนาคต ราคาถ่านหินควรเป็นเท่าไร
 
4) ถ้าแนวโน้มการใช้ถ่านหินลดลง ราคาถ่านหินก็มีแนวโน้มที่จะราคาต่ำลง กฟผ. ควรซื้อถ่านหินในตลาดสากลปกติมากกว่าจะเข้าไปถือหุ้นเหมืองถ่านหินเอง แถมยังไม่มีสิทธิบริหารใช่หรือไม่ บริษัทที่ผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซยังไม่เห็นต้องไปขุดก๊าซเองเลย อีกทั้งราคาก๊าซเองก็จะมีแนวโน้มราคาที่คงที่หรือต่ำลงในอนาคต
       
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ได้มีรองผู้ว่าการ กฟผ. ท่านหนึ่ง ได้โทร.มาขอร้องตนเพื่อให้หยุดวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ซึ่งตนก็ขอให้นำเอกสารเข้ามาชี้แจงจะได้ทราบเหตุผล โดย รองผู้ว่าการ กฟผ. จะขอให้ กรรมการผู้จัดการ กฟผ. อินเตอร์ โทร.มาชี้แจง ตนจึงขอให้นำเอกสารแล้วนัดเข้ามาชี้แจงเลย จะได้ซักถามได้ แต่ก็ได้หายเงียบไป แล้วผู้ว่าการ กฟผ. ก็ออกมาพูดแบบนี้ ส่วนข่าวสารที่อาจจะมีการทุจริตนั้น ตนได้รับข้อมูลจากวงการพลังงานในประเทศอินโดนีเซีย ที่ตนได้ข้อมูลมาตลอดแม้กระทั่งเรื่องการลงทุนของ ปตท. ในอินโดนีเซียที่มีการทุจริตกันอย่างมากซึ่ง บอร์ด ปตท. ได้มีมติลงโทษ และเรื่องอยู่ใน ป.ป.ช. แล้ว
       
ในฐานะที่เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ควรจะตัองมีวุฒิภาวะและความเป็นมืออาชีพ ซึ่งควรจะตอบข้อสงสัยของสังคม มากกว่าจะมาพูดจาไม่สุภาพกับคนที่ออกมาเปิดเผยความไม่ชอบมาพากล หากตนยังเป็น รมว.พลังงาน แล้วเกิดมีข้อสงสัยทุจริตแล้วผู้นำรัฐวิสาหกิจตอบโต้กับใครก็ตามในลักษณะเช่นนี้ ผู้นำรัฐวิสาหกิจคนนั้นก็ไม่น่ามีวุฒิภาวะเหมาะสมที่จะนำองค์กรต่อไปได้ ไม่ต้องพูดถึงตนที่เป็นอดีตผู้บังคับบัญชามาก่อน ซึ่ง รมว.พลังงาน ปัจจุบันควรจะต้องพิจารณา และอย่าให้พูดแล้วดูเหมือนกับร้อนตัว โดยหากรัฐวิสาหกิจใดมีการตกลงธุรกิจที่ไม่สมเหตุสมผลย่อมจะหลีกเลี่ยงข้อครหาการทุจริตไม่พ้นอย่างแน่นอน และตนเชื่อว่า หาก กฟผ. ไม่สามารถชี้แจงให้สังคมเข้าใจได้ กฟผ. ประธานบอร์ด กฟผ. รมว.พลังงาน รวมถึง ครม. ก็ควรจะต้องร่วมกันรับผิดชอบในเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้ได้ผ่าน ครม. แล้ว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net