Skip to main content
sharethis

แม้ว่าการเล่นกีฬาจะมีประโยชน์ต่อเด็กผู้หญิง ทั้งเสริมสร้างสุขภาพและสร้างมีความเชื่อมั่นในตนเอง แต่ 'ทัศนคติเหมารวมทางเพศ' ทำให้เด็กผู้หญิงมากมายต้องเลิกเล่นกีฬาไปก่อนวัยอันควร

จากการศึกษาของ Women in Sport องค์กรไม่หวังผลกำไรในสหราชอาณาจักร ที่ผลักดันประเด็นความเท่าเทียมทางเพศในวงการกีฬา ที่ได้รับทุนจาก Sport England ดำเนินการศึกษาเชิงลึกกับ 24 ครอบครัวที่มีลูกสาว และทำการสำรวจระดับประเทศ 2 ครั้ง โดยได้สอบถามผู้ปกครองมากกว่า 2,000 คน ของเด็กหญิงและเด็กชายอายุ 5-11 ปี เกี่ยวกับประสบการณ์การเล่นกีฬาและกิจกรรมออกกำลังการในช่วงเริ่มแรกของเด็กผู้หญิง รวมถึงทัศนคติและอิทธิพลที่ส่งผลต่อการรับรู้ในวัยเด็กของพวกเธอ

การศึกษาพบข้อค้นพบที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

เด็กผู้หญิงควรมีจุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับกีฬาและการออกกำลังกาย


ที่มาภาพ: Women in Sport

ผลการสำรวจของ Women in Sport พบว่าในโรงเรียนประถมศึกษา เด็กผู้หญิงมีความเชื่อมั่นในตนเองในระดับสูงมีเพียง ร้อยละ 69 เทียบกับเด็กผู้ชายที่มีถึง ร้อยละ 79

การศึกษานี้ชี้ว่าหากต้องการให้เด็กๆ ได้พัฒนาอย่างแท้จริง พวกเขาต้องสามารถสนุกกับการออกกำลังกายและเล่นกีฬาได้ตลอดชีวิตของพวกเขา แต่ปัจจุบันเด็กผู้หญิงในอังกฤษกลับเริ่มถูกห้อมล้อมด้วยข้อจำกัดการมีส่วนร่วมในการออกกำลังกายและเล่นกีฬา

Women in Sport พบว่าเมื่อถึงเวลาเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เด็กผู้หญิงหลายคนต้องตัดสินใจว่าพวกเธอจะไม่ 'สังกัด' ทีมกีฬา เนื่องจากการสูญเสียความมั่นใจ และปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรค

เด็กผู้หญิงไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องหรือกำลังพัฒนาทักษะที่เหมาะสมในการเล่นกีฬา


ที่มาภาพ: Women in Sport

การศึกษานี้ระบุว่า 'คำแนะนำที่ถูกต้อง' และ 'การพัฒนาทักษะที่เหมาะสมในการเล่นกีฬา' คือสิ่งสำคัญ 2 ประการที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเด็กผู้หญิง

แต่ Women in Sport ชี้ว่าขณะนี้สังคมและคนรอบข้างกำลังส่งข้อความที่ไม่ถูกต้องให้แก่เด็กผู้หญิง ผ่านการเล่าเรื่องแฝงนัยว่าเด็กผู้หญิงไม่สามารถลงแข่งขันได้ กีฬานั้นไม่สำคัญสำหรับเด็กผู้หญิง พวกเธอจะไม่เก่งเมื่อเทียบกับเด็กผู้ชาย และกีฬานั้นอาจขัดแย้งกับความเป็นหญิงและตัวตนของผู้หญิง

ในขณะเดียวกัน เด็กผู้หญิงก็ไม่ได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับบกีฬาและการออกกำลังกาย เด็กผู้หญิงสับสนระหว่าง "ช่องว่างของทักษะ" กับ "การขาดความสามารถตามธรรมชาติ" ซึ่งไปตอกย้ำกรอบความคิดว่าพวกเธอนั้นไม่ดีพอสำหรับการเล่นกีฬา

การศึกษานี้เน้นย้ำว่าการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเล่นกีฬาและเพิ่มพูลทักษะที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เด็กผู้หญิง เสริมสร้างความรู้สึกว่าพวกเธอเป็นส่วนหนึ่งของกีฬา 

'การเหมารวมทางเพศ' ส่งผลลบต่อการเล่นกีฬาของเด็กผู้หญิง


ที่มาภาพ: Women in Sport

รายงานนี้ชี้ว่าทัศนคติ "การเหมารวมทางเพศ" มีอิทธิพลต่อประสบการณ์การเล่นกีฬาของเด็กผู้หญิง ซึ่งทัศนคติที่ว่านี้มักจะบั่นทอนความมุ่งมั่นในการเล่นกีฬาของพวกเธอ และยิ่งหากครอบครัวและคนใกล้ชิดมีทัศนคติที่ว่าด้วยแล้ว ก็เป็นการยากที่เด็กผู้หญิงจะสามารถเล่นกีฬาได้อย่างต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่น 

ในระดับครอบครัว จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามผู้ปกครองมักเลือกกิจกรรมให้ลูกสาวเข้าร่วม ภายใต้มุมมองการเหมารวมทางเพศ เช่น “เด็กผู้หญิงไม่สามารถเล่นกีฬาได้” หรือ "ลูกสาวของพวกเขาบอบบาง" ดังนั้นกีฬาบางอย่างจึง "ไม่เหมาะสมสำหรับพวกเธอ" - รวมทั้งการขาดแรงบันดาลใจเนื่องจากกิจกรรมที่มีจำกัดสำหรับเด็กผู้หญิง

นอกจากนี้ พ่อกับแม่มักมีปฏิสัมพันธ์กับลูกชายและลูกสาวแตกต่างกัน แม่มักจะใช้เวลากับลูกสาวมากที่สุด อิทธิพลของการเหมารวมทางเพศก็มักทำให้พ่อสนับสนุนลูกชายให้เล่นกีฬามากกว่าลูกสาว นอกจากนี้พวกเขาอาจรู้สึกไม่มั่นใจว่าจะสนับสนุนลูกสาวให้ดีที่สุดได้อย่างไร

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องก็ส่งผลต่อแรงจูงใจและความมั่นใจในการเล่นกีฬาของเด็กผู้หญิงด้วยเช่นกัน พี่ที่มีอายุมากกว่าสามารถเป็นเพื่อนเล่น ให้กำลังใจ ช่วยเหลือ เป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องที่อายุน้อยกว่า - อย่างไรก็ตาม พี่บางคนกลับซึมซับทัศนคติเหมารวมทางเพศ และอาจกีดกันไม่ให้น้องซึ่งเป็นเด็กผู้หญิงเล่นกีฬา

ส่วนที่โรงเรียน ก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติของเด็กผู้หญิงสำหรับการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย ผ่านบทเรียนพละ ชมรมหลังเลิกเรียน และในสนามเด็กเล่น อย่างไรก็ตาม เด็กผู้หญิงมักจะเสียเปรียบเมื่อเด็กผู้ชายได้รับโอกาสและการสนับสนุนมากกว่าในการเล่นกีฬา ซึ่งทำให้ช่องว่างด้านทักษะระหว่างเพศห่างขึ้น

ในรายงานของ Women in Sport ชี้ว่าสภาพแวดล้อมของโรงเรียนมีอิทธิพลต่อประสบการณ์การเล่นกีฬาและการออกกำลังกายของเด็กผู้หญิงผ่าน:

• ความคิดที่ส่งเสริมเกี่ยวกับกีฬาและการออกกำลังกายให้แก่เด็กผู้หญิง โรงเรียนมีแนวโน้มที่จะถูกครอบงำโดยทัศนคติเหมารวมเรื่องเพศด้วยเช่นกัน โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเด็กผู้ชาย และให้โอกาสเด็กผู้ชายมากกว่าเก็กผู้หญิง

• บทเรียนพละที่ไม่สนับสนุนให้เด็กผู้หญิงพัฒนาทักษะ ความสามารถ และทัศนคติเชิงบวก ซึ่งทำให้ผู้เด็กผู้หญิงมีความเสียเปรียบเด็กผู้ชายอย่างยิ่ง

• กิจกรรมหลังเลิกเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงมีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงการกีดกันไม่ให้เข้าถึงกิจกรรมกีฬาได้โดยง่าย ทำให้เด็กผู้หญิงรู้สึกว่าไม่ได้รับการต้อนรับหรือเห็นคุณค่าพวกเธอ 

• สภาพแวดล้อมของสนามเด็กเล่น ควรส่งเสริมความสนุกสนานและเสรีภาพสำหรับทั้งเด็กชายและเด็กหญิง แต่มักจะถูกครอบงำด้วยฟุตบอลและกีฬาของเด็กผู้ชาย

จะจูงใจเด็กผู้หญิงให้มีส่วนร่วมในการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาได้อย่างไร

รายงานของ Women in Sport ชี้ว่านอกจากการสร้างทักษะที่ถูกต้องและการสื่อสารเชิงบวกรอบตัวให้เด็กผู้หญิงแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องกระตุ้นและดึงดูดเด็กผู้หญิงเดินในเส้นทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง:

• โดยธรรมชาติเด็กผู้หญิงไม่ได้มีความมั่นใจต่ำหรือมีความนับถือตนเองต่ำ แต่เป็นเพราะปัจจัยภายนอก - การสนับสนุนความมั่นใจและความเชื่อในตนเองจึงเป็นสิ่งจำเป็น

• เด็กผู้หญิงสามารถเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขัน โดยได้รับทักษะที่เหมาะสมและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความยุติธรรม

• ผลจากการเหมารวมทางเพศ ทำให้ความเชื่อมั่นในตนเองลดลง และเด็กผู้หญิงจำนวนมากกลัวความล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหน้าเพื่อนและครู ดังนั้นการยอมรับและตอบรับเชิงบวกจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ความเพลิดเพลินและแรงจูงใจในการเล่นกีฬาของเด็กผู้หญิงขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลัก 4 ประการ ได้แก่ ความสำเร็จส่วนบุคคล, ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมและความคุ้นเคย, การเห็นคนที่ชื่นชอบมีส่วนร่วมด้วย และการสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ดีและมีเสรีภาพในการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย

5 ปัจจัย เพื่อสร้างการเริ่มต้นที่ดีให้กับเด็กผู้หญิงในการมีส่วนร่วมกับกีฬา


ที่มาภาพ: Women in Sport

Women in Sport ได้พัฒนาปัจจัยแห่งความสำเร็จ 5 ประการ เพื่อสร้างการเริ่มต้นที่ดีให้กับเด็กผู้หญิงในการมีส่วนร่วมกับกีฬาดังนี้:

1. สร้างความคาดหวังว่าพวกเธอจะประสบความสำเร็จ: ผู้ปกครอง ครู และเพื่อน ต้องช่วยเปลี่ยนเรื่องเล่าเดิมๆ โดยแสดงให้เห็นว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับเด็กผู้หญิงที่เล่นกีฬาและแสดงความคาดหวังว่าพวกเธอจะทำได้ดี

2. เสริมสร้างทักษะทางกีฬาให้เด็กผู้หญิงตั้งแต่เนิ่นๆ: ควรส่งเสริมและสนับสนุนเด็กผู้หญิงให้เชี่ยวชาญในทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเล่นกีฬาตั้งแต่อายุยังน้อย ทักษะจะทำให้กีฬามีความหมายสำหรับเด็กผู้หญิง ทำให้การแข่งขันยุติธรรมขึ้นและมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างและรักษาความเชื่อมั่นในตนเองให้แก่พวกเธอ

3. อย่าทำตัว 'งี่เง่า' ต่อเด็กผู้หญิง: หยุดการสื่อที่มองว่าเด็กผู้หญิงเปราะบาง อ่อนแอ และไม่ชอบการแข่งขัน แทนที่ด้วยการเสริมสร้างความคาดหวังว่าพวกเธอมีความสามารถ กล้าหาญ มีพลัง และปราศจากความกลัวในแบบของพวกเธอเอง สร้างความคาดหวังว่าพวกเธอสามารถเป็นคนเก่งในด้านกีฬาได้

4. ให้โอกาสเด็กผู้หญิงมากขึ้น: เด็กผู้หญิงต้องมีโอกาสมากเท่ากับเด็กผู้ชายในโรงเรียน ทั้งวิชาพละ ชมรมกีฬาหลังเลิกเรียน และในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกีฬาประเภททีม ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เด็กผู้หญิงได้รับการต้อนรับอย่างแท้จริงและมีคุณค่าเท่าเทียมกัน

5. ควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรียนและหลังเลิกเรียน: ครูและโค้ชจำเป็นต้องลงทุนเพื่อปิดช่องว่างด้านทักษะและความมั่นใจระหว่างเด็กชายและเด็กหญิง ใช้โรงเรียนเพื่อปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องในหมู่เด็กผู้ชายที่มีต่อเด็กผู้หญิงในการมีส่วนร่วมกับกีฬา เพื่อสร้างคุณค่าและความเคารพมากขึ้นต่อเด็กผู้หญิงที่เล่นกีฬา


ที่มา:
Sport, stereotypes and stolen dreams: Why girls still feel they don’t belong in sport (Women in Sport, March 2023)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net