Skip to main content
sharethis

เครือข่าย Respect My Vote จัดเสวนาประเมินสถานการณ์วันโหวตนายกฯ เวทีชี้ ส.ว.ต้องเคารพเสียงประชาชน "ปริญญา" ย้ำ ส.ส.ก็ต้องช่วยรักษาหลักการพรรคอันดับหนึ่งได้ตั้งรัฐบาลเพื่อรักษาประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่เคยมีมาก่อนการรัฐประหารและสร้างระบบ ส.ว.มาร่วมโหวตนายกฯ 

6 ก.ค.2566 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่าย Respect My Vote จัดเสวนาหัวข้อ "เคารพผลเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชน" ในงานผู้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่าแนวโน้มการโหวตเลือกของทั้งส.ส.และส.ว. รวมถึงเรียกร้องให้ทั้งสองสภาเคารพเสียงประชาชนด้วยการสนับสนุนผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ จากพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกจากประชาชนเป็นเสียงข้างมาก

ในเสวนาครั้งนี้มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ อลงกรณ์ พลบุตร จากพรรคประชาธิปัตย์ มณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา และปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณัชปกร นามเมือง ดำเนินรายการ

(ซ้ายไปขวา) มณเฑียร บุญตัน, อลงกรณ์ พลบุตร, ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และณัชปกร นามเมือง

มณเฑียร บุญตัน ส.ว.กล่าวตอบคำถามเรื่องจุดยืนการโหวตนายกฯ ของตนว่าที่ผ่านมาตนก็ออกเสียงร่างแก้ไข รธน.มาตรา272 ที่เป็นหมวดอำนาจการเลือกนายกฯของ สว. แม้ว่าจะออกเสียงแล้วแพ้ทุกครั้งก็ตาม สำหรับเขาเองที่ผ่านมาเคยประกาศไว้ว่าจะงดออกเสียง แต่ก็ลืมคิดไปว่าการงดออกเสียงคือการปิดสวิท ส.ว.แบบที่รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ได้รับการแก้ไขแล้วซึ่งจะทำให้ไม่มีส.ว.ในองค์ประชุมเลือกนายกฯ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญยังไม่ถูกแก้ไขการงดคือการไม่เห็นด้วยกับแคนดิเตนายกฯ เขาจึงจะใช้วิธีการปิสวิทช์ ส.ว.โดยการโหวตตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ไม่ว่าแคนดิเดตนายกฯ จะเป็นใครก็ตาม

“ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากเป็นอย่างไร ส.ว.อย่างผมก็เป็นอย่างนั้น ไม่ต้องใช้ดุลพินิจ ไม่ต้องเอาเรื่องของความชอบหรือไม่ชอบ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องนโยบาย ไม่ต้องพูดถึงอะไรทั้งนั้น ก็หมายความว่าเมื่อเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรเป็นประการใดผมก็เห็นเป็นประการนั้น ซึ่งหลักการนี้ใช้เป็นเหตุผลเดียวกกับการใช้สิทธิเมื่อปี 62 มันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย” มณเฑียรเปรียบเทียบการใช้หลักการเดียวกับที่ ส.ว.ใช้ในการเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ เมื่อปี 62 ที่ใครเป็นผู้รวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ก็เลือกไปตามนั้น

อย่างไรก็ตาม ส.ว.กล่าวว่าตัวเขาเองก็ไม่ทราบแนวโน้มการลงมติของสมาชิกวุฒิสภาคนอื่นๆ ที่เคยลงคะแนนแก้รัฐธรรมนูญตัดอำนาจเลือกนายกฯ ของตัวเอง เพราะสำหรับเขาเองในตอนแรกก็ยังเผลอคิดไปว่าการงดออกเสียงครั้งนี้จะเป็นการปิดสวิตช์ ส.ว. แต่ไม่ทันนึกว่าถ้ายังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญองค์ประชุมในการเลือกนายกฯ ก็ยังเป็น 750 เสียงอยู่ ไม่ใช่องค์ประชุมที่มี ส.ส.แค่ 500 เสียงเพราะฉะนั้นการปิดสวิทช์ ส.ว.จึงไม่เท่ากับการงดออกเสียงแต่เป็นการออกเสียงตาม ส.ส. ซึ่งเขาไม่สามารถเข้าใจได้ว่าส.ว.อีก 60 กว่าคนจะคิดตามสมการเดียวกันนี้หรือไม่

ทั้งนี้มณเฑียรตอบคำถามในประเด็นมีเงื่อนไขอะไรอีกบ้างที่ส.ว.จะเลือกหรือไม่เลือกพิธาที่มาจากพรรคก้าวไกลหเพราะที่ผ่านพรรคเองก็มีประเด็นเรื่องนโยบายอย่างเรื่องแก้มาตรา 112 อยู่ที่ถูกเอามาพูดถึง เขาตอบว่าเรื่องแก้มาตรา 112 ก็เป็นประเด็น แต่เนื่องจากตั้งแต่ยุบสภา ส.ว.ก็ไม่ได้มีการนัดประชุมกันอีกเลย แต่ถ้า ส.ว.คนใดจะไปนัดคุยกันที่อื่นเขาก็ไม่ทราบ เพราะ ส.ว.เองไมได้มีโครงสร้างที่มัดรวมแต่ละคนเอาไว้เหมือนกับระบบพรรคการเมืองมีเพียงการรวมกลุ่มกันตามประเด็นที่ตนเองสนใจและบทบาทก็จบไปตามวาระ

มณเฑียรมองว่า ส.ว.มีความเป็นปัจเจค แม้ว่าที่มาจะมาจากการแต่งตั้งโดย คสช.แต่ คสช.ก็หมดไปและไม่มีมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว การเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลที่มาโดยวิธีพิเศษก็จบสิ้นตั้งแต่ปี 62 เปลี่ยนผ่านจาก คสช.มาเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง

“จุดที่ล่อแหลมที่สุดก็คือจุดเปลี่ยนผ่านในปี 62 ก็จบสิ้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงหรือการเปลี่ยนผ่านในปัจจุบันก็ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลที่มาจากวิธีพิเศษไปเป็นรัฐบาลที่จากวิธีทั่วไป เป็นการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลประชาธิปไตยชุดหนึ่งไปเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยอีกชุดหนึ่ง” ส.ว.กล่าวและเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่ ส.ว.คนไหนจะคิดอย่างไรในการโหวต แม้ว่า ส.ว.บางคนอาจจะมีความเห็นคงเส้นคงวามีน้ำหนักคนก็เอาไปพูดกันต่อได้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นจุดมุ่งหมายร่วมหรือเป็นลักษณะร่วมของ ส.ว.

ส.ส.และส.ว.ต่างก็เป็นตัวแทนปวงชนไทย ต้องฟังเสียงประชาชน

อลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงที่ตนเคยแสดงความเห็นในที่ต่างๆ ว่าอยากให้ ส.ส.และส.ว.โหวตตามเสียงของประชาชน ส่วนในพรรคเอง ส.ส.ของพรรคที่เหลือแค่ 25 คนเคารพเสียงประชาชนและโหวตให้พิธาเป็นนายกฯ และก้าวไกลเป็นแกนนำรัฐบาลเพราะเป็นไปตามหลักการเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกฯ ได้เสียงข้างมากจากทั้งสองสภา คือ 376 เป็นอย่างน้อย

“ในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลควรเป็นไปโดยราบรื่นและรวดเร็ว ไม่ควรนำพาประเทศไปสู่จุดเสี่ยงอีกต่อไปโดยเฉพาะเรื่องของการไม่ราบรื่นในการจัดตั้งรัฐบาลและอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าของกลุ่มการเมืองต่างๆ หรืออาจจะเลวร้ายที่สุดคือกลับไปสู่การรัฐประหาร”

อลงกรณ์กล่าวต่อว่าดังนั้นประชาชนต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลเพราะมีคนเลือกให้ก้าวไกลและเพื่อไทยรวมกันแล้ว 25 ล้านเสียงจากผู้มาใช้สิทธิ 39 ล้านเสียงถือเป็นเด็ดขาดจากเจตจำนงของประชาชน

“มีหลักอันหนึ่งที่ผมคิดว่า ส.ว.อาจจะไม่เข้าใจและส.ส.บางส่วนก็ไม่เข้าใจ ทุกรัฐธรรมนูญเขียนไว้เลยว่า ส.ส.และส.ว.เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย แต่ยังไม่มีใครพูดถึงหลักการที่ซ่อนไว้ ส.ส.และส.ว.จะมาจากแต่งตั้ง แต่ท่านมีอำนาจสิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบภายใต้รัฐธรรมนูญในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย สิ่งที่เหนือกว่าความเป็นตัวแทนคือตัวจริง เมื่อประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงเขาออกเสียงมาแล้วว่าต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลให้พรรค ก. พรรค ข.ได้รับเสียงข้างมากและรวมตัวจัดตั้งเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เราไม่มีสิทธิที่จะไปตอดไปขัดแย้งขัดขวางเสียงตรงของประชาชนเลย” รักษาการรองหัวหน้า ปชป. กล่าว

อลงกรณ์ย้ำว่า ส.ส.ทั้ง 500 คน และส.ว.อีก 250 คน คือผู้แทนปวงชนชาวไทย และการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทุก 4 ปี คือการให้ประชาชนเป็นคนเลือกและคนที่เป็นผู้แทนของประชาชนก็ต้องปฏิบัติตามนั้นไม่ต้องดูเรื่องนโยบายแล้วเพราะจบตั้งแต่การแข่งขันตอนเลือกตั้งเสร็จสิ้น เมื่อมีการตั้งรัฐบาลแล้วก็จะเป็นนโยบายของรัฐบาลผสมแม้ว่าจะไม่มีใครได้ 100% ดังนั้นจะต้องเข้าใจว่าประชาชนได้ออกเสียงตรงมาแล้ว เพราะฉะนั้น ส.ว.หรือส.ส.จึงไม่มีสิทธิที่จะไปอ้างดุลพินิจของตัวเองหรือแม้แต่จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายใดก็ตาม

อลงกรณ์กล่าวต่อถึงหลักการหนึ่งก็คือหลักเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่แม้ว่าจะต้องทำตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องได้รับเสียงโหวตจากทั้งสองสภา แต่ต้องยอมรับว่าระบอบประชาธิปไตยของไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา 90 ปี เราอยู่ในระบบรัฐสภา เป็นระบบรัฐสภาเสียงข้างมากเสียงข้างน้อย(Majority rule) ดังนั้นหลังการเลือกตั้งต้องให้สิทธิอันชอบธรรมแก่พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดอันดับหนึ่งเรียงลำดับไปในการมีสิทธิรวมตัวจัดตั้งรัฐบาลซึ่งก็คือ 8 พรรคร่วมรัฐบาลที่มีส.ส.รวมกันแล้วมี 312 เสียง โดยที่ไม่ได้มีอีก 10 พรรคเข้าร่วม

“312 เสียงจากทั้งหมดถือว่าเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพไม่ใช่ปริ่มน้ำ เพราะฉะนั้นสถานะของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่เขาไปสู่การโหวตของรัฐสภาจึงไม่ได้มีสถานะเพียงแค่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล แต่เป็นแคนดิเดตของพรรครัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร”

“ถ้าเราไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ไม่ยอมรับว่าเสียงมาจากประชาชนซึ่งเป็นประชาธิปไตยสายตรงตัดสินใจเด็ดขาดอย่างนี้แล้วให้เลือกตั้งทำไม หมดเงินไป 5-6 พันล้าน นี่คือเงินภาษีของประชาชน” รักษาการรองหัวหน้า ปชป. ย้ำอีกว่าบอกว่าเคารพระบอบประชาธิปไตยก็ต้องเคารพเสียงของประชาชนด้วย

อลงกรณ์กล่าวต่อว่าเสียงประชาชนคือประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน การเลือกตั้งจึงเป็นเครื่องมือที่สะท้อนเรื่องเหล่านี้ เมื่อพูดถึงประชาธิปไตยสายตรงผู้แทนจึงจะต้องเป็นแถวสองและไม่มีใครมาเป็นแถวหน้าในการออกเสียงตัวเองแล้วคัดค้านเสียงตรงของประชาชน

ประเด็นสุดท้ายที่รักษาการรองหัวหน้า ปชป.ยกขึ้นมากล่าวถึงคือ หลักที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ การตั้งรัฐบาลการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะต้องเป็นไปโดยราบรื่นและรวดเร็วเพื่อให้เกิดเสถียรภาพของประเทศ โดยเขายกตัวอย่างการเลือกตั้งในปี 2539 ที่ประชาธิปัตย์แพ้พรรคความหวังใหม่ 2 เสียง แม้ว่าจะยังนับไม่เสร็จชวน หลีกภัยก็ประกาศยอมแพ้ให้พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์จัดตั้งรัฐบาลเลยภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังปิดหีบ

“แต่วันนี้ผ่านมาเท่าไหร่แล้วยังไม่มีใครประกาศยอมแพ้เลย คือมันต้องมีสปิริตเป็นหลักการสุดท้าย สปริตประชาธิปไตยมันต้องมี” อลงกรณ์กล่าวว่าเมื่อยอมรับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเพราะฉะนั้นไม่มีสิทธิที่จะกล่าวเป็นอย่างอื่นว่าไม่มีสปิริตประชาธิปไตยและการยอมรับความพ่ายแพ้คือการเริ่มต้นโอกาสใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

อลงกรณ์กล่าวว่าถ้าในวันเลือกนายกฯ เมื่อพิธาได้รับการเสนอชื่อครั้งแรกไม่ผ่านก็เสนอใหม่ครั้งที่สองหรือสามแล้วก็ไม่ผ่านก็ให้โอกาสพรรคเพื่อไทยที่เป็นอันดับสองเสนอเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยบ้านเมืองก็จะเดินหน้าต่อไปได้ ประชาธิปไตยจะต้องมีสปิริตและความอดทน

รักษาการรองหัวหน้า ปชป.บอกว่าตัวเขาเองได้เสนอแนวความคิดเหล่านี้ในคณะกรรมการพรรค ปชป.แล้ว แต่เนื่องจากพรรค ปชป.จะมีการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคในวันที่ 9 ก.ค.ก่อนมีการเลือกนายกฯ ซึ่งก็จะขึ้นกับคณะกรรมการบริหารชุดใหม่และหัวหน้าคนใหม่รวมถึง ส.ส.ที่ได้รับเลือกอีก 25 คนแล้วว่าจะมีมติอย่างไรในการเลือกนายกฯ แต่เขาเองก็มีความเห็นส่วนตัวและอยากเห็นครรลองประชาธิปไตยเดินต่อไปข้างหน้าได้

อลงกรณ์กล่าวว่าด้วยความที่ ปชป.เองเป็นสถาบันการเมืองแล้วการจะลงมติร่วมรัฐบาลหรือไม่ก็จะต้องเป็นตามข้อบังคับว่าระหว่างกรรมการบริหารและ ส.ส.มาประชุมร่วมกัน จะมีแค่หัวหน้าพรรคหรือคนใดคนหนึ่งประกาศออกมาเองไม่ได้เพราะ ปชป.ไม่ใช่เผด็จการและสิ่งนี้คือความเป็นประชาธิปไตยในพรรคอีกทั้งยังเป็นกฎของพรรค ซึ่งหลังจากวันที่ 9 ก.ค.นี้ก็ต้องรอให้มีการประชุมร่วมกันอีกทีว่า ปชป.จะมีมติในการโหวตเลือกนายกฯ วันที่ 13 ก.ค.นี้อย่างไร แต่ตอนนี้ยังตอบแทนทั้งพรรคไม่ได้เพราะยังไม่มติ แต่ส่วนตัวเขาเองถ้าเขาเป็นผู้แทนก็จะโหวตให้พิธาแน่นอน

ส.ว.ต้องโหวตตามเสียงข้างมากของ ส.ส.

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่าไทยเป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาคือเราไม่ได้เลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารโดยตรงแต่เลือกทางอ้อมผ่านการเลือก ส.ส. ซึ่งส.ส.ของพรรคการเมืองก็จะหาเสียงว่าจะเลือกใครเป็นนายกฯ ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกฯ ก็เลือกพรรคนั้นดังนั้นระบบรัฐสภาของเราก็คือการเลือก ส.ส.ไปพร้อมกับเลือกนายกฯ ถ้าพรรคไหนได้ ส.ส.เกินครึ่งก็จบไป แต่ถ้าไม่มีพรรคไหนได้เสียงเกินครึ่งสภาก็เป็นสิทธิของพรรคอันดับหนึ่งที่รวมเสียงได้เกินครึ่ง

อาจารย์นิติฯ กล่าวต่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือพรรคก้าวไกล แต่คือหลักการที่ไทยใช้เสมอมาเพียงแต่ถูกยกเว้นไว้ 10 ปีนับตั้งแต่ก่อนการยึดอำนาจเมื่อ 22 พ.ค.57 จนถึงหลังจาก ส.ว.ชุดนี้หมดวาระในเดือนพ.ค.ปีหน้า ซึ่งก็คือพรรคอันดับหนึ่งก็เป็นนายกฯ

ปริญญากล่าวว่าด้วยจำนวนเสียงของพรรคร่วมตอนนี้ที่มีถึง 312 เสียงมากเกินพอ(และอาจจะมากเกินไปบ้างในความเห็นของเขาเพราะทำให้มีฝ่ายค้านเหลือเพียง 188 เสียง) แต่กลับเป็นรัฐบาลไม่ได้

“ระบบรัฐสภาคือการเลือกนายกฯ ผ่านการเลือก ส.ส. แล้วทำไมพรรคอันดับหนึ่งที่รวมเสียงแล้วได้ 312 เสียงจาก 500 ถึงเป็นรัฐบาลไม่ได้? ก็เพราะ ส.ว. ที่ผมหมายถึงระบบที่ คสช.เขาวางเอาไว้ ทำยังไงให้ประชาชนเลือก ส.ส.แล้วเป็นนายกฯ ต่อได้ก็ให้ ส.ว.มายกมือเลือกนายกฯ ด้วย”

อาจารย์นิติกล่าวอีกว่า ส.ว.บางคนอาจจะลืมที่มาไป เพราะส.ว.จำนวนไม่น้อยบอกว่าที่มีอำนาจในการยกมือเลือกนายกฯ เป็นเพราะประชาชนลงมติให้ ก็ต้องถามว่าแล้วคำถามในการทำประชามติถามอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ เพราะคำถามไม่ได้ระบุว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ ส.ว.เลือกนายกฯ แต่คือถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ให้ประเทศเดินหน้าเกิดการปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ชาติแล้วให้ช่วง 5 ปีแรกการเลือกนายกฯ กระทำในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งฟังดูเหมือนกับว่าถูกต้องแล้วเพราะไทยเป็นระบบรัฐสภา

“ดังนั้นคนก็ไม่ทราบว่าคำถามที่แท้จริงคือ เห็นด้วยหรือไม่ให้ ส.ว.ที่ คสช.เลือกมาเลือกนายกฯ คำถามนี้มันไม่เป็นธรรมกับเจ้าของประเทศดังนั้นข้อที่หนึ่งท่าน(ส.ว.) ต้องหยุดอ้างเรื่องนี้ยอมรับตรงไปตรงมาว่าตอนนั้นไม่ได้ถามตรงๆ” ปริญญาย้ำด้วยว่าเหมือนเป็นการมัดมือชกหากเป็นการทำนิติกรรมและสัญญาก็ถือว่าเป็นสัญญาไม่เป็นธรรมที่มีการล่อลวงหรือเป็นการหลอกให้ซื้อของหลอกให้โอนเงินหรือเรียกว่า “นิติกรรมอำพราง”

ปริญญากล่าวต่อว่าเรื่องต่อมาคือการที่คนก็ไม่รู้ว่าถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอนาคตข้างหน้าจะนำไปสู่อะไร ทุกประเทศในการทำประชามติเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะมีกติกาชัดเจนว่าถ้าประชาชนไม่ลงมติไม่รับร่างฉบับใหม่ก็ต้องใช้ฉบับเก่าแต่ของเราฉบับเก่าถูกฉีกไปแล้วแล้วตอนให้รับร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่บอกว่าจะทำอย่างไร รู้แค่ว่าจะไม่มีเลือกตั้งแน่ๆ แล้วก็ต้องเริ่มกันใหม่ แล้วก็รู้ว่ามาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คสช.ก็จะถูกใช้ต่อไปเรื่อยๆ

อาจารย์นิติยังกล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังออกมาโน้มน้าวผ่านสื่อเองเมื่อ 5 ส.ค.2559 ว่า “ให้รับไปก่อนแล้วผมจะไม่สืบทอดอำนาจ” แต่ลพล.อ.ประยุทธ์ก็อยู่ในอำนาจมา 9 ปีแล้ว ส.ว.ก็ยังมาขวางเจตนารมณ์ของประชาชนอยู่

ปริญญากล่าวต่อว่าด้วยหลักการระบบรัฐสภาประชาชนก็เลือกพรรคที่ตัวเองชอบจะเห็นต่างก็ไม่เป็นไรแต่เป็นสิทธิของประชาชนตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่กติกาก็คือผลเลือกตั้งออกมาอย่างไรก็เป็นไปตามนั้นแล้วรอไปอีก 4 ปีถ้าเราไม่ชอบแต่รัฐบาลก็ต้องถูกตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นหลักการของการปกครองตนเองตามระบอบและวิถีทางประชาธิปไตยรัฐสภา คือพรรคอันดับหนึ่งได้เสียงมากสุดก็เป็นรัฐบาลไป

ทั้งนี้อาจารย์นิติฯ กล่าวถึง ส.ว.ที่แสดงท่าทีว่าจะงดออกเสียงนั้นเนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจากทั้งสองสภาด้วยเรียกว่าเสียงข้างมากเด็ดขาด เพราะถ้ากำหนดไว้แค่ได้เสียงข้างมาก ส.ว.จะงดออกเสียงก็ได้เพราะจะถูกตัดออกไปแล้วเหลือแค่การแข่งกันว่าใครได้เสียงมากกว่าถ้ามีการเสนอแคนดิเดตนายกฯ มากกว่า 1 คน หรือถ้ามีเสนอแค่ 1 คนก็ดูว่ามีเสียงเห็นชอบมากกว่าหรือไม่แล้วการงดออกเสียงก็จะมีประโยชน์ถ้าเป็นระบบเสียงข้างมากธรรมดา

“เสียงข้างมากเด็ดขาดคือต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาด้วยซ้ำคือ 376 การงดออกเสียงเท่ากับมีผลว่าไม่เอาไม่เรียกงดออกเสียงอันนี้ ส.ว.ต้องทราบว่างดออกเสียงไม่เท่ากับปิดสวิทช์ งดออกเสียงคือไม่เอา” ปริญญาย้ำ

ปริญญาอธิบายว่าการปิดสวิทช์ ส.ว.คืออย่างไรว่าให้ลองจินตนาการถึงก่อนมีการรัฐประหาร 2557 ว่าเป็นอย่างไรแล้วหลังพ.ค.67 เป็นอย่างไร ก็คือพรรคอันดับหนึ่งได้เป็นนายกฯ แต่เมื่อ ส.ว.มาจากการที่ คสช.ต้องการสืบทอดอำนาจ มีชัย ฤชุพันธุ์ได้เอาเรื่อง ส.ว.มาไว้ด้วยกันกับส.ส.ในรัฐธรรมนูญมาตรา 114 คือเรื่องความเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยเทียบเท่ากับ ส.ส.

“คำถามคือท่าน(ส.ว.) ไม่ได้มาจากปวงชนชาวไทย ท่านจะเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยได้อย่างไร มีทางเดียวที่ท่านจะยังเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยต่อไปได้คือ แม้ท่านไม่ได้มาจากปวงชนชาวแต่ท่านฟังเสียงปวงชนชาวไทย คือถ้าท่านไม่ได้มาจากปวงชนชาวไทยแล้วยังไม่ฟังเสียงปวงชนชาวไทยท่านจะพูดได้อย่างไรว่าท่านเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย” อาจารย์นิติ มธ.กล่าวย้ำว่าค่าตอบแทนต่างๆ ของตำแหน่ง ส.ว.เองก็ยังมาจากภาษีของประชาชนทั้งหมด

ปริญญากล่าวต่อไปว่าในมาตรา 114 ยังระบุด้วยว่าสมาชิกรัฐสภาจะต้องไม่ตกอยู่ใต้อาณัติผูกมัดหรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อปวงชนชาวไทยด้วย ซึ่งการที่ระบุว่าต้องไม่ตกอยู่ใต้อาณัติใดๆ คือหมายถึงให้นึกถึงประโยชน์ของปวงชนเป็นที่ตั้ง แต่ปวงชนก็เลือกพรรคหลากหลายจะดูอย่างไร ก็ให้เป็นไปตามกติกาเสียงข้างมากก็คือเสียงปวงชนที่เป็นเสียงข้างมาก

“การไม่ฟังเสียงของปวงชน แต่ไปฟังเสียงของคนที่แต่งตั้งท่านข้างหลังอันนี้มันขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 114 อันนี้คือปัญหา”

ปริญญากล่าวว่าการจะได้เสียงอีก 65 เสียงเพื่อให้ได้เสียงพอโหวตนายกฯ ความเป็นไปได้ที่จะได้เสียงจาก ส.ว.อีก 65 เสียงนี้ เขาเชื่อว่ายังมี ส.ว.ที่ไม่มีใครมาสั่งได้มากเกินจำนวนดังกล่าวอาจจะมีถึง 70-80 คน

อย่างไรก็ตาม บทบาทของ ส.ว.จะมีอยู่ก็คือ ประการแรก ถ้าไม่มีพรรคการเมืองใดรวมเสียงได้เกินครึ่งได้ในสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาก็จะช่วยให้สภาผู้แทนราษฎรวมเสียงกันได้ แต่ตอนนี้สภาผู้แทนราษฎรเขารวมเสียงกันได้ก็ต้องไปตามสภาผู้แทนราษฎร ประการที่สองคือคนที่จะมาเป็นนายกฯ จะต้องได้เสียงกึ่งหนึ่งนี้ได้มาจากพรรคการเมืองที่ได้เสียงเกิน 25 คนหรือไม่ถ้าไม่ถึงก็เลือกไม่ได้ และคุณสมบัติของคนที่ถูกเสนอชื่อนั้นมีคุณสมบัติต้องห้ามหรือไม่ ซึ่งข้อนี้ทำให้เขาเชื่อว่าจะมี ส.ว.หลายคนยกเรื่องถือหุ้นสื่อมวลชนขึ้นเพื่อที่จะอ้างไม่เลือกแต่ก็ต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงด้วยที่ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่ารายงานการประชุมของไอทีวีนั้นผิดไปจากการประชุมที่เกิดขึ้นจริงและศาลรัฐธรรมนูญเองก็วางแนวไว้แล้วว่าถ้าบริษัทจะมีวัตถุประสงค์ทำสื่อแต่ไม่มีการดำเนินกิจการสื่อจริงๆ แล้วรายได้ก็ไม่มีมาจากการทำสื่อจะบอกว่าเป็นสื่อมวลชนไม่ได้ศาลก็ยกคำร้องที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 29 คน ถูกร้องเรียนว่าถือหุ้นสื่อ

กกต.กำลังปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ปริญญากล่าวถึงเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งเรื่องดำเนินคดีอาญาข้อหารู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติแต่ยังสมัครรับเลือกตั้งเพราะถือว่าพิธาถือหุ้นสื่อ แต่คำถามก็คือว่าพิพากษาได้อย่างไรว่าไอทีวีเป็นสื่อมวลชนในเมื่อเรื่องยังไม่จบ เพราะตามปกติการจะดำเนินคดีมาตรา 151 จะต้องพิจารณาให้จบก่อนว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามแล้วค่อยดูต่อว่ารู้หรือไม่ว่าผู้สมัครรู้ตัวหรือไม่ว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามก่อนถึงจะดำเนินคดี

อาจารย์นิติ มธ.ยกตัวอย่างกรณีของธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจที่โดนถอดถอนจากการถือหุ้นสื่อว่า มีการพิจารณาก่อนว่าวีลักษ์เป็นสื่อธนาธรถึงจะพ้นตำแหน่งแล้ว กกต.ถึงจะดำเนินคดีตามมาตรา 151 แล้วคดีก็จบแค่ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องเพราะธนาธรไม่รู้ว่าวีลักษ์จะถูกตีความว่าเป็นสื่อแล้วถ้ารู้ก็ไม่มาสมัคร

“ด้วยแนวทางเดียวกันคดีพิธาก็จบอยู่แล้ว กกต.ก็ทราบอยู่แล้วว่ามีบรรทัดฐานแบบนี้”

นอกจากนั้น ปริญญายังยกตัวอย่างกรณีที่ กกต.ไม่รับสมัคร ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.นครนายก เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ที่มีหุ้นเอไอเอสอยู่ 400 หุ้นจนชาญชัยไปร้องศาลฎีกาแล้วศาลก็สั่งให้ กกต.รับการสมัครลงเลือกตั้งของชาญชัยเพราะว่าการถือไว้ 400 หุ้นไม่ถือว่าเป็นการถือหุ้นเพราะน้อยเกินไป กกต.ก็ทำตามคำสั่งศาล

“คำถามคือแล้วทำไมบรรทัดฐานเดียวกันนี้ไม่ถูกเอามาใช้กับหุ้นเพียงแค่ 0.0035% มันมีความไม่ชอบมาพากล” ปริญญาอธิบายประเด็นนี้ว่าตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 43 ที่ระบุว่าถ้ามีการดำเนินคดีกับผู้สมัครคนใด กกต.ต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาทราบข้อกล่าวหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานโดยสรุป แต่ กกต.แถลงข่าวเรื่องนี้ไปผ่านมาก็ 50 วันแล้วได้เรียกพิธาที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาข้อเท็จจริงแล้วหรือไม่ การที่แถลงข่าวไว้แล้วปล่อยให้กระบวนการค้างอยู่แบบนี้โดยไม่เรียกไปรับทราบข้อเท็จจริงซึ่งก็คือรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีใช่หรือไม่นี้ถือว่า กกต.ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 43 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง นอกจากนั้นยังไม่ได้ทำตามมาตรา 43 วรรค 2 ที่ให้สิทธิกับผู้ถูกกล่าวหาในการแสดงข้อเท็จจริงด้วย ซึ่ง กกต.ควรจะทำก่อนถึงวันที่ 13 ก.ค.นี้

ปริญญากล่าวว่าที่ กกต.ควรจะทำก่อนเพราะ ส.ว.ที่ท้วงติงในข้อนี้ว่าตกลงแล้วเรื่องเป็นอย่างไร หลักฐานที่ กกต.จะใช้ดำเนินคดีตกลงแล้วคืออะไรและให้ผู้ถูกกล่าวหาได้โต้แย้งซึ่งเป็นสิทธิและความเป็นธรรมที่ กกต.จะต้องทำก่อนถึงวันที่สภาจะลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯ เพราะถ้า กกต.ไม่ทำเท่ากับเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

“ถ้าเกิดท่านไม่เคยแถลงข่าวดำเนินการเงียบๆ มีผลแล้วค่อยแถลงก็แล้วไป แต่ท่านแถลงไว้แบบนี้ ผู้คนจะเข้าใจว่าทำให้มีมลทินเอาไว้เพื่อให้ ส.ว.เขาอ้างได้ว่าไม่ชอบตามมาตรา 160 เพราะถือหุ้นสื่อจึงเลือกให้ไม่ได้ คนก็จะเข้าใจว่า กกต.ตั้งแท่นไว้แบบนี้ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องเที่ยงธรรม” ปริญญาอธิบาย

พรรคการเมืองก็ต้องโหวตตามเสียงข้างมากของประชาชน

ปริญญากลับมาในประเด็นการโหวตของ ส.ว.ต่อว่าด้วยจำนวนเพียง 65 เสียงก็ไม่ใช่จำนวนที่มาก แต่ถ้า ส.ว.จะออกเสียงไม่ถึงก็มีแค่เรื่องเดียวคือมีใครบางคนไปสั่งไม่ให้โหวตคนที่ได้มาจากเสียงข้างมากของประชาชน ซึ่งก็จะมีคำถามว่าแล้วใครเป็นคนสั่ง เพราะก่อนหน้านี้ก็มีข่าวออกมาแล้วว่าถ้าพิธาไม่ได้ มาเศรษฐาก็ไม่ได้อีก ก็จะไปถึงพล.อ.ประวิตร วงสุวรรณต่อ

“ผมเสนอพล.อ.ประวิตรว่าไหนๆ ท่านก็บอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจ แล้วคนยึดอำนาจก็แพ้เลือกตั้งไปแล้ว เพราะพรรคของพล.อ.ประวิตรได้ ส.ส.มากกว่าพรรคของพล.อ.ประยุทธ์ ท่านก็แสดงความบริสุทธิ์ใจเลยว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจแล้วท่านก็จะเป็นนายกฯ โดยไม่อาศัย ส.ว.ท่านประกาศไปเลยครับ ให้ ส.ว.ฟรีโหวต”

ปริญญากล่าวว่าเรื่องนี้พูดบนฐานข้อเท็จจริงก็คือพล.อ.ประวิตรมีสถานะเป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ด้วยซึ่งมีกรสรรหา ส.ว.มาถึง 400 คน แล้วก็มีบทบาทต่อ ส.ว.จำนวนหนึ่งด้วย จึงไม่ใช่เพียงแค่การแสดงออกในสภาว่าไม่เกี่ยวกับการยึดอำนาจและการเขียนจดหมายบอกว่าเชื่อมั่นในประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ต้องแสดงออกด้วยการบอกว่า ส.ว.ต้องฟังเสียงประชาชนและฟรีโหวต แล้วถ้าพล.อ.ประวิตรจะได้เป็นนายกฯ ก็เป็นด้วยความสง่างามไม่ได้เป็นเพราะ ส.ว. ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวพล.อ.ประวิตรเองด้วย

มณเฑียรเสริมประเด็นว่าการจะเลือกหรือไม่เลือกใครเป็นนายกฯ ของ ส.ว.เอง เขาเชื่อว่าส.ว.อาจจะไม่ได้มีใครสั่งมาแต่เป็นเพราะมี ส.ว.จำนวนหนึ่งที่กลัวเพราะเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าการจะมีนายกฯ ที่มาจากพรรคหนึ่งจะทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองจะมีประเทศมหาอำนาจมาตั้งฐานทัพจริงๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นอนุรักษ์นิยมที่อาจจะคุ้นชินกับสมัยที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมบริหารบ้านเมืองแบบเบ็ดเสร็จอยู่ภายใต้การชี้นำของมหาอำนาจตะวันตกมาตลอดเพราะฉะนั้นความกลัวนี้ก็ไม่เคยหมดไป

แต่มณเฑียรก็ยอมรับว่าเรื่องนี้อาจจะเพราะเขามองโลกในแง่ดีเป็นเรื่องของความกลัวแม้ว่าความเชื่อที่ว่าของฝ่ายอนุรักษ์นิยมนี้จะไม่ได้ดีต่อประเทศชาติ แล้วก็เป็นเรื่องยากที่จะห้ามความคิดความกลัวกันได้แล้วเขาเองก็คงไปห้ามไม่ได้ แต่ก็อาจจะไม่ได้มีใครสั่ง ส.ว.ว่าจะต้องเลือกอย่างไร

“ผมจึงใช้วิธีคิดที่ว่าการเคารพต่อมติมหาชนก็ดี ยึดหลักเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก็ดี โดยไม่ต้องเอาความชอบหรือไม่ชอบ ความกลัวหรือไม่กลัวมาเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ” ส.ว.ย้ำสิ่งที่เขาพยายามจะสื่อสารถึง ส.ว.คนอื่นๆ

ทั้งนี้อลงกรณ์ กล่าวต่อว่าสิ่งที่เขาอยากให้เกิดขึ้นเพื่อเป้าหมายที่สำคัญกว่าคือการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้คือการ “ถอยไปข้างหน้า” เพื่อให้เดินต่อไปเพราะหันหน้ามุ่งแต่จะไปข้างหน้าจะทำให้เกิดความขัดแย้งโดยเขายกตัวอย่างที่ทั้งก้าวไกลยอมถอยเรื่องประธานสภาที่พรรคเพื่อไทยก็อยากได้แล้วให้วันมูหะมัดนอร์ มะทาจากพรรคประชาชาติเป็นประธานสภาแทนทั้งที่พรรคก้าวไกลที่ได้เสียงอันดับหนึ่งมีสิทธิเต็มที่จะได้ตำแหน่งนี้

รักษาการรองหัวหน้า ปชป.มองว่าประเด็นที่ ส.ว.ยังมีข้อกังวลในเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 และข้อกล่าวหาเรื่องให้สหรัฐฯ มาตั้งฐานทัพ ทางพรรคก้าวไกลก็ควรจะถอยในการแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงออกแถลงการณ์ชี้แจงปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของฐานทัพหรือไม่ได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอรวมถึงเรื่องการแบ่งแยกดินแดนด้วย แล้วให้ 8 พรรคร่วมกันลงนามในแถลงการณ์ ก็จะทำให้ ส.ว.ไม่มีเหตุผลที่จะไม่โหวตให้ในวันที่ 13 ก.ค.นี้

ปริญญากลับมาในประเด็นของพล.อ.ประวิตรต่อว่าถ้ายังอยากให้พรรคพลังประชารัฐเป็นสถาบันการเมืองต่อไปก็ต้องเลิกที่จะพึ่งพาเสียงของ ส.ว.มาโหวตนายกฯ ให้ด้วยไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถไปต่อได้ เพราะที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าพรรคพลังประชารัฐที่เป็นพรรคทหารก็อยู่ได้ยาวกว่าพรรคการเมืองของทหารในอดีตที่ใช้สืบทอดอำนาจทางการเมืองหลังรัฐประหาร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมเองก็ต้องการพรรคการเมืองของตนเองด้วยเช่น

อาจารย์นิติกล่าวถึงพรรค ปชป.ต่อว่า พรรค ปชป.เองในการเลือกตั้งครั้งปี 2550 ว่าเคยได้คะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อมากถึง 40.60% น้อยกว่าพรรคพลังประชาชนที่ได้คะแนน 41.04% ซึ่งห่างกันแค่ครึ่งเปอร์เซนต์ซึ่งถ้าใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมันด้วยคะแนนเท่านี้จะมีจำนวน ส.ส.ห่างกันแค่ 6 คน แต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ ปชป.กลับเหลือแค่ 3% ซึ่งเป็นโจทก์ของ ปชป.

อลงกรณ์โต้แย้งในประเด็นนี้ว่า เขายืนยันว่าจุดยืนที่ชัดเจนเท่านั้นที่สร้างมวลชนได้ ที่ผ่านมา ปชป.เคยได้เสียงน้อยจนพรรคแตกมาแล้ว แล้วก็เคยได้อันดับหนึ่งได้เป็นรัฐบาลมาแล้ว ซึ่งในมุมมองการปฏิรูปพรรคของเขาคือพรรคต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนแล้วก็ไม่สร้างความเกลียดชังในระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจะต้องเดินไปด้วยเหตุผลและสันติวิธี การชุมนุมเป็นสิทธิโดยชอบแต่ต้องไม่ทำให้เกิดความรุนแรงหรือเรียกรัฐประหารมา และเขาเห็นว่าถึงเวลาที่ 3 ป.จะต้องพอได้แล้วและถูกปิดสวิทช์ไปจริงๆ แล้วปล่อยให้คนรุ่นใหม่เดินหน้าได้พิสูจน์ตัวเองและต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง

“ประชาธิปัตย์เองก็ต้องเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเคยมีประวัติรุ่งโรจน์หรือทรุดโทรมอย่างไรแต่วันนี้เมื่อรู้ตัวว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงนั่นคือการเริ่มต้นของโอกาสใหม่” อลงกรณ์กล่าว

ทั้งนี้ปริญญากลับมาที่ประเด็นการโหวตเลือกนายกฯ ของเขาว่าเรื่องที่เขาพูดไปเพราะต้องการจะให้เห็นถึงผลจากการเลือกรองประธานสภาฯ ที่ผ่านมาทำให้เห็นแล้วว่าพรรคภูมิใจไทยก็ประกาศเองว่าให้ฟรีโหวตแล้วก็มี ส.ส.งดออกเสียง 77 คนซึ่งเขาเชื่อว่าส่วนใหญ่มาจากภูมิใจไทย แล้วจากที่วันนอร์ให้สัมภาษณ์ก็ชัดเจนแล้วว่าจะมีการเสนอพิธาในการโหวตเลือกนายกฯอย่างน้อย 2 ครั้ง

อาจารย์นิติ มธ.กล่าวว่าก่อนหน้านี้เขาเคยเสนอมาก่อนแล้วว่าให้ ส.ส.ทั้งสภาโหวตเลือกนายกฯ ก่อนแล้วจึงให้ ส.ว.โหวตเพื่อดูว่าเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎรเป็นอย่างไร แต่หากมีการโหวตรอบสองขึ้นมาคนก็จะมองไปที่พรรค ปชป.ไม่ว่าหัวหน้าพรรคจะเป็นใครและยังอาจมองไปถึงพรรคภูมิใจไทยด้วย

“ประเด็นก็คือว่าหาก ปชป.มายกมือในรอบสองเพราะได้ตำแหน่งรัฐบาลพรรคก็จะเสียหายได้ ที่พูดแบบนี้ก็รวมถึงภูมิใจไทยด้วย ถ้าท่านจะมายกมือเพราะเขาให้ตำแหน่งรัฐมนตรีไปมันก็คือเสียหาย ต้องยืนยันว่าผมพูดแบบเดียวกันในส่วนของ ส.ว. นี่ไม่ใช่เรื่องของพิธาหรือก้าวไกล นี่คือการโหวตให้กับหลักการของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา พรรคอันดับหนึ่งไม่ว่าจะเป็นใครถ้ารวมเสียงได้เกินครึ่งเขาก็เป็นรัฐบาลถ้า ส.ว.เขาไม่ยอมก็มีแต่ ส.ส.ที่ต้องปกป้องหลักการอันนี้” ปริญญาย้ำเรื่องหลักการที่จะต้องโหวตเพื่อหลักการประชาธิปไตยและเสียงข้างมากองประชาชนไม่ใช่แค่เรื่องของพิธาหรือพรรคก้าวไกลเท่านั้นละการมีเสียงโหวตนายกฯ 376 เสียงจึงเป็นไปได้เพราะนี่คือวิถีทางของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาด้วย

อย่างไรก็ตาม ปริญญากล่าวฝากไปถึงพรรคก้าวไกลก็จะต้องสื่อสารกับทั้ง ส.ว.และส.ส.พรรคอื่นด้วยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของพรรคตัวเองเท่านั้น

อาจารย์นิติ มธ.ยังกล่าวถึงประเด็นเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ที่ ส.ว.กังวลนั้นหากดูข้อตกลงร่วมกันของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล(MOU) ในข้อ 2 ก็ประกาศมาแล้วว่าทุกพรรคเห็นร่วมกันว่าภารกิจของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่อันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ แล้วแถลงการณ์ 4 ข้อที่พรรคก้าวไกลแถลงก็ไม่ได้มีเรื่องมาตรา 112 ซึ่งเขาเข้าใจว่าไม่ได้เป็นเรื่องของ 8 พรรคแล้วก็ไม่ได้เป็นนโยบายที่จะทำในขณะนี้ เพียงแต่ว่าพรรคก้าวไกลก็อาจจะต้องมีแถลงการณ์หรือมีจดหมายถึง ส.ว.หรือส.ส.พรรคอื่นหรือไม่ก็เป็นโจทย์ของพรรคก้าวไกลที่จะต้องหาเสียงอีกครั้ง

ปริญญากล่าวถึงประเด็นสุดท้ายของเขาว่าเรื่องที่เขาเสนอให้ ส.ส.เสนอจนครบก่อนนี้ก็เป็นหลักการปกติที่มีมาก่อนจะมีการกำหนดให้ ส.ว.มาโหวตเลือกนายกฯ อยู่แล้ว ซึ่งเป็นวิถีทางทั่วไปของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา

“วิธีการเดียวที่ประเทศจะเดินหน้าต่อไปได้คือปกป้องหลักการประชาชนเห็นต่างกันก็จบลงภายใต้รัฐธรรมนูญและกติกาภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา ถ้าพรรคอันดับหนึ่งมีเสียงเกินครึ่งก็เป็นรัฐบาลไปอันนี้คือหลักการไม่ว่าพรรคใดแบบนี้บ้านเมืองแม้จะเห็นต่างกันก็เดินหน้าต่อไปได้ เสียงข้างน้อยก็ต้องเคารพเสียงข้างมาก เสียงข้างมากก็ต้องเคารพเสียงข้างน้อย” ปริญญากล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net