Skip to main content
sharethis

JASAD เผยมี 28 นักกิจกรรมปาตานีถูกคดี SLAPP 'ฟ้องปิดปาก' หวังหยุดการเคลื่อนไหว เหตุวิสามัญฆาตกรรมพุ่ง ก่อปัญหาการแย่งศพ แห่ศพนักรบปาตานี เริ่มจากถูกหมายเรียกอาจเลื่อนสถานเป็นผู้ต้องหา The Patani ชมรมพ่อบ้านใจกล้า CAP แต่งชุดมลายู โดนหมด แม้ไม่มีคดี แต่ถูกคุกคาม สร้างเงื่อนไขต่อรอง แจ้งข้อหากลุ่มประชามติ [จำลอง] เอกราชปาตานี

JASAD เผยมี 28 นักกิจกรรมปาตานีถูกคดี SLAPP

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) ได้รวบรวมและเปิดข้อมูลนักกิจกรรมภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกดำเนินการทางกฎหมาย และถูกดำเนินคดีที่เข้าข่ายการ 'ฟ้องเพื่อปิดปาก' หรือที่เรียกว่า คดี SLAPP ว่า ขณะนี้มี 28 ราย แยกเป็นผู้ชาย 19 ราย และผู้หญิง 9 ราย

ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมที่มีบทบาทในการตรวจสอบและนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในพื้นที่ รวมถึงการทำกิจกรรมลักษณะเชิงสร้างสรรค์ โดยถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินการทางกฎหมาย ทั้งการออกหมายเรียกและการแจ้งข้อกล่าวหา จาก 3 กรณี ได้แก่ 

  • การไลฟ์สดกรณีการแห่ศพ/แย่งศพผู้เสียชีวิตที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมระหว่างการปะทะ 
  • การร่วมกิจกรรมส่งเสริมทางประเพณี วัฒนธรรมในการรวมตัวสวมใส่ชุดมาลายู และ
  • การสมทบทุน ระดมทุนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากเหตุการณ์ความไม่สงบ

'ฟ้องปิดปาก' หรือ คดี SLAPP คืออะไร

คำว่า 'ฟ้องปิดปาก' หรือคดี SLAPP นั้น หมายถึง การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน (SLAPP: Strategic Lawsuit Against Public Participation) คือ การฟ้องคดีเพื่อปิดปากบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีผลทำให้เกิดสภาวะชะงักงันของการมีส่วนร่วมของสาธารณชน 

ในแวดวงนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน อธิบายว่า เป็นการฟ้องคดีที่มีวัตถุประสงค์กลั่นแกล้ง หรือสร้างภาระให้บุคคลเหล่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รับความยุติธรรมตามกฎหมายจริงๆ แต่เพื่อใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ "ปิดปาก" คนที่แสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ

โดยการมีคดี SLAPP จะทำให้ประชาชนไม่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะหรือประเด็นที่มีผลประโยชน์หรือผลกระทบกับตัวเอง เนื่องจาก "กลัวถูกฟ้อง" ซึ่งคดี SLAPP ส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักใช้ข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท” ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ฟ้อง

ย้อนรอย SLAPP คดีแรกในชายแดนใต้ 

อับดุลเลาะ เงาะ ประธานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD ให้ข้อมูลว่า คดี SLAPP คดีแรกๆ ในชายแดนใต้ คือ คดีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แจ้งความหมิ่นประมาทและความผิดทางคอมพิวเตอร์ต่อ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนอีก 2 คน คือ สมชาย หอมลออ และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากการทำรายงานเปิดโปงการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อปี 2559 แต่คดีจบลงด้วยการที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งไม่ฟ้อง และยุติการดำเนินคดี เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2560

อับดุลเลาะ เงาะ

หลังจากนั้น คดี SLAPP ก็เงียบไป จนกระทั่งมีการไลฟ์สดการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ที่มีการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยในหลายๆ เหตุการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมา (2565) โดยเฉพาะกรณีที่มีเหตุ 'แย่งศพ' ที่นำไปสู่การแจ้งข้อหานักกิจกรรมภาคประชาสังคมและชาวบ้านหลายคน ในข้อหา "ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน"

วิสามัญพุ่ง ก่อปัญหาการแย่งศพ

อับดุลเลาะ ชี้ว่า การแย่งศพนั้น เริ่มมีขึ้นหลังจากช่วงที่ผ่านมามีเหตุเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์ปะทะกันหลายครั้ง มีสาเหตุมาจากข้อสงสัยของญาติผู้เสียชีวิตในหลายๆ เหตุการณ์ว่า ทำไมถึงมีการคืนศพให้ญาติอย่างล่าช้า ทำให้ต้องประกอบพิธีทางศาสนาล่าช้าไปด้วย

ข้อมูลของ JASAD ระบุว่า คดีวิสามัญฆาตกรรมเริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา โดยปี 2562 มีจำนวน 17 ราย ปี 2563 มีจำนวน 27 ราย ซึ่งเท่ากับปี 2556 ต่อมาปี 2564 มี 24 ราย และปี 2565 มีจำนวน 12 ราย (ดูตาราง)

ตาราง: จำนวนผู้เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐใน 3 จังหวัดชายใต้

"เมื่อมีการวิสามัญฆาตกรรมเยอะขึ้นก็จะมีปัญหาเรื่องศพผู้เสียชีวิต เพราะฝ่ายรัฐก็กลัวว่าจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เพราะคนไปชุมนุมเดินขบวนส่งศพจำนวนมาก มีการแสดงสัญลักษณ์การเคารพศพ โดยมีความเชื่อว่าคนที่ตายนั้น ตายในหนทางศาสนา" อับดุลเลาะ กล่าว 

ประธาน JASAD ระบุต่อว่า ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะติดป้ายแสดงคำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรีในที่ต่างๆ ว่า ที่นี่ไม่ใช่ดินแดนแห่งสงคราม หรือดารุลฮารบี ไม่ใช่การต่อสู้ในหนทางศาสนาก็ตาม แต่ก็ไม่ส่งผลอะไร

หวังหยุดแห่ศพนักรบปาตานี 

"เจ้าหน้าที่กลัวตรงนี้แหละ ถ้ายังมีคนที่เชื่อแบบนี้อยู่มันจะอันตราย เพราะคิดว่าถึงแม้เขาจะตายเขาก็ยังชนะ ก็คือไม่กลัวตาย และยิ่งทำจะให้มีคนอยากจะมาต่อสู้มากขึ้น จะมีคนมาแทนที่ต่อไปเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่าตายแล้วได้เข้าสวรรค์

"เรื่องนี้เจ้าหน้าที่คิดมานานแล้วว่า จะทำยังไง เพื่อจะหยุดเรื่องนี้ให้ได้" อับดุลเลาะ กล่าว และเล่าต่อไปว่า เมื่อปัญหาเรื่องศพ จึงทำให้มีคนทำงานในภาคประชาสังคมช่วยเข้าไปทวงถามเจ้าหน้าที่ และขอให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า เหตุใดจึงล่าช้า หรือติดขัดเรื่องอะไรบ้าง ในระหว่างนั้นก็มีการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กด้วย ซึ่งทำให้เห็นการปะทะคารมกับเจ้าหน้าที่

ต่อมา เมื่อเกิดเหตุการณ์แย่งศพติดตามมา โดยมีการไลฟ์สดพร้อมกัน ทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่เห็นช่องทางที่จะดำเนินคดีจากการที่มีมวลชนเข้าไปแย่งศพผู้ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม

3 กรณีแย่งศพ ก่อเกิดคดี 'ฟ้องปิดปาก' นักกิจกรรม

กรณีแรกที่นำไปสู่การออกหมายนักกิจกรรมในพื้นที่ อับดุลเลาะ บอกว่า คือกรณีเจ้าหน้าที่ยิงผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 3 ราย ระหว่างปิดล้อมที่พักพิงชั่วคราวของกลุ่มผู้ต้องหา ที่มีหมายจับคดีก่อความไม่สงบ บนเขาไอร์ดาฮง ต.เชิงคีรี อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส วันที่ 20 ม.ค. 2566 โดยมีชาวบ้านกว่า 60 คน กรูกันจะเข้าไปรอรับศพเพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนาให้ทันภายใน 24 ชั่วโมง

โดย พ.ต.อ. ฉลอง รัตนภักดี ผู้กำกับการ สภ.ศรีสาคร ให้สัมภาษณ์สื่อในขณะนั้นว่า ระหว่างจะนำศพผู้เสียชีวิตไปส่งตรวจพิสูจน์อย่างละเอียดที่โรงพยาบาลศรีสาคร ก็ถูกประชาชนมากดดันเพื่อขอศพคืน โดยไม่ยอมรอในพื้นที่ล่างเขา

กรณีต่อมาเกิดขึ้นที่ ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566 หลังจากเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมนายอิบรอเฮม สาและ เสียชีวิต ได้มีญาติได้เกาะประตูหลังรถกู้ภัยที่จะนำศพไปโรงพยาบาลเพื่อตกแต่งศพก่อนส่งมอบให้ญาติ กระทั่งมีชาวบ้านขับมอเตอร์ไซค์มาขวางและญาติก็ตัดสินใจนำศพขึ้นรถกระบะกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาทันที แต่ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าชี้แจงว่า เกิดจกการสื่อสารเข้าใจผิด และไม่ได้มีการแย่งศพแต่อย่างใด 

ต่อมา เมื่อ 11 มี.ค. 2566 สถานีตำรวจภูธร (สภ.) ธารโต ได้ออกหมายเรียก 2 นักข่าวสำนักสื่อวาร์ตานี (Wartani) กรณีการไลฟ์สดเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านเพจเฟซบุ๊ก “สำนักสื่อวาร์ตานี” ได้แก่ 1. นายมะนาวารี ยะโกะ บรรณาธิการกองข่าวภาคสนาม และ 2. นายมูฮัมหมัดฮาฟีซี สาและ ผู้สื่อข่าวภาคสนาม โดยแจ้งเหตุว่าร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติอันไม่ชอบด้วยหน้าที่ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ และขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ และให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 15 มีนาคม 2566 ณ สภ.ธารโต

การออกหมายเรียกดังกล่าวได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในพื้นที่ว่าเป็นการปิดปากสื่อ และเป็นการคุกคามสื่อการทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจนเกิดกระแส Save Wartani

กรณีล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 หลังจากทหารได้นำศพนายฮัยชัม สมาแฮ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ถูกทหารวิสามัญฆาตกรรมบริเวณบ้านตะลุโบะ อ.เมือง จ.ปัตตานี มาที่โรงพยาบาลปัตตานี โดยมีชาวบ้านเข้ามาแย่งชิงศพระหว่างถูกนำลงมาจากรถพยาบาลของทหาร 

จากเหตุการณ์นี้ทำให้นายอัสมาดี บือเฮง นักเขียนและสื่ออิสระในพื้นที่ พร้อมกับนางแมะดะ สะนิ แม่ของนายฮัยซัม ถูก พ.ต.ต.นัฐพงษ์ ชาพรหมสิทธิ์ สารวัตรสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี แจ้งความข้อหา ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ในการปฏิบัติหน้าที่ฯ ซึ่งนายอัสมาดี ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้วเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา 

(คนที่ 3 จากซ้าย) อัสมาดี บือเฮง

หมายเรียกคน The Patani เหตุค้านขุดศพ 'ยะห์รี ดือเลาะ'

อีกกรณีคือการออกหมายเรียกญาติและคนทำงานภาคประชาสังคม 6 คน กรณีคัดค้านเจ้าหน้าที่ขุดศพนายยะห์รี ดือเลาะ ขึ้นมาพิสูจน์บุคคล หนึ่งในนั้นคือ นายอาร์ฟาน วัฒนะ สมาชิกกลุ่ม The Patani กับพวก โดย สภ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ให้ไปรายงานตัวเพื่อสอบปากคำ แต่ไม่ได้ระบุข้อกล่าวหา โดยทั้ง 6 คนมีภาพปรากฏในสื่อด้วย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2565

นายยะห์รี เป็นบุคคลที่เจ้าหน้าที่ต้องการตัว แต่เขาหลบหนีไปมาเลเซียแล้วหายตัวไป ต่อมา มีคนพบศพชายคนหนึ่งในแม่น้ำโกลก ซึ่งทางครอบครัวยะห์ ยืนยันว่าเป็นศพนายยะห์รี แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่ใช่ศพนายยะห์รี จึงไปที่สุสานปาฮงกือปัส สุไหงปาดี เพื่อจะขุดศพขึ้นมาพิสูจน์ แต่ครอบครัวและชาวบ้านห้ามไว้จนเกิดการโต้เถียงกันอย่างรุนแรง จากนั้น นายอาร์ฟานกับพวกก็ได้เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยจนในที่สุดฝ่ายเจ้าหน้าที่ต้องยุติความพยายามดังกล่าว ทั้งนี้ จากผู้ถูกหมายเรียก 6 คน อาจเลื่อนสถานเป็นผู้ต้องหา

อับดุลเลาะ เชื่อคนที่ถูกคดี SLAPP น่าจะมากกว่า 28 คน เพราะคนที่ถูกออกหมายไม่ได้มีนักกิจกรรมภาคประชาสังคมเท่านั้น แต่ยังมีชาวบ้านด้วย โดยบางคนมีภาพปรากฏในไลฟ์สด และคนที่ไม่ไปพบตามหมายถึง 2 ครั้งโดยไม่แจ้งเหตุผล ก็จะถูกออกหมายจับได้ 

"สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลายคนถูกออกหมายเรียกไปให้ปากคำในฐานะพยานในช่วงแรก หลังจากนั้นถูกเลื่อนสถานะเป็นผู้ต้องหา ข้อหาร่วมกันข่มขืนจิตใจเจ้าพนักงานระหว่างปฏิบัติหน้าที่ กลายเป็นคนแย่งศพเอง ทั้งที่เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยเจรจากับเจ้าหน้าที่ หรือไปทำความเข้าใจให้ชาวบ้าน เพราะชาวบ้านจะไม่กล้า

"กลายเป็นว่าพวกนี้ที่โดน ซึ่งไม่ตรงกับคนที่ก่อเหตุจริง แต่ก็ต้องดูที่พยานหลักฐาน" อับดุลเลาะ กล่าว

'พ่อบ้านใจกล้า' ไม่มีข้อหา แต่เข้าข่าย 'ฟ้องปิดปาก'

กลุ่มต่อมา เป็นกรณีชมรมพ่อบ้านใจกล้า 'Butler's Club' ซึ่งเปิดรับบริจาคเงินให้ครอบครัวคนที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการเยียวยาเบื้องต้น ซึ่งช่วยมาแล้วหลายเคส ตั้งแต่ก่อนจะมีเหตุการณ์แย่งศพอีก 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โดยอับดุลเลาะ บอกว่า ในกลุ่มนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI โดยศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกหมายเรียกคนที่บริจาคเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตในจำนวนเงินที่มากไปสอบปากคำ เพื่อถามว่าทำไมถึงโอนเงินให้จำนวนมาก 

"ผมก็เคยถามคนหนึ่ง เขาโอนเงินไป 8,000 บาท เพราะเขาเคยช่วยเหลือเด็กกำพร้ามาก่อนจึงรู้สึกสงสารลูกของผู้เสียชีวิตจึงโอนเงินไปจำนวนมาก" ประธาน JASAD กล่าว

โดยวันที่ 14 มีนาคม 2566 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้นำหมายค้นจากศาลปัตตานีเข้าตรวจค้นบ้านของ นายซาฮารี เจ๊ะหลง 'คอนเทนต์อีดิทเตอร์ (Content Editor)' ของสื่อออนไลน์ 'The Motive' หนึ่งในผู้ก่อตั้งชมรมพ่อบ้านใจกล้า โดยยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 1 เครื่อง และแบบพกพา 1 เครื่อง พร้อมนัดหมายให้ซาฮารี ไปเปิดเครื่องดูข้อมูลในวันรุ่งขึ้น (15 มี.ค.)

ในครั้งนั้น นายซาฮารี ยืนยันว่า เป็นการระดมทุนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตจากการปะทะที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายผิดและจะไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา แต่กลับถูกมองว่ากระทำการช่วยเหลือดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผิด

ต่อมามีเจ้าหน้าที่ได้ออกหมายเรียกอีกหลายคนที่อยู่ในกลุ่มชมรมพ่อบ้านใจกล้า ไปสอบปากคำรวมๆ ประมาณ 20 คนที่เกี่ยวข้องกับการโอนเงินบริจาค

ฟ้องข้อหา 'อั้งยี่ ซ่องโจร' ก็ไม่ได้ 

"ดูเหมือนว่า เจ้าหน้าที่พยายามเรียกคนที่อยู่รอบข้างไปสอบปากคำก่อนในฐานะพยาน เมื่อได้พยานหลักฐานมากพอสมควรแล้ว จึงจะเสนอต่อศาลเพื่อขอออกหมายจับ เพื่อจะเล่นงานคนกลุ่มนี้" ซึ่งอับดุลเลาะ เห็นว่า เพราะนักกิจกรรมภาคประชาสังคมกลุ่มนี้ ทำกิจกรรมที่เป็นการรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่

คำถามคือ จะแจ้งข้อหาอะไร 

เมื่อแจ้งข้อหาอั้งยี่ไม่ได้ อับดุลเลาะ กล่าวว่า พอจะมีช่องทางเอาผิดทางกฎหมายได้ คือ ข้อหาทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 เพราะไม่มีการขออนุญาต ก็มีบทลงโทษแค่เสียค่าปรับไม่กี่บาทเท่านั้น 

เจ้าหน้าที่อาจแจ้งข้อหาให้หนักไว้ก่อน เช่น แจ้งข้อหาก่อการร้ายและเป็นอั้งยี่ซ่องโจร แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าชมรมพ่อบ้านใจกล้า ปลุกระดมเยาวชน รวบรวมคน 30 คนขึ้นไป มีการสะสมอาวุธ มีเอกสารที่ใช้อบรม หรือหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ก็ไม่มี

หรืออาจแจ้งข้อหาทำผิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 แต่จะเอาผิดข้อหาฟอกเงินก็ไม่ได้ เพราะคนที่บริจาคเงินให้ก็มีหลักฐานชัดเจนว่า เป็นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 

"วันนี้จึงยังไม่ได้แจ้งข้อหาใดๆ เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์ของฝ่ายความมั่นคง จึงไม่ได้อยู่ตรงการนำคนมาเข้าคุก แต่มีเป้าหมายคือจะทำยังไงให้เบรกพวกนี้ได้ก่อน นี่คือมุมมองของผม" อับดุลเลาะ กล่าว

แต่งชุดมลายู ไม่มีคดี แต่มีคนถูกคุกคาม 

อับดุลเลาะ เล่าถึงกรณีการร่วมกิจกรรมส่งเสริมทางประเพณี วัฒนธรรมในการรวมตัวสวมใส่ชุดมาลายู เมื่อ 4 พฤษภาคม 2565 ที่ริมหาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ที่มีเยาชนเข้าร่วมนับหมื่นคน ซึ่งจัดโดย CAP หรือ Civil Society Assembly For Peace ที่สร้างกระแสฮือฮาไปทั่ว จนเกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าอาจจะกระทบกับความมั่นคงของรัฐ และมีการปฏิบัติการไอโออย่างหนัก โดยสิ่งที่ฝ่ายรัฐดำเนินการหลักจากนั้นก็เข้าข่ายคดี SLAPP ด้วยเช่นกัน 

เพียงแต่กรณีนี้เจ้าหน้าที่ไม่ได้เรียกผู้เข้าร่วมหรือผู้จัดกิจกรรมไปพบในฐานะพยาน และไม่ได้เรียกไปดำเนินคดี แต่เรียกคนที่ไปร่วมชุมนุมไปทำประวัติว่าได้เข้าร่วมชุมนุมจริงหรือไม่ เพราะไม่มีข้อหาที่จะออกหมายจับ แต่เกิดจากความหวาดระแวงว่าอาจจะมีการกระทำผิดหรือจะทำให้มีปัญหาลุกลามใหญ่โตได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • นักกิจกรรมวัฒนธรรมมลายูถูกคุมตัว กอ.รมน.ท้วง ไม่ได้จับแค่เชิญไปถามหาผู้ต้องหาหลบหนี

อับดุลเลาะ บอกว่า กลุ่มคนที่เจ้าหน้าที่เรียกไปพบนั้นเป็นเพียงส่วนน้อย แต่ปรากฏว่าสิ่งที่เยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุมวันนั้น ถูกผู้ใหญ่บ้านเรียกไปพบเพื่อพูดคุย ทำประวัติ หรือบางครั้งบางคนก็ถูกเก็บ DNA

สร้างเงื่อนไขต่อรอง

หลังการชุมนุมครั้งนั้น พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 และรอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า (ขณะนั้น) ได้พบปะพูดคุยกับแกนนำจัดงาน 5 คน ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี ได้แก่ 1. นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธาน CAP 2. นายฮาซัน ยามาดีบุ เลขานุการ CAP 3. นายมะยุ เจ๊ะนะ ผู้อำนวยการ CAP 4. นายชารีฟ สะอิ ประธาน/เลขาธิการเครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (INSouth) และ 5. นายอานัส พงค์ประเสริฐ ประธานกลุ่มสายบุรีลุคเกอร์ (Saiburi Looker)

ในการหารือได้ข้อสรุป 8 ข้อ เพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องและไม่ละเมิดกฎหมาย เช่น ครั้งต่อไปจะเน้นประเด็นภาษามลายู ควรแจ้งประเด็น/วิธีการทำกิจกรรมกับฝ่ายความมั่นคงก่อน เพื่อป้องกันการเข้าใจในเชิงลบ และยังไม่ดำเนินการทางกฎหมายใดๆ ต่อบุคคลที่เข้าร่วมกิจกรรม

คดีประชามติ [จำลอง] เอกราชปาตานี

ส่วนกรณีนักกิจกรรมและนักศึกษาในนาม "Pelajar Bangsa" ถูกแม่ทัพภาคที่ 4 ฟ้องข้อหา "ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตฯ" จากการร่วมกิจกรรมเปิดตัว Patanian Student Movement - Pelajar Bangsa ที่มีวงเสวนา “สิทธิการกำหนดอนาคตตนเอง (RSD - Right to Self-determination) กับสันติภาพปาตานี” และการจัดประชามติ [จำลอง] เอกราชปาตานี เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ที่ ม.อ.ปัตตานีนั้น ถือเป็นคดี SLAPP ด้วยหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อับดุลเลาะ บอกว่า แน่นอนเป็นคดี SLAPP เพราะเป็นผลจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ซึ่ง RSD ถูกกำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR (International Covenant on Civil and Political Rights) แม้ประเทศไทยได้ขอสงวนในเรื่องนี้ไว้ "มิให้ตีความอนุญาตหรือสนับสนุนการกระทำใดๆ ที่จะเป็นการแบ่งแยกดินแดน" ก็ตาม

คดีนี้มีคนถูกฟ้องร่วมกัน 5 คน ได้แก่ 1.นายอิรฟาน อูมา ประธาน Pelajar Bangsa 2.นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani 3.นายฮากิม พงติกอ หัวหน้า Patani Baru 4.นายฮูเซ็น บือแน สมาชิก Pelajar Bangsa และ 5.นายสารีฟ สะแลมัน สมาชิก Pelajar Bangsa โดยทั้ง 5 คน ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานีแล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566

ศาลจะพิจารณาวินิจฉัยที่เจตนา

อับดุลเลาะ บอกว่า วันนี้กลุ่มคนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว นอกจากนักข่าวสำนักสื่อ Wartani นักกิจกรรมภาคประชาสังคม ยังมีนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ส่วนคนที่ถูกหมายเรียกไปเป็นพยาน คิดว่าอีกไม่นานก็คงจะถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหา
เมื่อถูกแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว จะได้รับการประกันตัวหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าพนักงาน เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับอัยการว่าจะเรียกสอบอีกครั้งหรือไม่ ซึ่งผู้ต้องหาสามารถทำเอกสารชี้แจงส่งให้อัยการได้

สำหรับกรณีคดีนักกิจกรรมแย่งศพนั้นคงยากที่จะเอาผิดได้ เพราะไม่มีพยานหลักฐานตั้งแต่ต้น เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ศาลก็จะดูที่เจตนาว่าคนกลุ่มนี้เข้าไปเพื่อจะกระทำความผิดหรือไม่ 

รัฐใช้คดี SLAPP เพื่อหยุดการเคลื่อนไหว

อับดุลเลาะ กล่าวว่า ในฐานะที่ติดตามคดีความมั่นคง การละเมิดสิทธิมนุษยชน และคดี SLAPP ในต่างประเทศ พิจารณาได้ว่า น่าจะเป็นยุทธศาสตร์ของฝ่ายรัฐ ที่ไม่ได้ต้องการเอาคนกลุ่มนี้เข้าคุกจริงๆ เพราะแต่ละคดีมีอัตราโทษไม่หนัก หรือถ้ามีความผิดจริง ศาลก็คงพิพากษาแค่ให้รอลงอาญาหรือไม่ก็เสียค่าปรับ 

"จุดประสงค์จริงๆ ต้องการให้พวกเขาสะดุด พยายามปิดปากพวกเขา ไม่ให้มารบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ" ประธาน JASAD ระบุ

เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่แล้วมีคนไลฟ์สด หรือมีนักสิทธิมนุษยชนหรือภาคประชาสังคมมาติดตามรายงานข่าว เจ้าหน้าที่จะคิดว่าต่างชาติอาจมองฝ่ายความมั่นคงในด้านลบ จึงไม่ต้องการให้มีการสื่อสารออกสู่สาธารณะ จึงคิดว่าจะทำยังไงให้คนอื่นๆ ไม่กล้ามาไลฟ์สดอีก ก็ต้องใช้คดี SLAPP ฟ้องภาคประชาสังคม

"แต่การไลฟ์สดการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไม่มีกฎหมายใดห้าม ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ เราจะไลฟ์สดเจ้าหน้าที่มาเป็นล้อมตรวจค้นเราก็ได้ เพราะฉะนั้นในกลุ่มคนที่ไลฟ์สดจะไม่ถูกข้อหาไลฟ์สด แต่ถูกข้อหาขัดขวางเจ้าพนักงานแทน เพื่อให้งานของพวกเขาสะดุด" อับดุลเลาะ กล่าว

ส่งผลกระทบทางจิตวิทยา-สร้างเงื่อนไขต่อรอง

อับดุลเลาะ บอกว่า สิ่งที่จะทำให้การเคลื่อนไหวสะดุดจากการใช้คดี SLAPP นั้นมี 2 อย่าง คือ 
1. ในกลุ่มคนที่ถูกคดี SLAPP จะมีทั้งคนที่กลัวและคนที่ไม่กลัว แต่ในด้านจิตวิทยาจะมีผลต่อครอบครัวไม่มาก็น้อย เช่น ภรรยารู้สึกกลัวจึงขอร้องให้สามีหยุด งานที่ไหลลื่นอยู่ก็จะสะดุดหรือหยุดชะงักไป

2. เมื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะเรียกมาคุยไกล่เกลี่ยให้หยุดเคลื่อนไหว เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีต่อหรือไม่ คนที่ถูกคดีก็ต้องยอมรับเงื่อนไขนี้เจ้าหน้าที่ก็ถอนฟ้อง คดีก็จบ แม้บางคนจะได้สู้คดีในชั้นศาล แต่ครอบครัวอยากให้ถอนฟ้อง เมื่อเป็นเช่นนี้ความมุ่งมั่นในการเคลื่อนไหวก็ลดลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net