Skip to main content
sharethis

‘ซาฮารี’ ยืนยันเจตนาเปิดเพจพ่อบ้านใจกล้า เพื่อช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

8 ม.ค. 2567 วันนี้ (8 ม.ค.) ซาฮารี เจ๊ะหลง นักกิจกรรมด้านมนุษยธรรมและสื่ออิสระ เข้ารายงานตัวตามหมายเรียกคดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่สำนักงานดีเอสไอ อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยมี อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม Muslim attorney centre foundation ( MAC ) เดินทางมาด้วย 

ซาฮารี เจ๊ะหลง (ภาพโดย อัสมาดี บือเฮง)

เมื่อเวลา 9.05 น. ก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซาฮารี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Reporters ยืนยันว่า เจตนาของการเปิดเพจพ่อบ้านใจกล้า เพื่อเป็นการระดมทุนช่วยเหลือเยียวยา กรณีครอบครัว เด็กกำพร้า ผู้หญิง จากครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีถูกวิสามัญไป 76 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากจนเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ แต่สังคมไม่ได้มีการตรวจสอบเลย

“เรายืนยันว่าการที่เราช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด เจตนาที่ระดมทุนก็เพื่อช่วยเหลือครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่รัฐ” ซาฮารียืนยัน

ซาฮารี กล่าวด้วยว่าสื่อในพื้นที่ก็ไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาตั้งคำถาม การเปิดเพจพ่อบ้านใจกล้าไม่ได้เป็นเรื่องของการระดมทุนอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของมนุษยธรรมด้วย มีการลงพื้นไปพูดคุยและให้กำลังใจผู้ได้รับผลกระทบเพราะคนเหล่านี้ถูกละเลยจากรัฐ

ซาฮารี กล่าวถึงประเด็นที่มีปัญหาในเพจที่ระดมทุน เนื่องจากในช่วงแรกเป็นการเชิญชวนให้ผู้มีจิตศรัทธา และเพื่อนที่รู้จัก แต่เมื่อเปิดเป็นสาธารณะก็มีการโอนเงินมามาก ประเด็นที่ทางดีเอสไอติดใจก็คือ มีผู้ร้องเรียนในฐานะผู้เสียหายที่โอนเงินมาให้ชมรมพ่อบ้านใจกล้า กลายเป็นเงื่อนไขให้ดีเอสไอเข้ามาดำเนินการทางกฎหมายตั้งแต่ปี 2564 ต่อมาในปี 2566 มีการนำหมายค้นมาที่บ้าน แต่ยังไม่ดำเนินคดี โดยวันนี้มีการเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาในฐานผู้ต้องหา

ซาฮารี กล่าวด้วยว่าในกลุ่มเพื่อนๆ ชมรมพ่อบ้านใจกล้ามีหลายคน แต่คดีความมาลงที่ตนคนเดียวเพราะมีบัญชีส่วนตัว ในช่วงแรก และเป็นแอดมินเพจ น่าจะฟ้องแค่คนเดียว แต่การฟ้องไม่แน่ใจว่าฟ้องที่ปัตตานี หรือกรุงเทพ หากมีสิทธิในฐานะผู้ต้องหา จะขอความเป็นธรรมให้ดีเอสไอมาฟ้องคดีที่ปัตตานี เพราะอาจยุ่งยากที่จะไปส่วนกลาง

The Reporters รายงานคำพูดของ อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันที่ทางพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ มีหมายเรียกในฐานะผู้ต้องหา ซึ่งนายซาฮารี แต่งตั้งทนายความเข้าร่วมการสอบปากคำ ข้อหาที่มีการแจ้งความเกี่ยวกับการทุกจริต หลอกลวงให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคง คดีนี้ เข้าดีเอสไอ จะต้องมีการประชุมกันว่า คดีนี้ เข้าเงื่อนไขหรือไม่ ต้องขอมติที่ประชุมจากดีเอสไอ มีเหตุผลและความจำเป็นที่จะเป็นคดีพิเศษอย่างไร สิ่งที่เราเตรียมการจะให้ผู้ต้องหาไปรับทราบข้อกล่าวหา ทางพนักงานสอบสวนต้องแจ้งว่า ทุจริตอย่างไร ต้องอธิบายให้ผู้ต้องหาเข้าใจ คำให้การผู้ต้องหาปฏิเสธ เราจะทำเป็นเอกสารชี้แจง ต้องอธิบายความเป็นมา เบื้องหลังการระดมทุน

ขณะที่กัณวีร์​ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ทวีตข้อความผ่านเอกซ์ @nolkannavee ให้กำลังใจซาฮารี พร้อมชวนให้จับตาการใช้กฏหมายของรัฐเพื่อดำเนินคดีปิดปากประชาชน 

กัณวีร์ ระบุว่า ซาฮารึ เป็น Hometown Hero ที่มีความตั้งใจทำงานเพื่อมนุษยธรรม และเป็นปากเสียงให้กับชุมชน ปกป้องสิทธิชุมชน ซึ่งเริ่มทำงานปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

"หลักการมนุษยธรรมที่หลายคนไม่เข้าใจเพราะมันอาจเข้าใจยาก นั่นคือ การยึดเอาบุคคลในความห่วงใยเป็นศูนย์กลาง โดยปราศจากความเอนเอียง ในการปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องเป็นกลางและไม่ถูกครอบงำใดๆ จากใครๆ ก็ตาม และในสถานการณ์สงคราม หลายครั้งการทำงานเพื่อมนุษยธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้ามเพื่อแอบอ้างถึงความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง และผู้ที่ทำงานด้านนี้มักตรงอยู่ในจุดที่อ่อนไหวและมักกลายเป็นเหยื่อเสียเอง อาทิ การถูกลักพาตัว การถูกลอบทำร้าย เป็นต้น" กัณวีร์ทวีต

กัณวีร์กล่าวด้วยว่า การทำงานเพื่อมนุษยธรรม เป็นหลักพื้นฐานของการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ที่เราควรส่งเสริม ไม่ใช่การใช้ทำลาย ปิดกั้น คุกคาม และปิดปาก เพราะมนุษยธรรม ไม่ใช่อาชญากรรม

เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะผู้ได้รับความไว้วางใจให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ ให้ความเห็นว่า การดำเนินคดีต่อผู้ที่ทำงานรณรงค์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยรัฐนั้นเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ หากพิจารณาในแง่มุมรัฐศาสตร์เป็นการกระทำที่ได้ไม่คุ้มเสีย การกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ที่รัฐบาลมีแผนเตรียมตัวสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ HRC วาระปี ค.ศ. 2025-2027 สองประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเราต้องการเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องการเสียงที่หลากหลาย การกระทำของรัฐในลักษณะนี้เป็นการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนประเด็นที่สาม เรื่องกระบวนการสันติภาพ การกระทำต่าง ๆ ในนามของกฏหมายที่เกิดขึ้นในบริบทของการมีกระบวนการสันติภาพ ไม่สมควรที่จะมีการใช้กฎหมายในการข่มขู่นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมทางการเมือง

เอกรินทร์ ชี้ว่า บทเรียนครั้งนี้ไม่ใช่บทเรียนสำหรับคนที่ทำงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไม่ใช่บทเรียนสำหรับผู้คนที่ช่วยเหลือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบให้มีที่ทางในสังคม งานวิจัยต่าง ๆ สะท้อนสภาพการเเบบนี้ สิ่งที่พวกเขาทำเป็นวิธีการแบบนี้ช่วยให้ครอบครัวต่าง ๆ เหล่านี้มีที่ทางในสังคม เรื่องลักษณะนี้ควรเป็นเรื่องปกติ

มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ จากสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) ชี้ว่ารัฐกำลังสร้างเงื่อนไขอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่มีความพยายามแสวงหาทางออกทางการเมือง แต่ย่อมมีกลุ่มคนที่พยายามทำลายกระบวนการสันติภาพอยู่ตลอดเวลา โดยการสร้างบรรยากาศความกลัว เพื่อไม่ให้ประชาชนสามารถแสดงออกทางความคิดทางการเมืองอย่างเสรี โดยการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน (SLAPP) 

ด้านกลุ่มพ่อบ้านใจกล้า ยืนยันว่าจะยังคงดำเนินการรับบริจาค เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่อไป เพราะนั้นเป็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ควรเกิดขึ้น และการช่วยเหลือลักษณะนี้ไม่ไข่อาชญากรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net