Skip to main content
sharethis

ในขณะที่สื่อหลายแห่งและฝ่ายตำรวจพากันนำเสนอเรื่องราวการประท้วงในเมืองบอลติมอร์ ไปในทำนองว่า "ผู้ประท้วงใช้ความรุนแรง" แต่สำนักข่าวคอมมอนดรีมส์ระบุว่าการนำเสนอเหล่านี้ทำให้ข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงในระดับรากหญ้าถูกมองข้ามไป และนำเสนอเรื่องการประท้วงที่บอลติมอร์ในอีกมุมมองหนึ่ง

30 เม.ย. 2558 ประชาชนในบอลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ยังคงประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเฟรดดี้ เกรย์ คนแอฟริกัน-อเมริกันที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังและกล่องเสียงหลังจากที่เขาถูกตำรวจบอลติมอร์ควบคุมตัวเพราะมีมีดพับสปริงไว้ในครอบครองเมื่อวันที่ 12 เม.ย. และเสียชีวิตในวันที่ 19 เม.ย. แม้ว่าจะมีการผ่าตัดช่วยชีวิตเขา

แต่คอมมอนดรีมส์ก็ระบุว่าตำรวจและสื่อต่างๆ มักจะเน้นนำเสนอแต่เรื่อง "ความรุนแรงของผู้ชุมนุม" ทั้งที่ควรจะรับฟังความไม่พอใจและข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม

อดัม แจ็กสัน จากองค์กรนักคิดชื่อองค์กร 'ผู้นำเพื่อการต่อสู้ที่งดงาม' และองค์กรรากหญ้าในบอลติมอร์กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้การกดขี่อย่างเป็นระบบเกิดขึ้นเพราะการเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนคนผิวดำในบอลติมอร์

"ผู้คนมัวแต่เทศนาเกี่ยวกับเรื่องที่ถังขยะถูกเผาทั้งที่พวกเขาควรจะเทศนาเกี่ยวกับเรื่องที่ทำไมคนผิวดำถึงถูกสังหารโดยตำรวจ พูดถึงเรื่องที่มีการกดขี่ในเชิงโครงสร้าง" แจ็กสันกล่าว

ประชาชนหลายพันคนรวมตัวกันบนท้องถนนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (27 เม.ย.) หลังพิธีศพของเฟรดดี้ เกรย์ เพื่อแสดงความไม่พอใจเนื่องจากพวกเขามองว่าตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุจนทำให้เกรย์เสียชีวิต นอกจากนี้เมืองบอลติมอร์ยังถือเป็นเมืองที่มีกรณีที่คนผิวดำถูกสังหารโดยตำรวจมากที่สุด สื่อเดอะบอลติมอร์ซันระบุว่าทางการเมืองบอลติมอร์ต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการดำเนินคดีเกี่ยวกับตำรวจที่ถูกกล่าวหาว่าใช้กำลังทำร้ายผู้ต้องสงสัยเป็นวงเงินราว 5.7 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ปี 2554-2557

ขณะที่สื่อหลายแห่งพากันระบุว่าผู้ประท้วงใช้ความรุนแรงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาทำให้ตำรวจต้องวางกำลังอย่างหนักเพื่อปราบปรามผู้ชุมนุม โดยสื่อเหล่านี้อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เป็นตำรวจและเป็นข้ออ้างที่น่าตั้งคำถามอย่างเรื่องที่ว่ามีแก๊งที่ "เป็นภัย" อยู่ด้วย

อย่างไรก็ตามมีผู้พบเห็นเหตุการณ์เล่าไปในทางตรงกันข้าม พวกเขาระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นฝ่ายใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมรวมถึงใช้กำลังกับเด็กด้วย

ไบรอัน อาร์โนลด์ อดีตครูโรงเรียนบอลติมอร์ซิตี้ไฮสคูลเปิดเผยเรื่องราวในอีกมุมมองหนึ่งผ่านเฟซบุ๊กของตนเองว่า ในขั้นตอนแรกตำรวจสร้างเรื่องว่าการรวมตัวกันของกลุ่มนักเรียนไฮสคูลบางคนในย่านมอนดาวมิน "เป็นภัย" ต่อมาตำรวจก็ปรากฎตัวพร้อมกับชุดปราบจลาจลก่อนที่นักเรียนเหล่านั้นจะออกไปจากพื้นที่มอนดาวมินซึ่งเป็นแหล่งศูนย์กลางการโดยสารสาธารณะ แต่เจ้าหน้าที่กลับปิดระบบโดยสารสาธารณะเพื่อกักตัวเด็กเหล่านั้นไว้

อาร์โนลด์ระบุอีกว่าในขั้นตอนต่อมาตำรวจเริ่มเอากระบองไล่ทุบตีคนรวมถึงใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าทำให้เด็กๆ เหล่านั้นพยายามต่อสู้โต้ตอบการใช้กำลังของตำรวจซึ่งอาร์โนลด์บอกว่าเป็นเรื่อง "เข้าใจได้" แต่สื่อกลับเอาเรื่องนี้รายงานว่าเป็น "การจลาจล" และ "ผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง"

อาร์โนลด์กล่าวว่าวิธีการเช่นนี้ของตำรวจสื่อให้เห็นว่าตำรวจมีทัศนคติต่อเด็กเหล่านี้อย่างไร และในช่วงที่เขาเป็นครูอยู่ก็มักจะเห็นตำรวจใช้ความรุนแรงกับเด็กอยู่เป็นประจำ

นอกจากนี้ยังมีผู้เห็นเหตุการณ์รายอื่นๆ ระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมด้วยการขว้างปาก้อนหินเข้าใส่ ส่วนลอว์เรนซ์ บราวน์ ผู้ช่วยศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมอร์แกนสเตทกล่าวว่า ความรุนแรงระหว่างตำรวจกับชาวบอลติมอร์มีมานานกว่านั้น โดยในบอลติมอร์มีประวัติศาสตร์การบังคับแบ่งแยกที่อยู่ระหว่างคนต่างเชื้อชาติโดยมีการบังคับย้ายที่อยู่ซึ่งมีลักษณะการแบ่งแยกระหว่างคนรวยกับคนจนที่เป็นชุมชนคนผิวดำ และการสังหารคนผิวดำโดยตำรวจก็เป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งในภาพใหญ่ๆ

บราวน์กล่าวว่าในตอนนี้เริ่มมีการเคลื่อนไหวในระดับประเทศเรื่องความไม่พอใจที่ตำรวจใช้กำลังรวมถึงการสังหารคนผิวดำในหลายแห่งของสหรัฐฯ ซึ่งกรณีแบบนี้ถูกเปิดเผยมากขึ้นจนทำให้ประชาชนทนไม่ไหว

องค์กรยูไนเต็ตเวิร์กเกอร์ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในบอลติมอร์ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ระบุว่า การเหยียดสีผิวและปัญหาความยากจนในบอลติมอร์ดำเนินมาจนถึงจุดแตกหักแล้ว มีอสังหาริมทรัพย์ราว 40,000 แห่งว่างเปล่า ขณะที่มีคนไร้บ้านราว 4,000 คน และมีอีกราว 154,000 คน ถูกสั่งย้ายที่อยู่เป็นประจำทุกปี มีคนว่างงานร้อยละ 62 ที่ไม่สามารถหางานค่าแรงขั้นต่ำได้ หนึ่งในสี่ของจำนวนนี้มีประวัติอาชญากรรมที่เป็นตัวปิดกั้นไม่ให้พวกเขาได้งาน อีกทั้งเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกได้ถึงความไม่เป็นธรรมเช่นเรื่องการให้เงินสนับสนุนโครงการพัฒนาแต่กลับมีเงินสนับสนุนโรงเรียนน้อยลง รวมถึงเรื่องมลภาวะด้วย

"เมื่อพวกเราเห็นว่าสิทธิมนุษยชนของพวกเราถูกละเมิด พวกเราก็ออกปฏิบัติการและจะเดินหน้าผลักดันให้มีการคุ้มครองสิทธิของพวกเรา สิทธิในการมีอากาศสะอาด สิทธิในการเข้าถึงบ้านที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถจ่ายได้ และสิทธิในการมีงานที่มีศักดิ์ศรี" เดสตินี วัตฟอร์ด ผู้นำเยาวชนกลุ่มยูไนเต็ตเวิร์กเกอร์กล่าว


เรียบเรียงจาก

'Structural Looting' of Black Communities Driving Protesters to Baltimore Streets, Common Dreams, 28-04-2015
http://www.commondreams.org/news/2015/04/28/structural-looting-black-communities-driving-protesters-baltimore-streets


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Death_of_Freddie_Gray

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net