Skip to main content
sharethis
กสม. ร่วมจัดวงถกบเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิฯ นักวิชาการกฎหมายชี้ปัญหาสำคัญในปัจจุบันภาคธุรกิจมักงัดกลยุทธ์ฟ้องหมิ่นประมาทเพื่อปิดปากในการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ
 
9 ก.พ. 2561 รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) แจ้งว่า สนง.กสม.และภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย และผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN INTERGOVERNMENTAL COMMISSION ON HUMAN RIGHTS - AICHR) ร่วมจัดโครงการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “การดำเนินการตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน : กรณีศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีในการเยียวยาและระงับข้อพิพาทโดยภาคธุรกิจไทย” โดยมี วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และ ภิรมย์ ศรีประเสริฐ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมงานสัมมนาดังกล่าว ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
 
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานสัมมนาว่า ปัจจุบัน ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้เกิดขึ้นจากหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น แต่อาจเกิดจากการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนด้วยซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกและทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ภาคเอกชนมีการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมา บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการที่ดี และความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (CSR) แต่กรอบแนวคิดดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงนำไปสู่การรับรองหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (The UN Guiding Principles on Business and Human Rights) ในปี ค.ศ. 2011 เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงหลักการสำคัญคือ การคุ้มครอง เคารพ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการประกอบธุรกิจไว้ด้วย
 
สำหรับประเทศไทย ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นภาคธุรกิจซึ่งมีการร้องเรียนมายัง กสม. ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสิทธิแรงงาน สิทธิชุมชน สิทธิในที่อยู่อาศัย และสิทธิทางสุขภาพ โดยที่ผ่านมา กสม. ได้ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายผลักดัน “ปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2560 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติฯ กรุงเทพฯ โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นสักขีพยาน ปฏิญญาฯ ฉบับนี้จึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่สำคัญของภาคีเครือข่ายด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ ดังกล่าวให้เกิดผลในประเทศไทย การจัดโครงการเสวนาวิชาการในวันนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทุกภาคส่วน จะได้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการเยียวยาและการระงับข้อพิพาทด้านสิทธิมนุษยชนโดยภาคธุรกิจต่อไป
 
ส. รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ผู้แทนภาคประชาสังคม กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ชุมชนที่ถูกละเมิดสิทธิจากโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน พบว่า เมื่อพูดถึงการเยียวยาความเสียหาย เรามักนึกถึงการชดเชยค่าเสียหายรายบุคคลเท่านั้น แต่ยังละเลยประเด็นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นความเสียหายร่วมกันของสาธารณะ ตัวอย่างเช่น กรณีน้ำมันรั่วไหลลงทะเลระยองเมื่อปี 2556 แม้ว่าบริษัทในเครือ ปตท. จะมีแนวปฏิบัติที่ดีในการเยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชนเบื้องต้นโดยการชดเชยค่าเสียหายทันทีก่อนที่จะมีการฟ้องร้องคดีกันศาล แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรทะเลในระยะยาวด้วย เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการสูญเสียรายได้ของชาวประมงแต่ยังทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์น้ำสูญหายซึ่งการฟื้นฟูในส่วนนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ตนมองว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายใดที่บังคับให้บริษัทผู้ประกอบการทำตามหลักธรรมมาภิบาล หรือ หลักความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่ได้ประกาศไว้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายกิจกรรมที่จัดขึ้นจึงเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น ต่างจากประเทศแถบยุโรปซึ่งมีการออกกฎหมายบังคับให้บริษัทเอกชนมีกลไกภายในเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการดำเนินกิจการของตน รวมถึงมีกลไกในการเยียวยาความเสียหายก่อนเข้าสู่กระบวนการศาล นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างความก้าวหน้าของความร่วมมือระหว่างประเทศอันเป็นกลไกความรับผิดชอบในการลงทุนข้ามพรมแดน ซึ่งทุกบริษัทที่ไปลงทุนต่างประเทศจะต้องนำมาตรฐานธรรมาภิบาลที่ใช้ในประเทศตนไปใช้ในประเทศที่ไปดำเนินกิจการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้วย จึงหวังว่าภาคธุรกิจไทยจะมีกลไกการเยียวยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันมิให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไปถึงจุดนั้นได้เช่นกัน
 
เนติธร ประดิษฐ์สาร สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก ประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบันสำหรับภาคธุรกิจ คือ เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนซึ่งสหประชาชาติได้เผยแพร่หลักการชี้แนะไว้ให้ภาคธุรกิจทั่วโลกปฏิบัติ ในส่วนโกลบอลคอมแพ็ก ประเทศไทย ปัจจุบันประกอบด้วย 15 บริษัทเอกชนที่มีความตั้งใจร่วมกันในการทำธุรกิจที่ยั่งยืน โดยได้ร่วมกันตั้งเป้าหมายในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว 5 ประการ ได้แก่ 1) การสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนให้แก่ภาคธุรกิจ 2) การร่วมกับภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมการศึกษาเรื่องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน 3) การจัดทำรายละเอียดข้อมูลและแนวปฏิบัติจากหลักการชี้แนะฯ 4) การมีส่วนร่วมในการสนับสนุนนโยบายของประเทศ และ 5) การขยายสมาชิกเพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโกลบอลคอมแพ็กมากขึ้น
 
ปกป้อง ศรีสนิท รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาคธุรกิจย่อมมีเป้าหมายของการดำเนินงานคือผลกำไร ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การดำเนินงานของภาคธุรกิจบางประการไปก่อให้เกิดความขัดแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชน และไม่มุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งโจทย์สำคัญสำหรับประเด็นนี้จึงเป็นการสร้างความสมดุลที่จะทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจได้ทั้งผลกำไรและมีการดำเนินกิจการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และประชาชนไม่ถูกละเมิดสิทธิฯ ด้วย อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญอีกประการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือการดำเนินคดีหมิ่นประมาทเพื่อปิดปากในการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (SLAPP) อันเป็นกลยุทธ์ที่ภาคธุรกิจมักใช้ปิดปากไม่ให้ผู้ได้รับความเสียหาย หรือ ผู้สื่อข่าวแสดงความคิดเห็นที่ทำให้ธุรกิจเสียหายโดยการฟ้องหมิ่นประมาท เป็นผลให้ความจริงจะไม่ปรากฏ เกิดความเสียหายกับสาธารณะ ซึ่งเป็นอีกโจทย์ที่ต้องคิดว่าเราจะจัดการกันอย่างไร
 
ประกายรัตน์ ต้นธีรวงค์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กลไกการเยียวยาหนึ่งที่มีประสิทธิผลและสามารถบรรเทาปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากภาคธุรกิจได้ คือ กลไกการไกล่เกลี่ย ซึ่งที่ผ่านมา กสม. ได้มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยเรื่องร้องทุกข์และมีการออกระเบียบเพื่อนำกลไกดังกล่าวมาใช้ในการแก้ไขปัญหาด้วย โดยหลักการชี้แนะฯ ระบุให้การเจรจาไกล่เกลี่ยนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบเป็นหลัก ซึ่งตนเห็นว่าภาคธุรกิจเอกชนควรนำกลไกไกล่เกลี่ยดังกล่าวมาใช้เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net