Skip to main content
sharethis

'รอมฎอน' พรรคก้าวไกล อภิปรายงบฯ 67 ทบทวนบทเรียน 20 ปี ความขัดแย้งชายแดนใต้ ต้นทุนชีวิตประชาชนและงบประมาณที่เสียไป ถึงเวลาสร้างสันติภาพเชิงบวก พร้อมเสนอรัฐบาลฟื้นคดีตากใบ-ตัดงบ กอ.รมน.


4 ม.ค. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานวันนี้ (4 ม.ค.) ที่รัฐสภา รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 เกี่ยวกับงบแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ โดยกล่าวว่า วันนี้ 4 มกราคม เป็นโอกาสอันดีในการทบทวนบทเรียนการแก้ปัญหาตลอด 2 ทศวรรษ เนื่องจากเป็นวันครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส ที่กองกำลังติดอาวุธ ต่อมาทราบว่าคือขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (บีอาร์เอ็น) บุกเข้าไปในค่ายทหาร ปล้นปืนไปเกือบ 400 กระบอก ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ จุดเริ่มต้นทำให้สังคมไทยให้ความสนใจมากขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

ความไม่สงบหรือความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวิกฤติแน่นอน เพราะยืดเยื้อ-ยาวนาน-เรื้อรัง เราต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาแล้ว 74 ครั้ง ในวันที่ 19 มกราคมที่จะถึง รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะต่ออายุอีกเป็นครั้งที่ 75 หรือไม่ และเราประกาศกฎอัยการศึกมาแล้วตั้งแต่ปี 2547 วิกฤติที่ยาวนานอย่างนี้ การจัดงบประมาณที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

ต้นทุนที่สังคมไทยเสียไปในงบดับไฟใต้ 

ในการอภิปรายนโยบายรัฐบาลเมื่อ ก.ย. 2566 ตนตั้งประเด็นเรื่องงบดับไฟใต้ว่า ถ้ารัฐบาลนี้จะจริงจัง ใส่ใจ กล้าหาญพอ ต้องแตะงบนี้ เพราะงบดับไฟใต้จะทำให้เราประเมินต้นทุนของสังคมไทยที่ใช้รับมือวิกฤต และนำมาสู่การจัดลำดับความสำคัญของนโยบายได้ คำถามของตนคือ ต้นทุนของสังคมไทยในการจัดการวิกฤตไฟใต้ เราสูญเสียอะไรไปบ้าง 

เราตอบคำถามนี้ได้หลายหลายแบบ สำหรับตนดูแค่ 2 เรื่อง คือชีวิตคนและงบประมาณ จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถิติสะสม 20 ปีจนถึง 31 ธ.ค. 2566 มีจำนวนเหตุการณ์เกิดขึ้น 22,296 ครั้ง คนบาดเจ็บล้มตายกว่า 20,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตรวม 7,547 ราย โดยเห็นได้ชัดว่าตั้งแต่ปี 2556 ที่มีกระบวนการสันติภาพเปิดเผยต่อสาธารณะ สถานการณ์ก็ดีขึ้น 

ส่วนแนวโน้มงบประมาณดูเหมือนจะสวนทางกัน จะกระเตื้องขึ้นมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับขณะนั้นรัฐบาลมาจากรัฐประหารหรือไม่ งบประมาณโดยรวมใช้ไปแล้ว 5.4 แสนล้านบาท นี่คือต้นทุนที่เราสูญเสียไป

ขณะที่ปีงบประมาณ 67 มีคำของบประมาณในจังหวัดชายแดนใต้กว่า 25,000 ล้านบาท โดยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา งบมี 2 ยอด ได้แก่ 1. แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 2. งบประมาณที่อยู่ในแผนอื่นๆ และระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าเป็นการใช้เพื่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

"ที่ผ่านมาเวลาเจ้าหน้าที่ชี้แจง จะชี้แจงแค่แผนงานบูรณาการ แต่ผมต้องการชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว ต้นทุนของสังคมไทย ภาษีของเราใช้จ่ายเพื่อรับมือกับวิกฤตนี้เยอะกว่านั้น" รอมฎอน กล่าว

ปรับจากสันติภาพเชิงลบ ไปสู่สันติภาพเชิงบวก

เมื่อดูว่างบชายแดนใต้อยู่ตรงไหนบ้าง จะพบว่างบบูรณาการชายแดนใต้เป็นเพียง 1 ใน 4 ของยอดรวมเท่านั้น โดยแผนบูรณาการดับไฟใต้ของปี 67 มีตัวชี้วัดหลักคือจำนวนเหตุรุนแรงลดลงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับปี 2560 และงบเพื่อการพูดคุยสันติสุขมีเพียง 0.29% เท่านั้น ทั้งที่เป็นแนวทางยุทธศาสตร์

จึงอยากวิเคราะห์ต่อว่า เป้าหมายดังกล่าวที่ระบุในแผนบูรณาการฯ สำหรับนักวิจัยสันติภาพ เราเรียกสิ่งนี้ว่า 'สันติภาพเชิงลบ' (Negative Peace) เป็นสันติภาพที่มีเงื่อนไขว่าต้องลดบางอย่าง คือลดความรุนแรง แต่ในความเห็นของตน แค่นี้ไม่พอ รัฐบาลพลเรือนควรมีความทะเยอทะยานมากกว่านี้ มุ่งมั่นทางการเมืองมากกว่านี้ 

ด้วยการทำให้เกิด 'สันติภาพเชิงบวก' (Positive Peace) พิจารณาว่าเงื่อนไขของความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากอะไร และต้องเพิ่มบางอย่างเข้าไป เช่น เพิ่มความยุติธรรม เพราะเหตุผลที่ผู้คนต่อต้านหรือก่อกบฏ เป็นเพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม หรือการแบ่งปันปันอำนาจ เช่นการกระจายอำนาจ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การปรับปรุงกฎหมาย การปฏิรูปกองทัพ เป็นต้น

เปลี่ยนตัวชี้วัด-งบไอโอซ่อนอยู่ตรงไหน

รอมฎอน ระบุว่า เมื่อดูงบบูรณาการดับไฟใต้ปีนี้ เพิ่มขึ้น 6.5% ถือว่าไม่เยอะมาก แต่จุดสำคัญอยู่ที่ตัวชี้วัดของการแก้ไขปัญหา เพราะก่อนหน้านี้ ตัวชี้วัดคืองบประมาณด้านความมั่นคงลดลงร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งตนเห็นว่าตัวชี้วัดที่ดีมาก นั่นเพราะข้อกล่าวหาที่ผ่านมา คือ ‘ถ้าสงบ งบจะไม่มา’ ความไม่สงบเกิดขึ้น เพราะมีแรงจูงใจในการดึงงบ ถ้าสภาพปัญหาลดลง งบประมาณก็จะลดลงด้วย 

ปัญหาก็คือ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ในรัฐบาลประยุทธ์ มีการปรับตัวชี้วัดนี้ ให้ตัวชี้วัดด้านงบประมาณหายไป เปลี่ยนเป็น ‘ดัชนีความสงบสุขภาคใต้’ ซึ่งไม่รู้ว่ามีการประเมินเรื่องงบประมาณประกอบไปด้วยหรือไม่ ด้วยเหตุนี้การจัดงบประมาณชายแดนใต้ในรัฐบาลชุดนี้ จึงต้องล้อตามกรอบที่รัฐบาลประยุทธ์วางไว้

"จากเดิมเราต้องลดงบประมาณเพื่อชี้ว่าเราแก้ปัญหาได้ แต่กลายเป็นตอนนี้ ไม่ว่าจะสงบหรือไม่สงบ งบก็ต้องมาหรือไม่" สส.พรรคก้าวไกล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีข่าวดี คือในระยะสองของยุทธศาสตร์ชาติ 2566-2570 โครงการส่งเสริมและเผยแพร่ความเห็นที่ถูกต้องเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหา หรือที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการส่งเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุขในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีตัวชี้วัดหนึ่งที่น่าตกใจ คือการเปลี่ยนความคิดเด็กอายุ 1-5 ขวบ ได้ถูกตัดออกไปแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ มีงบอยู่พันกว่าล้าน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสภาฯ ว่าเป็นงบล้างสมอง มีตัวชี้วัดหนึ่งที่น่าตกใจ คือการเปลี่ยนความคิดเด็กอายุ 1-5 ขวบ 

และอีกเรื่อง ไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวดีหรือไม่ แต่ไม่ปรากฏในรายการงบ คืองบเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการข่าวสาร (ไอโอ) แต่จากประสบการณ์ของตน พบว่างานไอโอยังคงอยู่ ตนโดนโจมตีโดยเฉพาะตั้งแต่หลังเสนอกฎหมายยุบ กอ.รมน. เข้าสภา ดังนั้น ต้องฝากกรรมาธิการงบประมาณ ไม่ว่าจะอยู่พรรคใด ช่วยดูว่าตอนนี้งบไอโอซ่อนอยู่ตรงไหน รวมถึงงบฟ้องปิดปากที่หาไม่เจอเช่นกัน ต้องขุดค้นต่อ เพราะเป็นเรื่องสำคัญต่อทิศทางหรือบรรยากาศของการสร้างสันติภาพ เมื่อใดที่ประชาชนถูกปิดปาก ไม่สามารถส่งเสียงได้ กระบวนการสันติภาพที่ภาครัฐกำลังดำเนินอยู่ ก็ไม่มีความหมาย

ส่วนงบของการพูดคุยเพื่อสันติสุข มีอยู่ประมาณ 20 ล้านบาท แบ่งเป็น 10.1 ล้านบาท ของ สมช.  และอีก 9.3 ล้านบาทของ กอ.รมน. ซึ่งหน่วยงานนี้ก็เหมือนเป็นไบโพลาร์ ด้านหนึ่งอยากพูดคุยกับคน ด้านหนึ่งก็อยากปิดปากคน เลยไม่แน่ใจว่าสรุปทิศทางสันติภาพของรัฐบาลชุดนี้จะเอาอย่างไรกันแน่

ขณะที่งบนอกแผนบูรณาการฯ นั้น มีงบก้อนใหญ่ที่น่าสนใจอยู่ที่ กอ.รมน. คืองบการกำลังพลและการดำเนินงาน วงเงิน 3,535 ล้านบาท ไม่รู้ใช้ทำอะไร จากการตรวจสอบพบว่าน่าจะเป็นงบประมาณที่หลายคนรู้จักจากกรณี ‘บัญชีผี’ ที่ถูกจับโป๊ะเมื่อปี 2566 จากกรณีสิบตำรวจโทหญิงที่ชื่ออยู่ที่ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า แต่ตัวกลับอยู่ที่ราชบุรี

"คำถามคือ นี่คืองบประมาณที่หล่อเลี้ยงกำลังพล ที่เอาเข้าจริงไม่ได้ทำงานอยู่ในพื้นที่ใช่หรือไม่ ต้องฝาก กอ.รมน. ชี้แจงต่อกรรมาธิการว่างบกว่า 3,000 ล้านบาทนี้ มีผีอยู่กี่ตัว มีคนทำงานจริงอยู่กี่คนกันแน่" รอมฎอน กล่าว

งบ กอ.รมน. มหาศาลอยู่ที่ชายแดนใต้ ถ้าสันติภาพเกิดขึ้น หน่วยงานนี้จะเป็นยังไง

เมื่อดูภาพรวมของงบ กอ.รมน. 7,545 ล้านบาท ทำให้ กอ.รมน. ยังเป็นหน่วยที่ขอรับงบประมาณมากที่สุดในหน่วยงานภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี และที่สำคัญคือ 3 ใน 4 ของงบ กอ.รมน. อยู่ที่ปัญหาชายแดนใต้

ด้วยสัดส่วนและภาวะพึ่งพางบประมาณเช่นนี้ คือ 3 ใน 4 ใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนที่เหลือ 1 ใน 4 ใช้งานทั่วประเทศ คำถามคือ กอ.รมน. จะอยู่ต่อไปได้อย่างไรหากสันติภาพบังเกิดในชายแดนใต้

"นี่เป็นคำถามใหญ่ เพราะ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคง ด้วยเหตุนี้ใช่หรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีภัยคุกคามด้านความมั่นคง เพื่อให้องค์กรนี้ดำรงอยู่

"และถ้าการแก้ไขปัญหากำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไปสู่การสร้างสันติภาพ กอ.รมน. ก็ต้องออกมาสกัดขัดขวางเพื่อไม่ให้เกิดความคืบหน้า ไม่ให้การหาทางออกทางการเมืองเป็นไปได้ ใช่หรือไม่" สส.พรรคก้าวไกล กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีงบค่าตอบแทนพิเศษสำหรับผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 52 หน่วยงาน วงเงิน 1,527 ล้านบาท เป็นงบนอกแผนบูรณาการ เป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคต เราจะผ่องถ่ายงบส่วนนี้ให้คนในพื้นที่ได้จัดการตัวเอง

ข้อเสนอถึงรัฐบาล : ฟื้นคดีตากใบ-ตัดงบ กอ.รมน.

ทศวรรษที่สองของไฟใต้ ตนพยายามทำความเข้าใจจุดยืนมุมมองของนายกฯ และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เชื่อว่าถ้าท่านให้ความใส่ใจ ความกล้าหาญมากพอ กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการหรือพรมแดนที่เคยครอบครองโดยหน่วยงานความมั่นคงโดย กอ.รมน. เราอาจได้เห็นอะไรที่ดีกว่านี้ 

ข้อเสนอของตนคือ 1. เนื่องจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรีในช่วงแถลงนโยบายเน้นย้ำเรื่องการสร้างนิติธรรมที่เข้มแข็งนั้นเป็นการลงทุนที่ใช้งบประมาณน้อย แต่มีประสิทธิภาพ เป็นไปได้หรือไม่ภายใต้เงื่อนไขงบประมาณแบบนี้ รัฐบาลควรฟื้นคดีสำคัญที่เป็นปมมาตลอด 20 ปีคือคดีตากใบ ซึ่งกำลังจะหมดอายุภายใน 10 เดือนข้างหน้า วันก่อนตำรวจชี้แจงว่าหาสำนวนคดีไม่เจอ รัฐบาลริเริ่มเรื่องนี้ได้หรือไม่ ถ้าตำรวจหวังพึ่งไม่ได้ ก็ต้องพึ่งดีเอสไอ งานนี้ต้องเป็นคดีพิเศษ รวมถึงยุติการฟ้องปิดปากที่ กอ.รมน.กำลังดำเนินการอยู่ และสุดท้ายคือการยกเลิกกฎหมายพิเศษอย่างจริงจัง

2. ทบทวนปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติและแผนที่เกี่ยวข้อง ปรับทิศทางใหม่ของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นไปที่การสถาปนาความยุติธรรม เปิดพื้นที่ทางการเมือง ให้น้ำหนักกับการพูดคุยเจรจาสันติภาพ ที่ไปไกลกว่าสันติภาพเชิงลบ จะเป็นหลักประกันที่ให้ความปลอดภัยกับทุกฝ่ายในระยะยาว

3. ตัดลดงบประมาณของ กอ.รมน. อย่างจริงจัง ทั้งงบประมาณในภารกิจที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น เพราะความไม่ถนัดของ กอ.รมน. แต่เข้าไปยุ่งทุกเรื่อง อาจจะสร้างปัญหา การตัดลดงบประมาณ จะช่วยส่งสัญญาณที่ดีในการสถาปนาทิศทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้  สร้างบรรยากาศให้คนรู้สึกว่าอำนาจรัฐมีความชอบธรรม ไม่ใช่ต้องถูกคุกคามอยู่ตลอดเวลา

โดยสรุป ในวาระ 20 ปีความรุนแรงที่ต่อเนื่องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงเวลาที่รัฐต้องตัดลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น หาวิธีการใหม่ แบ่งปันอำนาจกับท้องถิ่นให้มากกว่านี้ 

"ช่วงนี้ในพื้นที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูจากภัยพิบัติ คนในพื้นที่ต้องรับมือกันตามสภาพ ผมเห็นงบประมาณหลายตัวก็นึกเสียดาย ถ้าเราเติมงบประมาณให้ท้องถิ่นรับมือกับภัยพิบัติ ให้เขาจัดการชีวิตของตัวเองได้ มีความภาคภูมิใจในตัวตนและประวัติศาสตร์ของพวกเขาเอง งบประมาณจำนวนมากที่จัดไว้ในวันนี้ จะไม่จำเป็น เราจะใช้งบน้อยกว่านี้ได้" รอมฎอน กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net